วันนี้ (24 ธ.ค.) นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า ผลการสำรวจการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในปี 56 พบว่า ผู้ประกอบการ 86.6% เปลี่ยนกลยุทธ์ในการเลื่อนการจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อลดต้นทุนค่าแรง รองลงมา 74.4% เป็นการลดงบประมาณลงทุนระยะยาว, 56.9% ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ, 45.6% ลดจำนวนพนักงาน, 44.4% นำแผนการตลาดและการส่งเสริมการขายมาใช้, 41.1% จ่ายง่ายแบบเหมาช่วง, 39.9% นำเครื่องจักรมาใช้แทนพนักงาน, 38.9% ลดขั้นตอนในการผลิตหรือการทำธุรกิจ, 32.7% ลดสวัสดิการที่ให้กับพนักงาน เป็นต้น
“ในช่วงปี 55 ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีใช้แนวทางการปรับตัวโดยการขึ้นราคาสินค้ามากที่สุด รองลงมาเป็นเลื่อนการจ้างพนักงานเพิ่ม, ลดต้นทุนส่วนอื่น, จ่ายงานแบบเหมาช่วง, ลดสวัสดิการ, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานพนักงาน, นำแผนการตลาดและส่งเสริมการขายมาใช้, ลดจำนวนพนักงาน เป็นต้น แต่ผลที่ได้รับตอบแทนดีที่สุด กลับเป็นเรื่องของการลดต้นทุนด้านอื่นๆ รองลงมาเป็นลดจำนวนพนักงาน , ลดงบประมาณลงทุนระยะยาว, นำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน, ลดสวัสดิการ ส่วนแนวทางการปรับขึ้นราคาสินค้ากลับได้ผลในอันดับท้ายๆ ของมาตรการทั้งหมด เพราะลูกค้าไม่ซื้อสินค้า”
ทั้งนี้เมื่อปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนไม่ได้ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาหลังการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ซึ่งเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องการให้ตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 ปี โดยตั้งเงินรวม 140,000 ล้านบาท หากรัฐบาลใช้แค่มาตรการนี้มาตรการเดียวเชื่อว่าส่วนใหญ่อยู่รอดเกือบหมด โดยงบประมาณกว่า 140,000 ล้านบาท แบ่งเป็นในปี 56 รัฐบาลสมทบ 75% คิดเป็นเงินที่อุดหนุนส่วนต่าง 71,000 ล้านบาท, ในปี 57 รัฐบาลสมทบ 50% เป็นเงิน 48,000 ล้านบาท และ ในปี 58 รัฐบาลสมทบ 25% เป็นเงิน 24,000 ล้านบาท
“มาตรการเยียวยาที่เอสเอ็มอีต้องการมากสุดพบว่า 62.3% ต้องการให้จัดตั้งกองทุนในการชดเชย แม้ใช้งบฯ 140,000 ล้านบาทแต่หากพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจภาพรวมถือว่าคุ้มค่ามากที่รัฐบาลจะอุดหนุน ซึ่งดีกว่าการใช้เงินในโครงการประชานิยมอื่นๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้พบว่า 13.8% ผู้ประกอบการต้องการให้ลดเงินสมทบประกันสังคม, 10.4% ปรับปรุงอัตราการเก็บเงินสมทบสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม เป็นต้น”
http://www.dailynews.co.th/thailand
ชวนให้คิดว่า ลูกจ้างได้ 300 บาท แล้วจริง ๆ เขาน่าจะดีใจกับตัวเลขมากกว่า เพราะมีลดสวัสดิการ กวดขันให้ทำงานคุ้ม 300 ค่าครองชีพสูงขึ้น
ชวนให้คิดว่ามันจะต่างอะไรกับเยียวยาให้กับเสียชีวิตเหตุการณ์ปี 53 เพียงแต่เปลี่ยนศพมาเป็น เอสเอ็มอี แล้วใช้เงินภาษีเข้าไปเคลียร์
หมากนี้เอสเอ็มอี อัตราเสี่ยงต่ำมาก กล้าตายได้แน่ รองลงมาคือแรงงาน แต่ที่เสี่ยงสุด ๆ คือชาวบ้านตาดำ ๆ หรือสาขาอาชีพอื่น ที่ไม่ได้ใช้แรงงานในระบบ 300 บาท และไม่เกี่ยวข้องกับ เอสเอ็มอี ซื้อของแพงขึ้น แถมต้องจ่ายภาษีเลี้ยงอสเอ็มอี
นี่ถ้าสาวกันจริง ๆ ผมว่าคนคิดนโยบาย 300 บาท น่าจะเป็นเจ้ามือไฮโลชั้นเซียน โกงได้เนียนจนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโกง