ข่าวที่ควรจะใหญ่และอยู่ในความสนใจของประชาชน แต่กลายเป็นข่าวเล็กนิดเดียวจนน่าใจหาย ทั้ง ๆ ที่การแต่งตั้งคณะกรรมการคดีพิเศษที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งจะคลอดเป็นมติครม.ออกมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.55 นั้น มีความชัดเจนอย่างยิ่งว่า
ต่อจากนี้ไปคดีใดจะเป็นคดีพิเศษสั่งได้จากการเมือง เพราะกรรมการที่ควรจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเป็นกลาง กลับพบว่ารายชื่อส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่ระบอบทักษิณ เคยใช้บริการแทบทั้งสิ้น
รายชื่อคณะกรรมการคดีพิเศษ 9 คน ประกอบด้วย 1. นายไกรสร บารมีอวยชัย 2. นายชัยเกษม นิติสิริ 3. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ 4. นายประดิษฐ์ เอกมณี 5. รองศาสตราจารย์ มนตรี โสคติยานุรักษ์ 6. นายมหิดล จันทรางกูร 7. นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช 8. พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว 9.นายอนุพร อรุณรัตน์
โดยในจำนวน 9 คนนี้ มี ถึง 7 คนที่ใกล้ชิดกับระบอบทักษิณ !
ไกรสร บารมีอวยชัย เรียน วปรอ.4414 ซึ่งเป็นรุ่นที่ถือได้ว่าร้อนแรงที่สุดใน “ยุคทักษิณ” เนื่องจากนักศึกษาของ วปรอ.รุ่นนี้ เนื่องจากรุ่นนี้มีชื่อของ บุญคลี ปลั่งศิริ อดีตผู้บริหารบ.ชินคอร์ปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษหนีคดีไว้วางใจ รวมอยู่ด้วย และยังมีพล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ อดีตผบ.ทร. พล.ร.อ.วิชัย ยุวนางกูร อดีตรอง ผบ.ทร.พล.อ.พรชัย กรานเลิศ อดีตผช.ผบ.ทบ.เตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักศึกษาร่วมรุ่นด้วยเช่นเดียวกัน
ชัยเกษม นิติศิริ สมัยเป็นรองอัยการสูงสุดเป็นคณะอนุญาโตตุลาการฯ ที่ตัดสินให้มีการลดค่าสัปทานไอทีวี ในขณะเป็นอัยการสูงสุด ถูกชี้มูลความผิดจากคตส.ในกรณีทุจริตการจัดซื้อเครื่องCTX เเละ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 55 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มีมติเเต่งตั้งให้เป็นประธานก.ล.ต.
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความ ประจำสำนักงานกฎหมายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนาย พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ในคดีที่ดินรัชดา นอกจากนี้นายนรินท์พงศ์ ยังทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับกลุ่มคนเสื้อเเดงด้วย
ประดิษฐ์ เอกมณี อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้มีการลดค่าสัปทานไอทีวี สมัยชินคอร์ปถือหุ้นใหญ่ มหิดล จันทรางกูร อดีตผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ ในรัฐบาลทักษิณ 2
น.พ.เรวัติ วิศรุตเวช เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” และในสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ได้เเต่งตั้งโยกย้ายจาก ผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต.ค.52 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติปลด พล.ต.ท.สุชาติออกจากราชการ จากกรณี 7 ตุลา 51ซึ่งเป็นผลมาจากการชี้มูลของ ป.ป.ช. และยังอยู่ระหว่างรอการตัดสินคดีของศาล
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลอย่างยิ่งต่อการพิจารณาคดีใดเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษตามกฎหมายจะมีทั้งสิ้น 21 คน ประกอบด้วย
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ และให้มี ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 9 คน โดยในจำนวนนี้ต้องมีบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศหรือกฎหมาย อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการ
การเปลี่ยนแปลงโดยนำคนของการเมืองเข้าไปจำนวนมากในครั้งนี้ จึงอาจถือได้ว่าเป็นการจัดทัพเพื่อล้างกระดานบอร์ดชุดเก่าที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน
ทื่มา :: http://www.manager.co.th
สิ่งที่ต้องจับตาคือในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันให้ที่ประชุมรับคดีขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นคดีพิเศษ ตามข้อเสนอของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แต่ที่ประชุมมีความเห็นขัดแย้งกันจนยังไม่มีการลงมติรับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ ตามที่พรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือ ที่จะขยายผลคดีนี้ ทำลายความน่าเชื่อถือของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. เนื่องจากใกล้จะถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ใหม่ในปี 2556
ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงกรรมการคดีพิเศษในครั้งนี้ ย่อมมีผลต่อการลงมติรับหรือไม่รับคดีอาญาทั่วไปเป็นคดีพิเศษ ซึ่งต้องได้รับมติ 2 ใน 3 ของบอร์ด 21 คน กล่าวคือจะต้องได้คะแนน 16 เสียงขึ้นไป เมื่อรวมเสียงของฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐบาลแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไป จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาคะแนน 16 เสียง มารับให้คดีขยายสัมปทาน บีทีเอสเป็นคดีพิเศษ หลังจากยืดเยื้อมาหลายเดือน
ไม่เพียงแต่คดีขยายสัมปทานบีทีเอส เท่านั้น แต่รายการเช็คบิลพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีคดีเงินบริจาคบ.อีสวอเตอร์ช่วยน้ำท่วมผ่านบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี อีกคดีหนึ่งที่ถูกยัดให้ดีเอสไอเข้ามาเป็นเจ้าภาพดำเนินคดี และมีความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นคดีพิเศษด้วยเช่นเดียวกัน
ปรากฏการณ์อันธพาลครองเมืองใช้อำนาจรัฐกวาดล้างศัตรู กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ไม่แตกต่างจากยุคที่ระบอบทักษิณเรืองอำนาจ ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่เพียงแต่ พรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นเป้าใหญ่เท่านั้น แต่ทุกคนที่ไม่ยอมสยบให้นักโทษชายทักษิณ มีสิทธิถูกกำจัดโดยอำนาจรัฐผ่านคณะกรรมการคดีพิเศษ และ ดีเอสไอ
ไม่แตกต่างจากที่ นักโทษชายทักษิณ เคยใช้ ป.ป.ง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินคนทุกสาขาอาชีพที่ไม่ก้มหัวให้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง แม่ถ้วน หลีกภัย แม่ค้าพุงปลา !