Jump to content


Photo

การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ


This topic has been archived. This means that you cannot reply to this topic.
4 ความเห็นในกระทู้นี้

#1 เด็กปากดี

เด็กปากดี

    I am Royalist

  • Members
  • PipPipPip
  • 2,947 posts

ตอบ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 18:51

เรียน Mod หากไม่เหมาะสม หรือพบถ้อยคำไม่ถูกต้อง ลบหรือล็อคได้ครับ ขอยืนยันในเจตนา ว่ามิได้ตั้งกระทู้เพื่อเจตนาหมิ่นเหม่ แต่เพื่ออยากให้คนบางกลุ่มได้รับรู้ รับทราบ และเข้าใจถึง การได้มาซึ่งตำแหน่ง " ผู้สำเร็จราชการ " ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ปฐมบท

เห็นกระทู้คุณ กาลามชน สมาชิกใหม่ เป็นห่วงเป็นใย ต่อจุดยืนของขบวนการเสรีไทย เว็ปบอร์ด กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดของ " ผู้สำเร็จราชการ " คุณอ้างถึงคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยและต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดนี้ จากประธานองคมนตรี ไปเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ นั้น ผมจึงขอเชิญมาถกกันหน่อยครับ และก่อนจะเข้าประเด็นหลักใหญ่ใจความผมมีความสงสัยและขอความกระจ่างจากคุณ ดังนี้

1.เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ นี้เป็นพระราชอำนาจ หรือไม่ หากใช่ควรจะนำมาถกหรือไม่

2.ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ไม่เคยมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ผู้สำเร็จราชการที่เป็น " สามัญชน " เลยหรือ และหากมี ทำไม่จะต้องมีการแก้ไขอีก

3.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันยังทรง เสด็จผ่านพิภพสถิตย์เสวยราชสมบัติอยู่ เหตุไฉน จึงต้องลุกมาเรียกร้องแก้ไขในหมวดนี้ ในเวลาเช่นนี้ครับ

นี่คือข้อสงสัยของผมในชั้นแรก ที่อยากจะขอให้คุณช่วยให้ความกระจ่างให้ความรู้ และแสดงจุดยืนของคุณต่อผมและเพื่อนสมาชิกชาวเสรีไทยเว็ปบอร์ดทั้งหลายได้รับรู้รับทราบหน่อยครับ
สจฺ จํ เว อมตา วาจา คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

#2 เด็กปากดี

เด็กปากดี

    I am Royalist

  • Members
  • PipPipPip
  • 2,947 posts

ตอบ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 18:53

Posted Image



เนื้อหา

โดยข้อเท็จจริงผมเองไม่ได้มีความรู้มากมายเกี่ยวกับเรื่องละเอียดอ่อน เช่นนี้ แต่ด้วยความพยามที่อยากจะให้เกิดเป็นกรณีศึกษาในเรื่องต้องห้ามนี้ จึงต้องศึกษาค้นความข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อนำมาถก และนำเสนอแลกเปลี่ยนกับคุณ หวังว่าคุณคงจะรับคำมาถกกัน ด้วยเหตุและผลบนพื้นฐานของความเป็นจริง นะครับ เข้าเรื่องกันครับมาทำความรู้จักกับ " ผู้สำเร็จราชการ " กันก่อนดีกว่า

ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างเช่นประเทศไทย เมื่อใดที่พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชกรณียกิจไม่ได้ เช่น ทรงประชวร ทรงผนวช ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์แทนพระมหากษัตริย์ ในการลงพระนามาภิไธย ลงพระนาม หรือลงนามในพระราชบัญญัติและกฎหมายต่างๆ หรือจะปฏิบัติพระราชภาระต่าง ๆ ที่สำคัญแทนพระมหากษัตริย์ เช่น การออกรับคณะบุคคลสำคัญหรือทูตานุทูตจากต่างประเทศที่เข้าเฝ้าฯ หรือมาเยือนประเทศ รวมถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

ความหมายของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึงบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หรือประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง เพื่อบริหารพระราชภาระต่าง ๆ แทนองค์พระมหากษัตริย์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นับเป็นบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่งของประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในการปฏิบัติพระราชภาระต่าง ๆ เสมือนองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะได้รับความคุ้มครองในสถานะเดียวกับพระราชินี และรัชทายาท ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 109-112) ที่มีบทกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทำการใดๆที่เป็นการประทุษร้ายต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือกระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้รวมถึงผู้พยายามกระทำความผิด หรือผู้ที่กระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งต้องระวางโทษในความผิดเช่นเดียวกับได้กระทำต่อองค์พระราชินี หรือรัชทายาท

