ให้โกง1.5แสนล. อัปยศ‘สุกำพล’ยอมทุจริตจำนำข้าว20%-จีทูจีขี้เท็จhttp://www.thaipost....ws/051012/63277“ยิ่งลักษณ์” ออกลีลานักการเมืองเก๋าเกม บอก “โกร่ง” ฟังข้อมูลมาผิดแต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว จับเกษตรกรเป็นตัวประกันให้ไปถามว่าชอบไหม พร้อมดึง “โหนรเศรษฐกิจ” ช่วยแก้ต่าง “โอฬาร” ร่ายยาวข้าวหอมมะลิไทยสุดยอดโลก ต่อไปจะขายให้แก่ประเทศร่ำรวยเท่านั้น
อัปรีย์ “รัฐมนตรีกลาโหม” ยอมให้โกงจำนำ 20% เพราะ 80%ได้ประโยชน์ คิดค่าเสียหายเหยียบ 1.5 แสนล้านบาทไม่รวมขาดทุน “ธ.ก.ส.” ฐานะเริ่มระส่ำ “จีทูจี” ส่งกลิ่นตุ
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยังคงเป็นที่วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะกรณีนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาร่วมวงวิพากษ์เรื่องดังกล่าวด้วย
แต่ล่าสุดการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลก ในมุมมอง ดร.โกร่ง” ที่จัดโดย คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน นายวีรพงษ์ได้หลีกเลี่ยงการตอบคำถามของผู้เข้าร่วมประชุมในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า หมดเวลาแล้วมีนัดต่อ ของดีต้องเก็บไว้ก่อน หากอยากฟังเรื่องนี้ต้องเชิญมาใหม่อีกครั้ง และเมื่อสื่อมวลชนพยายามซักถาม นายวีรพงษ์พยายามบ่ายเบี่ยงโดยบอกว่า ถ้าถามเรื่องจำนำข้าวจะไม่ตอบ ก่อนเดินฝ่าวงล้อมออกไป
ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าโครงการอาจเจ๊งว่า เรื่องตัวเลขต้องรอให้ปิดรอบการขายก่อน จึงตอบได้ ส่วนกรณีของนายวีรพงษ์ได้คุยกันแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเรื่องเกิดจากการที่นายวีรพงษ์ไปฟังข้อมูลจากทางหนึ่ง ที่ข้อมูลอาจไม่ตรงกัน และทำให้เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งวันที่ 4 ต.ค. ได้ให้นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) ออกมาชี้แจงแล้ว
“อยากให้ไปถามเกษตรกรว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์หรือไม่” น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ
สำหรับการที่เวียดนามออกมาขอบคุณรัฐบาลไทยที่ทำให้ข้าวเวียดนามส่งออกเป็น อันดับหนึ่งจากโครงการรับจำนำนั้น นายกฯ ระบุว่า มองว่าเป็นเรื่องที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมากกว่า ซึ่งต้องมองภาพรวมทั้งหมด อย่าไปจับตรงนั้นตรงนี้มาต่อกัน ด้านนายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานทีทีอาร์ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มีบัญชาให้ทีทีอาร์ทำงานร่วมกับผู้ส่งออกข้าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเปิดตลาดค้าขายข้าวใหม่กับประเทศที่มีรายได้ดี และต้องการซื้อข้าวคุณภาพดีกับไทย พร้อมพัฒนาสัมพันธภาพในระยะยาว โดยเน้นที่คุณภาพ และมูลค่าการส่งออกเป็นหลัก เพราะปัจจุบันผู้ส่งออกไทยมักมีสัมพันธภาพทางการค้ากับคู่ค้าในประเทศที่มี รายได้น้อยและประชากรมาก จึงต้องการข้าวในราคาถูกที่สุด แต่ข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดี เช่น ข้าวขาว 5% ของไทยมีคุณภาพที่ดีกว่าข้าว 5% ของเวียดนาม จึงไม่ควรขายในราคาเดียวกัน เพราะไม่ใช่ตลาดเดียวกัน ประกอบกับสถานการณ์ตลาดโลกปัจจุบัน ผู้ส่งออกควรสนใจประเทศที่มีศักยภาพซื้อสูง ต้องการสินค้าคุณภาพอย่างข้าวหอมมะลิไทย เช่น จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และเพื่อนบ้าน
เพ้อตั้งราคาสูงกดดันพ่อค้า
