ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"ตรวจสอบกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5คำร้องที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อ้างเหตุฝ่ายรัฐบาลยื่นจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลทำให้การยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่ง มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง5คำร้องดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นและเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งกำหนดให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 68ของรัฐธรรมนูญ ทำได้เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น
ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ(http://www.constitutionalcourt.or.th/ )ว่าด้วยการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร องค์กรสูงสุด และบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง กรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วย รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68นั้น ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องคือ"อัยการสูงสุด"
เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุวิธีการและเงื่อนไขของการพิจารณา วินิจฉัยในคำร้องตามมาตรา 68ไว้3ข้อ 1. ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อ เท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกากระทำหรือ อาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
2.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวให้เพิกถอน สิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดเป็นเวลา 5ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
3.ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์มติชนระบุเหตุผลในการรับคำร้องทั้ง5คำร้อง ที่ขอให้ศาล ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเจตนาจะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพราะมีผู้มาร้องขอให้ศาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ศาลต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนแปลง การปกครองตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่
นายวสันต์กล่าวว่า หากการให้ข้อเท็จจริงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ยังไม่มีพฤติการณ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ศาลก็ยกคำร้อง
นายวสันต์กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร หรือไปแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้อำนาจเอาไว้ ถือเป็นการถ่วงดุลในการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเข้าไปก้าวล่วงไปกำกับรัฐสภา
"จึงควรมองในทางบวก ว่า การที่ศาลรับคำร้องและมีการไต่สวน ก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภาลงได้ "นายวสันต์ให้สัมภาษณ์
สำหรับคำร้องทั้ง5คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณานั้น ได้แก่ 1.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)และคณะ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภา 5.นายบวร ยสินทร และคณะ
http://www.matichon....atid=&subcatid=