http://www.bangkokbi...น์-เกษมศรี.html
การเงิน - การลงทุน : ถนนนักลงทุน วันที่ 12 มิถุนายน 2555 01:00
กระชากหน้ากาก 'เฮดจ์ฟันด์' มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ไม่นานมานี้บนโลกออนไลน์มีการพูดถึงคลิปวีดีโอใน YouTube หนุ่มใหญ่ออกมา "แฉ" ข้อมูลต้นทุนพลังงานของประเทศ ที่เขาเชื่อว่า "ถูกบิดเบือน" นับเป็นการ "ดับเครื่องชน" บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ระดับชาติ และถือเป็นการแจ้งเกิดชื่อ "หม่อมกร" มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ในเวลาอันรวดเร็ว
หลังจากหม่อมกรใช้เวทีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV เปิดตัวต่อสาธารณะชนในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานได้ไม่นาน เขาก็ยื่นใบลาออกจากทุกตำแหน่งใน บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปิดฉากตำแหน่งกรรมการบริหาร, ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (COO) และเลขานุการบริษัท (มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2555) โดยตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ "มันนี่ แชนแนล" ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
แท้ที่จริงแล้ว มล.กรกสิวัฒน์ ยังมีความช่ำชองในเรื่อง "การลงทุน" เขามีดีกรี MBA สาขาการเงินเอก "บริหารพอร์ตโฟลิโอ" หลักสูตรสำหรับผู้จัดการกองทุนโดยเฉพาะจาก UCLA ต่อด้วยประสบการณ์เป็นผู้จัดการกองทุนที่ บลจ.เอเจเอฟ เคยเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการลงทุนตราสารหนี้ และผู้ช่วยเลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และอดีตผู้บริหารบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่ กบข. มล.กรกสิวัฒน์ ได้ศึกษาต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่จุฬาฯ โดยเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “เฮดจ์ฟันด์กับโลกาภิวัฒน์” กล่าวได้ว่าเขาเป็นกูรูที่รู้จักกองทุนต่างชาติมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ปัจจุบันกำลังซุ่มออกผลงานพอกเก็ตบุ๊คเล่มแรกที่เกี่ยวกับเฮดจ์ฟันด์และระบบการเงินของโลก
มล.กรกสิวัฒน์ เล่าประวัติสั้นๆให้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า หลังจบวิศวะจุฬา ทางด้านก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ก็ไปทำงานเป็นวิศวกรวางท่อน้ำมันและปิโตรเคมี ได้เห็นกระบวนการดึงพลังงานจากอ่าวไทยมาใช้ทั้งหมด ต่อมาเริ่มสนใจตลาดหุ้นและตลาดการเงิน จึงบินไปเรียนต่อ MBA ที่ University of California, Los Angeles (UCLA) ที่ UCLA มีเพื่อนคนไทย บอย โกสิยพงษ์ มาเรียนทางด้านดนตรี ส่วนตัวก็ชอบดนตรีทำให้หลังจากลาออกจาก กบข.และฟิทช์ เรทติ้งส์ จึงตัดสินใจข้ามสายงานไปทำงานที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
"แต่ก่อนหน้านั้นผมเคยทำงานที่ บลจ.อยุธยา จาร์ดีนแฟลมมิ่ง (AJF) ชื่อจาร์ดีนแฟลมมิ่ง สมัยก่อนถือได้ว่าศักดิ์สิทธิ์และทรงอิทธิพลมากในตลาดหุ้น ถ้าบอกใครว่าคุณเป็นผู้จัดการกองทุนที่นี่..คุณคือเทวดา"
