
ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา นายเผด็จโชค อภิสิทธิ์นิรันดร์ ผู้สื่อข่าว สายอาชญากรรม สำนักข่าว News Plus ถูกชายเสื้อแดง เข้าทำร้ายร่างกาย ระหว่างทำข่าว 2 ม็อบชุมนุม
“ระหว่างที่ตนกำลังยืนสังเกตการณ์ทำข่าวพร้อมถือสมุดจดข่าวและโทรศัพท์เหตุปะทะกันรอบ 2 ของกลุ่มพันธมิตร และกลุ่ม นปช. อยู่นั้น จู่ๆ ก็มีผู้ชายเป็นคนเสื้อแดงวิ่งเข้ามาล็อคคอจากข้างหลัง
พร้อมกดคอลงและต่อยทำร้ายหลายครั้ง ตนจึงพยายามแสดงตัวว่าเป็นนักข่าว ทั้งที่ห้อยบัตรสื่อมวลชนไว้ที่หน้าอก แต่ชายคนดังกล่าวที่เป็นเสื้อแดงก็ไม่สนใจ
จนกระทั่งกลุ่มเพื่อนผู้สื่อข่าวที่เห็นเหตุการณ์และอยู่บริเวณใกล้เคียง ต้องวิ่งเข้ามาดึงชายเสื้อแดงคนดังกล่าวออก จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งหลบเข้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมและหายไป
ตนจึงเดินทางเข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.นวพล วิทยะเกริกไกร พนักงานสอบสวน สบ.1 สน.พหลโยธิน เพื่อลงบันทึกประจำวันแล้ว”
หลังเกิดเหตุนักข่าวถูกทำร้าย ทางสมาคมนักข่าวฯ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกทันที เพื่อขอแสดงความห่วงใยผู้สื่อข่าวที่ต้องปฎิบัติหน้าที่ท่ามกลางความรุนแรง พร้อมแนะหลักปฏิบัติในการรายงานข่าวอย่างปลอดภัย ดังนี้
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ที่กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 25 กันยายน ส่งผลให้มีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
แม้ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มที่ทำร้ายผู้สื่อข่าวเป็นฝ่ายใด และกระทำการโดยมีเจตนาประทุษร้ายผู้สื่อข่าวเพื่อขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือไม่ แต่ทางสมาคมฯ ขอแสดงความห่วงใยมายังผู้สื่อข่าวที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ และขอให้ผู้สื่อข่าวที่ต้องปฏิบัติหน้าที่พึงระลึก และระมัดระวังในการรายงานข่าวเป็นสำคัญ
ที่ผ่านมาสมาคมนักข่าวฯ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว จึงได้จัดการอบรมการรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการรายงานข่าวให้ปลอดภัย และนำมาสู่การได้รับข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยหลักปฏิบัติสำคัญในการรายงานข่าวในเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งของฝูงชน คือ
1) คำนึงถึงอยู่เสมอว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นย่อมสะท้อนฝักฝ่าย ผู้สื่อข่าวจึงต้องพึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
2) พึงระมัดระวังการตกเป็นเครื่องมือในการรายงานข่าวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดของประชาชน
3) ในแง่ของความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวเองจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า จะต้องระมัดระวังไม่ทำให้เกิดการยั่วยุ เช่น ควรแต่งกายให้เหมาะสม สำรวมในการสื่อสาร ไม่แสดงความก้าวร้าว และแสดงท่าทีที่เป็นมิตร
4) ควรแสดงตัวให้ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ควรศึกษากลุ่มผู้ชุมนุมและสภาพพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ชุมชุม สมาคมนักข่าวฯ อยากเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเข้าใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่มุ่งนำเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริงด้วย