ต่อ
---------------
ชัยชนะของเอ็มเอสดอส
12 สิงหาคม 1981 ไอบีเอ็มประกาศเปิดตัวเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของพวกเขาอย่างเป็นทางการ และได้รับการต้อนรับจากตลาดเป็นอย่างดี ทำให้เอ็มเอสดอสประสบความสำเร็จตามไปด้วย ซึ่งคู่แข่งรายสำคัญในตลาดระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ในตอนนั้นยังคงเป็นดิจิตอลรีเสิร์ช หนึ่งปีหลังจากการวางตลาดของไอบีเอ็มพีซี จำนวนของผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่หันมาใช้
เอ็มเอสดอส เป็นระบบปฏิบัติการมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ก็ได้ปรับปรุงเอ็ม-เอสดอสให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้นตามลำดับ
แต่ชัยชนะที่เห็นได้ชัดเจนของเอ็มเอสดอสเกิดขึ้นในปี 1983 เมื่อโลตัสได้เปิดตัวโปรแกรม
โลตัส 1-2-3 ซึ่งทำงานบนเอ็มเอสดอสออกมาและได้รับความสำเร็จอย่างล้นหลาม จึงส่งผลทำให้เอ็มเอสดอสได้รับการยอมรับว่า เป็นมาตรฐานของระบบปฏิบัติการของเครื่องพีซี
…นับแต่นั้นมา ก็เข้าสู่ยุคของไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ในวงการซอฟต์แวร์…
ความล้มเหลวของไมโครซอฟท์
ในขณะที่ไมโครซอฟท์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ความสำเร็จของโปรแกรม VisiCalc ของ
แอปเปิ้ล ทำให้เกตส์และอัลเลนตัดสินใจว่า พวกเขาควรจะขยายงานของไมโครซอฟท์เข้าไปในตลาดเกี่ยวกับโปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ แทนที่จะมัวพัฒนาแต่เพียงโปรแกรมภาษาเครื่องแต่เพียงอย่างเดียว โดยพวกเขาเลือกที่จะพัฒนาโปรแกรมทางด้านสเปรดชีตเป็นอย่างแรก
การวางแผนในการพัฒนาแอพพลิเคชันทางด้านสเปรดชีตของไมโครซอฟท์ที่จะเอาชนะ
วิสิแคลให้ได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในตลาดของสเปรดชีต ไมโครซอฟท์เป็นคนที่มาทีหลัง ดังนั้นสิ่งที่เกตส์คิดคือ สิ่งที่พวกเขาทำต้องดีกว่าและมีความแตกต่างมากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมในตลาด และอีกช่องทางที่เขาจะสามารถชนะคู่แข่งได้คือ โปรแกรมของไมโครซอฟท์จะต้องสามารถใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของทุกบริษัทและทุกระบบปฏิบัติการ นอกจากนั้นเกตส์ตัดสินใจที่จะใช้
ภาษาซีในการเขียนเนื่องจากมันเป็นภาษาระดับสูง ทำให้สามารถเพิ่มฟังก์ชันต่าง ๆ ได้มากขึ้น ด้วยยุทธศาสตร์ดังกล่าว เกตส์เชื่อว่าเขาจะสามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดได้
โปรแกรมดังกล่าวชื่อว่า "มัลติแพลน" ซึ่งเกตส์ยินยอมทำตามที่ไอบีเอ็มต้องการเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ นั่นคือต้องสามารถทำงานโดยใช้หน่วยความจำน้อยกว่า 64K ซึ่งทำให้โปรแกรมเมอร์ของไมโครซอฟท์ที่ดูแลโครงการนี้อยู่ต้องทำงานซับซ้อนกว่าที่พวกเขาคาดหมาย และกลายมาเป็นข้อผิดพลาดที่ใหญ่หลวงในเวลาต่อมา
มัลติแพลนได้รับการต้อนรับจากผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่ยอดการจำหน่ายก็ยังคงสู้
วิสิแคลไม่ได้อยู่ดี เดือนมกราคม 1983 ยอดขายรวมของวิสิแคลขึ้นไปถึง 500,000 ชุด แต่เกิดความ-ขัดแย้งกันขึ้นภายในเสียก่อน ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับมัลติแพลนของไมโครซอฟท์ แต่ผู้ที่มาหยิบชิ้นปลามันไปกินในครั้งนี้กลับเป็นโลตัส 1-2-3
