วันนี้ ( 23 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โพสต์ข้อความลงในเวปไซต์เฟซบุ๊คและเวปไซต์ทวิตเตอร์ถึงกรณีการทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เห็นพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องคัดค้านการแก้มาตรา 309 เข้าใจว่าจะแกล้งทำเป็นไขสือไม่รู้ว่ารัฐสภากำลังแก้เฉพาะมาตรา 291 รัฐสภาหรือนายกรัฐมนตรี จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมารับรองว่าจะไม่แก้มาตรา 309 เพราะต้องให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของสสร. ซึ่งสุดท้ายจะตัดสินโดยประชาชน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะยอมรับกระบวนการที่ยกอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินกันหรือไม่ ส่วนเรื่องว่าควรยกเลิกหรือรักษามาตรา 309 ไว้หรือไม่นั้น มีการถกเถียงกันมามากแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่จะรับรองการรัฐประหารว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไรจึงจะสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ไม่ควรเอาเรื่องตัวบุคคลมาเป็นเกณฑ์อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเสนออยู่ ซึ่งกลายเป็นไม่มีหลัก การแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรจึงจะดี ต้องดูผลที่จะเกิดกับประเทศชาติเป็นส่วนรวม ไม่ใช่ดูที่ว่าจะเป็นผลอย่างไรกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายจาตุรนต์ ยังโพสต์ข้อความต่อว่า ส่วนประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจและสำคัญมากก็คือเรื่องการจะทำประชามติก่อนการลงมติวาระ3หรือไม่ เรื่องนี้จะมีผลอย่างมากต่อวิกฤตประเทศ รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องมีการลงประชามติก่อนที่จะมีการลงมติในวาระที่ 3ฉะนั้นจะลงมติเสียเลยก็ย่อมทำได้ แต่เข้าใจว่ามีความเป็นห่วงว่าถ้าลงมติไปแล้วก็อาจไปสะดุดข้างหน้าอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้ว่าถ้าจะแก้ทั้งฉบับควรลงประชามติเสียก่อน แต่พอจะให้มีการลงประชามติก็มีปัญหาต้องตีความกันมากพอสมควรว่าจะทำอย่างไรและจะมีผลอย่างไรกันแน่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ต้องมีประชามติ ข้อดีอีกอย่างของการลงประชามติคือ การแก้ปัญหาการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการลงประชามติมาก่อนจะนำมาใช้ ถ้าจะแก้กันใหม่มากๆ การมีประชามติก็ดี ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างสภาอยู่ก็กำหนดให้ต้องมีการทำประชามติอยู่แล้ว เพียงแต่ให้ทำในขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าทำก่อนยกร่าง แต่ถ้าจะลงประชามติกันถึง 2 รอบ คือ ทั้งก่อนและหลังการยกร่างโดยสสร.แล้วสังคมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองก็สามารถทำได้เหมือนกัน
นายจาตุรนต์ ยังโพสต์ข้อความอีกว่า แต่ปัญหาสำหรับการลงประชามติเวลานี้คือ จะลงประชามติกันด้วยกติกาอย่างไร ถ้าลงประชามติอย่างที่พูดกันอยู่คือ การทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 จะมีปัญหาอย่างมาก เพราะมีการกำหนดให้ใช้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์กติกาตามมาตรา 165 นี้มีไว้สำหรับขอคำปรึกษาหรือหาข้อยุติในเรื่องต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องมีการลงประชามติ การลงประชามติตามมาตรา 165 เป็นการกำหนดเงื่อนไขให้สูงกว่า ยากกว่าการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มีขึ้นในปี 2550 อย่างมากการกำหนดให้ต้องมีเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เท่ากับบอกว่าผู้ไม่ออกเสียงก็ถือเป็นเสียงค้านด้วย ผู้ที่ค้านก็ไม่ต้องทำอะไร นอกจากอยู่กับบ้านหรือรณรงค์ให้คนอยู่กับบ้าน ภาระก็ตกอยู่กับฝ่ายสนับสนุนที่ต้องหาคนมาให้ได้เกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ ปรกติการจะให้ประชาชนตัดสินเรื่องอะไรควรจะวัดกันที่เสียงข้างมาก ผู้ที่ไม่มาออกเสียงย่อมต้องถือว่ายอมรับผลของการออกเสียง
“การลงประชามติตามมาตรา 165 จึงเป็นการเดินไปสู่ทางตัน คือ ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพราะปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับกติกาว่าด้วยการลงประชามติ แล้วฝ่ายคัดค้านก็จะไปทึกทักเอาว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อไปไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราก็จะเป็นเรื่องยากมาก ผมจึงเห็นว่าไม่ควรจัดให้มีการลงประชามติตามมาตรา 165 เพราะจะเป็นการเดินตามเกมที่ฝ่ายปกป้องรัฐธรรมนูญได้วางหมากไว้ให้เดิน สำเร็จยากมาก หากจะมีการลงประชามติควรต้องใช้กติกาเดียวกันกับการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อปี 50 คือกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเท่านั้นพอจึงจะถูก สำหรับปัญหาที่ต้องตัดสินใจกันในขณะนี้ ผมจึงขอเสนอทางออกเป็น 2 ทางคือ 1. ลงมติวาระ 3 ไปเลยหรือ 2.ลงประชามติตามกติกาเดียวกันกับการลงประชามติในปี 2550” นายจาตุรนต์ ระบุ
มั่วดีจริง ๆ อ๋อย