Jump to content


Photo
- - - - -

ยุทธบทความมติชนจะดูดีมาก หากไม่ใส่ไคล้ ทีวีไทยและสื่อใหม่โซเชียลมีเดีย เพราะสื่อทีวีและโซเชียลมีเดียก็มีหลากหลายมากข้าง


This topic has been archived. This means that you cannot reply to this topic.
ยังไม่มีผู้แสดงความเห็นในกระทู้นี้

#1 คนบาป

คนบาป

    มหาเมพ

  • Members
  • PipPipPipPipPipPipPip
  • 13,889 posts

ตอบ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 - 19:04

ปูสำลักน้ำ! มรสุมรัฐบาลยิ่งลักษณ์
มติชนออนไลน์ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 11:26:59 น

ยุทธบทความ
สุรชาติ บำรุงสุข


"เราไม่สามารถหยุดยั้งพลังของธรรมชาติได้ แต่เราสามารถที่จะป้องกันพลังดังกล่าว ในการสร้างความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้"

นายโคฟี อันนัน

อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยแล้ว พวกเขาเตรียมตัวอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นต้น

แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่ตระหนักว่า สิ่งที่รอรัฐบาลใหม่อยู่ข้างหน้านั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้คาดคิดมาก่อน...

ไม่ใช่พายุการเมืองอย่างที่หลายคนกังวล หากแต่เป็นพายุทางธรรมชาติที่นำพาปัญหาชุดใหม่มาสู่รัฐบาล จนดูเหมือนว่ารัฐบาลวันนี้ยังตั้งตัวไม่ติดกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ถ้าจะกล่าวโทษว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับมือกับปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ได้ดี ก็คงจะจริง!

แต่ทุกรัฐบาลก็ดูจะไม่เคยตระหนักว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น เป็นปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ ซึ่งหากไม่เตรียมแผนการรองรับแล้ว ก็อาจทำให้รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือลงได้ไม่ยากนัก อย่างน้อยบทเรียนของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี

ในกรณีนี้ แน่นอนว่าน้ำท่วมอาจจะไม่ได้ทำลายรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ทำให้รัฐบาล "หมดสภาพ" ลงอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาน้ำท่วมกลายเป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงความอ่อนด้อยของรัฐบาลในเรื่องของการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องตระหนักมากขึ้นว่า สถานะของตนแตกต่างอย่างมากจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะบททดสอบของการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้เป็นเสมือน "เดิมพันสูง" กับอนาคตของรัฐบาล เพราะกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมที่แม้จะแพ้การเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็พร้อมจะใช้วิธีการต่างๆ ในการกลับเข้าสู่อำนาจครั้งใหม่

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องกระทำจึงมิใช่เพียงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้เท่านั้น หากแต่ยังจะต้องคิดแก้ไข "เกมการเมือง" ที่มากับปัญหาน้ำท่วมด้วย

ในด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจากคณะรัฐมนตรีที่กำเนิดขึ้นนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่มีความเข้มแข็งในมิติของการบริหารจัดการ ดังจะเห็นได้ว่าศูนย์ของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ในอาการที่ถูกวิจารณ์ว่า "มั่ว" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนรู้สึกว่าการตั้งผู้รับผิดชอบมีลักษณะ "ผิดฝาผิดตัว" กล่าวคือ ประธานของศูนย์แทนที่จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ควบคุมงานในด้านของงานบรรเทาสาธารณภัย กลับกลายเป็นการเอารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขึ้นมาเป็นหัวหน้าศูนย์

เรื่องราวเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งให้คำตอบอย่างดีว่า ความสำเร็จของนโยบาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเลิศหรูของตัวหนังสือ หากแต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี เพราะไม่ว่าตัวนโยบายจะดีเลิศอย่างไรก็ตาม แต่หากขาดการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ก็เท่ากับว่า รัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้ความสวยหรูของนโยบายปรากฏเป็นจริงได้

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วมขนาดใหญ่เช่นนี้จึงสะท้อนอย่างมากถึงการขาดการบริหารจัดการที่ดี เพราะแม้นายกรัฐมนตรีและคณะ จะมีความตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม แต่การขาดการบริหารจัดการที่ดีนั้น ทำให้กลไกต่างๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นไม่สามารถเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ได้ตั้งไว้

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการตรวจสอบกลไกเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่า กลไกที่ถูกจัดตั้งขึ้นสามารถจัดการกับปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้ได้มากน้อยเพียงใด

ความไม่ตระหนักในมิติของการบริหารจัดการเช่นนี้ ทำให้เกิด "ช่องโหว่" สำหรับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการโจมตีทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกนำมาใช้ขยายผลให้เห็นว่า ผู้นำรัฐบาลนั้น "มือใหม่" เกินไปกับการบริหารประเทศ

และการขยายผลเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนจากข้อความต่างๆ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ และที่สำคัญก็คือการใช้โทรทัศน์ที่ประกาศตัวว่าเป็น "สื่อสาธารณะ" เป็นเครื่องมือสำคัญในการโจมตีรัฐบาล

ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสื่ออนุรักษนิยมสุดขั้วอย่างกรณีเอเอสทีวีนั้น ไม่สามารถขยายผลในวงกว้างได้เท่าที่ควร ในขณะเดียวกันสื่อกระแสหลักก็มีรายการเป็นของตนเอง และไม่สามารถใช้ในการโจมตีทางการเมืองได้มาก เพราะความจำกัดของรายการ ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมที่มีความเชื่อว่า วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะเป็นเงื่อนไขในการล้มรัฐบาล จึงจำเป็นต้องอาศัย "สื่อสาธารณะ" เป็นเครื่องมือของการเคลื่อนไหวทางการเมือง

เช่น การเปิดประเด็นว่ารัฐบาลปกปิดข้อมูลเรื่องน้ำท่วม หรือการนำเสนอเพื่อก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผู้นำรัฐบาลดูจะหลงลืมไปว่า กลไกหลักที่จะต้องทำหน้าที่เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เพราะ สมช. เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายที่มีการประชุมหลายครั้งหลายคราจนนำไปสู่การมี "นโยบายเตรียมความพร้อมแห่งชาติ" อันเป็นผลจากการพัฒนาในอดีตที่เราเคยมีแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ กล่าวคือเป็นการยกระดับจากแผนเป็นนโยบายและอยู่ภายใต้การกำกับของ สมช.

ดังนั้น การบริหารจัดการที่อ่อนแอของรัฐบาลนี้ ยังเป็นคำถามโดยตรงถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วยว่า แล้วนโยบายดังกล่าวยังคงสภาพอยู่หรือไม่

และถ้ายังมีสภาพอยู่แล้ว บทบาทของ สมช. คืออะไร หรือเลขาธิการ สมช. ถูกปลดไป และรองเลขาฯ ที่เหลืออยู่อีก 3 คน ก็ไม่ยอมทำงานให้รัฐบาล จนนโยบายนี้กลายเป็นเพียงตัวหนังสือบนกระดาษ และไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว ก็สมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบและทบทวนบทบาทของ สมช. กันใหม่

สำหรับนโยบายเตรียมพร้อมแห่งชาตินั้น ยังแตกแขนงออกเป็นแผนงานสำคัญอีก 2 ส่วนคือ แผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และแผนบริหารสภาวะวิกฤต ซึ่งก็แทบจะไม่ปรากฏเลยว่าแผนทั้งสองนั้นได้ถูกนำมาใช้มากน้อยเพียงใด

ฉะนั้น อาการ "เกียร์ว่าง" ของสภาความมั่นคงเช่นนี้ บ่งบอกอย่างดีถึงอนาคตของรัฐบาลในการจัดการปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดรวมถึงปัญหาความมั่นคงที่สำคัญอื่นๆ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เป็นต้น ถ้า สมช. ทำตัวเป็น "เกียร์ว่าง" แล้ว การบริหารจัดการงานความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอนาคตจะอยู่ในสภาพใด เพราะ สมช. เป็นหน่วยทางนโยบายที่จะต้องทำหน้าที่ประสานและกำกับงานความมั่นคงของประเทศ

ซึ่งหาก สมช. ไม่ทำงานเสียแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คงต้องเตรียมพบกับ "วิกฤตการบริหารจัดการความมั่นคง" อย่างแน่นอน

อีกทั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานความมั่นคงในส่วนของ สมช. เอง ก็ไม่ได้แสดงศักยภาพของการเป็น "ผู้บริหารความมั่นคง" ของประเทศแต่อย่างใด นอกจากซ่อนตัวอยู่ในหลืบของทำเนียบรัฐบาล

เรื่องราวเช่นนี้เท่ากับบอกอย่างชัดเจนว่า "นโยบายเตรียมพร้อมแห่งชาติ" จะต้องนำมาคิดและทบทวนใหม่อย่างจริงจังแล้ว (พร้อมๆ กับบทบาทของ สมช.) มิฉะนั้นนโยบายนี้จะเป็นเพียงเศษกระดาษในลิ้นชักของ สมช. เท่านั้น



ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ "แผนพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง" ของฝ่ายทหาร ซึ่งเราอาจจะยอมรับว่าแผนนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์สงครามในช่วงปลายยุคสงครามเย็นตามแนวคิดเรื่อง "พื้นที่ส่วนหลัง" (rear areas) หรือพื้นที่หลังแนวสงคราม