โลตัส 1-2-3 เปิดตัวครั้งแรกในงานคอมเด็กซ์ ที่ลาสเวกัสในเดือนพฤศจิกายน 1982 ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างมากจากบรรดานักธุรกิจ โดยภายในเวลาเพียงแค่ 2-3 วันหลังจากการเปิดตัว ก็มีคำสั่งซื้อโลตัส 1-2-3 เข้ามานับล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนนับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรก โลตัส 1-2-3 ก็สามารถแซงวิสิแคลขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโปรแกรมทางด้านสเปรดชีต และไม่มีทีท่าว่าจะมีอะไรที่สามารถหยุดมันเอาไว้ได้
เดือนกุมภาพันธ์ 1984 ไมโครซอฟท์นำมัลติแพลนเวอร์ชัน 1.1 ออกสู่ตลาด มัลติแพลนเวอร์ชันดังกล่าวสามารถทำงานกับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ได้เกือบทุกระบบ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทาง
โลตัส 1-2-3 ไม่สามารถทำได้ และทำให้ผู้ผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์หลายแห่งนำมัลติแพลนออกจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจากตน อย่างไรก็ตามการที่โลตัส 1-2-3 เขียนขึ้นมาเพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มรวมทั้งเครื่องที่เลียนแบบ ทำให้มันได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม ถึงสิ้นปี 1984 โลตัสกลายมาเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีรายได้เป็นอันดับหนึ่ง โดยมีรายได้รวมกันถึง 157 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไมโครซอฟท์มีรายได้เพียง 125 ล้านเหรียญสหรัฐ
กำเนิดไมโครซอฟท์เอ็กเซล
เกตส์ตัดสินใจว่าไมโครซอฟท์ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเอาชนะโลตัส 1-2-3 ในที่ประชุมเกตส์บอกกับทุกคนว่าความเร็วในการคำนวณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด บางคนเสนอว่าโปรแกรมที่สร้างขึ้นใหม่ควรที่จะให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างสูตรในการคำนวณด้วยตนเองได้ ขณะที่บางคนบอกว่าควรสร้างโปรแกรมที่ออกมาในรูปของกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ เหมือนกับ
แมคอินทอชของแอปเปิ้ล หรือวินโดวส์ที่ไมโครซอฟท์กำลังพัฒนาอยู่
นอกจากนี้เกตส์ยังอยากจะให้คนที่ทำหน้าที่ทางด้านการตลาดเป็นผู้ที่เข้ามาดูแลในเรื่องข้อกำหนดกฏเกณฑ์สำหรับซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า "เอ็กเซล" ตัวนี้ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยปกติ เหตุผลก็คือเกตส์เชื่อว่า คนที่ทำหน้าที่ทางการตลาดจะมีความใกล้ชิดและทราบความต้องการของผู้ใช้งานมากกว่า
เนื่องจากบรรดาธุรกิจส่วนใหญ่ของอเมริกายอมรับเอาโลตัส 1-2-3 เป็นมาตรฐานของโปรแกรมประเภทนี้ไปแล้ว ทีมการตลาดของไมโครซอฟท์จึงเชื่อว่า เป็นการยากที่จะเอาชนะโลตัส 1-2-3 ในตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ และตลาดเดียวที่ไมโครซอฟท์จะยังสามารถเอาชนะโลตัส 1-2-3 ในโปรแกรมประเภทสเปรดชีตได้คือ ตลาดของแมคอินทอช
ในทัศนะของเกตส์เอง การนำเอ็กเซลเข้าบุกตลาดเครื่องแมคอินทอชเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เหตุผลแรกคือเกตส์เชื่อว่า อนาคตของโปรแกรมต่าง ๆ จะต้องเป็นโปรแกรมประเภทกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟซเท่านั้น การพัฒนาเอ็กเซลสำหรับทำงานบนวินโดวส์ที่ไมโครซอฟท์กำลังพัฒนาอยู่อาจจะยังไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะวินโดวส์ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เอ็กเซลทำงานได้อย่างเต็มที่ และการที่ไมโครซอฟท์พัฒนาเอ็กเซลสำหรับเครื่องแมคอินทอชก่อน จะทำให้ได้รับประสบการณ์จากการทำงานและนำมาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมสำหรับวินโดวส์ของตนเอง
