‘โง่’ไม่ต้องเอามา! มท.1บีบนายอำเภอ‘คัดคน’ร่วมประชาเสวนาแก้รธน.
ข่าวหน้า 1, 20 December 2555
มหาดไทยวางแผนใช้กลไกรัฐ "จารุพงศ์" จัดแถวนายอำเภอทั่วประเทศ สั่งกลับไปอ่านกฎหมายประชามติแล้วไปบอกประชาชน พูดสวยหรูรัฐธรรมนูญต้องเขียนด้วยผู้ถูกปกครอง แต่ดูถูกประชาชนห้ามพวกไม่มีสมองร่วมประชาเสวนา "วราเทพ" ยอมรับต้องเลื่อนเพราะเกรงวุ่นวาย "เหลิม" เตือนอีก ทำประชามติมีคนเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลว่าเอาเงิน 2 พันล้านบาทไปใช้โดยเปล่าประโยชน์
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้แก่ปลัดจังหวัดและนายอำเภอ ประจำปีงบประมาณ 2556 ที่ รร.รามาการ์เด้นส์ เมื่อวันพุธ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการมอบนโยบายทำความเข้าใจเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับปลัดจังหวัด และนายอำเภอทั่วประเทศด้วย
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย มอบนโยบายว่า การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศไม่ให้หยุดชะงักอีกต่อไป โดยการทำประชามติ ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ไปศึกษาแนวทางการทำประชามติ เนื่องจากมีขั้นตอนจำนวนมาก
"ขอมอบหมายให้นายอำเภอกลับไปอ่าน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตั้งแต่มาตรา 5 วรรค 3 ถึงมาตรา 10 เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ดูว่ามีอะไรที่เสี่ยงผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะได้นำไปชี้แจงกับประชาชนให้เข้าใจ"
เขากล่าวว่า ประเทศหลังรัฐประหารมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เราต้องยุติเพื่อหาทางออกประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จึงต้องเขียนด้วยผู้ถูกปกครอง เชื่อว่าหากสามารถเดินหน้าได้เราก็จะหลุดพ้นจากความขัดแย้ง
"นายอำเภอจะต้องทำความเข้าใจและสร้างความปรองดอง รวมถึงทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยมือของพวกเรา ดังนั้นในการเตรียมความพร้อมการทำประชาเสวนา ขอให้พิถีพิถัน โดยเฉพาะการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ขอให้ได้คนที่มีความรู้ มีความตั้งใจจริง มีศักยภาพ และได้รับการยอมรับ มาร่วมระดมสมอง อย่าสักแต่หลับหูหลับตาไปหาคนมาให้ครบๆ คนไม่มีสมองไม่ต้องเอามา มันเป็นทางที่จะให้บ้านเมืองไปรอด เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้ไปตกกับลูกหลาน จึงต้องเร่งแก้ไขให้สำเร็จ ส่วนจะพิจารณาอย่างไร ก็ให้นายอำเภอเป็นผู้คัดกรองมา แต่ให้ยึดตามสัดส่วนกลุ่มอาชีพที่มีการกำหนด" มท.1 กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้แก่ปลัดจังหวัดและนายอำเภอ ประจำปีงบประมาณ 2556 พบว่ามีนายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ชี้แจงการจัดเวทีสานเสวนาหาทางออกประเทศไทยให้ที่ประชุมรับทราบด้วย ขณะที่เขาเพิ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักกับการทำโพลถามประชาชนเกี่ยวกับวันสิ้นโลก
โพลดังกล่าวไม่น่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง เพราะตั้งคำถามแรกว่า ประชาชนเชื่อหรือไม่ แม้จะมีคนไม่เชื่อถึง 92.45% ซึ่งน่าจะจบแค่นั้น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะถามต่อ แต่โพลนี้กลับถามคำถามต่อไปว่า อยากให้นักการเมืองคนไหนรอด นอกจากนี้ สวนดุสิตโพลยังถูกวิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องว่ามักตั้งคำถามในการทำโพลเอาใจผู้มีอำนาจ
เลื่อนเพราะกลัววุ่น
