หุๆๆ... แวว "ไวท์ลาย" ออกแล้ว...
ตอกย้ำประชานิยมเหลว 'เผดิมชัย'..แจ้นถก'โต้ง' 7จว.เลิกจ้างแล้ว1.7พัน รับเองมี.ค.จะยิ่งเห็นชัด
ตอกย้ำผลกระทบปชช.จากประชานิยมค่าแรง 300 บาท "เผดิมชัย"แจ้นถก"กิตติรัตน์"หาทางช่วยSME ยอมรับเอง 7 จังหวัดแรงงานถูกเลิกจ้างแล้ว 1.7 พันคนด้านจ.สระแก้วได้รับผลกระทบแล้ว คนถูกเลิกจ้างเกือบ 700 คน
วันที่ 3 ม.ค.2556 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัดว่า จากข้อมูลล่าสุดของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)นั้น มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัด ซึ่งเริ่มปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 จำนวน 5 แห่ง เลิกจ้างแรงงานกว่า 1,700 คน ขณะนี้ตัวเลขแรงงานถูกเลิกจ้างเพราะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างยังไม่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคมนี้
"ตนได้สั่งการให้กสร.ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีใน 29 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด เช่น พะเยา น่าน ศรีสะเกษ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ขยายเวลาการใช้ 11 มาตรการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน การปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องออกไปอีก 1 ปีตลอดปี 2556 ขณะเดียวกันคณะกรรมการพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัดเตรียมเสนอรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติมอีกหลายมาตรการ เช่น การลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรมหรือที่พักแรมที่เป็นเอสเอ็มอี การปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ โดยตนจะหารือนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการฯเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีในวันที่ 4 มกราคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนมกราคมนี้"นายเผดิมชัยกล่าว
นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาในไทยเพื่อหวังจะได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทนั้น หากแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ถูกตำรวจจับกุมจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศเพราะเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะไม่มีการผ่อนผันใดๆ หากสถานประกอบการต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ก็ขอให้ยื่นขอโควตานำเข้าผ่านระบบเอ็มโอยูต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อให้การจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย
ค่าแรง 300 บาท ส่งผล"สระแก้ว"เลิกจ้างแล้วเกือบ 700 คน
นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานประกอบการบางแห่งเริ่มได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาทแล้ว ซึ่งบางแห่งได้หาทางออกอื่นๆแทน เช่น ดูแลสวัสดิการครอบครัว เลี้ยงอาหารในเวลาปฏิบัติงาน แต่ถ้าแจ้งมาก็อาจต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพูดคุยกันก่อนว่าพอที่จะหาทางออกอย่างไรได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอให้รัฐบาล เท่าที่ทราบมาพบว่าโรงงานบางแห่งก็เปลี่ยนรูปแบบการทำงานในโรงงานไปเป็นการจ้างแรงงานตามบ้านทำ ซึ่งตรงนี้ทำให้รัฐบาลเสียประโยชน์ไม่ได้ภาษีจากโรงงาน
"ส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะทะลักเข้ามา จังหวัดได้ประสานไปยังกองทัพเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยขอให้แยกแรงงานออกเป็น 2 ส่วน คือแรงงานถูกกฏหมายกับแรงงานชั่วคราวรายวัน เช้าไป-เย็นกลับ หรือ 2-3 วันกลับ เพื่อผู้ประกอบการจะได้ไม่ขาดแรงงาน แล้วจะได้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้อง"ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าว