สำหรับเหตุผลที่สองนั้น เกตส์ทราบข่าวมาว่า แอปเปิ้ลจะนำเครื่องแมคอินทอชที่มีหน่วยความจำ 512K เข้าสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้เอ็กเซลสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
ในขณะเดียวกันโลตัสก็ได้เตรียมการพัฒนาโปรแกรมโลตัส 1-2-3 และโปรแกรมอื่น ๆ สำหรับเครื่องแมคอินทอชเช่นเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า "Jazz" ซึ่งพวกเขาจะสร้างให้แจ๊ซมีทั้งโปรแกรมทางด้านดาต้าเบส, สเปรดชีต, กราฟิก, เวิร์ด และการติดต่อสื่อสาร
ในตอนแรกแมคอินทอชต้องการจะใช้แต่แจ๊ซของโลตัสเท่านั้น แต่ทว่าในเดือนมีนาคม 1985 โลตัสออกมาประกาศเลื่อนกำหนดการในการวางตลาดของแจ๊ซออกไปอีก 2 เดือน ทำให้ความสนใจในแจ๊ซของคนทั่วไปลดลงอย่างช่วยไม่ได้ และนี่เป็นครั้งแรกที่โลตัสออกมาประกาศการเลื่อนกำหนดการวางตลาดผลิตภัณฑ์ของตนเอง ความล่าช้าดังกล่าวทำให้แมคอินทอชหันกลับมาให้ความสนใจกับเอ็กเซลแทน ซึ่งได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการตัดหน้าแจ๊ซเพียงแค่ 3 สัปดาห์
นอกจากนี้ เมื่อแจ๊ซออกวางตลาดจริง ๆ มันถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้งานจำนวนมาก สาเหตุใหญ่ ๆ ก็คือ
1. การขาดคุณสมบัติเรื่องมาโคร การขาดคุณสมบัติในเรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้กับคนจำนวนมาก เพราะมาโครเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความสำเร็จให้กับโลตัส 1-2-3
2. สามารถอ่านงานที่เป็นสเปรดชีตในรูปแบบของโลตัสได้ แต่ไม่สามารถสร้างงานที่เป็นสเปรดชีตในรูปแบบของโลตัสได้ เอ็กเซลกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการที่จะนำงานที่ทำด้วยโลตัส 1-2-3 มาทำต่อบนแมคอินทอช
3. การทำงานช้ามาก นี่เป็นอีกเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะการที่โลตัส 1-2-3 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่ถูกใจของคนจำนวนมาก
ด้วยความสำเร็จของเอ็กเซลทำให้ไมโครซอฟท์กลายเป็นอันดับหนึ่งสำหรับผู้พัฒนา
แอพพลิเคชันที่ใช้งานทางธุรกิจ และทำให้พวกเขาสามารถเขี่ยโลตัสออกจากโลกของแมคอินทอชได้อย่างเด็ดขาด
…บทเรียนหนึ่งที่เกตส์ได้เรียนรู้จากชัยชนะในครั้งนี้ก็คือ ไมโครซอฟท์มีความเข้มแข็งมากในเรื่องของกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ จากจุดนั้น เส้นทางแห่งการไปสู่ชัยชนะในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีก็ได้ถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว…
แม้ว่าโลตัสจะพ่ายแพ้แก่ไมโครซอฟท์ในตลาดเครื่องแมคอินทอช แต่โลตัสก็ยังคงครองความเป็นอันดับหนึ่งในตลาดซอฟต์แวร์อยู่ดี แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าไมโครซอฟท์ยืนอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่า และน่าจะสามารถแซงหน้าโลตัสขึ้นไปได้ เนื่องจากไมโครซอฟท์มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากกว่า และผลิตภัณฑ์เหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีคุณภาพที่ดี ขณะที่โลตัสมีผลิตภัณฑ์ที่เด่น ๆ อยู่เพียงตัวเดียวคือ โลตัส 1-2-3 ซึ่งทำรายได้ให้กับโลตัสถึง 60% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่เอ็กเซลทำรายได้ให้แก่ไมโครซอฟท์เพียงแค่ 8% เท่านั้น
หลังจากการพัฒนาเอ็กเซลสำหรับแมคอินทอชเสร็จสิ้นลง การพัฒนาเอ็กเซลสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีก็เป็นเป้าหมายต่อไป ซึ่งมันเป็นงานที่ยากกว่าเนื่องจากวินโดวส์มีความซับซ้อนมากกว่าแอปเปิ้ล และในวันที่ 6 ตุลาคม 1987 เอ็กเซลสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีก็ได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งานในระดับธุรกิจ