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชะลอการประกาศให้ทำประชามติออกไปก่อนว่า เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า หากออกประกาศแล้วจะต้องดำเนินการลงประชามติภายใน 120 วัน เราคิดในแง่ที่ว่าหากรีบร้อนดำเนินการไปโดยยังไม่รอบคอบและไม่พร้อม จะสร้างความสับสน และจะทำให้การทำประชามติไม่ราบรื่น เพราะอาจจะมีการแก้ไขและถกเถียงกันอีกวุ่นวาย ดังนั้นการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อทำให้ทุกอย่างมีความพร้อมในเรื่องขั้นตอนตามกฎหมายและการปฏิบัติที่สามารถดำเนินการได้
"คาดว่าคณะทำงานสามารถทำทุกอย่างครบทุกขั้นตอน แล้วสรุปให้ ครม.ดำเนินการออกประกาศภายใน 1 เดือน หรืออาจจะเกิน 1 เดือนไปไม่มาก จากนั้นนับไป 4 เดือน ก็จะมีวันลงประชามติ"
ถามว่า ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงทั้งหมดหรือไม่ นายวราเทพตอบว่า วันนี้ความขัดแย้งทางสังคมในเรื่องรัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเราเทียบเคียงกับผู้มาใช้สิทธิ์การเลือกตั้ง ก็มีอัตราสูงส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการที่จะให้ประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิ์ ตนคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะความตื่นตัวทางการเมือง และความต้องการที่จะให้เกิดความชัดเจนในปัญหาข้อโต้แย้งหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่หมดไป
ซักว่า หัวข้อที่จะเขียนให้ประชาชนออกมาลงประชามติจะเป็นอย่างไร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบว่า เราต้องถามว่าวัตถุประสงค์เราต้องการอะไร ซึ่งเราต้องการอยากรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเฉพาะเรื่องที่ค้างอยู่ในสภา ฉะนั้นก็น่าจะถามในแนวที่ว่า คือไม่ชอบหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
วันเดียวกันนี้ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์ "จดหมายเปิดผนึกถึงอดีตนายกฯ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น "ฆาตกร" ฉบับที่ 2" บนเฟซบุ๊กส่วนตัว Oak Panthongtae Shinawatra ระบุ วลีเด็ด 'มาร์ค' ย้ำชัด "ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ จะยกมือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 50"
ตอนหนึ่งระบุว่า การที่ท่านออกมาปกป้อง รธน.ปี 50 โดยเน้นไปที่มาตรา 309 เพียงมาตราเดียว มันชี้ให้เห็นชัดเจนครับ ว่าท่านกำลังสืบสานผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ เพราะเป็นเพียงมาตราเดียว และเป็นมาตราสุดท้ายใน รธน.ปี 50 ที่เป็นตัวเชื่อม (Gate Way) ให้ รธน.เผด็จการที่ คปค.ร่างไว้หลังปฏิวัติ 19 ก.ย.49 มีผลบังคับใช้จนถึงชั่วลูกชั่วหลาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แจ้งเกิดทางการเมืองด้วยคำว่า "ผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" กำลังทำทุกอย่างเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งมาตรานี้ จนถึงกับออกจดหมายเปิดผนึกเพื่อเชิญชวนให้คว่ำประชามติ
ตอนท้ายระบุว่า ในจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2 ของผมนี้ ขอสรุปเพียงนี้ก่อน จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 3 เข้มข้นกว่านี้แน่นอนครับ ผมจะโฟกัสไปที่ "มาตรา 309 เจ้าปัญหา" นี้ เชื่อมโยงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขหรือการคงไว้ซึ่ง ม.309 นี้จะเป็นกฎหมายล้างผิด "คนโกง" หรือเป็น กฎหมายล้างผิด "ฆาตกร" กันแน่ครับ
"เหลิม"เตือน 2 พันล้านทิ่มรัฐบาล
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ตอบกรณีที่รัฐบาลอาจกลับลำไม่ทำประชามติ เขาระบุว่า แค่นี้พรรคพวกก็หมั่นไส้กันเยอะแล้ว ซึ่งตนก็ได้แสดงเหตุผลในที่ประชุมพรรคมาตั้งแต่ก่อนเอาแก้รัฐธรรมนูญเข้า แต่หากพรรคพวกไม่เอา ตนก็ไม่ขัด การเมืองหากขัดแย้งอะไรก็ต้องทำที่หลัง หากเป็นเช่นนี้แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็จะเหนื่อย เพราะกำลังทำงานไปได้ดี แต่ต้องมาคอยพะวงเรื่องนี้ ซึ่งหากมีการทำประชามติไปแล้ว เสียงออกมาไม่เกินกึ่งหนึ่ง
