
หมดสะท้อนว่าเรายังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรมคืออะไร คิดแค่ว่าการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากมาแล้วทำอะไร
โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม,นิติพันธุ์ สุขอรุณ
ระวังประเทศเจ๊ง
“ผมมองไม่เห็นอนาคต มันห่อเหี่ยว น่าเบื่อหน่าย นอกจากว่าประเทศนี้จะต้องใช้เวลาพัฒนามากกว่านี้ วันนี้คนไม่ค่อยเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง อีกอย่างคือ ไม่เคารพความเห็นคนอื่น ประชาธิปไตยมันต้องฟังและเถียงกันด้วยเหตุและผล ไม่ใช่เอาพวกมากลากไป”
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตอบอย่างหมดหวังขณะให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์หลายสัปดาห์ก่อน กับคำถามที่ว่า เมื่อไรความขัดแย้งในประเทศจะสงบลง?
“ในสหรัฐ บางครั้งประธานาธิบดีก็ไปเอาคนของพรรคการเมืองคู่แข่งเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ แต่ของเมืองไทยถ้าเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นคนเลวหมด ไม่มีใครดี ถ้าฝ่ายตรงข้ามคิด ผิดหมด ถ้าฝ่ายฉันคิดถูกหมด แม้จะบอกว่า สุนัขมีเขานะ ฉันก็จะเชื่อ มันเป็นอย่างนั้น”
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เล่าว่า ครั้งหนึ่งได้เดินสายให้ความรู้ประชาชน ตั้งคำถามกับชาวบ้านที่ปากช่องว่า เสียงข้างมากทำผิดกฎหมายได้ไหม เขาบอกว่าได้ เมื่อถามต่อว่า แล้วถ้าชนะเลือกตั้ง ปรากฎว่าเสียงข้างมากไปฆ่าคนตายติดคุกไหมเขาก็งง ... ที่ชัยภูมิ ก็ถามไปว่า เสียงข้างมากออกกฎหมายเก็บภาษีเสียงข้างน้อย เสียงข้างมากไม่ต้องเสียได้ไหม เขาก็งงๆแล้วตอบว่า ถ้าจะไม่ได้แล้ว ทั้งหมดสะท้อนว่า เรายังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม คืออะไร คิดแค่ว่า การเลือกตั้งได้เสียงข้างมากมาแล้วทำอะไรก็ได้
“ผมเคยพูดกับสื่อนานแล้วว่า ถ้าคนมีศีลธรรม จริยธรรม ไม่ต้องมีกฎหมาย บ้านเมืองก็อยู่ได้ จริงไหม และถ้าผู้มีอำนาจเป็นคนมีจริยธรรม ศีลธรรม ก็แทบไม่ต้องมีกฎหมาย เหมือนอย่างเรามีกฎหมาย ปปช. การแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ ผลประโยชน์ทับซ้อน ต่างประเทศก็งง เขาถามว่า มีด้วยหรือกฎหมายนี้ บ้านเขาไม่มี เพราะนักการเมืองเขาไม่มีความคิดอย่างนั้น เช่น เป็นผู้นำประเทศ เขาก็ไม่เคยให้คนในครอบครัวมาทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ แต่ของเรามีการหลีกเลี่ยงกฎหมายกัน เราไปตีความกฎหมายให้เป็นประโยชน์เสียมาก”
วสันต์ย้ำว่า เสียงข้างมากไม่สามารถทำอะไรได้หมดทุกอย่าง เมื่อเดือนก่อนประธานศาลรัฐธรรมนูญบัลกาเลียมาบรรยายว่า เขาดูแลรักษากฎกติกาคือตัวรัฐธรรมนูญและให้ความสำคัญกับเสียงข้างน้อยและการทำงานของฝ่ายค้าน ดูแลให้ฝ่ายอำนาจรัฐปฏิบัติตามกฎกติกาโดยเคร่งครัด หรือ อย่างศาลรัฐธรรมนูญประเทศเยอรมัน ไม่ต้องมีใครยื่นคำร้อง ถ้าเห็นว่ารัฐบาลกำลังละเมิดรัฐธรรมนูญ เขาตั้งเรื่องขึ้นเองแล้วเรียกรัฐบาลมาไต่สวน และให้ข้อแนะนำว่าไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ของเราแค่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง ก็ถูกกล่าวหาว่าผิดแล้ว