ส่วนกรณีที่วิจารณ์ถึงราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลกำหนดราคาสูงเกินไป นายโอฬาร ชี้แจงว่า การที่รัฐบาลต้องตั้งราคารับจำนำข้าวสูง เพราะต้องการทำให้โรงสีและพ่อค้าเอกชนต้องตั้งราคาซื้อขาดจากเกษตรกรสูงกว่า หรือใกล้เคียงราคารับจำนำ และข้าวของไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง เป็นที่นิยมของคนเอเชียในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องตั้งราคาเพื่อดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้น และทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวได้ราคาที่ควรจะได้ พ่อค้าและโรงสีที่เข้าใจว่าตัวเองสามารถขายของดีมีคุณภาพ ทั้งในประเทศและส่งออก ก็ยินดีที่จะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาที่เหมาะสม
ประธานทีทีอาร์ยังย้ำว่า ไทยเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิรายเดียวของโลกที่ขายกันอยู่ในตลาดตอนนี้ หมายความว่าไทยคือตลาดโลกสำหรับข้าวหอมมะลิ เพราะผลผลิตเรามากเป็นผู้ผลิตรายเดียว และข้าวมีคุณภาพดีที่สุดในโลก ไม่ว่าราคาข้าวเป็นเท่าไร ถ้าอยู่ในระดับที่พอเหมาะผู้บริโภคก็ซื้อได้ อย่างราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาท เมื่อคิดเป็นข้าวสารอยู่ที่ตันละ 35,000 บาท หรือข้าวสารบรรจุถุง (5 กก.) ถุงละ 175 บาท ผู้บริโภคก็พอใจซื้อ และถ้ายังมีข้าวหอมมะลิเหลือจากการบริโภคของคนไทย เราก็ยังพอเจียดขายให้กับชาวเอเชีย ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้บ้างในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ผู้บริโภคไทยจ่าย ซึ่งล่าสุด ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ตันละ 1,143 ดอลลาร์ หรือ 35,113 บาท แล้วจะกดราคาขายให้ต่ำ เพื่อเอาข้าวคุณภาพดีไปขายทำไม
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ได้นำคำให้สัมภาษณ์ของนายโอฬารมาเผยแพร่อย่างละเอียดด้วย
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งมองว่า วัตถุประสงค์ของโครงการคือให้ชาวนาที่เป็นพื้นฐานของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ ดีขึ้น เราก็ให้ราคาสูง ซึ่งรัฐบาลเหมือนเป็นตัวกลางในการซื้อข้าว ต้องยอมรับว่าจะขายได้ยากกว่าคนอื่นเขา แต่เราก็มีศักยภาพเพียงพอ ก็ต้องดูตลาดและปริมาณข้าวว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจากการพูดคุยกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์
รมว.พาณิชย์ ว่าคงจะขายข้าวช้าหน่อย คนที่ขายถูกกว่าก็ให้เขาไปก่อน
“การทำงานนั้นแน่นอนว่าต้องกังวลเรื่องการทุจริต แต่จุดประสงค์ดีเราก็ต้องปราบกันไป แต่ผลออกมาดี ชาวนาได้เงินและก็ไม่เคยเห็นชาวนาบอกว่าไม่ชอบ ส่วนปัญหาอื่นที่ตามที่ก็ต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป หากเป็นเรื่องร้ายแรงก็ต้องทบทวน แต่ตอนนี้เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วมันดีกว่าเราก็ต้องทำ เพราะดูวัตถุประสงค์เป็นหลัก ในฐานะที่เป็นทหาร ถ้าวัตถุประสงค์ดี ทำแล้วสำเร็จผลและดีแน่ ผมลุย” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว
เมื่อถามว่าปริมาณข้าวล้นโกดังจนไม่มีพื้นที่เก็บรวมถึงระบายออกไปไม่ได้ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เขาพยายามระบายอยู่ เป็นปัญหานิดเดียว ขณะนี้ขายได้ 7 ล้านตันแล้วเหลือเพียงไม่กี่ตัน แค่ประมาณ 2-3 ล้านตัน ก็ทยอยขายแบบรัฐต่อรัฐ ส่วนกรณีต่างชาติออกมาระบุว่าไทยจะเจ๊งเพราะโครงการนี้นั้น เราดูตัวของเราเองเรารู้ ซึ่งเป็นของกินที่เก็บไว้ไม่นานอยู่แล้ว ถามว่าทำไมน้ำมันถึงผูกขาดได้
“เรื่องโกดังเก็บไม่เพียงพอนั้น ทหารก็กำลังดูอยู่ว่าถ้าเรามีโกดังดีๆ ก็จะให้เขายืม กำลังคิดอยู่ เพราะในช่วงน้ำท่วมกองทัพก็ให้ใช้โกดัง พื้นที่ในเขตดอนเมืองก็มีโกดังที่ไม่ได้ใช้อาจรั่วบ้าง ก็เพียงแค่ซ่อมแซมให้สามารถเก็บข้าวได้” พล.อ.สุกำพลกล่าว
ยอมให้ทุจริต20%