ถ้าจะคิดว่าเราเตรียมเฉพาะการรับภัยสงครามก็คงไม่ผิดอะไรนัก แต่หากเปรียบเทียบระหว่างการถูกโจมตีจากข้าศึก กับการถูกโจมตีจากภัยธรรมชาติมีความคล้ายคลึงกันแล้ว แผน/แนวคิดในการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะนำมาพิจารณา

แต่อาจจะเป็นเพราะสงครามเย็นยุติไปพร้อมกับการสิ้นสุดของภัยคุกคามทางทหารแบบเดิม แนวคิดเรื่องการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังจึงดูจะกลายเป็นอดีตไป และก็ไม่เคยถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการเตรียมพื้นที่ส่วนหลังเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของธรรมชาติ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่เคยเตรียมรับมือกับข้าศึกที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเป็นส่วนหนึ่งของตัวแบบของปัญหาความมั่นคงใหม่

นอกจากนี้ในการฝึกรบร่วมผสม "คอบบราโกลด์" ก็มีการนำเอาแนวคิดเรื่องของการอพยพประชาชน หรือที่เป็นแนวคิดของการอพยพบุคคลที่ไม่ใช่ทหาร (Non-combatant Evacuation Operations) หรือที่เรียกกันว่า "นีโอ" (NEO) มาใช้เป็นแนวทางการฝึก

ซึ่งหากพิจารณาดูในสถานการณ์ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่เช่นนี้ แนวคิดนี้น่าจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับรัฐบาลและกองทัพ (ในฐานะกลไกรัฐ) ในการช่วยเหลืออพยพประชาชน

แต่ดูเหมือนสำหรับผู้เกี่ยวข้องแล้ว แนวคิดเรื่อง "นีโอ" เป็นสิ่งที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติในสถานการณ์สงครามหรือใช้กับพื้นที่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ และกองทัพได้รับคำสั่งให้ทำการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ดังกล่าว แต่ดูเหมือนเราจะไม่นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่สังคมต้องเผชิญภัยทางธรรมชาติเท่าใดนัก ดังนั้นแนวคิดนี้จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องนำมาคิดคำนึงในอนาคต

ในอีกส่วนหนึ่งในหมู่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และงานบรรเทาสาธารณภัย ก็มีการถกแถลงถึง "แผนบรรเทาสาธารณภัย" (Disaster Relief Plan) กันมาอย่างยาวนานพอสมควร จนถึงวันนี้ไม่มีความชัดเจนว่าแผนนี้ยังคงใช้แนวทางในการปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด

แต่ก็เห็นชัดเจนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นว่า การเตรียมแผนบรรเทาสาธารณภัยเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต

และก็อาจจะต้องถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในงานด้านความมั่นคง

ดังจะเห็นได้ว่า โลกในปัจจุบันได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นในแต่ละปี จะคิดเตรียมแต่เพียงภัยในรูปแบบของสึนามิไม่ได้ หากจะต้องคิดถึงภัยธรรมชาติในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น



นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องคิดมากขึ้นในเรื่อง "การฟื้นฟูสังคมไทยหลังน้ำท่วม" เพราะปัญหาในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็มีความต้องการแบบหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์ภัยพิบัตินี้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว การฟื้นฟูสังคมจะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูจิตใจของประชาชน การให้ความช่วยเหลือในเรื่องของปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งจะมีความต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะอุณหภูมิของอากาศที่เริ่มลดลงในหลายพื้นที่

อีกทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องพิจารณาถึงบทเรียนของการทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมหรือพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งตัวแบบของน้ำท่วมขนาดใหญ่และเป็นวงกว้างในสังคมไทยครั้งนี้ อาจจะเทียบเคียงได้กับกรณีที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาสึนามิ ซึ่งบทเรียนการจัดการปัญหาของญี่ปุ่นน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้ในอนาคต

ปัญหาต่างๆ เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพและมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการประเทศในยามวิกฤตได้ มิฉะนั้นแล้วกลุ่มอนุรักษนิยมอาจจะฉวยโอกาสโฆษณาว่า รัฐบาลอำนาจนิยมจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติได้ดีกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย (?)

อย่างไรก็ตาม แม้ในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นนี้อาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดรัฐประหาร แต่ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแล้ว กระแสรัฐบาลเลือกตั้งก็อาจถูกกระแสน้ำหลากพัดพาไป จนอาจจะเกิดอาการ "ปูจมน้ำ" ได้ไม่ยากนัก

เพราะอย่างน้อยตอนนี้เราก็เห็นภาพ "ปูสำลักน้ำ" แล้ว!


มติชน