ด้านนายกรุณา แก้วน้อย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ประกอบกับนโยบายรัฐบาลขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ได้ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการระดับเล็กและระดับกลางในจังหวัดสระแก้วบางส่วนแล้ว ข้อมูลเมื่อ 3 ม.ค.พบว่ามีสถานประกอบการขนาดกลางที่ประกอบธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก อยู่อ.เมืองสระแก้ว ได้ปิดกิจการลง ส่งผลให้เลิกจ้างแรงงาน 471 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโรงงานระดับเล็ก ประกอบธุรกิจประกอบชิ้นส่วนสายไฟรถยนต์ อยู่ อ.วัฒนานคร เลิกจ้างแรงงานบางส่วน จำนวน 207 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 3.5 ล้านบาท แล้วยังมีสถานประกอบการขนาดเล็กมีแนวโน้มจะเลิกจ้างแรงงานอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ อ.วัฒนานคร
สรุปแล้วขณะนี้เลิกจ้างแรงงานไปแล้ว 691 คน เนื่องจากสถานประกอบการในจังหวัดสระแก้ว ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งอาจมีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานสูง ในส่วนของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้ติดตามสถานการณ์ จากการตรวจแรงงานและคำร้องที่พนักงานมาร้องเรียน ก่อนที่จะลงไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีเจ้าของสถานประกอบการบางแห่งมาปรึกษาหาทางออก เพื่อให้สถานประกอบการอยู่ได้ แรงงานมีงานทำ โดยจะลดเวลาในการทำงานลง จาก 6 วันต่อสัปดาห์เหลือ 5 วัน โดยใช้แรงงานสัมพันธ์คุยกันแบบเปิดใจระหว่างเจ้าของกับลูกจ้าง ถ้าตกลงกันได้ก็ไม่มีปัญหา ในส่วนมาตรการของกระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน (ผลกระทบจาก 300บาท) โดยจัดหางานจังหวัดจะได้ให้คำปรึกษาในการหางานทำให้ใหม่ ประกันสังคมก็จะจ่ายเบี้ยว่างงานให้ ในส่วนของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานก็จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานใหม่"นายกรุณา กล่าว
อุตสาหกรรมเซรามิคลำปาง หันจ้างแรงงานแบบเหมาแทนรายวัน
นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า หลังนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทของรัฐบาลมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการได้ปรับค่าจ้างเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลแล้ว แม้ว่าจะเป็นภาระหนักเพราะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากรัฐบาลก็ยังไม่มีความชัดเจน ผู้ประกอบการหลายรายที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ได้หาวิธีบรรเทาผลกระทบเพื่อเริ่มปรับตัวรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน จากเดิมจ้างรายวัน เป็นจ้างเหมาแทน
นายอธิภูมิ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าการจ้างเงินค่าจ้างเพิ่มให้แก่ลูกจ้างเป็นวันละ 300 บาท แต่คุณภาพหรือปริมาณของงานยังเท่าเดิม จึงเปลี่ยนมาเป็นวิธีการจ้างเหมาซึ่งได้คุณภาพและปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซรามิก เคยจ้างเป็นรายวัน ก็เปลี่ยนมาจ้างเหมาเป็นรายชิ้นแทน เช่น งานขึ้นรูปถ้วย ชาม ฯลฯ จะจ้างเหมาขึ้นรูป 40 - 50 ชิ้นต่อ 100 บาท เพราะเป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยความละเอียด งานจัดเรียงสินค้าในเคมเผาจ้างเหมาวันละ 300 บาท งานเพ้นส์ลายเซรามิก จ่ายเหมาตามความยาก-ง่ายของลาย
"การหันมาจ้างเหมาแทนการจ้างรายวัน ซึ่งต้องจ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมเซรามิกเป็นกิจการที่อาศัยแรงงานคนเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันจังหวัดลำปางมีโรงงานเซรามิกทั้งใหญ่จนถึงรายย่อยรวมกันไม่ต่ำกว่า 200 โรงงาน หากต้องจ่ายค่าจ้าง 300 บาท อาจได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นปิดโรงงานได้"นายอธิภูมิ กล่าว
