ท่านผู้หญิง วิระยา ชวกุล
สตรีสูงศักดิ์ อำมาตย์หญิงตัวแม่ หญิงสูงศักดิ์ที่พี่น้องเสื้อแดงตรบมือสนั่นเวทียามเธอเยื้องย่างขึ้นเวทีเสื้อแดง โดยไม่มีทีท่ารังเกียจเดียจฉันท์ ไม่ทราบพี่น้องคนเสื้อแดงลืมเธอกันหรือยัง มาย้อนรอยทำความรู้จักอำมาตย์หญิงเสื้อแดงตัวแม่คนนี้กันดีกว่า บางทีอาจจะได้คำตอบว่าทำไม ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขาธิการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ถึงโดน ลากโยงให้มาเกี่ยวข้องกับเรื่องปฏิวัตรัฐประหาร อยู่บ่อยๆ
ความเป็นคนโด่งดังเป็น “ดาวค้างฟ้า” ในแวดวงสังคมชั้นสูงของ ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล คือการปั้นสร้างภาพลักษณ์ตนเองเป็นเศรษฐินีผู้ใจบุญ มีความเมตตา เสียสละเพื่อสังคม และอาศัยภาพความใกล้ชิดกับสถาบันฯ เป็นเกราะกำบังทุกสิ่ง จนทำให้เธอไม่มีใครกล้าแตะต้องที่จะล่วงละเมิดวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดๆ ได้
ในเรื่องท่านผู้หญิงวิระยา สังคมได้ “ตาสว่าง” จากคำชี้แจงของ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขาธิการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ออกมาเปิดเผยสถานะที่แท้จริงของท่านผู้หญิงวิระยา ผ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.2552 หลังหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวตีพิมพ์สถานะทางสังคมของท่านผู้หญิงวิระยา ที่สังคมเข้าใจผิดกันมานานนั้น
บัดนี้ทุกภาคส่วนของสังคมจะได้เลิกลังเลสงสัยและหายคลุมเครือกันเสียที แต่คงทำให้ท่านผู้หญิงวิระยา ไม่ปลื้มเอามากๆ เหตุเพราะคำชี้แจงดังกล่าวที่แปลออกมาเป็นภาษาไทย ระบุข้อความชัดเจนว่า
“ท่านผู้หญิงวิระยานั้นไม่เคยเป็นนางสนองพระโอษฐ์ (Lady-in-waiting)
ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ แต่อย่างใด”
ความจริงยังมีอีกว่า กิจกรรมและธุรกิจทุกประการที่ท่านผู้หญิงวิระยา ดำเนินการนั้น เป็นกิจกรรมส่วนตัวของท่านผู้หญิงวิระยา ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันกับสำนักพระราชวังใดๆทั้งสิ้น ข่าวดังกล่าวระบุด้วยว่า ตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์นั้น ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ ท่านผู้หญิงวิระยา ยังไม่มีตำแหน่งใดๆ ในสำนักพระราชวังอีกด้วย
ต้องยอมรับว่า ท่านผู้หญิงวิระยาเป็นคนฉลาดในบริหารจัดการภาพลักษณ์และสร้างอำนาจให้ตนเอง แต่ก็ด้วยที่เธอรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ น้อยกว่ารักตัวเองจึงทำให้เส้นทางของเธอสะดุดหยุดลงแบบที่ตัวเองก็คงคาดไม่ถึงในวันนี้ เครือข่ายของท่านผู้หญิงวิระยาเกิดขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างคนในกลุ่ม ที่แต่ละฝ่ายคำนึงถึงแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ ของตัวเองอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
เรื่องที่เป็นวีรกรรมอันลือชื่อของท่านผู้หญิงสูงศักดิ์ท่านนี้ก็คือเรื่องการ “การจัดจำหน่ายเสื้อสีฟ้าปักอักษรพระนามาภิไธย ส.ก.” ที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2546 การจัดจำหน่ายเสื้อสีฟ้าของมูลนิธินพรัช-รัตนโกสินทร์ ราคาตัวละ 400 บาท มีการสั่งการเป็นหนังสือเวียนบังคับการซื้อ ต่อมามีข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ทำฎีการ้องทุกข์กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องการจัดจำหน่ายเสื้อสีฟ้าของมูลนิธินพรัช-รัตนโกสินทร์ พร้อมทั้งระบุรายละเอียดการจัดจำหน่าย ว่า มีหน่วยงาน 3 แห่ง คือ กระทรวงมหาดไทย ได้รับมา 1 ล้านตัว ธนาคารออมสิน 1 ล้านตัว และธนาคารกรุงไทยอีก 1 ล้านตัว ( ทั้งๆที่ขอพระบรมราชานุญาตจัดทำเพียง 2 ล้านตัวเท่านั้น แล้วมันมาจากไหนอีก 1 ล้านตัว ) เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็กลายเป็นเรื่องแดงขึ้นมาลองมาดูกันว่าเป็นไงมาไง
กรณีอื้อฉาวในการจัดทำเสื้อสีฟ้า ซึ่งมีพระนามาภิไธย ส.ก.ออกจำหน่าย เพื่อนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าถวายในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ที่จัดทำโดย ท่านผู้หญิง วิระยา ชวกุล ประธานกรรมการมูลนิธินพรัช-รัตนโกสินทร์ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการทำโครงการ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีการนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ทั้งที่เวลาผ่านมาถึง 5 ปีแล้ว และมีความพยายามจัดทำเสื้อถึง 3 ล้านตัว ขณะที่ทำหนังสือพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อเพียง 2 ล้านตัวเท่านั้น
รวมทั้งวิธีการจัดจำหน่ายที่เป็นไปในลักษณะ “บังคับซื้อ” โดยการออกหนังสือเวียน ให้ข้าราชการ และพนักงานของกระทรวงมหาดไทยทุกระดับชั้นซื้อ พร้อมทั้งเร่งให้มีการจัดจำหน่ายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2547 เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ผ่านกองราชเลขานุการในพระองค์ ถึงปลัดมหาดไทย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติ “วิธีจำหน่าย” ในลักษณะดังกล่าว และทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่งเมื่อทรงทราบจากฎีการ้องทุกข์หลายฉบับที่ระบุว่าโครงการนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
ภายหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ ท่านผู้หญิงวิระยาได้ออกมาให้สัมภาษณ์ชี้แจงผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้ง โดยระบุว่าสาเหตุที่ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อ เนื่องจากรอให้ทางสำนักพระราชวังแจ้งกำหนดการเข้าเฝ้าฯ และรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายเสื้อนั้นมีเพียง 480 ล้านบาท เนื่องจากจำหน่ายไม่หมดเพราะมีการออกจดหมายเวียนเพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายเสื้อ พร้อมทั้งอ้างว่าท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถึงปลัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีปัญหากับตนเป็นการส่วนตัว
“เขากล่าวหาว่าพี่ทำเสื้อ 3 ล้านตัว โดยแบ่งให้ออมสิน 1 ล้านตัว กรุงไทย 1 ล้านตัว มหาดไทย 1 ล้านตัว แต่ยอมรับว่า 1 ล้านตัวให้มหาดไทยจริง เดิมจะทำ 3 ล้านตัว แต่ทำไม่ได้ เพราะมีจดหมายที่ทำเวียนไปทั่วราชอาณาจักร เพื่อสกัดไม่ให้มีการขายเสื้อ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเดิม พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ รับปากพี่จะขายให้ ก็ขายไม่ได้ ได้แค่ 2 แสนกว่าตัว ของออมสินก็ขายไม่ได้” ท่านผู้หญิงวิระยา ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 พ.ค.2552
หนังสือเวียนของกระทรวงมหาดไทย
ถึงเรื่องดังกล่าวและได้รับการชี้แจงจาก เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในประเด็นต่างๆโดยละเอียด ดังนี้
