http://www.chanpradi...7/kodmaiaya.htmความรับผิดในทางอาญา (เจตนา-ประมาท)การกระทำความผิดอาญาโดยปกติต้องมีเจตนา เพราะ มาตรา ๕๙ วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา ฯลฯ” แต่มีข้อยกเว้นอยู่ ๓ ข้อ ซึ่งการกระทำความผิดอาญาไม่ต้องมีเจตนา กล่าวคือ (๑) กรณีการกระทำโดยประมาท (๒) กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้นได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (๓) ความผิดลหุโทษ
เมื่อใดการกระทำโดยประมาทจึงเป็นความผิดอาญา(ข้อยกเว้นข้อที่ ๑)
การกระทำโดยประมาทจะ เป็นความผิดอาญาก็ต่อเมื่อกฎหมายระบุไว้โดยเจาะจงว่า การกระทำโดยประมาทเป็นความผิดกฎหมายระบุไว้โดยเจาะจงว่าการกระทำโดยประมาท เป็นความผิดในเมื่อกฎหมายใช้คำว่า “ประมาท” ไว้ในตัวบทมาตราต่าง ๆ นั่งเอง
ตัวอย่างเช่น
มาตรา ๒๒๕ ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ผู้อื่น เสียหาย หรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของ บุคคลอื่น ฯลฯ
มาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฯลฯ
มาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ฯลฯ
มาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนียว ถูกกักขังหรือปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฯลฯ
กรณีที่กำหมายบัญญัติไว้ โดยชัดแจ้ง ให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา (ข้อยกเว้นข้อที่ ๒)
หมายถึงกรณีที่ พระราชบัญญัติอื่น นอกจากประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดไว้ และได้ระบุไว้โดยชัดแจ้ง ว่า แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด เช่นพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๖ ซึ่งใช้คำว่า “การกระทำที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช ๒๔๙๖ นั้นให้ถือว่าเป็นความผิด โดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนามีเจตนาหรือทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่
ที่ว่าการกระทำความผิดลหุโทษ ไม่ต้องมีเจตนา ก็เป็นความผิดนั้น (ข้อยกเว้นข้อที่ ๓) ไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะ
๑. เฉพาะความผิดลหุโทษ ตามประมวลกำหมายอาญา เท่านั้นแม้นกระทำโดยไม่มีเจตนก็เป็นความผิด ถ้าเป็นความผิดลหุโทษตามพระราชบัญญัติอื่นนอกจากประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา
๒. แม้นจะเป็นความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญาก็ดี แต่ ถ้าถ้อยคำที่ใช้อยู่ในบทบัญญัติบัญญัติถึงความผิดลหุโทษนั้น มีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น คือ บัญญัติให้เห็นว่าได้กระทำโทษโดยเจตนาจึงมีความผิดแล้วผู้กระทำจะต้องรับผิด สำหรับความผิดลหุโทษ ดังกล่าวนั้นก็ต่อเมื่อผู้กระทำมีเจตนา ยกตัวอย่างเช่น มาตรา ๓๙๑ ซึ่งใช้คำว่า “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เป็นอันตรายแก่ร่างกาย หรือจิตใจ ต้องระวางโทษ ฯลฯ ย่อมมีข้อแสดงความอยู่ในตัวว่า ผู้กระทำต้องมีเจตนาจึงจะมีความผิดตามมาตรา ที่ ๓๙๑ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๑๐๔ ซึ่งใช้คำว่า “การกระทำความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายนี้ แม้นกระทำโดยไม่มีเจตนา ก็เป็นความผิด เว้นแต่ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น”
อย่างไรเป็นการกระทำโดยเจตนา
ตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำโดยเจตนามี สองชนิดคือ
๑. กระทำโดยประสงค์ต่อผล
๒. กระทำโดยเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล
