ตอบ 11 มกราคม พ.ศ. 2556 - 20:30
“ สิทธิมนุษยชน จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ”
โลกของเราประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาศัยอยู่ และยังมีสรรพสิ่งต่างๆที่คอยอำนวย หรือเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเหล่านั้น ในโลกเรามีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีสมองสติปัญญาสูงกว่าและมีสรีระร่างกายที่เกื้อหนุน อำนวยให้สามารถกระทำการต่างๆได้ดีกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นก็คือ “มนุษย์”
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มีอยู่ในโลกล้วนต้องอาศัยปัจจัยต่างๆในการดำรงชีวิต เช่นป่าไม้ ลำธาร แม่น้ำ สภาพภูมิประเทศ สภาพลมฟ้าอากาศ อีกทั้งยังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิตให้อยู่รอด สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนมีสิทธิ,เสรีภาพและอิสรภาพ หรือล้วนมีความสามารถในการกระทำ หรือดำเนินการหรือประกอบกิจกรรมใดใดโดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง ด้วยตัวของตัวเองโดยมิได้ถูกบังคับ กดขี่จากผู้อื่น ในการใช้หรือแสวงหาทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อย่างเท่าเทียมกัน แต่ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มีอยู่เหล่านั้น เมื่อมีการรวมกลุ่มหรือบ้างล้วนต้องอาศัยกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ย่อมต้องมีการแย่งชิง แย่งความครอบครอง บ้างก็ใช้ น้ำ, ดิน, สภาพภูมิอากาศ, สภาพภูมิประเทศ, ป่าไม้, เป็นแหล่งหาอาหาร บ้างก็ใช้สิ่งมีชีวิตด้วยกันเป็นอาหาร อันเป็นระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ อีกประการหนึ่งตามธรรมดาของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ล้วนมีอำนาจ คือมีความสามารถในการกระทำหรือดำเนินการหรือประกอบกิจกรรมใดใดได้โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง ด้วยตัวของตัวเอง โดยมิได้ถูกบังคับกดขี่จากผู้อื่น หรือมีสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพ ในการใช้หรือแสวงหาทรัพยากรต่างๆในธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ซึ่งล้วนขึ้นอยู่กับสภาพความต้องการของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด และขึ้นอยู่กับกลุ่มหรือชุมชนของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นว่า จะสามารถแสวงหา ครอบครอง หรือมีความสามารถที่จะใช้ทรัพยากรอันเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ได้กี่มากน้อย
“มนุษย์” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการสังคมเป็นอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นชุมชนมานานหลายพันปี ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ล้วนต้องมีการแสวงหา ครอบครอง และใช้ทรัพยากรอันเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ปัจจัยในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์มีอยู่ ๔ ประการคือ อาหาร,เครื่องนุ่งห่ม,ที่อยู่อาศัย,และยารักษาโรค ปัจจัยพื้นฐานที่ได้กล่าวไปย่อมเป็นที่ต้องการของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย สิทธิ,เสรีภาพและอิสรภาพหรือการกระทำ หรือความสามารถในการแสวงหาปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือความสามารถในตัวมนุษย์อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่ง เช่น ความขยัน,ความมีความรู้,ความมีกำลังกายกำลังใจ,รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องมือ และพื้นที่หรือถิ่นหรือแหล่งหรือที่ทำกิน ที่จะช่วยทำให้สามารถสรรหาหรือสร้างหรือดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยพื้นฐาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับใช้ในการดำรงชีวิตของตนได้อย่างสะดวกสบาย อีกประการหนี่งมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นชุมชน ดังนั้นในกลุ่มในชุมชนของมนุษย์ ย่อมต้องมีความต้องการทรัพยากรที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการครอบครอง หรือแสวงหาหรือใช้ปัจจัยและทรัพยากรต่างๆ สาเหตุก็เพราะดังที่ได้กล่าวไป อันเกี่ยวข้องกับปัจจัยและความสามารถต่างๆในตัวมนุษย์ ซึ่งก็ล้วนเป็นเสมือนเครื่องมือชนิดหนึ่งในการที่จะใช้สำหรับการเสาะแสวงหาหรือดำเนินกิจกรรม เพื่อให้ได้ปัจจัยในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการบริโภคและครอบครองที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติของมนุษย์