สำหรับกรณีที่ท่านผู้หญิงวิรยะ ระบุว่า สาเหตุที่ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากจำหน่ายเสื้อ เนื่องจากรอให้ทางสำนักพระราชวังแจ้งกำหนดการเข้าเฝ้าฯนั้น เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการฯ ชี้แจงว่า ในทางปฏิบัติแล้วผู้ที่ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อหรือสินค้าใดๆที่มีตราสัญลักษณ์ หรือพระนามาภิไธย สก. เพื่อนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ก็จะมีการถวายรายงานความคืบหน้าในการจัดทำโครงการให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถทรงทราบ หรือหากจะทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ก็จะทำเรื่องมายังกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อขอเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน แต่กรณีโครงการจัดทำเสื้อสีฟ้า ซึ่งมีพระนามาภิไธย ส.ก. ของท่านผู้หญิงวิระยานั้น ที่ผ่านมาท่านผู้หญิงวิระยาไม่เคยมีการถวายรายงานเกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งไม่เคยมีการทำเรื่องขอเข้าเฝ้าฯเพื่อทูลเกล้าฯถวายเงินรายได้แต่อย่างใด
“เมื่อมีการขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำสินค้า ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ หรือพระนามาภิไธย ส.ก.และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ ได้พระราชทานราชานุญาตแล้ว ก็เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดทำที่จะไปผลิต และวางจำหน่ายในช่องทางที่เห็นว่าเหมาะสม โดยปกติแล้วหลังจากดำเนินโครงการไปได้สักระยะผู้ที่ทำโครงการก็จะถวายรายงานความคืบหน้าให้พระองค์ทรงทราบ หรือจะถวายรายงานเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วก็ได้ และหากจะทูลเกล้าฯถวายเงินรายได้ ผู้จัดทำก็จะทำหนังสือขอเข้าเฝ้าฯมายังกองงานราชเลขานุการฯ โดยจะขอถวายเงินรายได้เป็นช่วงๆ ระหว่างดำเนินโครงการก็ได้ หรือจะถวายเงินรายได้ทั้งหมดหลังโครงการเสร็จสิ้นก็ได้ ซึ่งตรงนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯไม่เคยรับสั่งให้กองราชเลขานุการไปสอบถามว่าโครงการนั้นโครงการนี้คืบหน้าถึงไหน จะถวายเงินเมื่อไร
ส่วนกรณีการจัดทำเสื้อสีฟ้า ซึ่งมีพระนามาภิไธย ส.ก. เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชมายุครบ 72 พรรษา ของท่านผู้หญิงวิระยานั้นทางกองราชเลขานุการฯ ยีนยันได้ว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ท่านผู้หญิงวิระยาไม่เคยถวายรายงานความคืบหน้าของโครงการให้พระองค์ท่านทรงทราบ และไม่เคยทำเรื่องขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจัดจำหน่ายด้วย ดังนั้นเมื่อไม่เคยขอเข้าเฝ้าฯ แล้วท่านจะบอกว่าไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ จึงยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย หรือ ท่านรอให้ทางวังแจ้งกำหนดการเข้าเฝ้าฯ ก็คงไม่ถูก เพราะกองงานราชเลขานุการฯไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ เรื่องนี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้จัดทำโครงการเอง ว่าเมื่อทำโครงการไปแล้ว มีรายได้เข้ามาแล้วจะทูลเกล้าฯ ถวายเงินเมื่อไหร่ อย่างไร เราไปบีบบังคับไม่ได้
ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีกรณีที่บุคคลหรือบริษัทห้างร้านขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำโครงการไปแล้วไม่ถวายเงินรายได้ หรือไม่ถวายรายงานนะ แม้แต่โครงการการแข่งขันกีฬาต่างๆที่ขอถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังเสร็จสิ้นการแข่งขันผู้จัดงานก็จะทำหนังสือถวายรายงานเข้ามา” เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถเปิดเผย
ส่วนกรณีที่ท่านผู้หญิงวิระยา ระบุว่า ขายเสื้อไม่หมด เพราะไม่สามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากมีจดหมายทำเวียนไปทั่วประเทศ เพื่อสกัดไม่ให้มีการขายเสื้อสีฟ้า 72 พรรษานั้น เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ชี้แจงว่า กองราชเลขานุการฯไม่เคยมีหนังสือห้ามจำหน่าย เสื้อสีฟ้าดังกล่าวแต่อย่างใด หนังสือที่กองราชเลขานุการ ออกไปนั้นมีเพียงฉบับเดียว คือหนังสือ ที่แจ้งไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “หยุดวิธีจัดจำหน่ายที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน” และขอให้วางจำหน่ายให้ประชาชนซื้อตามความสมัครใจ ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
“กรณีของท่านผู้หญิง วิระยา นั้น ถือเป็นกรณีพิเศษ ปกติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะไม่ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใครนำพระนามาภิไธย ส.ก.ไปใช้ เนื่องจากเป็นพระนามส่วนพระองค์ของพระองค์ท่าน แต่เมื่อนำไปใช้แล้วมีฎีการ้องทุกข์มาว่าการจำหน่ายเสื้อสีฟ้า ปักอักษรนามาภิไธย ส.ก.72 พรรษาได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย พระองค์ท่านก็ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างมาก เพราะพระองค์ท่านไม่ได้มีพระประสงค์เช่นนั้น โครงการนี้ระบุว่าเพื่อให้ประชาชนได้ใส่เสื้อสีฟ้าเพื่อแสดงความจงรักภักดี พระองค์ท่านก็ไม่มีพระประสงค์ที่จะบังคับให้ใครมาจงรักภักดี สมเด็จพระนางเจ้าฯจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถทำหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้หยุดวิธีจัดจำหน่ายซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ส่วนหนังสือห้ามจำหน่ายเสื้อตามที่ท่านผู้หญิงวิระยาระบุนั้นไม่มี ที่ผ่านมาทางกองราชเลขานุการฯไม่เคยทำหนังสือลักษณะนี้แจ้งไปยังหน่วยงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือธนาคารผู้จัดจำหน่าย” เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ระบุ
ส่วนการที่ท่านผู้หญิงวิระยา ระบุว่า ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระพระบรมราชินีนาถ มีปัญหาส่วนตัวกับตนเอง ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าการที่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ส่งหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้นนั้น เพื่อเป็นการโจมตีท่านผู้หญิงวิระยา เพราะความไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัวนั้น เจ้าหน้าที่กองงานราชเลขานุการฯ กล่าวชี้แจงว่า
“หนังสือของกองราชเลขานุการฉบับดังกล่าว ซึ่งลงนามโดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์นั้น เป็นการดำเนินการตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่ใช่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์จะทำหนังสืออะไรออกมาตามความต้องการของตนเองก็ทำได้ เจ้าหน้าที่ในกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถทุกคนเป็นข้าราชบริพารของพระองค์ท่าน เราทำงานตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้”
กรณีที่ท่านผู้หญิงวิระยา ระบุว่า เดิมทีจะจัดทำเสื้อสีฟ้า 72 พรรษา จำนวน 3 ล้านตัว แต่ไม่สามารถจัดทำได้เนื่องจากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้มีการจัดทำจดหมายเวียนเพื่อสกัดไม่ให้มีการจำหน่ายเสื้อดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่กองงานราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ อีกท่านหนึ่ง ชี้แจงว่า สิ่งที่ท่านผู้หญิงวิระยาพูดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถทำได้ เนื่องจากท่านผู้หญิงวิระยาได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อเพียง 2 ล้านตัวเท่านั้น อยู่ๆ จะผลิตเพิ่มเป็น 3 ล้านตัวไม่ได้ และหากจัดทำเกินกว่าจำนวนที่ได้ขอพระขอพระราชทานพระราชานุญาตก็ถือว่ามีความผิด และเป็นการมิบังควรอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับว่าเป็นการนำพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปแอบอ้างเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว ส่วนเมื่อจัดทำเสื้อออกมาแล้วจะสามารถจำหน่ายได้ตามจำนวนที่ขอพระราชทานพระราชานุญาตมาหรือไม่นั้น ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการเอง
“ที่ผ่านปัญหาที่ทางกองราชเลขานุการ พบบ่อยคือบุคคล หรือห้างร้านแจ้งมาว่าจะขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำสินค้าจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แต่ภายหลังก็บอกว่าจำหน่ายไม่หมด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ไม่เป็นไร แต่เราก็กลัวเหมือนกันว่าถ้าไม่จริงก็กลายเป็นว่าเป็นการแอบอ้างนำตราสัญลักษณ์ของพระองค์ท่านไปทำมาหากิน หรือบางกรณีก็มีการจัดทำสินค้าเกินกว่าจำนวนที่บุคคลหรือบริษัทแจ้งขอพระราชทานพระราชานุญาตมา ซึ่งถือว่าเป็นการมิบังควร เป็นการนำพระนามของพระองค์ท่านไปแอบอ้าง ซึ่งถ้าทราบว่ามีกรณีเช่นนี้ทางกองนิติการ สำนักพระราชวัง ก็จะเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการต่อไป โดยขั้นแรกอาจเป็นการตักเตือน หรือให้จัดเก็บจำนวนที่เกินออกจากตลาด ถ้าหากยังดื้อดึงก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏตามการนำเสนอของสื่อมวลชนทั้งหลาย ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า หนังสือของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทำถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยนั้นระบุว่า มูลนิธินพรัช-รัตนโกสินทร์ ซึ่งท่านผู้หญิงวิระยาเป็นประธานกรรมการ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อฯ จำนวน 2 ล้านตัว ทว่า อีกตอนหนึ่งของหนังสือระบุว่าทางมูลนิธิฯจะมีการจัดจำหน่ายเสื้อผ่าน 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1 ล้านตัว ธนาคารออมสิน 1 ล้านตัว และธนาคารกรุงไทยอีก 1 ล้านตัว โดยจำหน่ายในราคาตัวละ 400 บาท ซึ่งตามหลักฐานเช่นนี้ ย่อมหมายความว่าท่านผู้หญิงวิระยาจัดทำเสื้อเกินกว่าจำนวนที่ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต
หนังสือถึงท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ของอำมาตย์หญิงตัวแม่ ในนามส่วนตัว
จากการชี้แจงของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้น ก่อให้เกิดคำถามย้อนกลับไปยัง ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ว่าการให้สัมภาษณ์ของท่านในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมานั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และ การให้สัมภาษณ์ในลักษณะพูดคลุมเครือนั้นมีจุดประสงค์เช่นไร เป็นเพราะรู้ดีว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และข้าราชบริพารของพระองค์ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะออกมาตอบโต้ตามสื่อต่างๆได้ใช่หรือไม่? จนบัดนี้ล่วงมากว่า 9 ปี แล้ว ความคลุมเครือกับเงินรายได้ที่อ้างว่ารอทูลเกล้าฯถวายกว่า 400 ล้านก็ยังไม่มีการนำขึ้นทูลกล่าวถวายดังที่ได้ป่าวร้องประชาสัมพันธ์กัน ว่าไงครับท่านผู้หญิงอำมาตย์แดงตัวแม่
ตอนนี้ใกล้วาระอภิลักขิตสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมายุครบ พรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่อำมาตย์หญิงตัวแม่ จะได้ทูลเกล้าฯถวายเงินที่หมักดองไว้กว่า 9 ปีได้เสียที เว้นเสียแต่ว่าจะมีเจตนาหมักดองต่อไป