เกตส์บอกว่า เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้กราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ และความเข้มแข็งของโลตัสในตลาดสเปรดชีต อาจจะกลายเป็นจุดอ่อนของพวกเขาเอง ผู้ใช้งานที่ชอบใช้โลตัส 1-2-3 อาจจะไม่ต้องการให้โลตัสมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีโดยรวมกำลังเปลี่ยนแปลง นั่นแปลว่าเอ็กเซลมีโอกาสมากที่จะได้รับชัยชนะในการแข่งขัน
นอกจากนี้การที่ไมโครซอฟท์สามารถวางตลาดทั้งวินโดวส์และเอ็กเซลได้พร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการตลาดอย่างใหญ่หลวง เวอร์ชันใหม่ของวินโดวส์สามารถสนับสนุน
การทำงานของเอ็กเซลได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะเดียวกันเอ็กเซลก็แสดงให้เห็นว่าวินโดวส์เวอร์ชันใหม่เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของเอ็กเซล
และอีกเช่นเคย โลตัสออกมาประกาศเลื่อนการวางตลาดของโลตัส 1-2-3/3 ออกไปอีกรวม
2 ครั้ง ทำให้ความเชื่อถือของโลตัสลดน้อยลงไป ประกอบกับการลงทุนในการโฆษณาอย่างมหาศาลของไมโครซอฟท์ ทำให้เอ็กเซลได้รับความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ที่ องค์กรทั้งของรัฐและ
เอกชนหันมาใช้เอ็กเซลมากขึ้นตามลำดับ
เดือนมิถุนายน 1989 โลตัสได้นำโลตัส 1-2-3/3 ออกสู่ตลาดได้ในที่สุด แต่ก็สายเกินไปแล้ว ซึ่งในไม่กี่ปีหลังจากนั้น เอ็กเซลของไมโครซอฟท์ก็เอาชนะโลตัสได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะหลังจากการวางตลาดของวินโดวส์ 95 โลตัสก็ไม่มีที่ว่างเหลืออยู่ในตลาดอีกต่อไป จนกระทั่งถูกไอบีเอ็มเข้ามาเทคโอเวอร์ไปในที่สุด
กำเนิดไมโครซอฟท์เวิร์ด
ในปี 1983 ตลาดซอฟต์แวร์ถูกผูกขาดโดยบริษัทขนาดใหญ่ 4 แห่งคือ วิสิคอร์ป, ไมโครซอฟท์, ดิจิตอลรีเสิร์ช และไมโครโปร แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก โลตัสก็ก้าวเข้ามาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง และถือเป็น 5 เสือแห่งวงการซอฟต์แวร์ในเวลานั้น
โปรแกรมเวิร์ดสตาร์ของไมโครโปรออกสู่ตลาดในช่วงกลางปี 1979 และก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดในโปรแกรมประเภทนี้ได้อย่างง่ายดาย ตอนนั้นเวิร์ดสตาร์ทำงานกับระบบปฏิบัติการ CP/M ได้เป็นอย่างดี และช่วยทำให้ CP/M ขายดีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเมื่อไอบีเอ็มเปิดตัวพีซีคอมพิวเตอร์ของ
ตนเองออกมา ไมโครโปรก็พัฒนาเวิร์ดสตาร์สำหรับพีซีคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มทันที อย่างไรก็ตามเวิร์ดสตาร์ยังคงมีจุดอ่อนบางอย่าง มันเป็นโปรแกรมที่ซับซ้อนซึ่งบางครั้งทำให้การใช้งานมันยุ่งยากพอสมควร
ในขณะที่ไมโครซอฟท์มองเห็นความสำเร็จของเวิร์ดสตาร์ พวกเขาก็ได้ทำการศึกษา
ความเห็นของผู้ใช้งานและจุดอ่อนต่าง ๆ ของเวิร์ดสตาร์ด้วย ในที่สุดเกตส์ตัดสินใจที่จะพัฒนาโปรแกรมเวิร์ดโพรเซสซิงของไมโครซอฟท์เองชื่อว่า "ไมโครซอฟท์เวิร์ด" ขณะที่เวิร์ดสตาร์ใช้ภาษาแอสเซมบลี ไมโครซอฟท์เวิร์ดจะใช้ภาษาซีในการพัฒนา มันมีอินเทอร์เฟซที่คล้ายคลึงกับมัลติแพลน และมีคำสั่งหลายคำสั่งที่เหมือนกับมัลติแพลน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ มันทำงานบนดอส นอกจากนี้มันยังสามารถใช้ได้กับเครื่องพรินเตอร์เกือบทุกชนิด และสามารถอ่านไฟล์ที่สร้างด้วยโปรแกรมเวิร์ดสตาร์ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลในการเปลี่ยนมาใช้ไมโครซอฟท์เวิร์ด
