พลิกแฟ้มคดีประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจกาฬสินธุ์
สะท้อนยุคแม้ว “ฆ่าตัดตอนยาเสพติด!!”
ทีมข่าวอาชญากรรม 31 กรกฎาคม 2555 14:07 น.
ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ ผกก.รับโทษ 7 ปี รอง ผกก.โดนคุกตลอดชีวิต คดีฆ่าอำพรางหนุ่มวัย 17 เชื่อเหตุฆ่าจากนโยบายฆ่าตัดตอนยาเสพติด สมัยรัฐบาลทักษิณ
จากกรณีเมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 48 ปี ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 43 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 42 ปี พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 45 ปี อดีตรอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 47 จำเลยทั้ง 6 โดยจำเลยที่ 1-3 และ จำเลยที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันเจตนาฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์จักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จากนั้นจำเลยทั้ง 6 ได้ปิดบังเหตุแห่งการตายของนายเกียรติศักดิ์ โดยร่วมกันย้ายศพจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนา บ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด จากนั้น ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. 47 ถึงวันที่ 27 เม.ย. 48 จำเลยที่ 4-6 ร่วมกันข่มขู่พยาน เพื่อให้การอันเป็นเท็จ โดยให้ระบุว่า ในวันที่ผู้ตายถูกทำร้ายยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 กระทำผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษแล้วให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 สถานเดียว จำเลยที่ 5 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษ จำคุกตลอดชีวิต และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
...ข้อเท็จจริงและความเป็นมา...
ปี 2546 รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบาย “ปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด” โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ต้องปราบปรามผู้ค้ายาและผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ของบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยใช้หลักเกณฑ์วัดผลเชิงปริมาณ 3 ประการ คือ 1. การจับกุมดำเนินคดีจนถึงขั้นอัยการส่งฟ้องศาล 2. การวิสามัญฆาตกรรมในกรณีที่ผู้ค้ายาเสพติดต่อสู้ 3. การที่ผู้ค้ายาเสพติดเสียชีวิตไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 25 ก็จะต้องถูกโยกย้ายหรือพิจารณาโทษทางวินัย โดยมีการกำชับ ข่มขู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่า “ถ้าล้มเหลว ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ก็คงต้องไปด้วยกัน”
เพียง 3 เดือนแรกของการประกาศนโยบาย (1 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2546) มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกฆ่าตัดตอนเสียชีวิตมากถึง 2,275 ราย โดยเฉพาะกรณีการฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด และมีผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวถึงสองพันกว่าศพ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับตัวผู้ต้องสงสัยได้ และในคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตกเป็นจำเลยเสียเอง
เมื่อมีการประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดแรกในการรับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติ โดยมีการนำร่องในการประกาศชัยชนะกับยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล ช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญในจังหวัดกาฬสินธุ์อย่างต่อเนื่อง ที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีทั้งสิ้นจำนวน 28 ราย
ทั้งนี้ หลายคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน ระบุในสำนวนสอบสวนว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำ สภ.อ.กาฬสินธุ์ จริงแต่ไม่สามารถระบุตัวได้ จึงต้องทำการงดการสอบสวน
ลำดับเหตุการณ์การฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง
ปี 2547 ขณะการประกาศนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 16 ปี เสียชีวิตโดยถูกแขวนคอกับขื่อในกระท่อมกลางนาที่จังหวัดร้อยเอ็ด สภาพศพเห็นได้ชัดว่าเสียชีวิตก่อนที่จะถูกแขวนคอ และมีร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน โดยก่อนหน้านายเกียรติศักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จับกุมในข้อหาลักทรัพย์ คือ ส่วนประกอบจักรยานยนต์ราคา 200 บาท หลังถูกขังอยู่ที่โรงพักเป็นเวลา 7 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นผู้ประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ออกไป ทั้งที่สมาชิกสภาเทศบาลเมืองคนดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับนายเกียรติศักดิ์ มีพยานที่อยู่บนโรงพักให้การว่า เป็นผู้ให้นายเกียรติศักดิ์ยืมโทรศัพท์มือถือ และได้ยินนายเกียรติศักดิ์พูดโทรศัพท์ว่า “ให้ยายรีบมารับ ตำรวจกำลังจะพาไปฆ่า” ยายสามารับเกียรติศักดิ์ไม่ทัน กระทั่งเขากลายเป็นศพในที่สุด สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนหนึ่งให้ความสนใจต่อการเสียชีวิตครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แม้มีอุปสรรคมากมาย แต่ นางพิกุล พรหมจันทร์ น้าสาวของนายเกียรติศักดิ์ เลือกที่จะสู้โดยไม่ยอมให้ชีวิตของหลานชายเสียเปล่า
วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจร พร้อมนายอดุลย์ ทองนาไชยและนายสุรศักดิ์ ปูนกลาง (หลังการเสียชีวิตของนายเกียร์ติศักดิ์, นายอดุลย์ ทองนาไชย หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย, นายสุรศักดิ์ ปูนกลาง ซี่งเคยให้การกับกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้ว่าเห็น ดาบตำรวจ อังคาร คำมูลนา นำตัวนายเกียร์ติศีกดิ์ ออกไปจากห้องขัง สองเดือนต่อมาหลังให้การ นายสุรศักดิ์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถไถนาเดินตาม)
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 นางสา ถิตย์บุญครอง (ย่าของนายเกียรติศักดิ์) ทราบจากเพื่อนบ้านว่านายเกียรติศักดิ์ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จึงได้เข้าเยี่ยมหลานชายระหว่างการถูกควบคุมตัว พร้อมเสื้อผ้าและของใช้ที่จำเป็นจำนวนหนึ่ง
ข้อสังเกต : ผู้ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะแจ้งญาติหรือผู้ที่ตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 83 ตามกรณีนี้ผู้ต้องหาน่าจะไม่ได้สิทธิดังกล่าว
วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจให้นางสา ร่วมรับฟังการให้ปากคำของนายเกียรติศักดิ์ ที่สำนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายเกียรติศักดิ์ได้รับสารภาพว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง หลังจากนั้นนางสาได้ขอเข้าเยี่ยมผู้ตายอีกแต่ถูกกีดกันการเข้าเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งนางสา ถิตย์บุญครอง ว่าจะมีผู้มาประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ คือ นายสุรศักดิ์ เรื่องศรีมั่น (สมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์) จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลก็ยังมิได้มีคำสั่งให้ประกันตัว พ.ต.ต. สุมิตร นันสถิตย์จึงบอกให้นางสา กลับไปรอที่บ้าน ในระหว่างนี้เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ตำรวจได้อ้างว่ามีการปล่อยตัวนายเกียรติศักดิ์ (แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ตายอยู่บนชั้น 2 ของสถานีตำรวจ ซึ่งในขณะนั้นมีบุคคลอื่นอยู่อีกได้แก่ นางรัชฎาภรณ์ ภูกาสอน, นายมนต์ชัย ยลวิลาส และน.ส.อรัญญา มาหาญ นายเกียร์ติศักดิ์ ได้พูดกับ น.ส.อรัญญา มาหาญ ว่า “น้าครับ ผมขอยืมโทรศัพท์หน่อยครับ” และนายเกียรติศักดิ์ได้บอกให้นางสารีบไปรับตัวเพราะตำรวจจะนำตัวไปฆ่า นางสาจึงได้ไปที่สถานีตำรวจ แต่ถูกกีดกันจาก พ.ต.ต.สุมิตร ไม่ให้ขึ้นไปพบกับนายเกียรติศักดิ์ที่คาดว่าน่าจะอยู่บริเวณชั้น 2 ของโรงพัก หลังจากนั้นนายเกียรติศักดิ์ได้โทรศัพท์ถึงนายอภิชาต สีหาลุน น้าชาย บอกให้รีบมารับ และได้ยินเสียงของนางสาอยู่ที่ชั้นล่างของสถานีตำรวจ ต่อมานางสาและญาติได้ขึ้นไปยังชั้น 2 ของโรงพักแต่ไม่พบผู้ตาย มีเพียงกระเป๋าของผู้ตายวางอยู่ที่บริเวณนั้น นางสาลงมาสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ความว่าผู้ตายกลับไปแล้ว นางสาโต้แย้งว่ากระเป๋ายังอยู่ เจ้าหน้าที่จึงให้นางสากลับไปดูอีกครั้งหนึ่ง แต่กระเป๋ากลับหายสาบสูญไป หลังจากนั้นนางสาจึงได้แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ความว่า พันตำรวจตรี สุมิตร นันสถิตย์ ได้ปล่อยตัวนายเกียรติศักดิ์ตามหมายปล่อยตัวของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว แต่นายเกียรติศักดิ์ยังมิได้กลับบ้าน)
หมายเหตุ : หลังการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งเรียก น.ส.อรัญญาไปเจรจาเพื่อให้ น.ส.อรัญญาให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าได้เจอกับนายเกียร์ติศักดิ์ที่สถานีขนส่ง อันขัดต่อความเป็นจริง น.ส.อรัญญาจึงไม่ยินยอม จากนั้น น.ส.อรัญญาต้องเปลี่ยนชื่อ รวมทั้งย้ายที่อยู่และไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากได้รับการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษในที่สุด
