ผมเห็นรัฐมนตรีคมนาคมบ้าง พวกปากกระโถนเพื่อไทยบ้าง โวยวายเรื่อง กทม.เซ็นสัญญาว่าจ้าง BTS ทำหน้าที่เดินรถไฟฟ้าต่อ รวมสัญญาที่เหลือและที่ต่อใหม่รวม ๓๐ ปีแล้ว อดนึกถึงนิทานอีสปเรื่อง "หมาในรางหญ้า" ไม่ได้ ก็เห็นใจพวกเขานะ ที่ออกมาทำหน้าที่ "สืบสันดานทักษิณ" ในเรื่องรถไฟฟ้า BTS นี้ จำกันได้มั้ยล่ะ สมัยทักษิณเป็นนายกฯ จะฮุบของเขาให้ได้ แต่ไม่สำเร็จ แล้วนี่...พอเห็น กทม.เซ็นสัญญาว่าจ้าง BTS ทำหน้าที่ พขร.ต่อเท่านั้นแหละ จะฟ้อง DSI หาว่าผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนไปโน่น!
ถ้าอยากทำหน้าที่ลูกอีช่างฟ้องจริงๆ ล่ะก็ โน่น...เขมรมันดอดตัดถนนเข้ามาตีท้ายครัวเราทางเขาพระวิหารอีกแล้ว ช่วยไปฟ้องศาลโลกให้ทีซิ ฮุน เซน ไม่ใช่พ่อมิใช่รึ?
หรือว่า...ใช่?
เขาต่อสัญญาก็แค่ กทม.จ้าง BTS ทำหน้าที่บริหารการเดินรถ พูดภาษาชาวบ้านก็คือ จ้าง BTS ทำหน้าที่ พขร.รถไฟฟ้า ไปดูให้ดีๆ ก่อนตีอก-ชกตัว
หรือได้ใจ ยึดตลาดนัดสวนจตุจักรเขามาทีแล้ว ก็จ้องจะฮุบรถไฟฟ้า BTS เขาอย่างสะดวกสบายอีก คมนาคมน่ะ "ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา" ซะบ้างนะ ไม่ใช่จ้องตาลุก-ตาโต วันๆ เอาแต่อ้างสิทธิ์แกะกฎหมายว่า กูจะไปเอาหางแหย่น้ำโครงการไหนได้บ้าง ไปยึด-ไปฮุบของใครมาได้บ้าง แล้วเที่ยวไล่ฮุบ-ไล่ยึดสมบัติคนอื่น (เอาไปเซ็งลี้ต่อ) ตะพึด-ตะพือ และยึดมาแล้วตัวเองทำได้ดี ประชาชนได้รับความสะดวกสบายเหมือนเขาทำก็ไปอีกเรื่อง
แต่นี่...ลำพังของในมือที่มีอยู่-ทำอยู่ ทั้งกิจการรถไฟ ทั้งแอร์พอร์ตลิงค์ ฉิบหายหมด แล้ว BTS ของ กทม.เขาบริหารดีอยู่แล้ว รัฐก็ได้ประโยชน์คุ้ม ราษฎร์ก็ได้ความสะดวกสบายจากการบริการคุ้ม
แล้วจะเล่นบทหมาในรางหญ้า อ้างโน่น-อ้างนี่ จะฮุบเอามาทำให้มันฉิบหายเหมือนแอร์พอร์ตลิงค์เวลานี้อีกหรือไง หัดละอายใจตัวเองบ้างซี!?
ไปน้ำลายหก-น้ำลายสอกะโครงการรถไฟความเร็วสูง ๘ สาย บ้าๆ บอๆ กับรถไฟใต้ดิน-บนดิน ๑๐ สาย ที่โม้ค้างศตวรรษนั่นเถอะ ทำที่โม้ ที่ถ่างขาคร่อมตะกรามสิทธิ์ให้เสร็จซักแห่ง-สองแห่งพอเป็นผลงานก่อน แล้วค่อยมาเบ่งกล้ามยึด BTS ที่มันดี เข้าที่-เข้าทางอยู่แล้ว
แต่ถ้ารัฐมนตรีทั้งช่วย-ทั้งว่าการ ชื่ออะไรมั่ง ผมขี้เกียจจำ มีแผนเอารางลอยฟ้า BTS เปลี่ยนจากรถวิ่งให้คนกรุงเทพฯ เดิน นั่นก็รีบๆ ฮุบไปเถอะ แต่ถ้าต้องการให้รางลอยฟ้านั้นมีรถไฟฟ้า BTS วิ่งไป-วิ่งมา อำนวยความสะดวกแทนตีนคนกรุงย่ำล่ะก็...
