พฤหัสบดีที่ 07 มิถุนายน 2012 เวลา 18:06 น.
ศาลรธน.เอาคืนชุดใหญ่! เปิดสำนวนผู้ร้องแจงชัด ยื่นอัยการไปแล้ว3เดือน แต่เรื่องเงียบ-กลัวไม่ทัน
"ศาลรธน." เอาคืน เปิดสำนวน 5 คำร้องเรื่องค้านแก้รธน. พบว่ามี 3 คำร้อง ที่ยื่นต่อ "อสส." ไปแล้วตั้งแต่ 3 เดือนก่อน แต่เรื่องเงียบ ยังไม่มีการส่งเรื่องมายังศาล ทำให้ "ผู้ร้อง" กลัวไม่ทันการณ์ จึงมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรธน.เอง และตลก.รธน.พิจารณาแล้ว เห็นวา เข้าช่องทางตามม.68 จึงเรื่องคำร้องไว้พิจาจารณา
วันที่ 7 มิ.ย. 2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการสรุป 5 คำร้อง กรณีขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า คณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้กับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบพบว่า
ข้อกล่าวหาที่ผู้ร้องทั้งหมดร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบุ พฤติการณ์ เหตุผลไปในทำนองเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งมาตรา 291ของรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็น ๆไป และเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาโดยเสียงข้างมากยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการขอแก้ตามบทบัญญัติมาตรา 291 เพราะไม่มีญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ที่ต้องแสดงข้อขัดข้องของรัฐธรรมนูญมาตราใดที่ไม่สามารถใช้บังคับหรือมีปัญหาใด ๆ อีกทั้งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาจากการกระทำประชามติ การจะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีส.ส.ร. ก็ต้องทำประชามติ ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดที่จะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมเป็นการฝ่าฝืนและขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 291
นอกจากนี้ การแก้ไขมาตรา 291 ให้มีคณะบุคคลที่เรียกว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาทำหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 2 และหมวด 3 เป็นการขัดต่อหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติโดยไม่ปรากฎรายละเอียดในการแก้ไข เช่น การดำรงอยู่ของอำนาจอธิปไตยของรัฐไทย หรือการดำงอยู่หรือการหมดไปขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการตัดสิทธิการตรวจตรากฎหมาย เพื่อการตรากฎหมายในระบบนิติวิธีเพื่อนิติรัฐหรือนิติธรรม อีกทั้งเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว การไม่ต้องนำกลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เป็นการตัดอำนาจของรัฐสภาออกไปโดยสิ้นเชิง ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างอำนาจ เป็นการทำลายหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดเจน และเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 291
“หลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับของพรรคการเมืองและรัฐบาล มีสาระสำคัญเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นำไปสู่การยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังเป็นการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครอง หากบุคคลดังกล่าวกระทำการสำเร็จคือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับได้ก็จะเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุ
ทั้งนี้ในคำร้องทั้ง 5 คำรร้องที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย 1.คำร้องของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ และนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธ์ 2.คำร้องของนายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3.คำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4.คำร้องของนายวรินทร์ เทียมจรัส และคำร้องที่ 5 เป็นของนายบวร ยสินทรและคณะรวม 10 คน โดยคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งหมด ขอให้ศาลฯสั่งให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค สั่งให้ผู้ถูกร้องถอนร่างรัฐธรรมนูญจากการพิจารณาของรัฐสภา สั่งให้รัฐสภาระงับการออกเสียงลงคะแนนในวาระ 3 วันที่ 5 มิ.ย. และ วินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นอันตกไป