แล้วประชาธิปไตยไทยต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนานเท่าไร? วสันต์ บอกว่า สมัยก่อนประชาธิปไตยไทยเตาะแตะมาตลอด เพราะมีการยึดอำนาจพร่ำเพื่อ ยึดเสร็จก็กลับไปเลือกตั้ง และก็เลี้ยงเหล้า ซื้อเสียง หยิบยื่นประโยชน์ให้ผู้เลือกตั้งทุกครั้ง ถ้าเลือกตั้งติดกันถี่มันก็ค่อยยังชั่วขึ้น ประชาชนได้เรียนรู้
กระนั้นสิ่งที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นห่วงไม่น้อยคือ การใช้นโยบายประชานิยม เพราะทำให้ประชาชนเคยตัวและนำมาสู่การใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลจนอาจทำให้ประเทศล่มสลายเหมือนที่เกิดในต่างประเทศ
“เราเห็นนโยบายแต่ละข้อว่าจะนำไปสู่อะไร เหมือนบางประเทศในยุโรปที่กำลังแย่ ทั้งที่คนทำงานอยู่ในภาครัฐจำนวนมาก แต่ไม่ยอมทำงานหนัก มีที่ดินก็ไม่ยอมทำการเกษตร เพราะว่าเหนื่อย สุดท้ายเมื่อรัฐบาลมีนโยบายรัดเข็มขัด จากการที่รัฐบาลหมดตัว เขาก็ประท้วง ต่างจากเกาหลี ที่เศรษฐกิจเจ๊งพร้อมๆไทย แต่ทุกคนเดินหน้าไปบริจาคเงินให้รัฐบาลจน 10กว่าปีที่ผ่านมาเกาหลีฟื้น บางบริษัทของเขายิ่งใหญ่กว่าบริษัทในญี่ปุ่น นั่นเป็นเพราะคนเขามีใจ ส่วนของเรามีคนที่รักชาติน้อย เคยมีคำพูดว่า รักชาติจนน้ำลาย เอ้ย.. น้ำตาไหล”
ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร? วสันต์ ตอบว่า คงต้องให้เวลาผ่านไป จนกว่าประเทศชาติจะเจ๊งลงไปในมือนักการเมือง วันนั้น ประชาชนจะรู้ว่า ที่เจ๊งจริงๆ แล้ว เป็นเพราะตัวเอง
“สถานการณ์ขณะนี้ มีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเช่นนั้นได้ จากการใช้จ่ายเงินงบประมาณจากนโยบายประชานิยมที่คนไม่ค่อยทำงาน เอาความสะดวกสบายที่รัฐจัดให้ เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าคนจะคิดได้ ว่ามันเป็นเพราะพวกเรานี่แหละ ตอนนี้คนยังไม่รู้ว่าอันไหนพูดจริงอันไหนพูดโกหก บางคนโกหกคนคิดว่า ที่ตัวเองพูดนั้นเป็นจริงเกือบทุกเรื่อง”
กระนั้น ความขัดแย้งขณะนี้ มีการวิเคราะห์ประเทศไทยเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ องค์กร สถาบันต่างๆ ภาคประชาชน รวมถึง นักการเมืองกำลังปรับตัวสู่ความสมดุลที่เหมาะสม สำหรับวสันต์ เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นยุคแห่งการมอมเมาทางความคิด พยายามใช้วาทกรรมแปลกๆ ขณะที่พฤติกรรมกลับไม่เปลี่ยน ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองขณะนี้น่ากลัวเพราะต่างฝ่ายต่างมีโทรทัศน์ การพูดเต็มไปด้วยการล้างสมอง
“ผมดูหมดทั้ง 2สี 3 สี ต่างฝ่ายต่างปลุกระดมกัน มันก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้าการล้างสมองเป็นผล แปลว่าคนของเรายังไม่พร้อมจะใช้ความคิดของตัวเอง คือ ยังคิดไม่เป็น เหมือนสมัยหนึ่งนานแล้ว นักการเมืองคนหนึ่งมาหาเสียงที่ท่าน้ำจ.นนทบุรี บอกว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ยาก ด้วยการทำเขื่อนทั้งแต่ปากน้ำมาจนถึงจ.ปทุมธานี ทำให้สามารถกันน้ำทะเลหนุน และกันน้ำท่วมได้ด้วย คนฟังก็เออ... จริงด้วย แต่เอาเงินงบประมาณจากที่ไหนนี่ไม่ใช่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่จะมั่งคั่งขนาดนั้น เป็นไปได้อย่างไง ที่นี้พอคนฟังเขามีความคิดก็รู้แล้วว่าโกหก ดังนั้น เราต้องคิดตามว่าทำได้หรือที่สำคัญเรายังเห็นเรื่องการทุจริต เรียกรับผลประโยชน์จากโครงการของรัฐแทบจะทุกโครงการ ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็จะมีข่าวออกมาอย่างนี้ตลอด”
