สำหรับเรื่องพันธ์ข้าว ต้องขอสารภาพว่าไม่มีความรู้มากนักครับ
แต่ขอคิดต่างออกไปนิดหน่อย
ปัญหาที่เรามองว่าชาวนาเดือดร้อนนั้น เพราะเราคิดแนวคิดว่า "เงิน = ทรัพย์สิน" เกินไปหรือเปล่าครับ
หรือบางครั้งเรามองแค่ความเป็นอยู่แบบฉาบฉวย เราเลยเหมาเอาว่าคนที่มีบ้านหรูๆ แต่งตัวดีๆ ขับรถ
อย่างคนเมืองเป็นคนรวยที่ได้เปรียบในสังคม
แต่ถ้าเรามองในอีกแง่ล่ะครับ ขอเสนอแนวคิดจากหนังสือพ่อรวยสอนลูกก็แล้วกัน ผมไม่ได้เชื่อทั้งหมด แต่พบว่าแนวคิดหลายๆอย่างในหนังสือน่าสนใจดี ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งมีแค่ 2 อย่างที่ดูเหมือนง่าย แต่จริงๆแล้วไม่ง่ายก็คือ
1. ทรัพย์สิน2. หนี้สินและในส่วนของทรัพย์สิน คนทั่วไปมักจะติดอยู่แค่ความคิดที่ว่า "เงิน = ทรัพย์สิน” แต่ถ้าเราตีความเสียใหม่ว่า
ทรัพย์สิน คือ1. สิ่งที่ก่อให้เกิดรายได้
2. สิ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย
3. สิ่งที่สามารถจะใช้ประกันฐานะ กิจการ หรือสิ่งที่จะเป็นรายได้ในอนาคต
ขณะที่หนี้สินคือ1. รายจ่ายประจำเพื่อการบริโภค
2. รายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
3. รายจ่ายในปัจจุบันที่อาจก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต
4. สิ่งที่ดูเหมือนทรัพย์สิน แต่ไม่ก่อรายได้ มีแต่รายจ่าย
5. สิ่งที่ก่อให้เกิดรายได้หรือลดรายจ่าย แต่ขณะเดียวกันก็มีรายจ่าย
คราวนี้เรามาเปรียบเทียบกันระหว่างชาวนากับคนเมืองว่าจากปัจจัยครอบครองที่มีอยู่ ว่าปัจจัยใดเป็นทรัพย์สิน ปัจจัยใดเป็นหนี้สิน และใครจะเป็นผู้พัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งได้มากกว่ากัน
ปัจจัย35]1. เงินได้
35]2. เครดิต
35]3. ที่อยู่อาศัย
35]4. สินทรัพย์ในครอบครอง
35]5. ปัจจัยในการทำกิน
35]6. ความรู้และเทคโนโลยีในการทำกิน
35]7. เวลาว่าง
35]8. สุขภาพ
35]9. เครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อนและญาติมิตรตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจ
ข้อที่ 1 เงินได้ : ข้อนี้คนเมืองได้เปรียบแน่นอน เพราะโดยคนเมืองทั่วไปจะมีรายได้ที่แน่นอนเป็นประจำ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ง่าย ขณะที่ชาวนามีความเสี่ยงสูงเพราะมีรายได้ปีละไม่กี่ครั้ง และรายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและพ่อค้าคนกลาง
ข้อ 2. เครดิต เป็นเหมือนแหล่งเงินทุนสำรองที่หากนำมาใช้ให้ถูกก็เกิดประโยชน์ ข้อนี้คนเมืองได้เปรียบแน่นอน เพราะแค่มีเงินเดือน บริษัทบัตรเครดิตก็แห่กันวิ่งเข้าหา แต่ข้อเสียก็คือเครดิตส่วนใหญ่ในลักษณะนี้เป็นเครดิตระยะสั้น เหมาะกับการบริโภคมากกว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอื่นๆได้จริง จึงหนักไปทางเป็นหนี้สินเสียมากกว่าจะเป็นทรัพย์สิน
ข้อ 3 : ที่อยู่อาศัย ข้อนี้ชาวนาได้เปรียบชัดเจน สำหรับชาวเมืองแล้วค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ เกือบจะถึง 1 ใน 3 ของรายได้ ขณะที่ชาวนาที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รายจ่ายตรงนี้เป็นศูนย์
