คลัง มั่นใจรีดรายได้ปีงบ 56 ฉลุยตามเป้า 2.1 ล้านล้านบาท แต่สั่งให้ไล่บี้มากขึ้น เมินขึ้นภาษี VAT หนุนรายได้รัฐ สรรพสามิตเน้นดูแลสุราและยาสูบ
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.การคลัง ในฐานะกำกับดูแล 3 กรมภาษี เปิดเผยว่า การ จัดเก็บรายได้จากภาษีในปีงบประมาณ 2556 จะต้องเข้มข้นขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลจะเริ่มส่งผลอย่างชัดเจน อาทิ โครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรกไม่เกิน 1 แสนบาท การลดอัตราภาษีนิติบุคคลตามนโยบายรัฐบาล จาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และเหลือ 20% ในปี 2556 รวมถึงแผนการกู้เงินต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะการกู้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท
"ขณะนี้ยังไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 55) ต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ดังนั้นในปีนี้กรมภาษีจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการจัดเก็บรายได้มากขึ้นกว่า ปีที่ผ่านมา แต่ทั้งปีงบประมาณยังมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าที่ 2.1 ล้านล้านบาทแน่นอน" นายทนุศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับการ เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยในส่วนของภาษี นิติบุคคลได้มีการดำเนินการปรับลดไปแล้ว ซึ่งทำให้อัตราภาษีดังกล่าวใกล้เคียงกับประเทศสมาชิก แต่ยังสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ที่เก็บอยู่ที่ 17% เท่านั้น ขณะที่อัตราภาษีบุคคลธรรมดาไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 20 ปี ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับจากที่เก็บสูงสุดอยู่ที่ 37% เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกซึ่งเก็บอยู่ที่ 25-30% โดยมีเพียงประเทศสิงคโปร์ที่เก็บต่ำที่ 20%
ในส่วนของ นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับเออีซี ต้องดูเรื่องการจัดเก็บรายได้ไม่ให้มีปัญหา การลดภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเก็บภาษี VAT ก็ต้องพิจารณาถึงอัตราที่เหมาะสม โดย ไทยเก็บภาษีต่ำเกือบที่สุดของโลก มีเพียงไต้หวันและญี่ปุ่นที่เก็บต่ำกว่าที่ 5% ซึ่งเฉลี่ยการเก็บภาษี VAT ทั่วโลกอยู่ที่ 25% หากประเทศไทยสามารถเก็บภาษี VAT เพิ่มสูงขึ้น ก็สามารถไปลดอัตราภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาลงได้อีก ทั้ง นี้ หากไม่มีการปรับภาษี VAT เพิ่มขึ้น และการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รัฐบาลก็ต้องไปกู้เงินมาใช้จ่าย ซึ่งถือว่าไม่เป็นเรื่องที่เสียหาย
"ขณะ นี้กรมสรรพากรยังไม่มีแนวคิดปรับเพิ่มภาษี VAT แต่อย่างใด แม้ว่าในหลายประเทศจะใช้นโยบายการขึ้นภาษีดังกล่าวเพื่อเพิ่มรายได้ให้ ประเทศก็ตาม เพราะการหารายได้สามารถหาได้หลายทาง ไม่ใช่การขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว" นายสาธิต กล่าว
ด้าน นายบุญชัย พิทักษ์ดำรงกิจ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จะมีการหารือกับประเทศสมาชิกในกลุ่มเออีซี เพื่อกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตพื้นฐาน หรือขั้นต่ำ รวมถึงวิธีการจัดเก็บ การประสานด้านข้อมูลภาษี และความร่วมมือทางนโยบาย โดยเฉพาะสุราและยาสูบ โดยการหารือจะยึดแนวทางที่ประเทศยุโรปดำเนินการมา เช่น สินค้าสุรา กลุ่มสมาชิกยุโรปจะตกลงอัตราภาษีขั้นต่ำไว้ที่ 30% แต่ประเทศไหนคิดว่ามีความจำเป็นต้องการเก็บมากกว่านั้นก็สามารถทำได้ เป็นต้น
ขณะ ที่ นางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2553 กรมศุลกากรลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งในกลุ่มประเทศสมาชิกได้มีการดำเนินการในส่วนนี้ไปแล้ว 99%
อ้างมา http://toptenthailand.com/2012/topten-news-info.php?cate_id=1&nid=1218
แก้ไข: เพิ่มเติมแหล่งที่มา
Edited by Leonet, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - 10:52.