นายณรงค์ ธรรมจารี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดลำพูน กล่าวว่า วันนี้หอการค้าฯจะประชุมหารือกันระหว่างผู้ประกอบการ และเชิญจัดหางานจังหวัดลำพูนมาให้ข้อมูลเรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับลูกจ้างชาวต่างด้าว เพราะหลังนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการในจังหวัดลำพูนที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการนอกนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ต้องปรับเปลี่ยนตารางการทำงานของแรงงานต่างด้าว จากเดิมให้ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ก็ลดเหลือ 4 วันส่วนอีก 3 วันให้หยุดงาน เพราะไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง 300 บาทได้จึงต้องลดวันทำงานลง แต่ผู้ประกอบการยังต้องรับภาระจ่ายเงินสมทบประกันสังคมตามกฎหมายให้กับแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาขึ้นเพราะในวันที่แรงงานเหล่านี้เหยุดงานก็ออกไปรับจ้างนอกสถานประกอบการแทน บางรายเกิดปัญหาถูกจับกุม ฯลฯ จนผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการในจังหวัดลำพูนมีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน เพราะแรงงานคนไทยในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเข้าไปทำงานกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดจึงขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวแทน
"ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลายรายที่เคยวางแผนจะขยายฐานก็ผลิตก็ต้องทบทวนแผนใหม่ไม่ลงทุนเพิ่ม พยายามประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดยอมรับว่าบางรายประสบปัญหามากเพราะการแข่งขันในตลาดที่สูงอยู่แล้ว เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องประสบกับความยากลำบากในการทำธุรกิจมากขึ้น นอกจากผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ได้รับความเดือดร้อน นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือหลายราย เช่น ผู้ผลิตจิวเวอรี่ ได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนามตั้งแต่ปีก่อนที่รัฐบาลส่งสัญญาณการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ"นายณรงค์ กล่าว
อุตสาหกรรมกรุงเก่า หวั่นคนงานนับหมื่นตกงาน
นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารและผู้ประกอบการโรงงานต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดฯ พบว่าสามารถรับสภาพการที่ต้องปรับค่าแรงให้กับพนักงานเป็น 300 บาทได้ แต่สิ่งที่จะตามมาคือเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการเปรียบเทียบระหว่างพนักงานเก่า กับพนักงานที่เพิ่งเข้าทำงานใหม่ แม้ว่าพนักงานเก่าจะมีค่าแรงที่สูงกว่า แต่ก็ไม่มากกว่าคนใหม่ที่จะมีการปรับค่าแรง ทำให้หลายบริษัทก็เกรงปัญหาการรวมตัวของพนักงานเก่าที่เห็นว่าพวกเขาทำงานมานานกว่าหลายปี และยังมีความชำนาญมากกว่า แต่พนักงานใหม่กลับมีค่าแรงที่ไล่กันมาเกือบเท่ากับพนักงานเก่า และส่วนใหญ่ขณะนี้มีรายงานว่ากำลังจะเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่รับพนักงานเข้ามา เพื่อทำงานส่งให้กับโรงงานอีกทอด หรือที่เรียกว่าซัพคอนแทค ซึ่งผู้ประกอบการที่มีคนงานอยี่ประมาณ 50-100 กว่าคนอาจจะมีปัญหา หากไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ก็อาจจะต้องปิดตัวลง โดยการประมาณการมีคนงานที่อยู่กับผู้ประกอบการรายย่อยหรือซัพคอนแท็คประมาณ 1 หมื่นกว่าคน และมีเป็นกลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงขณะนี้ ส่วนพนักงานประจำตามโรงงานในพื้นที่มีอยู่ 2 แสนกว่าคน คาดว่าไม่กระทบ
2โรงงานตัดเย็บบุรีรัมย์ ไล่ 120คนงานออกพิษค่าแรง 300 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท นางรองแอพพาเรล จำกัด ตั้งอยู่ถนนสายโชคชัย - เดชอุดม ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และบริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือตัดเย็บเสื้อผ้า ได้เลิกจ้างพนักงานแล้วจำนวน 120 คน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต จากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท นอกจากนี้ยังมีแรงงานตามสถานประกอบการต่างๆ ในเขตพื้นที่จังหวัด ที่ลาออกจากงานด้วยเหตุส่วนตัวอีกจำนวน 275 คนด้วย ซึ่งขณะนี้แรงงานกลุ่มดังกล่าวก็ได้ทยอยเข้ามายื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนหรือเงินประกันการว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดแล้วอย่างต่อเนื่อง
