เชือด4ผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ ตั้งนอมินีบังหน้า
http://www.bangkokbi...ินีบังหน้า.html
ตรวจเตรียมดำเนินคดีผู้ค้าก๊าซแอลพีจี "ผิดประเภท" เหตุราคาส่วนต่างจูงใจ 3.25 บาทต่อกก. เป็นผู้ค้ารายใหญ่ 4 รายจากทั้งหมด 7 ราย พร้อมแจ้งข้อหาโรงบรรจุก๊าซ 51 ราย และ ปั๊มก๊าซ 41 ราย เผย มีรายใหญ่ตั้งนอมินี โกงรัฐ ลักลอบขายให้กับปั๊มกว่า 300 แห่ง เตรียมรวบรวมหลักฐานแจ้งข้อหา ขณะที่กรมธุรกิจพลังงานเตรียมสอบภาคอุตสาหกรรม ชี้ ต้นเหตุโครงสร้างราคาบิดเบือน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ กรมธุรกิจพลังงาน แจ้งข้อกล่าวหาโรงบรรจุก๊าซและปั๊มแอลพีจีเกือบ 100 ราย ลักลอบขายก๊าซ ผิดประเภท โดยลักลอบก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนไปจำหน่าย และพบว่ามีผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ 4 ราย มีส่วนเกี่ยวข้อง
พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการงานปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทั่วประเทศ ตรวจสอบผู้กระทำผิดลักลอบค้าก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนข้ามประเภท พบว่า มีผู้ค้าก๊าซมาตรา 7 หรือผู้ค้าส่งก๊าซแอลพีจีรายใหญ่ จำนวน 4 ราย ที่เข้าข่ายกระทำความผิดลักลอบขายก๊าซ แอลพีจีข้ามประเภท หรือรู้เห็นเป็นใจให้โรงบรรจุก๊าซหุงต้มที่เป็นตัวแทนของบริษัทกระทำความผิด
การตรวจสอบล่าสุด พบหลักฐานการกระทำความผิดของผู้ค้าก๊าซแอลพีจีมาตรา 7 จำนวน 1 ราย ซึ่งได้ตั้งบริษัทนอมินี 5 ราย ตั้งโรงบรรจุก๊าซบังหน้า โดยการไปซื้อโรงบรรจุก๊าซเก่าอำพราง แต่ไม่ได้ดำเนินกิจการ จากนั้นส่งรถบรรทุกก๊าซจากคลังก๊าซแล้วตรงไปขายที่ปั๊มแอลพีจีสำหรับรถยนต์ โดยไม่เข้าโรงบรรจุก๊าซ
"ในเบื้องต้นพบว่าได้มีการลักลอบขายก๊าซ ฯ ให้กับปั๊มแอลพีจี กว่า 300 แห่ง คิดเป็นปริมาณถึง 1.5 หมื่นตันต่อเดือน"
ชี้อัตราขยายตัวผิดปกติ
การลักลอบจำหน่ายก๊าซหุงต้มผิดประเภทมีเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และมีผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันมากขึ้น แต่จากส่วนต่างราคาก๊าซหุงต้มและก๊าซที่ใช้ในภาคขนส่ง ทำให้จูงใจให้เกิดการลักลอบขายก๊าซ จากภาคครัวเรือนไปยังภาคขนส่ง
ก่อนหน้านี้ กรมธุรกิจพลังงานได้แจ้งไปยังงานปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบความผิดปกติของการบรรจุแอลพีจีหุงต้ม เนื่องจากพบว่าการใช้แอลพีจีครัวเรือนขยายตัวผิดปกติถึง 11-12% ติดต่อกันหลายปี จากปกติอัตราการใช้ต้องขยายตัวตามอัตราของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 3-4% ต่อปี
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีเหตุสงสัยการบรรจุแอลพีจีครัวเรือนของโรงบรรจุก๊าซหลายแห่งสูงเกินจริง โดยตั้งแต่ต้นปี 2555 มีการแยกราคาแอลพีจี และทยอยปรับราคาแอลพีจีภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม ขณะที่ยังตรึงราคาแอลพีจีครัวเรือนต่อไป
การแยกราคาดังกล่าวทำให้ราคาแอลพีจีครัวเรือนต่ำกว่าแอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่งกว่า 3 บาทต่อกก. โดยพบว่ามีโรงบรรจุเข้าข่ายต้องสงสัย นำแอลพีจีครัวเรือนไปจำหน่ายให้ภาคขนส่งประมาณ 120 แห่ง จากนั้นกรมธุรกิจพลังงานได้ประสานงานกองปราบฯ เพื่อเข้าตรวจสอบเป็นคดีฉ้อโกง
