คลิปเสียงของ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างสนทนากับเครือญาติและหัวคะแนนกว่า 50 ชีวิต ว่าเป็นผู้ทักท้วง "คนแดนไกล" ให้หยุดเดินหน้าเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ
ทั้งนี้ คำพูดของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เมืองดูไบ ระหว่างให้โอวาทกลุ่ม ส.ส.อุดรธานี นำโดย "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรม มีสาระว่า "เพื่อความปรองดองแห่งชาติ ควรให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นให้ตกผลึกก่อน เพราะขณะนี้ยังมีความเห็นต่างกันอยู่"
"ควรมีการเสวนาหาทางออกร่วม กันในทุกฝ่าย เพราะหากมีความเห็นต่างและเร่งรีบจะเป็นการสร้างความขัดแย้งได้ หากจะชะลอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯไว้ก่อนไม่เสียหาย"
ทั้งสองวาระ ทั้งสองเหตุการณ์ แม้จะคนละที่ ต่างมุมโลก แต่ใจความสำคัญจาก "สมศักดิ์" และ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ต้องการส่งสัญญาณคือ ใส่เกียร์ "ถอย" เรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นการถอยเพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญ ที่จะนั่งบัลลังก์อ่านคำตัดสินชี้ชะตาในบ่ายสองโมงของวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
หลังฉากบัลลังก์ศาล แหล่งข่าวที่เป็นตุลาการซึ่งนั่งฟังการไต่สวนอยู่บนบัลลังก์ประเมินภาพรวม ว่า ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันไปมา ไม่ต่างจากการอภิปรายในสภา บางอย่างฟังแล้วไม่มีประโยชน์ ศาลจึงต้องถามเองบ้างเพื่อให้ประชาชนได้รู้
ตุลาการ คนหนึ่งให้คะแนนแบบเป็นกลางว่า "อย่างอาจารย์ชูศักดิ์ (ศิรินิล ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย) ดูเหมือนหลักดี แต่พอว่าความไปแล้วเหมือนกับไม่ได้วางแผนมา ต่างจากภราดร (ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา) คนนี้พอว่าความได้บ้าง เขาไม่เพลี่ยงพล้ำเลย"
มือ กฎหมายพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้าไว้ 3 แบบ คือ แบบที่ 1 เลวร้ายที่สุด คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โทษถึงยุบพรรค แบบที่ 2 ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา และแบบที่ 3 คือยกคำร้อง ให้รัฐสภาดำเนินการโหวตวาระ 3 ต่อไป
ขณะที่ "นพดล ปัทมะ" ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บอกว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค จะไม่สร้างแรงสะเทือนถึงความมั่นคงของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ในทันที
เพราะ เนื้อหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ในวรรคสามและสี่ ระบุตอนหนึ่งว่า "กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด สามารถสั่งยุบพรรคการเมือง โดยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง"
เขาสรุปว่า อำนาจศาลไม่สามารถตัดสิทธิ์ ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด เว้นเสียแต่มีกระบวนการยื่นถอดถอนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
"รัฐบาลจะยังไม่ถูกล้มในตอนนี้ เว้นแต่เขาจะมายื่นถอดถอนกับ ป.ป.ช. โดยใช้ข้ออ้างว่า ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ"
"นพ ดล" บอกอีกว่า คำตัดสินให้ยุบพรรคไม่ได้เป็นการกระทำที่จ้องจะล้มรัฐบาล แต่เป็นการบั่นทอนขุมกำลังพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกระบวนการเปิดช่องให้ ส.ส.บางกลุ่มย้ายพรรคแลกกับผลประโยชน์บางประการ เพื่อหาช่องทางสนับสนุนให้คนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้แหล่งข่าว ระดับสูงในพรรคเพื่อไทย ระบุว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้เตรียม "พรรคเพื่อธรรม (พธ.)" ไว้เป็นพรรคสำรอง กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อมูลจาก กกต. ระบุว่า พรรคเพื่อธรรม จัดตั้งเมื่อ 23 สิงหาคม 2553 โดยมีหัวหน้าพรรคชื่อ "วัลลภ สุปิรยศิลป์" และมีเลขาธิการพรรคชื่อ "นิชนันท์ วังคะฮาตธัญญกิจ" ซึ่งมีกรรมการบริหาร 11 คน และมีสมาชิกพรรค 6,179 คน
ดังนั้นไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในทิศทางใด ย่อมกระทบต่อการกลับบ้านและอนาคตทางการเมืองของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทั้งสิ้น
หาก ศาลรัฐธรรมนูญ "ยกคำร้อง" ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อ แรงกดดันทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จะลดลง หนทางกลับบ้านของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็จะมีทางเป็นไปได้มากขึ้น
หาก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มีโทษยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ก็อาจไม่มีผลต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค
แต่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับเส้นทางกลับเมืองไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อาจทอดยาวออกไปอีกระยะ ตามคำวิเคราะห์ของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 คือ "เครื่องมือ" สกัดการกลับบ้านของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่เด่นชัดที่สุด
แกน นำพรรคเพื่อไทยระดับหัวกะทิด้านกฎหมายที่ใกล้ชิด "พ.ต.ท.ทักษิณ" วิเคราะห์ว่า "รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามที่ใช้สกัดคุณทักษิณ แม้พรรคเพื่อไทยจะผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองฯสำเร็จ แล้วคุณทักษิณกลับประเทศได้ คดีต่าง ๆ เริ่มต้นใหม่ตามกระบวนการยุติธรรมปกติตามต้องการ แต่หากไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2550 กลไกที่เป็นองค์กรอิสระอย่างอัยการสูงสุด คณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงเครือข่ายองค์กรเหล่านั้น ก็จะสกัดคุณทักษิณอยู่ดี"
"เมื่อถึง เวลานั้น คุณทักษิณก็จะไม่สามารถอ้างได้เลยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะคดีต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติแล้ว ดังนั้นจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือเล่นงานคุณทักษิณให้สำเร็จ ก่อน โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่ทำให้เครื่องมือเหล่านี้ยังทำงานอยู่"
สถานการณ์เช่นนี้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" คงได้แต่ภาวนาว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ "ตั้งธง" ล่วงหน้า ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทุกการเคลื่อนไหวทางการเมืองล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกวาระ
Edited by redfrog53, 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 05:08.