ข้อ 4 : สินทรัพย์ในครอบครอง ข้อนี้ผมก็ถือว่าชาวนาค่อนข้างจะได้เปรียบ ถ้ารู้จักใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ ก็จะสามารถสร้างสินทรัพย์ที่มีรายได้หรือลดรายจ่ายในการบริโภคขึ้นมาจากที่ดินของตัวเองได้โดยใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในที่ดินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฝูงไก่ เป็ด หมู วัว หรือต้นไม้สำหรับบริโภค หรือแม้กระทั่งการปลูกต้นไม้เพื่อใช้ไม้ราคาแพง อย่างไม้ยมหอม ไม้พะยูง หรือไม้ค้ำยันอายุสั้นๆอย่างไม้ไผ่ ฯลฯ ขณะที่คนเมืองที่มีที่อยู่จำกัด บางคนอยู่ในคอนโดแคบๆเท่าแมวดิ้นตาย จึงครอบครองทรัพย์สินที่ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์เสื่อมค่า อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น น้อยคนที่จะมีความรู้เรื่องเล่นทรัพย์สินที่ทวีค่าได้อย่างทองคำหรือหุ้น
ข้อ 5 : ปัจจัยทำกิน : ข้อนี้ผมก็มองว่าชาวนาได้เปรียบ คนเมืองส่วนใหญ่ทำงานเป็นลูกจ้างให้กับกิจการของคนอื่น แม้จะมีตำแหน่งสูงๆถึงระดับผู้บริหาร ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่เสี่ยงที่จะสูญเสียงานในวันใดวันหนึ่ง หนำซ้ำ ตำแหน่งบริหารที่ยิ่งสูงก็ยิ่งเสี่ยงที่จะสูญเสียงาน ขณะที่ระยะเวลาจ้างงานสำหรับพนักงานระดับต่ำอาจเป็นชั่วชีวิต แต่ระยะเวลาจ้างงานสำหรับพวกตำแหน่งสูงๆกลับสัน้มาก หรือแม้แต่คนที่เป็นเจ้าของกิจการเอง ส่วนใหญ่ก็บริหารงานอยู่บนเงินกู้ ซึ่งหากเจ๊งขึ้นมา ก็ติดลบ ขณะที่ชาวนา หากยังมีที่ดินเป็นปัจจัยของตัวเองอยู่ และไม่สร้างหนี้สินเกินไป พึ่งพาเทคโนโลยีให้น้อยลงในการทำงาน อย่างมากก็กลับมานับหนึ่ง ไม่ถึงกับติดลบ
ข้อ 6 : ความรู้และเทคโนโลยีในการทำกิน : ข้อนี้ผมก็มองว่าชาวนาได้เปรียบนะ ชาวนาไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงมากมายในการทำนา และชุดความรู้ที่ประสบความสำเร็จสามารถนำมาใช้ซ้ำๆได้ ขณะที่คนที่อยู่ในภาคธุรกิจต้องอัพเดทตัวเองตลอด เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หนำซ้ำ แต่ละคนยังต้องมีความรู้คร่อมตำแหน่งงาน อย่างเช่นปัจจุบันฝ่ายผลิตก็ยังต้องเรียนรู้งานของฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดจำหน่ายด้วย จะมีความรู้เฉพาะอย่างแบบเมื่อก่อนไม่ได้อีกแล้ว
ข้อ 7: เวลาว่าง ข้อนี้ผมก็มองว่าชาวนาเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ชาวนาไม่ต้องเสียแรงกับการไถนา หว่าน หรือเก็บเกี่ยวเอง ทุกอย่างใช้เครื่องจักรหรือการจ้างวาน ดังนั้นเวลาของชาวนาจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่เวลาส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมา กลับถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างการเล่นการพนัน กินเหล้าเมายา สังสันท์ฮาเฮ ซึ่งจัดเป็นการก่อหนี้สิน ขณะที่ของคนเมือง กลับมีเวลาว่างน้อยมาก เวลาช่วงกลางวันแต่ละวันถูกใช้ไปกับการทำงาน 7-8 ชั่วโมง การเดินทางอีก 2-4 ชั่วโมง แม้จะถูกเพ่งเล็งเรื่องใช้เวลากับการบันเทิง อย่างเช่นเดินห้าง เที่ยวกลางคืน แต่อีกด้าน คนเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวัยเรียน หรือวัยเริ่มทำงาน ใช้เวลามากมายไปกับการติววิชา ศึกษาเพิ่มเติมความรู้ ตลอดจนรับจ๊อบ (เด็กผู้ชายในออฟฟิศที่ผมรู้จักรับจ๊อบงานนอกแทบจะทุกคน และรายได้ที่ได้มาเกือบจะเป็น 50-100% ของรายได้ปกติ)