ทั้งนี้ การปรับราคาแอลพีจีครัวเรือนถูกเลื่อนมาหลายครั้ง ล่าสุด นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมแผนจะปรับราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนขึ้นไปที่ระดับ 24.82 บาทต่อกก. ภายในปี 2556 โดยจะช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ และแผงลอย ให้ได้ใช้ก๊าซในราคาเดิม โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำฐานข้อมูลเพื่อช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเดิมคาดว่าจะเริ่มทยอยปรับราคาในเดือนเม.ย. 2556 ประมาณ 50-75 สตางค์ต่อกก. แต่เนื่องจากจำนวนฐานข้อมูลกลุ่มที่จะช่วยเหลือยังไม่แล้วเสร็จ จึงเลื่อนออกไปเป็นเดือนมิ.ย. 2556
แจ้งข้อหาโรงบรรจุ-ปั๊มเกือบ100ราย
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพราะมีเอกสารที่ต้องตรวจสอบกว่า 1 แสนฉบับ จากนั้นจึงจะสามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นบริษัทใด และส่งหมายเรียกให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งมีโทษเท่ากับโรงบรรจุก๊าซฯ ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"จะดำเนินความผิดแยกย่อยรายกระทง ถ้าลักลอบขาย 1 คันรถ ถือว่าเป็น 1 ครั้ง ทำผิด 100 คันรถ ก็คูณความผิดไปอีก 100 เท่า"
ส่วนการดำเนินคดีผู้กระทำผิดฐานลักลอบค้าก๊าซแอลพีจีข้ามประเภทนั้น ในวันนี้ (16 พ.ค.) ได้เรียกผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีครัวเรือนมารับทราบข้อกล่าวหา โดยเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโรงบรรจุก๊าซฯ เพิ่มจำนวน 30 ราย และเป็นผู้ต้องหาเก่าที่เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาอีก 21 ราย รวมทั้งสิ้น 51 ราย และแจ้งข้อกล่าวหากับปั๊มแอลพีจี อีก 41 ราย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีก 80 คน
อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังไม่เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ก็จะให้เวลาอีกระยะหนึ่ง ถ้ายังไม่เข้ามารายงานตัว ก็จะออกหมายจับต่อไป
มั่นใจเอาผิด4ผู้ค้ารายใหญ่
ด้าน พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน คณะทำงานปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบหลักฐาน มีความมั่นใจว่าจะสืบสาวไปเอาผิดกับผู้ค้ามาตรา 7 ทั้ง 4 รายได้ เพราะว่าเอกสารการขนส่งมีความละเอียดมาก ตรวจสอบได้ชัดเจน และผู้กระทำผิดทำมานานจึงเกิดความชะล่าใจ รวมทั้งตำรวจที่เข้ามาดำเนินคดีนี้ ก็มาจากหน่วยงานตรวจสอบคดีฟอกเงิน และยึดทรัพย์คดียาเสพติด จึงมีความชำนาญในการตรวจสอบหลักฐานทางการเงินสูงมาก
"ผู้ค้ามาตรา 7 ที่ทำผิด ไม่เพียงแต่จะมีโทษเท่ากับโรงบรรจุก๊าซฯ แล้ว ยังมีความผิดเพิ่มในข้อหาอาญาความผิดฐานฉ้อโกง ที่เป็นการฉ้อโกงรัฐในการหลบเลี่ยงส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม โทษฐานฉ้อโกงนี้ หากผู้กระทำผิดนำเงินมาคืนรัฐ ก็ไม่ต้องรับโทษนี้ แต่ยังคงต้องรับโทษ ตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับอยู่"พ.ต.อ.อุเทน กล่าว
เตรียมตรวจสอบภาคอุตสาหกรรม
ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า หากพบว่าผู้ค้ามาตรา 7 มีความผิดจริงก็จะคำนวณยอดเงินตามอัตราที่ต้องส่งเข้ากองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 และให้กองทุนน้ำมันมาเป็นผู้ร้องทุกข์กับตำรวจ รวมทั้งจะต้องสืบสวนต่อไปว่ามีการลักลอบขายไปภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าพบหลักฐานก็ต้องคำนวณเพิ่ม เพราะว่าภาคอุตสาหกรรมต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนมากกว่าภาคขนส่ง
สำหรับผู้ค้าก๊าซแอลพีจี มาตรา 7 ที่ขายก๊าซแอลพีจีครัวเรือน มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย ได้แก่ 1.ปตท. 2.สยามแก๊ส 3.ยูนิคแก๊ส 4.เวิลด์แก๊ส 5.ปิคนิคแก๊ส 6.พีเอพีแก๊ส และ 7.เอ็นเอสแก๊ส โดยในปัจจุบัน แอลพีจีภาคครัวเรือนมีราคา 18.13 บาทต่อกก. รถยนต์ 21.38 บาทต่อกก. และอุตสาหกรรม 29.59 บาทต่อกก.