มล.กรกสิวัฒน์ อยู่ในยุคที่ บลจ.เอเจเอฟ รุ่งเรืองมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ 50,000 ล้านบาท โดยแข่งกับ บลจ.ทหารไทย สลับกันขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง โดยสไตล์การลงทุนของ บลจ.เอเจเอฟ จะเป็น Active Fund มุ่งเน้นเอาชนะผลตอบแทนของตลาด เพราะมีความเชื่อว่าตลาดหุ้นเอเชียยังไม่ใช่ตลาดที่มีประสิทธิภาพ ยังสามารถเอาชนะได้ด้วยข้อมูลและงานวิจัยที่ดี ต่างจากตลาดหุ้นอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วมันเป็น Global มีผู้เล่นระดับโลกมากมาย
'กองทุนระดับโลก' คิดต่างขั้วนักลงทุนไทย
มล.กรกสิวัฒน์ เล่าว่า "โรเจอร์" นายเก่าเคยพูดให้ฟังว่า เขามองคนไทยมีพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นที่แปลก เวลาที่ไม่ชอบหุ้นตัวไหนก็จะขายทีละนิดละหน่อย แล้วยังคงเก็บไว้ในพอร์ตต่อไป แต่ถ้าเป็นกองทุนถ้าไม่ชอบหุ้นตัวไหนหรือเห็นว่าเริ่มจะไม่ดีแล้วก็จะขายออกให้หมดในครั้งเดียวและ "ขายทุกราคา" ด้วย ในทางกลับกันถ้าชอบหุ้นตัวไหนก็พร้อมจะซื้อแบบ “ไม่เกี่ยงราคา” ไม่มีหรอกมานั่งรอให้ราคาลงมานิดๆ หน่อยๆ แล้วค่อยซื้อ เขากวาดเรียบ!! นี่คือวิธีคิดแบบกองทุนต่างชาติ ชอบก็ซื้อเลย ขายก็ขายเลย
"กองทุนต่างชาติเขาไม่ได้ลงทุนแค่ในบ้านเรา แต่เขาลงทุนทั่วโลกหรือทั่วทวีป มีหุ้นที่มอนิเตอร์อยู่นับร้อยตัว ดังนั้นเขาไม่มีความจำเป็นต้องมาฝากความหวังไว้กับหุ้นเพียงตัวเดียวหรือตลาดเดียว"
สำหรับรูปแบบการสแกนหาหุ้นที่จะลงทุนในภูมิภาค หม่อมกร เล่าว่า ผู้จัดการกองทุนจะเปรียบเทียบหุ้นกลุ่มเดียวกันหลายๆ ประเทศ เช่น ในกลุ่มพลังงาน หุ้น A ในประเทศไทยราคาเริ่มขึ้นมาเยอะแล้ว แต่ขณะที่หุ้น B ในสิงคโปร์ยังขึ้นไม่เท่าไร แบบนี้เขาจะขายหุ้น A (ไทย) และโยกไปซื้อหุ้น B (สิงคโปร์) ทันที
"คนไทยอาจจะงงๆ ว่าฝรั่งมันเล่น "ซื้อแหลก..ขายแหลก" แบบไม่ยั้งมือแบบนี้ มันจะกำไรเหรอ!! ซึ่งเขาวิเคราะห์แล้วว่าต้องเก็บหุ้นตัวหนึ่งให้ได้สัดส่วนจำนวนหุ้นและวอลุ่มที่เหมาะสมกับขนาดของพอร์ตถึงจะคุ้ม สมมติว่าขนาดกองทุนมูลค่า 50,000 ล้านบาท ถ้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่มีมูลค่าแค่ 1 ล้านบาท แบบนี้มันไม่เห็นผลอะไร จะต้องเก็บหุ้นให้ได้วอลุ่มที่เหมาะสมด้วยถึงจะได้กำไร เวลาที่เราเห็นราคาหุ้นตัวหนึ่งมัน "เปิดกระโดด" หรือ "ทิ้งดิ่ง" น่าจะเดาได้ว่ากองทุนต่างชาติเข้ามาเก็บหรือปล่อยของออกมาแล้ว"
การที่เราเห็นกองทุนฝรั่งซื้อหรือขายหุ้นแรงๆ อย่าไปคิดว่าเขามา "ทุบ" หรือ "ปั่นหุ้น" แต่นั่นเป็นเพราะเขา "มีวินัย" ต่างหาก นิสัยกองทุนจะไม่มามัวเกี่ยงราคาแค่ 10-20 สตางค์ ไม่ว่าจะซื้อหรือขายต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย แท้จริงแล้วหัวใจสำคัญของการลงทุนไม่ใช่ "ซื้อถูกที่สุด-ขายแพงที่สุด” แต่หัวใจมันอยู่ที่การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) ที่เหมาะสมต่างหาก แม้ว่าหุ้นที่อยู่ในพอร์ตจะวิ่งขึ้นมาหลายสิบเปอร์เซ็นต์แต่ถ้ามีสัดส่วนในพอร์ตไม่ถึง 1% จะกำไรแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์
ซื้อหุ้นคำนึง 'ความเสี่ยง' มาก่อน 'ผลตอบแทน'