เมื่อมนุษย์มีการรวมกลุ่มกันมากขึ้นกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็น หมู่บ้าน ตำบล เมือง จังหวัด ประเทศ หรือมีชื่อเรียกชุมชนที่ใหญ่ขึ้นนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ภาษาของแต่ละภาค,แต่ละประเทศ,แต่ละทวีป และในแต่ละชุมชนต่างๆเหล่านั้น ก็ย่อมมีกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ตามแต่ผู้มีอำนาจหรือผู้มีกำลังมาก จะกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้ในการปกครองหรือเพื่อใช้ในการสังคมเป็นอยู่ร่วมกัน บ้างก็จำกัดสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพ,แบ่งชนชั้น,บ้างก็มีสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพ ตามแต่ผู้มีอำนาจหรือผู้มีกำลังจะแบ่งปันให้ ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญทั้งในด้านวัตถุ ในด้านจิตใจ ในด้านวิชาการความรู้ สิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพต่างๆของแต่ละบุคคลก็มีมากขึ้น โดยมีระบอบการปกครองในแต่ละชุมชนในแต่ละประเทศเป็นปัจจัยหรือเป็นตัวกำหนดในสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพอันพึงมีพึงได้ของมนุษย์ ที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองของประเทศนั้นๆ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ณ.ประเทศฝรั่งเศล องค์การสหประชาชาติก็ได้มีการลงมติรับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเซีย ที่ยอมรับ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หมายถึง “การให้คำมั่นสัญญาหรือการแสดงยืนยันโดยถือเอาความสุจริตใจ ในอันที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการกระทำหรือสามารถกระทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างมี เสรีภาพ,อิสรภาพ โดยไม่ละเมิดเสรีภาพ,อิสรภาพของผู้อื่น” หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง “ การให้คำมั่นสัญญาหรือการแสดงยืนยันโดยถือเอาความสุจริตใจ ในอันที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการกระทำ หรือสามารถกระทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างไม่มีอุปสรรคขัดขวาง ด้วยตัวของตัวเอง โดยมิได้ถูกบังคับกดขี่ จากผู้อื่น และไม่เป็นการล่วงเกินหรือฝ่าฝืน จารีตประเพณี,วัฒนธรรมหรือกฎหมาย ในการกระทำหรือความสามารถกระทำกิจกรรมต่างๆของผู้อื่น” ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกันอย่างมีเสรีภาพ,อิสรภาพ ในการกระทำหรือสามารถกระทำอย่างเท่าเทียมกัน ในด้านการดำรงชีวิตและครอบครัว, ในด้านสังคม, ในด้านเศรษฐกิจ, ในด้านการเมือง, ในด้านกฎหมาย, ในด้านการศึกษา, ในด้านศาสนา, ในด้านการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ หรือจะกล่าวอีกรูปแบบหนี่งก็คือ ความเท่าเทียมกันในการกระทำหรือสามารถกระทำอย่างมีอิสรภาพและเสรีภาพ โดยไม่ละเมิดสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพของผู้อื่นในพฤติกรรมและการกระทำทั้งทางร่างกาย,จิตใจ,ความคิด,การพูด นั่นเอง
มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาล้วนย่อมมี “สิทธิมนุษยชนติดตัวมาตามธรรมชาติ” ทุกคนล้วนมีเสรีภาพและอิสรภาพโดยไม่แบ่งแยกว่าจะมี เชื้อชาติ,ภาษา,ศาสนา,เพศหรือ สีผิวใดใด ไม่แบ่งแยกว่า มนุษย์ผู้นั้นจนหรือรวย หรือมีความคิดเห็นทางการเมืองรูปแบบใด แต่ทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะได้รับ เสรีภาพ,อิสรภาพ และสามารถดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีงาม
สิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมทั่วถึง มนุษยบางกลุ่มบางคนได้รับความไม่เป็นธรรม ได้รับความเดือนร้อนจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกัน หรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงครามจากการสู้รบเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือได้รับความไม่เป็นธรรมในการครอบครองทรัพย์สินหรือทรัพยากร หรือได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมจากกฎระเบียบข้อบังคับ หรือกฎหมายที่บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีเสรีภาพไม่มีอิสรภาพในการดำรงชีวิต ถูกกดขี่ข่มเหง จนไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บนโลกใบนี้มีการปกครองประเทศหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความคิด สภาพประชากร จำนวนประชากร สภาพภูมิประเทศ และอื่นๆอีกหลายปัจจัย ระบอบการปกครองบางประเทศก็ปกครองประเทศด้วยการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตย” บางประเทศก็ปกครองประเทศด้วยการปกครองแบบ “ระบอบเผด็จการผสมกับประชาธิปไตย” บางประเทศก็ปกครองแบบ “ระบอบประชาธิปไตยผสมหลักการทางศาสนา” บางประเทศก็ปกครองแบบ “ระบอบสังคมนิยม หรือ คอมมูนิสต์” ซึ่งในประเทศทั้งหลายเหล่านั้น ก็ล้วนมีกฎหมายที่ให้สิทธิมนุษยชนต่อพลเมืองภายในประเทศแตกต่างกันไป ตามหลักการของระบอบการปกครองนั้นๆ กล่าวโดยรวมแล้วสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศจะคล้ายคลึงกันในหลายลักษณะ เช่น คล้ายคลึงกันใน สิทธิมนุษยชน ทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรมประเพณี ส่วนที่แตกต่างกัน ก็ได้แก่ สิทธิของพลเมือง สิทธิทางด้านการเมือง สิทธิทางด้านการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ สิทธิทางด้านกฎหมาย ซึ่งในประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทย ก็ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของพลเมือง ตามครรลอง(แนวทาง)ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของประเทศ
นอกเหนือจากสิทธิมนุษยชนดังที่ได้กล่าวไป ยังมีสิทธิมนุษยชนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งในหลายๆประเทศที่กำลังพัฒนา ได้ให้ความสำคัญในการให้สิทธิแก่ชุมชนหรือกลุ่มคน โดยไม่มุ่งเน้นในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยที่มองเห็นและรับรู้ได้ ก็คือ การจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการ จัดสรร ครอบครอง,การใช้ประโยชน์และพัฒนาทรัพยากรต่างๆรวมไปถึงการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยคนในชุมชนเอง สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิของชุมชนรูปแบบนี้ “มุ่งเน้นการสร้าง ความเท่าเทียมกัน แห่งสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพ ในการกระทำหรือความสามารถกระทำ เพื่อกลุ่มเพื่อชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคง ความยั่งยืน ความครบถ้วนบริบูรณ์ ในการดำรงชีวิต ตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้จะไม่มีผลบังคับเป็นดังเช่นกฎหมาย แต่ในกฎหมายของแต่ละประเทศ ก็ล้วนให้สิทธิมนุษยชนต่อพลเมืองของตนอยู่บ้างแล้ว แต่ในบางประเทศ เช่นประเทศไทย ได้มีการบัญญัติสิทธิมนุษยชนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีสิทธิมนุษยชนอีกหลายอย่างหลายรูปแบบที่ไม่อาจตราไว้เป็นกฎหมาย จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความสนใจ ความสำนึกในความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงศีลธรรมแห่งศาสนาในจิตใจของแต่ละบุคคล ที่จะทำให้แต่ละบุคคลช่วยกันสอดส่องดูแลรักษา สิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพ ของตนเอง โดยไม่ละเมิด สิทธิ, เสรีภาพ,อิสรภาพ ของผู้อื่น เพราะทุกคนล้วนมี สิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพ ที่เท่าเทียมกันในทุกด้านของการดำรงชีวิต มีความเท่าเทียมกันที่จะได้รับปัจจัยพื้นฐานและสิทธิเสรีภาพ,อิสระภาพ ตามสถานภาพ(ฐานะหรือหน้าที่) และ ศักยภาพ(คุณสมบัติหรือความสามารถที่แฝงอยู่ในตัว) ของตนเอง โดยไม่เบียดเบียนหรือละเมิดสถานภาพ(ฐานะหรือหน้าที่) และ ศักยภาพ(คุณสมบัติหรือความสามารถที่แฝงอยู่ในตัว) ของผู้อื่น มีสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพ ในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ, ในการได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย, ในด้านเศรษฐกิจ ด้านการสังคมเป็นอยู่ร่วมกันโดยปราศจากการรังเกียจ ถ้าหากทุกคนสำนึกในความเท่าเทียมกันในสังคมแล้ว มนุษยชนทั้งหลายย่อมมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ว่ามนุษยชนเหล่านั้นจะอยู่ในอาชีพอะไร ฐานะอย่างไร มีความสามารถเช่นใด มีความคิด มีความต้องการในระบอบการปกครองแบบใดก็ตาม ทั้งนี้สิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ล้วนอยู่ที่ ความมีจิตสำนึกแห่งศีลธรรมอันดีงามทางศาสนาที่มีอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล ความมีความรู้ ความเข้าใจของคำว่า “ความเท่าเทียมกันในการกระทำหรือสามารถกระทำในกิจกรรมต่างๆได้อย่างมี เสรีภาพ,อิสรภาพ และไม่ละเมิดสิทธิ,เสรีภาพ,อิสรภาพของผู้อื่น” หรือจะกล่าวอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ ความมีความรู้ ความเข้าใจของคำว่า “ความเท่าเทียมกันในการกระทำหรือสามารถกระทำในกิจกรรมต่างๆได้อย่างไม่มีอุปสรรคขัดขวาง ด้วยตัวของตัวเอง โดยมิได้ถูกบังคับกดขี่จากผู้อื่น และไม่เป็นการล่วงเกินฝ่าฝืนจารีตประเพณี,วัฒนธรรมหรือกฎหมาย ในการกระทำหรือความสามารถกระทำกิจกรรมต่างๆของผู้อื่น” นั่นก็คือ สิทธิมนุษยชน.
จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ (ผู้เขียน)
๒๐ กันยายน ๒๕๕๔