"แน่นอนว่าต้องมีคนที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล ว่าเอาเงิน 2 พันล้านบาทไปใช้โดยเปล่าประโยชน์"
ถามว่า เคยวิเคราะห์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฟังหรือไม่ ร.ต.อ.กล่าวว่า ตนยังไม่ได้เจอท่านตั้งแต่ปี 50 แต่เชื่อว่าท่านเองก็ดูความเคลื่อนไหวผ่านสื่อ แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น คนที่มีความคิดเห็นเช่นนี้เป็นคนปัญญาทึบ และหากยกเลิกมาตรา 309 ไปแล้วก็ไม่มีผลกับคดีความที่ตัดสินไปแล้ว จะเอาอะไรไปช่วยได้ และขอย้ำว่า การแก้มาตรา 309 ไม่มีใครได้ประโยชน์ เพราะคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งคดีก็เลยระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ทั้งนี้ กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกติกาสูงสุด จะเอาไปโยงกับเรื่องการเมืองไม่ได้
"ผมสนับสนุนแนวทางแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะสามารถลบข้อครหาได้ เพราะอีกฝ่ายมองว่า พรรคเพื่อไทยจะแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ แต่หากแก้เป็นรายมาตราจะสามารถชี้แจงกับประชาชนได้" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในนามพรรคภูมิใจไทย ถ้าถามหัวหน้าพรรคในเรื่องมาตรา 309 อะไรก็ตามที่ทำแล้วดีขึ้น ทุกคนมีความสุข ไม่ต้องห่วงกังวล เดินตามท้องถนนได้โดยไม่ต้องระวังหน้าระวังหลัง พรรคภูมิใจไทยในยุคที่ตนบริหารอยู่ก็จะทำ อาจจะถูกโจมตีบ้างจากบางกลุ่มบางส่วน แต่ถ้าส่วนรวมเห็นด้วยเราก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดี
“ประโยชน์ที่จะได้ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวม แต่หากมีคนใดคนหนึ่งได้รับอานิสงส์ด้วย ถือว่าเราได้ทำในสิ่งที่ดี และต้องระงับเวรด้วยการไม่จองเวร" นายอนุทินกล่าว
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติชะลอเรื่องการลงประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเพราะรัฐบาลกำลังเดินวนอยู่กับการแก้ปัญหาให้นายตัวเอง โดยต้องการล้มหลักกฎหมายสำคัญๆ ตราบเท่าที่ความต้องการของนายยังค้ำคออยู่ ทั้งที่ควรเอาเวลาไปบริหารประเทศแก้ปัญหาให้ประชาชน เลิกแก้ปัญหาให้นาย ตนจึงบอกว่าถ้ามีการทำประชามติ ก็จะเป็นโอกาสของประชาชนที่จะแสดงออกว่า รัฐบาลควรจบเรื่องนี้ได้แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า หากรัฐบาลมีความชัดเจนที่จะทำประชามติก็น่าจะตัดสินใจไปได้เลย อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการศึกษา วิปฯ ฝ่ายค้านมีประเด็นที่จับตาเป็นพิเศษอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ 1.ต้องคอยติดตามว่าการทำประชามติครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด จะมีการทำประชามติที่แปลงโฉมจากการขอมติ หาข้อยุติไปเป็นเรื่องการขอคำปรึกษาแทนหรือไม่ เพราะหากมีการทำประชามติเพื่อหาข้อยุติ จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่าครึ่งของผู้มีสิทธิ์ในประเทศ ซึ่งใช้คะแนนเสียงมากกว่าแค่การให้คำปรึกษา 2.จะมีการพยายามที่จะไปแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติเพื่อลดคะแนนเสียงหรือไม่ ทั้งนี้ ในมุมมองของตน ทางที่ดีที่สุดคือการที่รัฐบาลระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หันมาตั้งหลักแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีความสำคัญมากกว่า.
ที่มา: ไทยโพสต์ออนไลน์ http://www.thaipost....ws/201212/66910
.
Edited by ดอกปีบขาว, 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 10:24.