(เจตนาชนิดที่ ๑) เจตนาโดยประสงค์ต่อผล
การกระทำโดยเจตนาโดยประสงค์ต่อผลได้แก่การกระทำที่ (๑) ผู้กระทำได้รู้สึกสำนึกในการที่กระทำ (๒) ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล
การกระทำโดยรู้สึกสำนึกในการกระทำ หมายถึง การกระทำที่ผู้กระทำรู้สึกสำนึกในการเคลื่อนไหวร่างกายหรืองดเว้นการเคลื่อน ไหวร่างกาย การกระทำโดยรู้สึกสำนึกในการการกระทำจึงมีความหมายเดียวกับ “การกระทำ” ที่ได้กล่าวมาแล้วคือต้องมีองค์ ประกอบสามประการคือ หนึ่ง คิดว่าจะกระทำ สอง ตกลงใจที่จะกระทำ สามได้กระทำตามที่ได้ทำการตกลงใจไว้ เช่นการยิงผู้กระทำต้อง (๑) คิดว่าจะยิงดีหรือไม่ (๒) ผู้กระทำต้องตกลงใจที่ จะยิง และ (๓) ผู้กระทำยิงตามที่ตกลงใจนั้น
ความหมายของการประสงค์ต่อผล
การประสงค์ต่อผล หมายความถึงประสงค์ที่จะให้ผลเกิดขึ้น จากที่บุคคลกระทำโดยรู้สำนึก เช่นประสงค์จะให้ความตายเกิดขึ้นจากการที่ตนยิง ฉะนั้น การกระทำโดยเจตนาฆ่าคนจึงได้แก่การรู้สึกสำนึกในการการะทำ คือการยิง การแทง และประสงค์ต่อผล คือความตายของผู้ที่ตนยิงหรือแทง
(เจตนาชนิดที่ ๒) เจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล
การกระทำโดยย่อมเล็งเห็นผล ได้แก่การกระทำที่ (๑) ผู้กระทำได้รู้สึกสำนึกในการกระทำ และ (๒) ในขณะเดียวกันกับผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผล
อย่างไรเป็นกรณีย่อมเล็งเห็นผล
กรณีย่อมเล็งเห็นผลมี อยู่ สามประการคือ
(๑) ผู้กระทำเห็นแล้วว่าผลจะเกิดขึ้น แต่ผู้กระทำยังขืนทำ เช่นยิงนกที่อยู่ใกล้ตัวเด็กถ้าเห็นแล้วว่าอาจถูกเด็กตาย ถือว่าผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผล คือความตายของเด็ก ฉะนั้นจึงถือว่ามีผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
(๒)ผู้กระทำย่อมรับ เอาผลนั้นไว้ล่วงหน้า เช่นยิงนกที่อยู่ใกล้ตัวเด็กถ้าเห็นแล้วว่าอาจถูกเด็กตายได้ และยอมรับเอาผลล่วงหน้า ยอมให้เด็กตาย แล้วยิงนกไป ถ้ากระสุนปืนถูกเด็กตาย ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล คือความตายของเด็ก ถ้าผู้กระทำไม่ยอมรับผลคือความตาย ไว้ไม่ถือว่าผู้กระทำมีเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล จะถือได้แต่เพียงว่าผู้กระทำได้กระทำโดยประมาท(ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป)
(๓)ผู้กระทำไม่ยินดี ยินร้ายกับผลที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หมายความว่า ผู้กระทำได้เห็นผลล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผู้กระทำไม่ถึงกับยอมรับในผลนั้นทีเดียว แต่ผู้กระทำคิดว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ช่างปะไรจะขอทำให้ได้ เช่นตัวอย่าง เช่นยิงนกที่อยู่ใกล้ตัวเด็กถ้าเห็นแล้ว ผู้กระทำได้ทำใจว่า ถ้าถูกนกก็ได้นกมากิน ถ้าถูกเด็กก็ช่างไม่เป็นไร ขอให้ยิงนกให้ได้ เช่นนี้ถือว่าย่อมเล็งเห็นผลแล้ว ฉะนั้นลูกกระสุนปืนถูกเด็กตาย ก็มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
การกระทำโดยประมาท
ประมวลกฎหมายอาญาได้ อธิบายการกระทำโดยประมาทไว้ว่า “ได้แก่การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นที่ว่า นั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่” ฉะนั้น ที่จะเป็นการกระทำโดยประมาทจึงต้องเข้าองค์ประกอบดังนี้คือ
๑. เป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา
๒. ได้กระทำโดยปราศจากวามระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์
๓. ผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
Edited by คนกรุงธน, 17 กันยายน พ.ศ. 2555 - 16:52.