ไมโครซอฟท์เวิร์ดออกวางตลาดอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤศจิกายน 1983 โดยมี
จุดมุ่งหมายที่จะแข่งขันกับการผูกขาดของเวิร์ดสตาร์ แม้ว่าการตอบสนองของตลาดในครั้งแรกดูจะเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังต่ำกว่าที่ฝ่ายการตลาดคาดหวังเอาไว้ ดูเหมือนผู้ใช้งานยังไม่ตัดสินใจอะไรลงไป และยังคงรอดูอยู่ว่าไมโครซอฟท์เวิร์ดจะดีจริงหรือไม่
จากการสำรวจการใช้งานโปรแกรมด้านเวิร์ดโพรเซสซิงทั่วโลกในช่วงต้นปี 1985 ระบุว่าไมโครซอฟท์เวิร์ดไม่ติดแม้กระทั่งอันดับ 1 ใน 10 โดยที่เวิร์ดสตาร์ยังคงครองความเป็นอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 24% แม้ว่าไมโครซอฟท์เวิร์ดจะยังคงไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดได้ แต่การพัฒนาออกมาสู่ตลาดถึง 2 เวอร์ชันก็เป็นการปูรากฐานที่สำคัญในการก้าวไปสู่ผู้นำในอนาคตของโปรแกรมตัวนี้
อีกครั้งหนึ่งที่มีผู้แอบแซงหน้าไมโครซอฟท์ไปสู่ความสำเร็จ เวิร์ดเพอร์เฟ็กต์นำโปรแกรมของตนเองออกสู่ตลาดอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการโหมโปรโมท ไม่มีการแจกฟรี เหมือนอย่างที่ไมโครซอฟท์ทำ เกือบจะไม่มีกิจกรรมอะไรเลย อาวุธที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวของพวกเขาคือ การบริการ
การบริการ และการบริการเท่านั้น ไมโครซอฟท์ไม่เคยมีแผนการในการตั้งรับวิธีการดังกล่าวของ
คู่แข่งมาก่อน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจต่อการพ่ายแพ้ของพวกเขา
เวิร์ดเพอร์เฟ็กต์สามารถขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ของโปรแกรมประเภทเวิร์ดโพรเซสซิง และเป็นที่ 2 ของตลาดซอฟต์แวร์ทั้งหมด โดยเป็นรองเพียงแค่โลตัส 1-2-3 เท่านั้น ความสำเร็จของพวกเขามาจากการบอกกันปากต่อปาก และการให้บริการอย่างดีเยี่ยม ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว เวิร์ดเพอร์เฟ็กต์ก็ได้สร้างความสำเร็จที่น่าตื่นตะลึงให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งอุตสาหกรรม
แม้ว่าไมโครซอฟท์เวิร์ดทั้งสองเวอร์ชันที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จไม่มากนัก แต่เกตส์เป็นคนที่ไม่เคยยอมแพ้กับอะไรง่าย ๆ เดือนเมษายน 1986 ไมโครซอฟท์เวิร์ด 3.0 ถูกนำออกสู่ตลาด ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่พบในเวอร์ชันที่ผ่านมาได้รับการแก้ไข คราวนี้ได้รับการต้อนรับจากผู้ใช้งานเป็นอย่างดี ภายในปีเดียวกันนั้นเอง ไมโครซอฟท์เวิร์ดได้กลายมาเป็นโปรแกรมที่ขายดีที่สุดของไมโครซอฟท์ และอยู่ในอันดับที่ 5 ของโปรแกรมสำหรับพีซีคอมพิวเตอร์ที่ขายดีที่สุด นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังได้สร้างไมโครซอฟท์เวิร์ดสำหรับเครื่องแมคอินทอชด้วย
ในปี 1990 ไมโครซอฟท์ก็ได้รับความสำเร็จในโปรแกรมด้านแอพพลิเคชันมากขึ้น พวกเขานำเอาแอพพลิเคชันต่าง ๆ ที่ใช้งานในองค์กรธุรกิจมารวมไว้เป็นชุดเดียวกัน และเรียกชื่อมันใหม่ว่า
"ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ" ซึ่งในชุดออฟฟิศดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ไมโครซอฟท์เวิร์ด ไมโครซอฟท์เอ็กเซล ไมโครซอฟท์เพาเวอร์พอยต์ และไมโครซอฟท์เอ็กเซส
…องค์กรต่าง ๆ ให้การยอมรับโปรแกรมในชุดออฟฟิศของไมโครซอฟท์เป็นอย่างดี และไมโครซอฟท์ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดแอพพลิเคชันสำหรับองค์กรธุรกิจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา…
