(ปกติผมยอมรับว่าไม่ค่อยได้อ่านงานของพวกเขามากนัก เมื่อเทียบกับหลายๆท่านในนี้)
เมื่อพิจารณาจากลักษณะของงานแนว’วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ดังที่เสนอมาข้างต้น เราจะพบว่าเรื่องสั้นชื่อ“คำตอบนั้นอยู่ที่ไหน?”จะโดดเด่นมากเป็นพิเศษ เพราะคำตอบที่ได้จากเรื่องสั้นชิ้นนี้มิได้เป็นคำตอบแบบสูตรสำเร็จรูปเหมือนกับเรื่องอื่นๆ
ตามเนื้อเรื่อง ตัวละครเอกของเรื่องเป็นเด็กชื่อเล็ก พ่อและแม่เป็นชาวนาที่อพยพจากอยุธยามาเป็นคนแจวเรือจ้างข้ามฟากจากท่าพระจันทร์ไปบางกอกน้อย เล็กได้ร่วมกันกับเพื่อนบังคับเอาเงินจากผู้โดยสารชาวอิสานในเรือขณะข้ามฟากไปบางกอกน้อย เพื่อไปซื้อยารักษาพ่อที่ป่วยหนักใกล้ตาย จากนั้นจึงล่มเรือจ้างฆ่าเหยื่อทิ้ง เขาถูกจับได้บนฝั่งและถูกตำรวจซ้อมให้บอกชื่อเพื่อน เรื่องมาจบลงตรงความคิดคำนึงของเล็กขณะถูกซ้อม
เพราะอะไร พ่อของเขาจึงจะต้องตาย
เพราะอะไร เพื่อนผู้หวังดีของเขาจึงกลายเป็นคนอำมหิต
และเพราะอะไร เขาจึงกลายเป็นผู้ร้ายฆ่าคนที่ต้องรับกรรม
เขาไม่มีคำตอบสักคำเดียว
ความกลัดกลุ้มซ่านเข้าไปในทรวงอันเล็กและบอบบางของเขา
“เพราะอะไรกันโว้ย” เล็กตะโกนก้อง แล้วรู้สึกหน้ามืดสิ้นสติไป
..........................................................
ในฉากในเรือ คำพูดของเพื่อนเล็ก ก่อนจะล่มเรือฆ่าปิดปากเหยื่อที่ว่า“ใครจะยอมตาย..มีชีวิตอยู่ก็ต้องดิ้นไปจนสุดฤทธิ์”สะท้อนให้เห็นแนวความคิดแบบ Social Darwinism ที่เชื่อว่ากฎเกณฑ์ในสังคมมนุษย์นั้นเหมือนกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ นั่นคือผู้ที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ แต่ในฉากริมฝั่ง เราพบว่าตำรวจจะก่นด่าเล็กตลอดเวลาว่า “ไอ้ผู้ร้ายใจแข็ง ใจคอมึงโหดร้ายฆ่าคนกลางแม่น้ำ”ซึ่งก็คือการใช้กฎหมายและศีลธรรมมาเป็นบรรทัดฐานตีความสิ่งที่เกิดขึ้น
จากนิตยสาร“สารคดี”ฉบับที่ 155 มกราคม 2541 หน้า 134
Edited by Huligan, 11 August 2012 - 21:21.