ด้านนางนาตญา แสงสกุล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า หลังจากได้มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ก็ได้มีโรงงานตัดเย็บ 2 แห่ง ได้แจ้งขอเลิกจ้างแรงงานไปแล้วจำนวน 120 คน และคาดการณ์ว่าอาจจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกรณีดังกล่าวทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด ก็ได้ประสานกับสถานประกอบการทั้งในและต่างจังหวัด เพื่อจัดหาตำแหน่งงานว่างไว้รองรับช่วยเหลือผู้ว่างงานร่วม 10,000 อัตรา พร้อมทั้งยังจะมีการจัดนัดพบแรงงาน เพื่อช่วยเหลือแรงงานในอีกทางหนึ่งด้วย
"รองประธานสอท."ยันขึ้นค่าแรง 300 เอสเอ็มอีต่างจังหวัดกระทบหนัก เม.ย.เห็นผลเลิกกิจการชัด
นายทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดูแลรับผิดชอบภาคใต้ เผยว่า ในปีนี้ผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี โดยเฉพาะที่อยู่ต่างจังหวัดจะอยู่ลำบาก เพราะปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างแพงขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องขึ้นค่าแรง 300 บาท
"ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กสายป่านสั้นเริ่มมีปัญหาแล้ว แต่ในพื้นที่ภาคใต้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีล้มหายตายจากไปแล้วกี่ราย ตนคาดว่าภายในเมษายนปีนี้จะเห็นผลชัดเจน แม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆก็จะเดือดร้อนไปตามๆกัน"นายทวีกล่าว
นายทวี กล่าวว่า บริษัทใหญ่ๆหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ควบคุมต้นทุนให้ต่ำลง แต่บรรดาเอสเอ็มอีรายเล็กส่วนใหญ่จะปรับตัวไม่ทัน โดยรัฐบาลต้องหาทางช่วยก่อนจะล้มหายตายจากไปไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนที่อยู่ต้องเป็นของจริงเท่านั้นและต้องหาวิธีปรับตัวด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างจริงจัง เช่นจากที่เคยจ้าง 10 คนอาจลดคนเหลือ 8 คน โดยให้มีขีดความสามารถเท่ากับ 10 คนเพื่อให้ได้ผลิตผลและต้นทุนที่เท่าเดิม
“กิตติรัตน์”ยังแถขึ้นค่าแรง 300บาท ไม่มีนายจ้างปิดตัว นำข้อเสนอช่วยเหลือเข้าครม. 8 ม.ค.นี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ เนื่องจากรัฐบาลได้มีการหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าแล้ว และการเพิ่มขึ้นของค่าแรงค่าจ้างทั่วประเทศไม่ใช่เป็นประเด็นใหม่ เพราะเป็นมติของคณะกรรมการไตรภาคีในเรื่องของค่าจ้างมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วๆ ดังนั้นภาคเอกชนคงมีการเตรียมการกันแล้ว ทั้งนี้การปรับค่าจ้าง ใน 7 จังหวัดนำร่องที่ขึ้น 300บาท ได้เกิดขึ้นในช่วงเม.ย.ปีที่แล้ว และเห็นได้ชัดว่าการดำเนินการตรงนั้นเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อยและไม่ได้เกิดปัญหาการตกงานหรือปิดกิจการ แต่ขณะเดียวกันหลายบริษัทมียอดขายที่ดีขึ้นเพราะกำลังซื้อที่ดีขึ้น รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องนี้ก็มีมาตรการต่างๆทั้งจากภาครัฐและสถาบันการเงินมาร่วมด้วย ทั้งในส่วนของการลดต้นทุนรายจ่ายของผู้ประกอบการ หรือในส่วนของการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และการเพิ่มศักยภาพประสิทธิภาพการผลิตให้ผู้ประกอบการ
รมว.คลัง กล่าวว่า ในการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 8 ม.ค.จะมีการนำมาตรการที่ภาคเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณา ซึ่งจะมีมากกว่า10มาตรการ และเชื่อว่าข้อเสนอส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อเสนอที่จะได้รับความเห็นชอบจากครม. และจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวในช่วงนี้ได้
http://thaiinsider.i...omy/21134--717-