ความช่วยเหลือจากไอบีเอ็ม
นับตั้งแต่ปี 1980 ที่ไมโครซอฟท์เริ่มต้นการร่วมมือกับไอบีเอ็มในการสร้างระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ที่เรารู้จักกันในชื่อของ เอ็มเอสดอส (MS-DOS) เป็นต้นมา
ความสัมพันธ์ระหว่างไมโครซอฟท์กับไอบีเอ็มได้พัฒนาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากไอบีเอ็ม ทำให้เกตส์และไมโครซอฟท์ประสบกับความสำเร็จอย่างที่พวกเขาเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
เมื่อไอบีเอ็มเริ่มนำพีซีคอมพิวเตอร์ของตนเองออกสู่ตลาด มีระบบปฏิบัติการอยู่ 3 ตัวที่ไอบีเอ็มเสนอให้ลูกค้าเลือกใช้งาน นั่นคือ พีซีดอสของไมโครซอฟท์ CP/M-86 และ UCSD PASCAL P-SYSTEM ซึ่งเกตส์และอัลเลนมีความคิดที่เหมือนกันในความต้องการที่จะผลักดันให้ระบบปฏิบัติ-การของพวกเขากลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า จะต้องมียอดจำหน่ายสูงที่สุด และทิ้งคู่แข่งรายอื่น ๆ จนผู้ใช้งานสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีวิธีการอยู่ 3 ที่จะทำให้ไมโครซอฟท์ไปถึงจุดดังกล่าว นั่นคือ
1. ทำให้เอ็มเอสดอสเป็นระบบปฏิบัติการที่ดีที่สุดสำหรับพีซีคอมพิวเตอร์ เรื่องนี้เกตส์และอัลเลนไม่เป็นห่วง เพราะทั้งสองเชื่อว่าไมโครซอฟท์มีทีมงานที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 บริษัทที่เหลือ
2. เอ็มเอสดอสจะต้องเป็นระบบปฏิบัติการที่มีราคาถูกที่สุดในบรรดาคู่แข่งทั้งสามราย เกตส์ยื่นข้อเสนอที่ไอบีเอ็มไม่มีทางที่จะปฏิเสธได้ โดยให้ไอบีเอ็มจ่ายเงินแก่ไมโครซอฟท์เพียงครั้งเดียว และไอบีเอ็มก็จะได้รับสิทธิ์ที่จะใช้เอ็มเอสดอสกับพีซีคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ไอบีเอ็มขายได้
3. กระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตซอฟท์แวร์รายอื่น ๆ พัฒนาโปรแกรมที่ใช้เอ็มเอสดอสเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้พีซีคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมด้วย
เป้าหมายที่เกตส์ต้องการไม่ได้อยู่ที่รายได้ที่ได้รับจากไอบีเอ็ม แต่การที่ไอบีเอ็มผลักดัน
สินค้าของไมโครซอฟท์อย่างเต็มที่ จะทำให้เอ็มเอสดอสกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม และไมโครซอฟท์จะมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากการขายลิขสิทธิ์ในการใช้งานระบบปฏิบัติการให้แก่ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์รายอื่น ๆ
ความขัดแย้งกับไอบีเอ็ม
หลังจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไอบีเอ็มในการหยุดการพัฒนาพีซีคอมพิวเตอร์ เนื่องจากกลัวว่ามันจะทำลายตลาดเมนเฟรมที่ไอบีเอ็มครองอยู่มาเป็นเวลานาน ทำให้โอกาสตกไปเป็นของบริษัทที่ตั้งใหม่ชื่อ "คอมแพคคอมพิวเตอร์"
ในช่วงปี 1984 ไอบีเอ็มได้เตรียมการที่จะกลับมาครองความยิ่งใหญ่อีกครั้ง และต้องการให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับพีซีคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบใหม่ ระบบปฏิบัติการดังกล่าวมีชื่อว่า OS/2 ซึ่งเกตส์เองรู้สึกไม่ค่อยชอบใจในข้อตกลงที่ว่า ไอบีเอ็มมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาควบคุมมาตรฐานในการพัฒนาระบบปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดเท่าไรนัก