ซักต่อว่า จะส่งผลระยะยาว เช่น การเสียอันดับการส่งข้าวอันดับ 1 ของโลก พล.อ.อ.สุกำพลตอบว่า สมมติว่าเราเคยขายได้ปีละ 10 ล้านตัน ถ้าหากเราขายได้ 7 ล้านตัน แต่จำนวนเงินที่ได้เท่ากับส่งออก 10 ล้านตัน ถามว่าพอใจหรือไม่ ส่วนที่มีเป็นห่วงว่าชาวนาจะไม่ได้เงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น ได้อธิบายให้ชาวนาได้รับฟังชัดเจนแล้วว่าตันละ 15,000 บาท และลดหลั่นลงมาตามความชื้น ต้องยอมรับกติกาตรงนี้ ส่วนความกังวลสวมสิทธิ์ข้าวนั้นเป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่ต้องแก้ไข ถือเป็นอุปสรรคที่ต้องทำ ถ้ามีปัญหาเรื่องโกงก็แก้ไขไปนิดเดียว แต่วัตถุประสงค์หลักคือ 80 คะแนน คือชาวนาได้เงิน อีก 20 คะแนน คือการทุจริต(ตัวอย่างของตรรกะ "ประชาชน.รับได้รัฐบาลโกงได้แต่ขอให้ตัวเองได้ประโยนช์") “ทำไมน้ำมันยังผูกขาดกันได้ ถ้าเรารวมตัวกับเวียดนามได้ เราก็สามารถกำหนดราคาข้าวได้เอง ซึ่งรัฐบาลเสียเงินบ้างเล็กน้อยแต่ชาวบ้านหน้าชื่นตาบาน ชาวนายังบอกว่าขออีก 2-3 ปี เขาก็จะฟื้น ทั้งนี้คงไม่มีใครโง่ทำให้ประเทศเจ๊ง ไม่ต้องห่วง ส่วนชาวนาจะฟื้นจริงหรือไม่ก็ต้องไปถามชาวนา” รมว.กลาโหมกล่าว
สำหรับโครงการจำนำในปีการผลิต 2554/2555 นั้น มีด้วยกัน 3 รอบใช้เงินรวมแล้ว 3.46 แสนล้านบาท ไม่รวมเงินจ่ายขาดอีกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ในค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับฝากข้าว และค่าโอเวอร์เฮดผ่านองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และหากคิดตามหลักของ พล.อ.อ.สุกำพลที่ให้ทุจริตได้ 20% ก็จะทำให้สูญเสียงบประมาณไปถึง 69,200 ล้านบาท และหากรวมวงเงินการจำนำในรอบปีการผลิต 2555/2556 วงเงิน 405,000 ล้านบาท ที่ต้องสูญเสียจากการทุจริตอีก 81,000 ล้านบาท จะเป็นการทุจริตทั้งสิ้น 150,200 ล้านบาท โดยยังไม่ถึงกรณีขาดทุนจากโครงการอีก
วันเดียวกัน กมธ.ส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกร (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง โดยได้ญส่งตัวแทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าชี้แจงถึงปัญหาที่ไม่สามารถจ่ายเงินจำนำให้แก่เกษตรกรได้ โดยตัวแทน ธ.ก.ส.ชี้แจงว่า งบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพื่อรับจำนำข้าว 13.31 ล้านตัน มีเพียงกว่า 1 แสน 9 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่มีการออกใบประทวนให้แก่เกษตรกรมากกว่าที่ธนาคารประเมินไว้ ทำให้งบประมาณไม่เพียงพอ จึงต้องขอ ครม.อนุมัติงบเพิ่มอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ ครม.ยังไม่อนุมัติ จึงทำให้ ธ.ก.ส.ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ซึ่งเงินสำรองกว่า 1 แสนล้านบาทใกล้หมดแล้ว และทาง ธ.ก.ส.ยังไม่ได้รับเงินที่จ่ายสำรองคืน ซึ่งหาก ครม.ยังไม่อนุมัติเพิ่มเติมจะเกิดปัญหาจ่ายเงินล่าช้าออกไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการบริหารจัดการงานทั่วไปของ ธ.ก.ส.ด้วย อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ได้ประสานให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์เร่งนำเงินที่ขายข้าวได้มาชำระคืน ธ.ก.ส. เพื่อหมุนเวียนจ่ายแก่เกษตรกรต่อไป โครงการจึงจะเดินหน้าได้
นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับเช่นกันว่า ปริมาณข้าวที่มาจำนำมากกว่าที่ประเมินไว้ จึงทำให้บริหารจัดการยาก แต่ได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งปฏิบัติงานโดยใช้หลักเกณท์เดียวกันเพื่อให้การจ่าย เงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว และขณะนี้ ครม.อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม
จีทูจีเริ่มส่งกลิ่นตุ
ยังมีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ทำหนังสือถึง อคส.ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ให้ออกใบส่งสินค้าจ่ายข้าวให้ผู้ซื้อข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มารับมอบหน้าคลังสินค้าของ อคส.แล้ว 4-5 ราย คาดว่าจะมีปริมาณเกือบล้านตัน แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขส่งออกข้าวจีทูจีไปตลาดต่างประเทศเลย ทั้งที่ได้รับมอบข้าวไปแล้วเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลรายงานของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสำนักงานมาตรฐาน สินค้านำเข้าส่งออกกรมการค้าต่างประเทศ โดยการส่งออกช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ 4.47 แสนตัน ขยายตัวลดลง 43.53% เทียบกับการส่งออกช่วงเดียวกันที่ผ่านมา แต่ไม่มีการส่งออกข้าวของรัฐบาลแม้เลย เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่ยังมีการส่งออกข้าวจีทูจีในปริมาณ 2.67 แสนตัน
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขข้าวส่งออกจีทูจีที่ได้เบิกออกไปให้กับผู้ซื้อหายไปไหน เพราะหากเบิกจ่ายไปตั้งแต่ มิ.ย. ตัวเลขการส่งออกอย่างช้าควรปรากฏอยู่ในเดือน ส.ค.-ก.ย.แล้ว หรือข้าวที่ อคส.เบิกจ่ายออกไปในนามลูกค้ากรมการค้าต่างประเทศ อาจถูกขายต่อให้กับผู้ซื้อข้าวในประเทศในราคาต่ำ เพราะการขายข้าวจีทูจีสามารถขายได้ในราคามิตรภาพ หรือต่ำกว่าราคาตลาดเล็กน้อย และข้าวดังกล่าวอาจกลับมาวนเวียนอยู่ในโครงการรับจำนำ
“กรมการค้าต่างประเทศควรชี้แจงถึงออเดอร์จีทูจีที่ได้เบิกจ่ายออกจากคลังของ อคส.ไปแล้ว ว่าส่งมอบให้ใคร เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน” แหล่งข่าวระบุ และว่า ยังมีกระแสข่าวว่าผู้ชนะการประมูลข้าวสต็อกรัฐบาลรอบล่าสุด 5.76 หมื่นตัน ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิไม่ยอมมารับมอบข้าว หลังจากเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าข้าวเสียหายและมีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มาก โดยผู้ส่งออกยอมให้ถูกยึดเงินค้ำประกันซองประมูลอัตรา 2% ของมูลค่าที่ยื่นเสนอซื้อไปลุ้น10ต.ค.ศาลพิจารณา
สำหรับความคืบหน้าในกรณีนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องดังกล่าวนั้น นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุเมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายอดิศร์ มายื่นสำเนาเอกสารครบหมดแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญในการประชุมคณะตุลาการในวันที่ 10 ต.ค.ทันหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการฟ้าวันใหม่ ถึงเหตุการณ์ที่เกษตรกรออกมากดดันนักวิชาการนิด้า ว่า เป็นห่วงว่าเรื่องนี้จะถูกนำไปเป็นประเด็นการสร้างปมความขัดแย้งทางการเมือง ขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยืนยันว่าทุกคนที่มาพูดเรื่องการจำนำข้าวนั้นไม่มีใครบอกว่าการจำนำข้าวเป็น สิ่งที่ต้องเลิกแล้วก็ไม่ต้องไปทำอะไรให้เกษตรกรเลย อยากให้ทุกฝ่ายในสังคมใช้เหตุผลตั้งสติในการพิจารณาวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย อย่างรอบด้าน เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเรื่องของการเมืองจะเกิดความขัดแย้งอีก
“นักวิชาการต้องพูดให้ชัดว่า ไม่ได้เคลื่อนไหว หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายโอกาสเกษตรกรอย่างแน่นอน แต่ว่ากำลังจะขอให้เกษตรกรนั้นได้รับการช่วยเหลือชนิดที่ยั่งยืน แล้วไม่เป็นปัญหาในอนาคต เพราะไม่อย่างนั้นจะถูกปลุกระดม” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า ควรจัดเวทีถกเถียงเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เช่นเดียวกับเรื่องของค่าแรง จะได้มีการมาซักถามกัน ไม่ใช่โฆษณาพูดกันฝ่ายเดียว พอพูดฝ่ายเดียวก็ยกย่อง หรือเชียร์สิ่งที่ตัวเองคิด สิ่งที่ตัวเองเสนออย่างเดียว.
Edited by chaidan, 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 09:52.
ใครที่บอกว่า "กาขาว" เป็นฝรั่ง....ผมว่าไม่ใช่......