ทว่า อีกฝ่ายอ้างว่า เรื่องคอร์รัปชั่นมีทุกรัฐบาล แต่ปัญหาหลักมาจากการรัฐประหาร ประเด็นนี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แย้งว่า ต่างฝ่ายต่างโทษกัน กลุ่มรัฐประหารก็อ้างว่าเป็นเพราะนักการเมืองโกง สรุปแล้วมีแต่พวกโกงทั้งนั้น โกงกันมาเรื่อยๆ ถ้าเรายังไม่แก้ปัญหาเรื่องทุจริต ประเทศไทยจะเลวร้ายลงไปอีก นอกจากติดอันดับประเทศรถติดมากที่สุดในโลกแล้ว ยังจะติดอันดับประเทศที่ทุจริตมากที่สุดด้วย
อยากยุบศาลฯ ก็เชิญ
การ แก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาร้อนอีกรอบ เมื่อพรรคเพื่อไทยเตรียมเดินหน้าให้ สส.พรรคร่วมรัฐบาล ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภา เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหลังชะงักมาหลายเดือน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญติดเบรกเตือนว่า แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะเป็นอำนาจรัฐสภา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้เพราะเป็นการผ่านการลงประชามติโดยประชาชน ดังนั้น ถ้าจะแก้ก็ควรถามประชาชนก่อน
วสันต์ บอกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แค่ให้คำแนะนำรัฐบาลนำไปศึกษาปฏิบัติ แต่จากนี้เขาจะทำอย่างไร ลงมติวาระ 3 หรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขาถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ต้องกลับมาว่ากันอีกที
"เราไม่ได้บังคับ แต่เขาจะทำให้เกิดความเห็นต่อต้านขึ้นมาอีกทำไม"
อีกแนวทางที่พรรคเพื่อไทยอาจเสนอแก้คือ มาตรา 68 เพื่อตัดช่องทางไม่ให้ประชาชนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าล้มล้างการปกครองหรือไม่ เหมือนที่ผ่านมา วสันต์บอกว่า เขาจะแก้อย่างไรก็แก้ได้ แต่มันส่อเจตนา
"รัฐธรรมนูญนี้แก้ไม่ยากอยู่แล้ว แก้เดือนละร้อยมาตรา3เดือนก็หมดแล้ว เขาจะใช้เสียงข้างมากตัดอำนาจฝ่ายค้าน ห้ามฝ่ายค้านอภิปรายก็ทำได้"
โมเดลของแกนนำพรรคเพื่อไทยบางรายที่จะให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง โดยอ้างว่าใช้อำนาจมากขัดขวางการทำงานรัฐบาลรวมถึงแก้ที่มาของตุลาการศาลต่างๆ ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญท่านนี้บอกว่าก็สุดแล้วแต่ ถ้าใครจะเขียนรัฐธรรมนูญ ยุบทุกศาลก็ทำได้หมด
"ต่อไปเสียงข้างมากฆ่าคนตายก็ไม่ผิด ตามสบายเลย ยุบได้ทุกศาล ต่อไปให้มีศาลประชาชนไปเลย ถ้าจำเลยฆ่าคนตายก็เอาเสียงข้างมากโหวตกันว่า คนนี้ไม่ต้องรับโทษเพราะเป็นพวกเสียงข้างมากสุดแล้วแต่
...เขาว่าฝ่ายตุลาการศาล ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน ผมก็บอกว่าขณะนี้ใช่ไม่มีจุดยึดโยงประชาชน แล้วตกลงจะให้เลือกตั้งผู้พิพากษาอย่างนั้นเอาไหมตำรวจ ผู้จัดการแบงก์ หมอ เลือกตั้งให้หมดเลยเอาไหม ไม่งั้นไม่เป็นประชาธิปไตย"