กราบไข่ล่ะพ่อทูนหัว จ้าง BTS เขาทำหน้าที่ขับรถต่อไป คงไม่ทำให้ใครต้องอดอยากปากแห้งเกินไปกระมัง? ถ้าคมนาคมยังไม่สำนึกในความด้อยทั้งประสิทธิภาพและวิสัยทัศน์ของตัวเอง ผมขอยืมบทความอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ที่เขียนลง "สยามรัฐ" รายวัน ของ "คุณชัช เตาปูน" เพื่อนเก่าที่ความรู้สึกดีๆ ต่อกันไม่เคยจืดจางมาให้อ่านอีกทีก็ได้ ดังนี้ครับ
การปฏิรูประบบขนส่งทางราง
แก้วสรร อติโพธิ
ในยามที่โลกเริ่มเข้าสู่ยุคพลังงานแพงเช่นทุกวันนี้ การปฏิรูป “ระบบขนส่งทางราง” ทั้งรถไฟภูมิภาค รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ เป็นงานสำคัญที่ภาครัฐจะต้องทุ่มเททำให้เป็นจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่สำหรับประเทศไทยเรานั้น แนวทางที่ปรากฏในทุกวันนี้ก็ยังดูสับสน บกพร่องในประเด็นสำคัญๆ อยู่หลายประการด้วยกัน ควรที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะช่วยกันทำความกระจ่าง ชี้ทางเลือกให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นรูปธรรมได้ในที่สุด ซึ่งเท่าที่ได้ติดตามมา ก็มีข้อที่ควรทบทวนโดยสังเขป ดังนี้
๑.การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับการพัฒนาถิ่นฐาน
รถไฟฟ้าทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองใหญ่และรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่นั้น ในทางวิชาการแล้ว จะมองเห็นเป็นเพียงโครงการทางวิศวกรรมหรือการลงทุนเท่านั้นไม่ได้ ระบบขนส่งเหล่านี้มีการลงทุนสูง ทุนจมนานคืนทุนเร็วไม่ได้ จึงต้องเกาะติดกับการพัฒนาพื้นที่ เกาะติดก็เพื่อช่วยทั้งการพัฒนาพื้นที่และอาศัยทั้งผลการพัฒนาพื้นที่นั้นมาป้อนลูกค้าให้แก่ตนด้วย
มองอย่างนี้แล้ว เฉพาะระบบรถไฟฟ้าสายหลากสีในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ก็ยังน่าเป็นห่วงว่าจะไปรอดหรือไม่ เพราะมหานครของเรายังไม่มีการพัฒนาถิ่นฐานทำเนื้อเมืองให้แน่น แล้วทำสถานีพร้อมระบบขนส่งเพื่อรวมหรือกระจายชาวเมืองในแต่ละย่านเข้าสู่สถานีในข่ายเลย
ทุกวันนี้เห็นเอาแต่เร่งออกแบบ ประกวดราคา แล้วลุยสร้างกันลูกเดียว สร้างเสร็จแล้วจะเสนอบริการได้ในราคาเท่าใด แข่งขันกับรถเมล์ รถสองแถว รถตู้ และรถบ้านได้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นเค้ามูล คำตอบ หรือการศึกษาที่น่าเชื่อถือได้จนทุกวันนี้
ยิ่งนำแนวคิดนี้ไปมองโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมเมืองต่างๆ ในประเทศแล้ว ลำพังแค่กรุงเทพฯ-โคราช จะสร้างได้ในต้นทุนสูงเท่าใด มีลูกค้าที่จะทิ้งรถทัวร์มาขึ้นรถหรือไม่ ถ้าคนกลุ่มนี้คือเป้าหมาย รถไฟฟ้านี้ต้องคิดราคาเท่าใด ถ้าได้คำตอบว่าไม่คุ้มทุน ก็ต้องเลื่อนไปแข่งกับสายการบินต้นทุนต่ำ กรุงเทพฯ-โคราช เท่านั้น ซึ่งจะมีจำนวนมากพอจนคุ้มทุนหรือไม่ก็ยังมองไม่เห็น เห็นแต่สายกรุงเทพฯ-พัทยา เท่านั้น ที่ยังเชื่อกันว่ามีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วมารองรับ ในปริมาณที่พอให้ระบบนี้คุ้มทุนได้
