Posted by ตาหนุ่ม
http://www.oknation....3/01/10/entry-1
ช่วงนี้ข่าว คราวผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ของรัฐบาลนี้ ปูดออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำเดิมไม่สูงมาก เช่น โรงงานสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ เพราะโรงงานเหล่านี้ จำเป็ฯต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก จึงใช้ข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศอื่น สร้างข้อได้เปรียบด้านต้นทุนและราคาขายที่ต่ำกว่าคู่แข่งมาตลอดนับสิบปี แต่เมื่อค่าแรงปรับขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างรวดเร็ว 40 – 80% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนประกอบการสูงกระโดดตามไปด้วย
ในขณะที่ การแข่งขันในตลาดเข้มข้นขึ้น สินค้าราคาถูกจากประเทศจีนออกมาตีตลาดทั่วโลก ทำให้ยอดขายหลายๆ บริษัทลดลง ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการแล้ว การปรับขนาดกิจการเพื่อปรับตัวให้อยู่รอด หรือหยุดกิจการเพื่อหยุดการขาดทุน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วในยามนี้ แต่ในทางกลับกันมันก็ไม่ใช่ทางออกที่ถูกใจลูกจ้างหรือพนักงาน ผลที่ได้จึงกลายเป็นความร้าวฉานระหว่างผู้ประกอบการและกลุ่มลูกจ้างผู้ใช้ แรงงานที่เคยช่วยเหลืออุ้มชูกันมานานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมเชื่อว่า หากนักการเมืองซีกรัฐบาลหรือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงานหลายๆ ท่านมาอ่านบทความนี้คงจะไม่ชอบใจในสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้นัก เพราะท่านทั้งหลายยังคงเชื่อฝังใจว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้ ปรับไม่เท่าไหร่ อย่างกรุงเทพฯ ปรับ จาก 215 บาท ไปเป็น 300 บาท เพิ่มเพียง 85 บาทเอง หรืออย่างจังหวัดพิจิตร ก็เพิ่มจาก 163 บาท/วัน ในปี 2554 เป็น เป็น 300 บาทในปีนี้ สุทธิเพิ่มขึ้น 137 บาทต่อหัวท่านั้น นับว่าเพิ่มไม่มาก
ใช่สิครับ ! ถ้าคนเดียวก็คงไม่มาก แต่โรงงานเหล่านี้มีลูกจ้างแค่คนเดียวเองหรือ ? ลองคิดตามนะครับ สมมุติว่าโรงงานรองเท้าแห่งหนึ่งมีพนักงาน 100 คน เดิมจ่ายค่าแรงให้พนักงานคนละ 220 บาทต่อวัน ต่อมาเพิ่มค่าแรงพนักงานคนละ 80 บาทต่อวัน เพื่อให้ได้ 300 บาทต่อวัน ดังนั้น 1 เดือนทำงาน 22 วัน ก็ 1,760 บาทต่อคน หรือจ่ายเพิ่ม 176,000 บาทต่อเดือน สำหรับพนักงานทั้งหมด
หากทำการผลิตนอกเวลาการทำงานปกติหรือทำโอทีอีกวันละ 4 ชั่วโมง โอทีที่ต้องจ่ายเพิ่มจะตกประมาณ 60 บาท ต่อคนต่อวัน หรือ 1,320 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 132,000 บาทต่อเดือนสำหรับพนักงานทั้งหมด รวมค่าแรงกับโอทีที่จะต้องจ่ายเพิ่มก็ 308,000 บาท ต่อเดือน !
นี่หากไม่นับต้นทุนวัสดุต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเป็นลูกโซ่ด้วย อย่าว่าแต่กำไรจะลดลงเลยเลย บางทีอาจขาดทุนด้วยซ้ำครับ
หันมามองมาตรการช่วยเหลือที่ประกาศออกมาในช่วงนี้กันบ้าง บอกได้เลยว่าดูดีมาก แต่แทบไร้ประโยชน์ ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น หรือสร้างแรงฮึดให้ผู้ประกอบการสู้ต่อได้เลย มาตรการล่าสุด อย่างเรื่องภาษีธุรกิจขนาดย่อม ผมดูแล้วก็อึ้ง เพราะ...
- ให้เฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ด้วยขนาดทุนจดทะเบียนไม่เกินนี้ จะมีการจ้างงานกันสักเท่าใดครับ ครอบคลุมแรงงานที่ได้รับผลกระทบไม่มาก
- ด้วยค่าแรงและต้นทุนต่างๆ ที่พุ่งสูงขึ้นทำให้กิจการมีกำไร(ก่อนเสียภาษี)น้อยลงอยู่แล้ว เมื่อมีกำไรน้อยก็จ่ายภาษีน้อยลงอยู่แล้ว ส่วนที่จะจ่ายน้อยลงจากมาตรการนี้จึงไม่จูงใจ หากไม่เชื่อลองไปถามผู้ประกอบการตัวจริงได้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ประกาศอัตราลดลงนี้ จะคำนวณจ่ายหลังหลังปิดงบการเงิน ซึ่งโดยมากก็จะปิดงบการเงินกันเดือนธันวาคม และคำนวณจ่ายภาษีส่วนนี้ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคมในปีถัดไป ไม่มีผลในปีนี้ครับ
- ธุรกิจบริการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพกร แล้วนำตัวเลขภาษีดังกล่าวมารวมและหักออกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลหลังปิดงบ การเงิน ซึ่งก็แปลว่าทยอยจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลล่วงหน้าในทุกเดือนอยู่แล้ว
- แม้กฎหมายจะให้โอกาสธุรกิจที่จ่ายภาษีมากกว่าที่ควรจ่าย ทำเรื่องขอคืนภาษีส่วนที่จ่ายเกินไปแล้วจากกรมสรรพากรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วยากครับที่จะได้คืน
เฮ้อ... ถ้าคนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็น "ผู้นำ" รู้จัก คิด (ดีๆ) รู้จักฟังเสียง(ดีๆ) ทักท้วงบ้าง คงไม่เกิดความเสียหายและความร้าวฉาน รวมทั้งต้องมาหาทางแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันเช่นนี้
ต่างคนคิดต่างคนทำระกำจิต
ช่วยกันคิดช่วยกันทำดีกว่าไหม
ช่วยกันทำเพื่อประเทศชาติของไทย
เลิกทำให้ผลประโยชน์ส่วนตนเอย
ปล. ถ้าตัวผม หรือบล็อกนี้ หรือเอ็นทรี่นี้ถูกอุ้มหายไป แสดงว่ากำลังอินเทรนด์เช่นเดียวกับภาพยนตร์ “เหนือเมฆ 2” ครับ
*****************************************************************************
ด้วยข้อมูลละเอียดของบล็อกเกอร์ท่านนี้ ผมว่าคนกลางแถไม่ได้
เพราะดีแต่กระแนะกระแหนพวกค้าน 300 บาท แล้วอวดศักดาอีกว่า "พวกคุณไม่รู้หรอกว่าผมทำงานอะไร?"
แต่พอถามว่า ที่เธอว์เถียงเจ้าของกิจการฉอดๆขนาดนี้ ชีวิตจริงทำงานอะไรล่ะ?
กลับไม่ตอบ
ผมเลยเอาข้อมูลนี้มาให้อ่านกันครับ เผื่อเสื้อแดงกับกลางกลวงจะได้มาโต้ตอบบ้าง