แล้วไม่ดีอย่างไร ให้ประชาชนเลือกตั้งผู้พิพากษา "ก็เอาสิ หัวคะแนนก็ชนะคดีหมดแน่"
กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ยึดโยงประชาชนทางอ้อมผ่านการให้รัฐบาล หรือสภาเห็นชอบการแต่งตั้งตุลาการ ประธานศาลรัฐธรรมนูญตอบทันที
"สภาแจกกล้วยกันเนี่ยนะที่จะมาแต่งตั้งผู้พิพากษา และมีสารพัดสัตว์เลื้อยด่ากันเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ตัวอะไรกันไม่รู้ด่ากันเอง แล้วเราก็ดูพฤติกรรม จริยธรรมของผู้พิพากษากับนักการเมืองกันซิ ผมเปรียบว่า ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาบางครั้งก็มีการอภิปรายโต้เถียงกันใช้ถ้อยคำรุนแรง แต่ก็ไม่ได้ขว้างปากัน ไม่มีแย่งเก้าอี้กัน ประชุมเสร็จ โหวตแล้ว ชนะแล้วแพ้แล้ว ก็เดินไปรับประทานข้าวด้วยกันเหมือนเดิม ไม่เห็นมาเจ้าคิดเจ้าแค้นอะไรเลย เป็นอย่างนี้มาสิบๆ ปีแล้ว
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างนักการเมืองกับผู้พิพากษา คือ เราถือจริยธรรมคนละระดับ ผมพูดแค่นี้ก็พอแล้วมั้ง แต่ผมไม่ได้บอกว่าผู้พิพากษาจะดีเลิศประเสริฐศรีอะไร แต่ถ้าคนที่มักใหญ่ใฝ่สูงอาจทำตัวเป็นลูกสมุนนักการเมืองเพื่อหวังตำแหน่งใหญ่โตในวันข้างหน้าก็ได้เช่นเดียวกัน แล้วเราต้องการให้เป็นอย่างนั้นหรือ"
นักการเมืองไทยยังไม่มีจริยธรรมแค่ไหนเมื่อเทียบกับอารยประเทศ?..."แล้วแต่จะคิดเอา ผมก็ไม่อยากโจมตีใคร พูดได้แค่นี้ แต่นักการเมืองดีๆ ก็พอมีอยู่บ้างมั้ง!แต่ดูสภาพแล้ว...ผมไม่อยากดูภาพการอภิปรายในสภา ดูแล้วหงุดหงิดในพฤติกรรม คนที่ไม่ได้พูดอะไรก็นั่งหลับ คือไม่ได้ใส่ใจฟังอภิปราย ทั้งๆ หน้าที่ต้องมาประชุมฟังความคิดเห็น บางทีมานั่งดื่มกาแฟอยู่ข้างนอก"
"ความจริงระบบตุลาการถูกตรวจสอบจากรัฐสภา คือ วุฒิสภาสามารถถอดถอดได้ การใช้งบประมาณก็ถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดียวกัน แล้วจะมาเข้าใจผิดว่าตุลาการเป็นผู้มีอำนาจเต็มในศาลได้อย่างไร จริงๆ ไม่ใช่"
"ถึงเวลาหนึ่งเราก็พร้อมมีจุดยึดโยงถ้าพฤติกรรมอะไรๆ มันดีขึ้น ผมว่า มันขึ้นอยู่กับประชาชนด้วย ...เขาบอกว่า รัฐบาลแย่ใช้ไม่ได้ อ่าว! แล้วใครเลือกรัฐบาล สส.เลือกรัฐบาลใช่ไหม ถ้า สส.ดี จะเลือกคนเลวเป็นรัฐบาลไหม แล้วใครเลือก สส.ถ้าประชาชนดีจะเลือกคนชั่วเป็น สส.ไหมมันดูเป็นขั้นเป็นตอนไป เคยมีคนสมัยก่อนพูดแบบตลกๆ นะว่าเฮ้ย ไม่ต้องเอาความถูกต้อง เอาเสียงข้างมาก ถ้าอย่างนั้นโหวตยังไง พระ5องค์ ก็แพ้โจร500เทศน์ให้ตายยังก็สู้เสียงโจรไม่ได้ ดังนั้นคนที่อธิบายว่าได้เสียงข้างมาจากประชาชนแล้วทำทุกอย่างได้ ฟังแล้วดูดี แต่บ้านเมืองเรายอมรับกติกานี้ได้หรือยัง และยังเข้าใจผิดคิดว่าการเลือกตั้งนี้สุดยอด"
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า ที่สุดแล้วแนวคิดยุบศาล คงต้องการเอาพวกเขาเข้ามาเป็นเท่านั้น เพราะมันเคยตัวที่ว่า"ไอ้โน้นของเรา ไอ้นี้ก็ของเรา" โดยอาจใช้กระบวนการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540