"หากลักลอบเอาก๊าซฯ จากครัวเรือนไปขายในภาคขนส่ง ก็จะได้กำไรเพิ่มถึง 3.25 บาทต่อกก. และถ้านำไปขายในภาคอุตสาหกรรมก็จะมีกำไรเพิ่มถึง 11.46 บาทต่อกก.จึงเป็นแรงจูงใจให้มีผู้กระทำผิดเป็นจำนวนมาก"
เผยกองทุนเสียหายปีละ2พันล้าน
หลังจากนี้ เป็นกระบวนการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะทำการสืบสวนสอบสวน โดยตรวจสอบเอกสารและสอบปากคำ พร้อมให้โรงบรรจุที่เข้าข่ายต้องสงสัยชี้แจง หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะแจ้งข้อหาคดีฉ้อโกง โดยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งความไว้แล้ว
"หากมีการดำเนินคดีแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ยอดเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของแอลพีจีเพิ่มขึ้นกว่า 200 ล้านบาทต่อเดือน รวมแล้วจะมีเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นเงินที่ต้องสูญเสียไปกับการใช้ก๊าซผิดประเภทก่อนหน้านี้"
หลังเริ่มตรวจพบยอดใช้ก๊าซครัวเรือนลด
นายวีระพล กล่าวว่า จากการที่กระทรวงพลังงาน เข้มงวดในการตรวจสอบรถขนส่งก๊าซแอลพีจี ที่ออกจากคลัง ก็ทำให้ยอดใช้ก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนลดลง จากเดือนม.ค. 2556 มีปริมาณ 8.7 พันตันต่อวัน ลดเหลือ 6.2 พันตันต่อวัน ในเดือนเม.ย. และไปเพิ่มยอดขายในส่วนของภาคขนส่งมากขึ้น จากในเดือนม.ค. 2556 ที่มียอด 2.9 พันตันต่อวัน มาเป็น 5 พันตันต่อวัน ในเดือนเม.ย. 2556 ส่งผลให้ยอดเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของแอลพีจีเพิ่มขึ้นกว่า 200 ล้านบาทต่อเดือน รวมแล้วจะมีเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี
นายวีระพล กล่าวว่า นอกจากคดีฉ้อโกงแล้ว ผู้ประกอบการที่กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. แก้ไข และป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ชี้ต้องแก้โครงสร้างราคา
นายวีระพล กล่าวว่า การลักลอบบรรจุขายข้ามประเภท จากครัวเรือนไปที่สถานีบริการน้ำมันนั้น จะยังไม่หมดไป จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคา เพียงแต่จะเบาบางลงเมื่อทุกฝ่ายเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น
"ปัจจุบัน แอลพีจีภาคครัวเรือนราคา 18.13 บาทต่อกก. รถยนต์ 21.38 บาทต่อกก. และอุตสาหกรรม 29.59 บาทต่อกก. หากลักลอบนำแอลพีจีครัวเรือนไปขายในภาคขนส่ง จะได้กำไรเพิ่ม 3.25 บาทต่อกก. ซึ่งส่วนต่างนี้จูงใจทำให้เกิดการลักลอบ แต่หากทยอยปรับราคาแอลพีจีครัวเรือน จนมีส่วนต่างจากภาคขนส่งต่ำกว่า 1 บาทต่อกก. คาดว่าปัญหานี้จะหมดไป เพราะไม่คุ้มค่ากับการลักลอบจำหน่ายข้ามประเภท"
ชี้ภัตตาคาร-ห้างเข้าข่ายผิดประเภท
นายวีระพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ แอลพีจีครัวเรือนถูกใช้ในอุตสาหกรรมขนาดย่อม อาทิ ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ใช้แอลพีจีครัวเรือนขนาดบรรจุ 48 กก. เพราะว่าได้ราคาเท่ากับแอลพีจีครัวเรือน หากเทียบกับการซื้อตามมาตรฐานแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมจะต้องซื้อที่ 11.46 บาทต่อกก. แต่กรณีนี้เอาผิดได้ยาก
สำหรับการตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายข้ามประเภท จะเข้มงวดต่อไป เนื่องจากกรมฯ ได้วางระบบออนไลน์ให้ผู้ค้ามาตรา 7 และ โรงบรรจุแจ้งปริมาณการขนส่ง เวลาออก และจุดหมายประมาณ 15 นาที หลังมีการขนส่ง โดยระบบออนไลน์ และแสดงผลที่กรมฯ ซึ่งมีทีมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 24 ชั่วโมง จำนวน 6 คน ที่จะคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา หากพบว่าการขนส่งไปถึงเป้าหมายล่าช้าผิดปกติ จะแจ้งไปยังกองปราบให้เข้าตรวจสอบทันที
ส่วนการลักลอบจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายวีระพล กล่าวว่า เป็นอำนาจของหลายหน่วยงาน อาทิ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานงานอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่พบการกระทำผิดเป็นคดีใหญ่ มีเพียงการขนแบบกองทัพมดตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม จะมีการประสานงานให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป
ดูที่นาทีที่ 12:28 ในคลิปนี้ว่าใครลักลอบส่งออก
VIDEO
Edited by Stargate-1, 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 - 07:46.