ในระหว่างการพัฒนา OS/2 ร่วมกับไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ก็ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของตนเองควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเกตส์หวังว่าจะสามารถโน้มน้าวให้ไอบีเอ็มนำวินโดวส์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ OS/2 ด้วย เกตส์บอกกับคนของไอบีเอ็มอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาเชื่อว่า OS/2 จะเป็นระบบปฏิบัติการที่ยอดเยี่ยมและสามารถใช้งานได้ดีในอนาคตเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีได้รับการพัฒนาไปมากกว่านี้ แต่สำหรับวันนี้เขาเชื่อว่าวินโดวส์ 3.0 น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า และสามารถเจาะตลาดได้รวดเร็วและดีกว่า OS/2 ของไอบีเอ็มแน่นอน แต่คนของไอบีเอ็มไม่ยอมรับต่อการสบประมาทดังกล่าว การเจรจาล้มเหลวลง และไมโครซอฟท์หันไปทุ่มเทให้กับวินโดวส์ 3.0 ของตนเองอย่างเต็มที่
ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า OS/2 ของไอบีเอ็มจะกลายเป็นเพียงแค่อดีตไปเสียแล้ว ในทางตรงกันข้าม วินโดวส์ได้กลายมาเป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่ง
การตลาดมากกว่า 80%
…นับแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ไม่มีการร่วมมือใด ๆ ระหว่างไมโครซอฟท์และไอบีเอ็มเกิดขึ้นอีกเลย แต่ก็ไม่มีการปะทะกันตรง ๆ เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน…
ไมโครซอฟท์ก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชน
วิธีการหนึ่งที่ไมโครซอฟท์ใช้ในการดึงดูดให้พนักงานที่มีความสามารถทำงานอยู่กับบริษัท คือการมอบสิทธิในการซื้อหุ้นของบริษัทให้กับพนักงาน วิธีการดังกล่าวช่วยให้พนักงานมีความรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งทำให้พวกเขาทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการทำงานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมา นอกจากนั้นวิธีการดังกล่าวยังเป็นการป้องกันการถูกดึงตัวพนักงานจากบริษัทอื่น ๆ อีกด้วย
ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์พยายามจัดการกับปัญหาการลาออกของพนักงานด้วยการใช้หุ้นของบริษัทมาเป็นแรงจูงใจ ถ้าไมโครซอฟท์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อใด พนักงานจำนวนหนึ่งจะเอาหุ้นของตนเองออกขายทันที และอาจจะลาออกจากบริษัทไป ซึ่งจะทำให้ไมโครซอฟท์มีปัญหาในเรื่องพนักงานตามมา อย่างไรก็ตามเกตส์ตัดสินใจที่จะให้มีการสำรวจในเรื่องต่าง ๆ อย่างจริงจัง และนำผลการสำรวจมาใช้ในการตัดสินใจ
13 มีนาคม 1986 หุ้นของไมโครซอฟท์เข้าทำการซื้อขายด้วยราคาเริ่มแรกที่ 25.75 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น และปิดตลาดในวันนั้นด้วยราคา 27.75 เหรียญสหรัฐ มีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 2.5 ล้านหุ้น เป็นเงินประมาณ 661 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
เดือนมีนาคม 1987 เมื่อราคาหุ้นของไมโครซอฟท์อยู่ที่ 84.75 เหรียญสหรัฐ เกตส์ก็กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านด้วยวัยเพียงแค่ 31 ปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นมหาเศรษฐีที่หนุ่มที่สุด
…นับตั้งแต่เกตส์และอัลเลน ร่วมกันก่อตั้งไมโครซอฟท์ขึ้นในปี 1975 ไมโครซอฟท์เติบโตจากบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เล็ก ๆ ขึ้นมาเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เกตส์กลายมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ไมโครซอฟท์กลายมาเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการคอมพิวเตอร์…
Edited by amplepoor, 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 03:42.