๒.การทอดทิ้งไม่พัฒนารถไฟภูมิภาค
ในขณะที่รัฐบาลกำลังฟุ้งฝอยขายโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้อยู่นั้น ระบบรถไฟภูมิภาคก็ยังถูกทอดทิ้งให้ผู้โดยสารต้องจมปลักอยู่ในโบกี้เก่าๆ เหม็นๆ สถานีโทรมๆ ล่าช้าผิดเวลาเป็นปกติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไปตามปกติ จนใครที่ทนไม่ได้ก็ต้องทิ้งรถไฟไปขึ้นรถทัวร์ รถตู้ กันหมดแล้ว
เป็นเรื่องน่าอายมาก ที่คณะผู้ดูงานของมาเลเซียให้ความเห็นเป็นข่าวเมื่อวันสองวันนี้ว่า เขาไม่เข้าใจจริงๆ ที่รถไฟไทย โดยเฉพาะภาคใต้ทำไมถึงไม่พัฒนาเลย ไม่ว่าเรื่องคุณภาพหรือมาตรฐาน ทั้งๆ ที่มีลูกค้าทั้งผู้โดยสารและสินค้าทั้งในไทยและมาเลเซียรอคอยอยู่เกลื่อนไปหมด ยิ่งถ้าเปิดการค้าเสรีในกลุ่มอาเซียนด้วยแล้ว ความด้อยพัฒนาของรถไฟภูมิภาคทั้งระบบของไทยนี้ก็ยิ่งจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว
ข้อวิจารณ์ของเพื่อนมาเลเซียนี้ จะต้องมีอยู่ในหัวของทีมผู้เชี่ยวชาญจีนด้วยอย่างแน่นอนเช่นกัน เศรษฐกิจจีนนั้นอยู่ในช่วงดิ้นรนคายเงินดอลลาร์ออกมาลงทุนเป็นโครงการต่างๆ ไปในทุกทวีปทั่วโลก เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับไทยเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางนั้น จีนเสนอให้มานานแล้ว โดยมีแผนขนส่งทางรางในระดับจีน-อาเซียน ยืนเป็นแม่บทอยู่ แต่รัฐบาลไทยก็ยังลังเลไม่สนองตอบให้ชัดเจน จนมารัฐบาลปัจจุบันกลับทิ้งแม่บทขนส่งจีน-อาเซียน โดยพลิกกลับมาคิดใหม่จะเอาเงินกู้นี้มาสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในภูมิภาคไปเฉยเลยอย่างนี้ ฝ่ายจีนก็ต้องงงตามมาเลเซียไปอีกชาติหนึ่งเป็นธรรมดา
อันที่จริงแล้วไม่ว่าเหตุผลทางการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเช่นใด ลำพังการพัฒนาในประเทศก็มีน้ำหนักสนับสนุนมานานแล้วว่า การรถไฟภูมิภาคนั้นคือฐานการพัฒนาประเทศที่สำคัญมากทั้งในมิติเศรษฐกิจและความมั่นคง บรรพบุรุษไทยรวมไทยเป็นหนึ่งเพื่อพัฒนาจนเป็นชาติรัฐสมัยใหม่ได้ ก็ด้วยการรถไฟนี้เป็นสำคัญ ชาติรัฐอื่นก็เช่นกัน รถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นเรื่องที่มาทีหลัง มาเลือกเชื่อมเลือกบริการให้กับจุดของความเจริญตามเมืองหลัก ที่เจริญได้ก็ด้วยอาศัยระบบรถไฟภูมิภาคนี้มาก่อนแล้วทั้งสิ้น
การกระโดดไปเห่อไปฝันถึงระบบรถไฟความเร็วสูง ทิ้งให้รถไฟภูมิภาคต้องจมปลักดักดานเช่นเดิม จึงเป็นความหลงผิด สิ้นคิดสุดๆ เลยทีเดียว
๓.กระทรวงรถไฟ?
อาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวจากคณะกรรมาธิการสภาว่า จะเสนอให้รัฐบาลปฏิรูประบบขนส่งทางรางทั้งระบบ โดยปฏิรูปการบริหาร รวมระบบทั้งหมดมาจัดตั้งให้เป็นส่วนราชการ โดยยังเถียงยังเห็นต่างกันตรงที่ว่า จะให้เป็นกระทรวงรถไฟ หรือกรมการขนส่งทางรางเท่านั้น
การปฏิรูปราชการโดยอ้างว่าจะเป็นการปฏิรูปบ้านเมืองเรื่องนั้นเรื่องนี้นั้น เป็นแนวทางที่ล้มเหลวไม่เป็นจริงมาตลอด ทั้งการปฏิรูปการศึกษา, วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, โทรคมนาคม, พลังงาน ทั้งหมดนี้จะตั้งกระทรวง จะตั้งเขตอะไรกันสักเท่าใด ก็มีค่าเป็นเพียงการจัดการอำนาจในหมู่ราชการเท่านั้น ไม่เคยส่งผลในตัวของมันเองให้เกิดเป็นการปฏิรูปอะไรขึ้นมาได้
แนวทางที่ถูกนั้น เป้าหมายและแนวทางการปฏิรูปการขนส่งในยุคพลังงานแพงของประเทศ ควรจะต้องปรากฏขึ้นก่อน จากนั้นการขนส่งระบบรางจึงจะนำแนวทางนี้มากำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของตนอีกชั้นหนึ่ง โดยมีโครงการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารเป็นส่วนหนึ่งของแผนทั้งหมด ที่จะประกอบเข้าด้วยกันจนชี้ให้เห็นภาพรวมได้ว่า การขนส่งทางรางในประเทศไทยกำลังจะเดินทางไปในทิศทางใด
เฉพาะในเบื้องต้นนี้ ก็มีข้อพิจารณาสำคัญอยู่บางประการดังนี้
ก.การจัดการระบบขนส่งในนครใหญ่ กับระบบขนส่งของชาติ ควรต้องแยกจากกันหรือไม่ เห็นอะไรวิ่งบนรางก็จะเอามารวมบริหารหมดเช่นนั้นหรือ ตรงนี้ถ้าขยายวิสัยทัศน์เห็นโครงการรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่แล้ว รถไฟฟ้ามหานครกับแอร์พอร์ตลิงค์ก็ไม่ควรอยู่ในโครงสร้างบริหารเดียวกันกับการรถไฟของชาติ แต่ควรแยกเป็นวิสาหกิจเฉพาะที่โยกไปอยู่ กทม. ร่วมกับ ขสมก. เพื่อให้ กทม.กลายเป็นองค์กรดูแลและพัฒนามหานครโดยแท้จริงได้
ข.ระบบรางที่อยู่ในระบบขนส่งของชาติ ทั้งรถไฟภูมิภาคและรถไฟฟ้าความเร็วสูง ควรแยกกันหรือเกี่ยวโยงกันในเรื่องใด อย่างไรบ้าง ตรงนี้ถ้าเข้าใจได้ว่า ๒ ระบบนี้มีระบบวิศวกรรมและการลงทุนแยกจากกัน ลูกค้าก็คนละกลุ่มเหมือนการบินไทยกับ บ.ข.ส.แล้ว ก็ไม่ควรที่จะบริหารร่วมกันอีกเช่นกัน
ค.เมื่อแยกงานขนส่งระบบรางที่ต่างกันออกจากกันแล้ว การจัดการก็จะแม่นยำตรงเป้ายิ่งขึ้น ซึ่งในแต่ละระบบก็ยังอาจแยกการจัดการออกจากกันเป็นการภายในได้อีก เช่น ในกรณีการรถไฟแห่งชาตินั้น ก็อาจมีบอร์ดการค้าการลงทุนเป็นบอร์ดเดียว แต่ในระดับปฏิบัติการนั้น อาจแตกลูกออกเป็น ๓ วิสาหกิจหลัก คือ ระบบรางและสถานี, ส่วนเดินรถและส่วนขนส่งสินค้า ๒ ส่วนหลังนี้จะให้สัมปทานก็ได้ ส่วนบริการข้างเคียงอื่นๆ ให้ว่าจ้างเอกชนทั้งหมด ตัวอย่างการบริหารเช่นนี้ ทั้งฝรั่งเศสและออสเตรเลียได้ใช้บริหารวิสาหกิจไฟฟ้าของตนจนสำเร็จมาแล้ว โดยไม่ต้องกลับไปพึ่งระบบกระทรวงทบวงกรม หรือแปรรูปแต่อย่างใดเลย
เท่าที่กล่าวมาจะถูกผิดอย่างไรก็แลกเปลี่ยนกันได้ แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าเราได้นำปัญหาบ้านเมืองมาช่วยกันคิดอ่านอย่างนี้บ้างแล้ว ก็น่าที่จะช่วยให้มีกำลังใจกันตามสมควรว่า เรื่องของบ้านเมืองหรือการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องของอำนาจที่จะมาแย่งชิงกัน หรือพอจนมุมก็ด้านด้นเอาดื้อๆ ว่าชาวบ้านคิดไปเอง
บ้านนี้-เมืองนี้ ยังมีอะไรให้ฝันถึงและคิดอ่านร่วมกันแลกเปลี่ยนกันได้มากมายนัก ผมฝันจริงๆ ว่าถ้าหายบ้ากันเมื่อใด เราคนไทยก็คงจะได้หันมาร่วมกันสร้างบ้านสร้างเมืองต่อไปได้
เกิดมาแล้ว ก็ขออย่าให้เสียชาติเกิด จนลูกหลานเขาด่าได้ว่า "คนรุ่นนี้มันดีแต่กัดกัน" เลยนะครับ.
เห็นไตจะอ่านเพื่อประดับความรู้บ้างก็ได้ฮะ จะได้ทำอะไรไม่ขายขี้หน้าจนเกินไปhttp://www.thaipost....ws/110512/56669