ข้อ 8 สุขภาพ : ข้อนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดรายจ่าย ใครที่เคยเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลมาย่อมจะรู้ว่าค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยนั้นสาหัสขนาดไหน สามารถจะทำให้เงินออมตลอดปีสองปีหายวับไปกับตาได้เลยทีเดียว แม้คนเมืองจะดูเหมือนได้เปรียบที่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้มากกว่า แต่ก็มีข้อเสียเปรียบตรงที่ถูกแวดล้อมด้วยปัจจัยที่บั่นทอนสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารที่ไม่ได้คุณภาพเนื่องจากเวลาและโอกาสไม่อำนวย โรคออฟฟิศ โรคเครียด โรคซึมเศร้า ตลอดจนการขาดเวลาที่จะออกกำลังกาย พักผ่อนไม่พอ การบริโภคอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน ฯลฯ ขณะที่ชาวนาส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพแบบทำตัวเอง เช่น รับสารพิษจากการฉีดยาฆ่าแมลงโดยป้องกันตัวเองไม่ดีพอ หรือเจ็บป่วยจากโรคพิษสุรา จากอุบัติเหตุ ฯลฯ ข้อนี้ผมมองว่าชาวนาได้เปรียบ เพราะเป็นปัจจัยที่คุมง่ายกว่า (แต่ไม่ยักกะคุมกัน)
ข้อ 9 เครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อนและญาติมิตรตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจ : ผมมองว่าแม้ชาวนาจะมีปัจจัยข้อนี้เยอะ แต่กลับกลายเป็นข้อเสียเปรียบ เพราะญาติมิตรของชาวนานั้นส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายพึ่งพามากกว่าจะให้ความช่วยเหลือ ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ก็เลยเป็นแบบไม่เสมอตัวก็ขาดทุน ขณะที่ทางคนเมือง โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีนนั้น จะอาศัยสายสัมพันธ์ในการทำธุรกิจ ทำให้เป็นปัจจัยบวก แต่หากเป็นคนเมืองที่เป็นคนไทย จะมีความสัมพันธ์แบบหลวมๆ เสมอตัว ไม่ได้ไม่เสีย
...หากพิจารณาจากปัจจัยข้างบน ก็น่าจะพอเห็นภาพว่าสิ่งใดที่เป็นข้อด้อยที่สามารถจะปรับปรุงให้เป็นข้อเด่นบ้าง มีหลายอย่างของชาวนาที่มีเหนือกว่าคนเมืองแต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ อย่างเช่นที่ดินเหลือที่ถูกปล่อยว่างอยู่เปล่าๆ เวลาว่างที่ถูกใช้ไปโดยไร้ประโยชน์ สุขภาพที่ถูกใช้ไปกับความสนุกที่เสียสุขภาพ ที่สามารถจะปรับปรุงได้ด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง
แต่ในแง่ของการจัดทำเป็นบริษัทรับจ้างทำนาโดยให้ชาวนาเป็นลูกจ้างนั้น ผมบอกตรงๆว่าไม่เห็นด้วยครับ เพราะการเป็นพนักงานบริษัท แม้จะเป็นแค่ระดับลูกจ้างโรงงาน ก็ต้องอาศัยวินัยการทำงาน การพัฒนาตัวเอง ความตรงต่อเวลา ความอดทน และการปรับตัวให้เข้ากับองค์กรในระดับหนึ่ง สำหรับชาวนาหลายๆคนที่ชินกับการทำงานแบบอิสระ อยากทำเมื่อไหร่ก็ได้ นี่จะยิ่งเป็นการบีบให้หมดที่ยืนในสังคมไปซะอีกเปล่าๆ
(ยาวหน่อย ขออภัยครับ)