ข้อสังเกต : การปล่อยตัวจากการคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว มีการเสียชีวิตหรือการหายตัวไปเกิดขึ้นในหลายกรณี จึงมีผู้เสนอแนวทางในการแก้ไขไว้ โดยจะต้องให้ญาติหรือบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้ใจเป็นผู้เซ็นชื่อเพื่อรับการปล่อยตัวชั่วคราว
วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 นางสาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ว่าพบศพสงสัยว่าเป็นศพของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ญาติจึงไปดูศพที่กระท่อมกลางทุ่งนาใกล้ผนังกั้นแม่น้ำชี หมู่ 5 ตำบลแสนชาติ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่าเป็นศพของนายเกียรติศักดิ์จริง จึงได้อายัตศพไว้และนำศพไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ชันสูตรพลิกศพโดยละเอียดอีกครั้ง สภาพศพผู้ตายถูกแขวนคอด้วยเชือกไนลอนหลายรอบกับขื่อกระท่อม ที่ศีรษะด้านซ้ายมีแผล มีรอยช้ำตามต้นขาและหน้าท้อง ลูกอัณฑะถูกบีบจนแตก ข้อมือทั้งสองข้างมีรอยรัด เท้าเปื้อนโคลน แต่รองเท้าที่วางอยู่ที่พื้นไม่มีรอยโคลน
วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 นางสาแจ้งความกรณีการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดกาฬสินธุ์
วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2547 เข้าร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วสันต์ พานิช และอนุกรรมการเจ้าหน้าที่ เข้าไปสอบสวนข้อเท็จจริงที่พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในเดือนสิงหาคม และมีหลายครั้งที่ถูกติดตามคุกคาม
เข้าร้องเรียนที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ผลรายงานเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและเห็นควรให้ยุติการสืบสวน
เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงประกอบด้วย พ.ต.อ.พรหม ผางสง่า รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานกรรมการสืบสวน พ.ต.ท.ส่งเสริม แก้วลาย รองผู้กำกับการ (สส.) สถานีตำรวจภูธรอำเภอกมลาไสย เป็นกรรมการ พ.ต.ท.ทองสุข นารีจันทร์ รองผู้กำกับการ (ส.) ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการมีความเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานใดชี้ชัดว่าข้าราชการตำรวจนายใดของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์มีส่วนรู้เห็นหรือส่วนเกี่ยวข้องใดต่อการหายไปและการตายของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง กรณีจึงไม่มีมูลที่จะเอาผิดทางวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 77, 78, 79 และมาตรา 84 และหรือทางอาญา จึงเห็นควรยุติการสอบสวน
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เข้าร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปสำนวนสอบสวนโดย ตำรวจภูธรภาค 4 ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ และส่งสำนวนสอบสวนให้แก่คณะกรรมการการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เปิดเผยถึงรายงานผลการชันสูตรศพนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง โดยแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ว่าก่อนเสียชีวิตผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายอย่างทารุณจนเกิดบาดแผลตามจุดต่างๆ ในร่างกายหลายแห่ง ผู้ตายขัดขืนกลุ่ม คนร้ายจนมีการฉุดกระชาก บริเวณข้อมือมีรอยกุญแจมือ อัณฑะถูกบีบจนเขียวช้ำอย่างรุนแรงและมีรอยปริแตก คล้ายวิธีการ “ดีดไข่” เพื่อต้องการทรมานให้ผู้ต้องหาคายความลับบางอย่าง บริเวณลำคอพบว่ามีการใช้เชือกไนลอนรัดคอหลาบรอบอย่างแรงจนลิ้นจุกปากขาดอากาศหายใจ ต่อมาคนร้ายได้นำศพขึ้นแขวนคออำพรางให้เหมือนว่าเป็นการฆ่าตัวตายเอง
หมายเหตุ : กรณีมีเพียงการชันสูตรพลิกศพ แต่ไม่ได้ตรวจพยานวัตถุ เช่น เชือกไนลอนที่ใช้ในการแขวนคอ รองเท้าและเสื้อผ้าของนายเกียรติศักดิ์ เพื่อเก็บดีเอ็นเอของผู้ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ข้อสังเกต : การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่มีกฎหมายระบุให้เป็นความผิดเฉพาะ ทั้งที่การซ้อมทรมานมีลักษณะเฉพาะตัวต่างจากการทำร้ายร่างกายทั่วไป ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา
วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ยื่นเอกสารเกี่ยวกับคดี และผลการชันสูตรศพแก่ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ สภาทนายได้มีมติให้รับคดีไว้ช่วยเหลือ
วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เข้าร้องเรียนที่สภาผู้แทนราษฎร โดยประธานกรรมาธิการตำรวจเป็นผู้รับเรื่องและที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน มีผลสรุปยุติ โดยไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ทำหนังสือร้องเรียนขอให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาโอนคดีเข้าเป็นคดีพิเศษ พร้อมกับทำหนังสืออีกฉบับถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2548 ให้คดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เป็นคดีพิเศษที่จะต้องทำการสืบสวนตามมาตรา 22 วรรค 1 (2) แห่ง พ.ร.บ.สืบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และเห็นชอบให้พนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนด้วย
วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2549 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปผล การเสียชีวิตของนายเกียร์ติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งให้มีการลงโทษตามกฎหมาย โดยขอให้รัฐดำเนินการภายใน 60 วันและให้เยียวยาแก่ผู้เสียหาย
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาได้แก่ พ.ต.ท.สำเภา ยินดี พ.ต.ต.สุมิตร นันทสถิต พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ ด.ต.อังคาร คำมูลนา ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ย้ายศพเพื่อซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ด.ต.อังคาร คำมูลนา, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง เข้ารับฟังข้อกล่าวหาจากกรมสืบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อำพรางการตายโดยทั้งสามปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอให้การในชั้นศาล พ.ต.กิตติ ภักดีรักษ์พงศ์ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ควบคุมตัวทั้งสามนายยื่นต่อศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังครั้งแรกเป็นระยะเวลา12วัน ตั้งแต่วันที่ 20-31 พ.ค. 52 เนื่องจากต้องรอสอบพยานเพิ่มอีก 3 ปาก รวมทั้งรอเอกสารที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา และทำการยื่นคัดค้านการขอประกันตัวเนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และสะเทือนขวัญบุคคลทั่วไปเนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติกรรมคุกคามข่มขู่พยานและเกรงว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังแต่ผู้ต้องหาได้ขอประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน และ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้งสามเป็นหลักประกัน ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานมิฉะนั้นจะถอนประกัน
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 พ.ต.ท.สำเภา อินดี อ้างว่าตนติดภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากส.ภ.อ.กาฬสินธุ์ให้ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายหาข่าวในการรับเสด็จ จึงขอเลื่อนการเข้ามอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาภายในวันที่ 28 พฤษภาคม
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 พ.ต.อ.กิตติ ภักดีรักษ์พงศ์ ควบคุมตัว พ.ต.ท.สำเภา อินดี ยื่นขอฝากขังครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. - 8 มิ.ย. 52 เนื่องจากมีพยานปากสำคัญที่ต้องสอบอีกสองปาก รวมทั้งต้องรอเอกสารที่เกี่ยวข้องและสอบประวัติผู้ต้องหาทั้งนี้ศาลพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้อง ต่อมาผู้ต้องหาได้ยื่นขอประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์คือโฉนดที่ดินศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมทั้งสั่งห้ามมิให้ผู้ต้องหาไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานมิฉะนั้นจะถอนประกัน
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พ.ต.ท.สุมิตร นันสถิตย์ เข้าพบตำรวจตามหมายเรียกโดยศาลเห็นว่าควรออกหมายขัง แต่ผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์คือโฉนดที่ดิน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยห้ามผู้ต้องหาเข้ายุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ตู้เก็บสำนวนคดีฆ่าแขวนคอนายกิตติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง และคดีนายกมล แหล่าโสภาพันธุ์ ถูกอุ้มหายบนโรงพักบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่นโดนงัด ในเบื้องต้นตรวจสอบไม่พบว่ามีเอกสารหลักฐานสูญหาย
วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552 อัยการได้ฟ้องคดีอาญาพร้อมตัวจำเลยทั้ง 5 คน คือ 1. ด.ต.อังคาร คำมูลนา 2. ด.ต.สุทธินัน โนนทิง 3. ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ 4. พ.ต.ท.สำเภา อินดี และ 5. พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ เพราะจำเลยมิได้อยู่ในอำนาจศาล ท้ายคำฟ้องของพนักงานอัยการ มีการยื่นคัดค้านการขอประกันตัวจำเลยทั้ง 5 โดยเหตุที่จำเลยทั้งห้ามีพฤติการณ์ในการข่มขู่พยาน ผู้มีส่วนได้เสียในคดีคือ นางพิกุล พรหมจันทร์ ยื่นคำแถลงคัดค้านการขอประกันตัวเนื่องจากเมื่อศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน และมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ต้องหาไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนั้น ปรากฏว่าจำเลยยังคงมีพฤติกรรมเป็นการข่มขู่คุกคามพยานมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 กลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 5-6 คนเข้าไปบุกรุกทำลายทรัพย์สินที่บ้านนางสา ถิตย์บุญครองพยานในคดี มีการข่มขู่คุกคามนางพิกุลทางโทรศัพท์ และคาดว่าโทรศัพท์ของนางพิกุลอาจถูกดักฟัง จนต้องมีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หลายครั้งด้วยกัน และยังมีกรณีการงัดตู้เอกสารที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อนำเอกสารสำนวนในคดีนี้ไปถ่ายสำเนา นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย หากว่ามีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในวงเงินประกัน 5 แสนบาท โดยจำเลยที่ 1 ด.ต.อังคาร คำมูลนา ใช้หลักประกันคือตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำเลยที่ 2 ด.ต.สุทธินัน โนนทิง ใช้หลักประกันคือตำแหน่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำเลยที่ 3 ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ ใช้หลักประกันคือโฉนดที่ดิน จำเลยที่ 4 พ.ต.ท.สำเภา อินดี ใช้หลักประกันคือ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำเลยที่ 5 พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ ใช้หลักประกันคือโฉนดที่ดิน
วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552 นายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง ในฐานะผู้บุพการีของนายเกียรติศัพท์ ถิตย์บุญครองผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ
วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2552 อัยการได้ส่งฟ้องจำเลยอีกหนึ่งคนคือ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิตย์ โดยไม่มีตัวจำเลยเพราะจำเลยยังอยู่ในอำนาจของศาล ศาลรับฟ้องเป็นเลขคดีดำที่ อ.3466/2552 ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัว พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิตย์ ชั่วคราวเช่นเดียวกับจำเลยอื่นในคดีนี้
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 วันนัดตรวจพยานหลักฐานศาลมีคำสั่งให้นายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีศาลสั่งให้รวมคดีหมายเลขดำที่ 3466/52 เข้ากับคดีหมายเลขดำที่ 3252/52 ฝ่ายจำเลยขอโอนคดีไปที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ อ้างว่าเป็นศาลที่มูลคดีเกิดและพยานหลายปากมีภูมิลำเนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พนักงานอัยการโจทก์คัดค้านเนื่องจากพยานหลายปากถูกข่มขู่คุกคามจนต้องขอคุ้มครองพยาน ศาลพินิจเเล้วไม่อนุญาตให้โอนคดี แต่อาจส่งบางประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังสืบจำเลยหมดทุกปากแล้ว
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553 สืบพยานนัดแรก
วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ระงับการให้ความคุ้มครองพยานแก่นางพิกุล พรหมจันทร์ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มคองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และ ระเบียบกรมสอบสวนพิเศษ ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองแก่พยานในคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ข้อ 17 “การคุ้มครองพยานอาจสิ้นสุดลงเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (5) พฤติการณ์หรือสภาพของผู้รับการคุ้มครองปลี่ยนแปลงไป และไม่มีความจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองหรือไม่อาจให้ความคุ้มครองได้อีกต่อไป เช่น ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาซึ่งพยานต้องไปให้ถ้อยคำ ถึงแก่ความตาย หรือมีการสืบพยานในชั้นศาลเสร็จสิ้นแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากการที่นางพิกุล ได้ขึ้นให้การเป็นพยานในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้ว
ในที่สุดกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งให้คุ้มครองนางพิกุลอีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ : หลังตกเป็นจำเลยทั้งหมดยังคงรับราชการตำรวจ รวมทั้งได้รับการเลื่อนยศตำแหน่งด้วย
จากกรณีประหารชีวิตตำรวจกาฬสินธุ์ ความยุติธรรมคืออะไร? เสียงจากใจของนักสู้
ที่มา.http://www.thaiday.c...D=9550000094033
Edited by zeed~ko, 31 July 2012 - 20:01.