มล.กรกสิวัฒน์ เล่าถึงตอนเป็นผู้จัดการกองทุนว่าแนวคิดการลงทุนของจาร์ดีนเฟลมมิ่งที่ผู้จัดการกองทุนต้องท่องให้ขึ้นใจก็คือ “จงบริหารความเสี่ยงแล้วรีเทิร์นจะมาเอง” ถ้าเรามีการบริหารความเสี่ยงที่ดี แม้ตลาดจะตกก็เฉยๆ เพราะคำนวนความเสี่ยงไว้ทั้งหมดแล้ว ถ้าเราบริหารจัดการดีจะไม่มีคำว่า “คาดไม่ถึง” ไม่เช่นนั้นผู้จัดการกองทุนคงนอนไม่หลับกันทุกคืน
นอกจากนี้ ไม่มีผู้จัดการกองทุนคนใดที่ประสบความสำเร็จด้วย "หุ้นเพียงตัวเดียว" แต่เอาชนะด้วยการจัดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม การทำงานของผู้จัดการกองทุนจะมีสองส่วนคือ มองภาพแบบ Top Down เหมือน "เหยี่ยวที่มองเหยื่อจากมุมสูง" คือการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค กับมองภาพ Bottom Up หรือวิเคราะห์เจาะลงไปในหุ้นรายตัวซึ่งเป็นวิธีที่รายย่อยใช้เลือกหุ้น
“ทฤษฎี Portfolio Management จะอธิบายว่าผลตอบแทนรวมจะมาจากความเสี่ยงสองส่วน คือ ความเสี่ยงจากตลาด (Systematic Risk) และความเสี่ยงของแต่ละบริษัท (Unsystematic Risk) เช่น โรงงานระเบิด หรือ เกิดไฟไหม้สำนักงาน”
เมื่อเข้าใจแล้ว ก็มาถึงวิธีการจัดการกับความเสี่ยง ด้วยการกระจายความเสี่ยงลงทุนในหุ้นหลายตัวเพื่อจัดการกับ Unsystematic Risk และกระจายเงินออกในหลากหลายทรัพย์สินเพื่อจัดการกับ Systematic Risk คือไม่กระจุกตัวอยู่ในตลาดใดตลาดหนึ่ง โดยมีหัวใจสำคัญที่ว่า ต้องจัดสัดส่วนการลงทุนให้ตรงกับภาพเศรษฐกิจ ทรัพย์สินหรือหุ้นกลุ่มไหนจะเติบโตมากก็ให้น้ำหนักมาก
จะเห็นได้ว่าจะต่างจากรายย่อยที่จะเลือกหุ้นเป็นตัวๆ อย่างเดียว แบบนั้นจะต้องรับทั้ง Systematic และ Unsystematic Risk บานเลย!! ทำให้ส่วนมากรายย่อยจะไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนเพราะลงทุนผิดจังหวะบ้าง น้ำหนักผิดบ้าง เพราะไม่ค่อยได้ดูภาพเศรษฐกิจระดับมหภาคประกอบ แม้ว่า Unsystematic Risk คือความเสี่ยงของแต่ละบริษัท แต่พอมารวมกันในพอร์ตประมาณ 20 ตัว ความเสี่ยงเหล่านี้มาหักล้างกันเหมือนการจำลองตลาดหุ้น หากเกิดปัญหากับหุ้นเพียงหนึ่งตัวก็ไม่ส่งผลกระทบต่อพอร์ตรวมเท่าไร
นี่คือเหตุผลว่าทำไม! นักลงทุนต่างชาติถึงลงทุนในหลายประเทศเพราะเขาต้องกระจายความเสี่ยง ถ้าไม่มีการกระจายความเสี่ยงบางครั้งอาจจะทำกำไรได้เป็น 100% แต่ถ้าขาดทุนหมดเนื้อหมดตัวได้เช่นกัน
หม่อมกร ยังกล่าวถึงกฏของ High Risk High Return แท้จริงแล้วความหมายของความเสี่ยง คือ "ความผันผวน" (Volatility) ยิ่งผันผวนมากราคาสวิงสูงมากก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมาก แต่ก็อาจขาดทุนมากได้เช่นกัน
“ถ้าผันผวนน้อยราคาไม่สวิงอยู่นิ่งๆ ก็ไม่มีโอกาสได้กำไรอะไรมาก คำว่า High Risk จึงไม่ได้แปลว่าต้องมีผลตอบแทนสูงอย่างเดียว แต่หมายถึงมีความผันผวนสูงด้วย ต้องเข้าใจให้ถูก”
ตอนหน้า มล.กรกสิวัฒน์ จะเล่าต่อถึงวิธีทำงานของผู้จัดการกองทุนระดับโลก และเหตุผลที่ตราสารหนี้เป็นตัวชี้อนาคตตลาดหุ้น รวมถึงเผยตัวตนที่แท้จริงของ “เฮดจ์ฟันด์” ห้ามพลาดเด็ดขาด!!
Edited by amplepoor, 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 02:31.