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 5 คำร้องได้มีการระบุว่า ก่อนหน้าที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไปยื่นคำร้องต่อ "อัยการสูงสุด" มาแล้วทั้งสิ้น โดยมีถึง 3 คำร้องที่ระบุว่า ได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดตั้งแต่เดือนก.พ.และมี.ค.ที่ผ่านมา คือคำร้องของนายวันธงชัย ที่อ้างว่า ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ 23 ก.พ., คำร้องของนายวรินทร์ ระบุว่ายื่นคำร้องกล่าวโทษต่ออัยการสูงสุดให้รวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยพลัน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. และต่อมา 3 เม.ย. ได้มีหนังสือสอบถามถึงผลการดำเนินการ จนวันที่ 15 พ.ค. อัยการสูงสุดเชิญไปสอบปากคำ จนถึงขณะยื่นศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด และคำร้องของนายบวร ระบุว่าได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดวันที่ 6 มี.ค. ต่อมา 14 พ.ค. อัยการสูงสุดได้เชิญไปให้ถ้อยคำ แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร มีเพียงคำร้องของพล.อ.สมเจตน์ และนายวิรัตน์ เท่านั้น ที่อ้างว่าได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดวันที่ 29 พ.ค.ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งหากนับระยะเวลาตั้งแต่นายวันธงชัย นายวรินทร์ และนายบวร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด จนถึงวันที่บุคคลทั้ง 3 ใช้สิทธิยื่นตรงต่อศาลฯและมีคำสั่งรับไว้พิจารณาคือวันที่ 1 มิ.ย. รวมเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนที่อัยการฯพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ซึ่งในคณะตุลาการฯก็มีการพูดคุยในการทำงานของอัยการสูงสุดที่ค่อนข้างล่าช้า และเห็นว่าหากอัยการฯ หรือผู้ร้องร้องเรื่องนี้มาแต่เนินๆ ก็จะทำให้ศาลมีเวลาในการดำเนินการและจะไม่ทำให้ศาลตกอยู่ในสภาวะถูกกระแสต่อต้านมากขนาดนี้
"อัยการ" เพิ่งตื่น นัดถกคณะกรรมการฯ เล็งนำเสนอ "อสส." โดยเร็วที่สุด
วันเดียวกันนี้ ในเวลา 13.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีบุคคลและคณะบุคคล 6 ราย ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ 416 ส.ส. – ส.ว. เสนอแก้รธน. มาตรา 291 เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้นัดประชุมคณะกรรมการฯ
โดยก่อนเข้าประชุม นายอรรถพล กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้รับเอกสารที่ร้องขอจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ส่วนเอกสารที่ยังไม่ได้รับจากสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมต้องหารือกันอีกครั้งว่าวันนี้จะพิจารณาได้มากน้อยเพียงใด
ส่วนการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะพิจารณาทำความเห็นส่งให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ได้เมื่อใดนั้น นายอรรถพล กล่าวว่า เมื่อเราทำความเห็นแล้วต้องจัดทำเอกสารเป็นข้อ ๆ ซึ่งจะพิจารณาทำความเห็นเสนออัยการสูงสุดให้เร็วที่สุด โดยการพิจารณาความเห็นของอัยการต้องตอบสาธารณชนได้แน่นอน
สำหรับการทำความเห็นของอัยการจะต้องให้เสร็จสิ้นทันเวลาที่สภาอาจจะมีการเรียกประชุมพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า การประชุมของอัยการมีกรอบการทำงาน โดยเมื่อมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามา อัยการสูงสุดก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งอัยการจะแสวงหาข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้ร้องมาให้ข้อเท็จจริง ซึ่งบางรายก็มา บางรายก็ไม่มา ขณะที่เราร้องขอเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยราชการด้วยทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้คณะกรรมการ ฯ เพิ่งจะได้รับเอกสารจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่เราร้องขอไปนานแล้ว ส่วนเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญที่เราร้องขอก็ต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องที่มีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ยื่นอัยการสูงสุด เพราะที่ผ่านมาเราทราบเรื่องคำสั่งดังกล่าวผ่านจากข่าวทางสื่อมวลชน จึงจำเป็นร้องขอเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญ โดยเอกสารที่เราร้องขอ ต้องมีการเช็นรับรองของหน่วยงานราชการนั้นด้วย เมื่อเราทำความเห็นแล้วจะต้องเสนออัยการสูงสุด ซึ่งอาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะต้องนำผลต่างๆ นำเสนอต่ออัยการสูงสุด เมื่อมีความเห็นอย่างไรจะแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้ง ยืนยันว่าผลออกมาเป็นอย่างไรสามารถชี้แจงสาธารณชนได้
ด้านนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า ในการร้องขอเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่แจ้งว่า จะส่งเอกสารให้เมื่อใด ส่วนจะต้องมีประชุมอีกครั้งเพื่อรอเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น ต้องหารือกันในที่ประชุมก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเตรียมที่จะแถลงข่าวภายหลังการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเวลาประมาน 18.00 น.
http://thaiinsider.i...ics/18344---3--
Edited by b..., 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555 - 18:13.