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ได้บัญญัติให้ "คณะกรรมการราษฎร" (ต่อมาเรียกคณะรัฐมนตรี) เป็นผู้ใช้สิทธิในการปฏิบัติพระราชภาระแทนพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร

ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 บทบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เริ่มมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ พระมหากษัตริย์จะทรงตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากมิได้ทรงตั้งไว้หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราวก่อน

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้บัญญัติให้รัฐสภาเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทน ดังนั้น การตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากมิได้ทรงตั้งไว้หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ ดังนั้น หากพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้ง หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที นอกจากนี้กรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้มีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เอาไว้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะมีรายละเอียดและกระบวนการที่ชัดเจนมากขึ้น กว่าฉบับก่อนๆ กล่าวคือ

1) เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

2) หากกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้เป็นอำนาจของคณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3) ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกรณีดังกล่าว หรือหากว่ามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

4) ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และอยู่ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบสันตติวงศ์เพื่อทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ถ้าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดังกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

นอกจากนี้ บทบัญญัติที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กล่าวมาคือ มีการบัญญัติให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับแต่งตั้งขึ้น ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่ด้วย

บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาจนถึงฉบับปัจจุบัน จะมีความคล้ายคลึงกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ดังที่กล่าวไปแล้ว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับปัจจุบัน) บัญญัติให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภายใต้วิธีการและเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1) เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

2) หากในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3) ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกรณีดังกล่าวข้างต้น หรือหากว่ามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน โดยในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นหรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกรณีนี้ ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นนี้ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

4) ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และอยู่ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท หรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

5) ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปตาม 4) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน และในกรณีเช่นนี้ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

จากที่กล่าวมาทั้งหมด พอจะสรุปให้เห็นถึงการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามารถกระทำได้ใน 4 กรณีคือ

กรณีแรก พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เลย

กรณีที่สอง ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือในกรณีที่ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

กรณีที่สาม ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ว่าในกรณีใดกรณีหนึ่งข้างต้น ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

กรณีที่สี่ ถ้าหากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกรณีหนึ่งหรือกรณีที่สอง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
สจฺ จํ เว อมตา วาจา คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

#3 เด็กปากดี

เด็กปากดี

    I am Royalist

  • Members
  • PipPipPip
  • 2,947 posts

ตอบ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 18:53

การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทย

การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทยในอดีต ตามหลักฐานที่ปรากฏพบว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่พระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ที่ประชุมแห่งสมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ได้มีมติให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (พ.ศ.2411-2416) ต่อมาในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2440) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี้ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศ เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ" ถือเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย) นอกจากนี้ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2450) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองในช่วงปลายรัชกาล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในระหว่างที่พระองค์ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ (7 มีนาคม 2477 -19 สิงหาคม 2478) สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และ เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)

ต่อมาเมื่อเจ้าพระยายมราชถึงแก่อสัญกรรม และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินชราภาพสุขภาพไม่สมบูรณ์ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ (16 ธันวาคม 2484 - 31 กรกฎาคม 2487) ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

ภายหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว (1 สิงหาคม 2487 - 20 กันยายน 2488) และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ยังไม่สามารถเสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อกลับมารับพระราชภาระในการบริหารพระราชอาณาจักรได้ (20 กันยายน 2488 - 5 ธันวาคม 2488)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลายโอกาส ดังนี้

- ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ รัฐสภามีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (25 มิถุนายน 2489 - 27 มิถุนายน 2492)

- เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังไม่สามารถเสด็จฯนิวัตประเทศไทยเพื่อกลับมารับพระราชภาระในการบริหารพระราชอาณาจักรได้ รัฐสภามีมติตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี แต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก (28 มิถุนายน 2492 - 2493)

- คณะอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ,พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ,พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ,พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ,พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ)

- เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯนิวัตประเทศไทย แต่จะต้องเสด็จกลับไปรักษาพระอาการประชวรยังต่างประเทศอีก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกวาระหนึ่ง (6 มิถุนายน 2493 - 19 มีนาคม 2494)

- เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พ.ศ. 2494)

- ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวช ในปี พ.ศ.2499 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" นับเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของประเทศไทย)

- ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในหลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (พ.ศ.2502) อินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป (พ.ศ.2503) ปากีสถาน สหพันธ์มลายู นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย (พ.ศ.2505) จีนและญี่ปุ่น (พ.ศ.2506) ออสเตรีย (พ.ศ.2507) อังกฤษ (พ.ศ.2509) อิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (พ.ศ.2510) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (จากการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี")

- นอกจากนี้ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศฟิลิปปินส์ (พ.ศ.2506) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภ พฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย

จากที่กล่าวมา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในการปฏิบัติพระราชภาระต่างๆ แทนองค์พระมหากษัตริย์ และหากจะกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถือเป็นที่พึ่งหรือผู้เป็นที่พึ่งของพระมหากษัตริย์ ก็คงมิได้ทำให้ความหมายผิดไป

ผมขอฟังจุดยืนของคุณสมาชิกใหม่ในกรณีนี้ และความกระจ่างที่ถามไปก่อนครับ เดี๋ยวจะมาถกกันต่อในประเด็นคุณอ้างว่าคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย กันต่อ
สจฺ จํ เว อมตา วาจา คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

#4 เด็กปากดี

เด็กปากดี

    I am Royalist

  • Members
  • PipPipPip
  • 2,947 posts

ตอบ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 18:54

อ้างอิงข้อมูล

บทความ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย เชษฐา ทองยิ่ง สถาบันพระปกเกล้าฯ
ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์) โดย คณิน บุญสุวรรณ หน้า 628
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 95 (ฉบับพิเศษ), วันที่ 15 พฤศจิกายน 2499 “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499”
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, วันที่ 27 มิถุนายน 2475 “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, วันที่ 10 ธันวาคม 2475 “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475”
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอนที่ 30, วันที่ 10 พฤษภาคม 2489 “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489”
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 64, วันที่ 9 ธันวาคม 2490 “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490”
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 17, วันที่ 21 มีนาคม 2492 “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492”
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก, วันที่ 24 สิงหาคม 2550 “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ประเทศไทย) (ข้อมูลออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/
รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ หน้า 833.,หน้า 956.
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, หน้า 26 คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี, คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึก
พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ. 2542 ราชบัณฑิตยสถาน หน้า 576.
สจฺ จํ เว อมตา วาจา คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

#5 คนกวาดขยะ

คนกวาดขยะ

    ตำแหน่ง ภารโรง ครับ

  • Members
  • PipPipPip
  • 1,604 posts

ตอบ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 19:10

ผมไม่ให้ถกกันเรื่องนี้เพราะเกรงจะขยายออกไปทางไม่งาม แต่ถือว่าคุณเด็กปากดีได้ให้ความรู้พอเป็นประโยชน์ จึงไม่ย้ายเข้าห้องขัง แต่ล็อคกระทู้เพื่อให้ยังคงอ่านเอาความรู้ได้ ดยจะปักหมุด 2 วัน ให้ได้อ่านกันทั่วถึง

และเปลี่ยนหัวกระทู้จากเดิม "ขออนุญาตเรียนเชิญน้องใหม่ คุณ กาลามชน มาถกกันกับประเด็น ต้องห้าม " ผู้สำเร็จราชการ " หน่อยครับ"
เป็น "การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ"

นี่คือเหตุผลที่แจ้งในกระทู้ที่ย้ายเข้าห้องขัง จึงไม่ควรเปิดช่องให้ยุ่งยากในการดูแล

หากมีการถกเถียงปกติย่อมมีสองฝ่ายว่า ใครดี เสีย เหมาะสม ไม่เหมาะสมอย่างไร ประเด็นนี้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาถกที่เว็บนี้ เพราะที่นี่ไม่อนุญาตให้วิพากษ์สถาบันฯทุกกรณี


ปักหมุดครบกำหนด 2 วัน เห็นว่าส่วนข้อมูลมีประโยชน์มีแหล่งอ้างอิง จึงย้ายเข้าห้องสมุดครับ

หากมีข้อมูลมาเสริมสามารถทำได้ แต่ห้ามประเด็นโต้แย้งดังที่ให้เหตุผลไว้แล้ว

Edited by คนกวาดขยะ, 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 - 18:30.