ดัชนีภาวะผู้นำ"นายกฯปู"พุ่ง-เพื่อไทยยังครองใจคนไทย
เอแบคโพลล์ชี้ดัชนีความเป็นผู้นำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้นหลายตัวชี้วัด ทั้งความสุภาพอ่อนโยน ความอดทน อดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ โอบอ้อมอารี ขณะที่ประชาชน 42.8%ยังเลือกพรรคเพื่อไทย 26.5% เลือกพรรคประชาธิปัตย์
วันนี้ (20 ม.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์เผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในดัชนีภาวะความเป็นผู้นำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ 2,182 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 19 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า
เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในดัชนีภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ระหว่างเดือนต.ค.ปี 55 กับเดือนม.ค.ปี 56 พบว่า ดัชนีภาวะความเป็นผู้นำที่ชาวบ้านระบุว่าเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ “น่าพอใจ” ได้แก่ ความสุภาพอ่อนโยน จากร้อยละ 51.9มาอยู่ที่ ร้อยละ 85.0
โดยมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 33.1 รองลงมาคือ ความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.8มาอยู่ที่ร้อยละ 78.1และความโอบอ้อมอารี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 74.8 คือมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 30.3 และร้อยละ 20.8 ตามลำดับ
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ส่วนตัวชี้วัดอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ มีความรู้ความสามารถ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.6 คือ “สอบตก”มาอยู่ที่ร้อยละ 65.0 คือ “สอบได้” ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึงร้อยละ 20.4 นอกจากนี้ ตัวชี้วัดด้านการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 70.9 มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 17.4 และความเป็นคนรุ่นใหม่ มีกรอบแนวคิดการมองอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 73.0
ที่น่าพิจารณาคือ ตัวชี้วัดความเป็นผู้นำที่พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือกล่าวว่าอยู่ในระดับที่ “ค่อนข้างน่าพอใจ” ได้แก่ ความมีวิสัยทัศน์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 63.4 และด้านการได้รับการยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 67.0
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในความเป็นผู้นำตามทรรศนะของประชาชนที่ต้อง “เฝ้าระวังรักษาไว้” ให้มีมากยิ่งขึ้น คือ ด้านจริยธรรมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.8 ด้านความเสียสละ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 58.5 ด้านความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 60.1 ด้านความเป็นตัวของตัวเอง ลดลงจากร้อยละ 63.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 61.0 คือเปลี่ยนแปลงในทางลบอยู่ร้อยละ 2.7 แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและด้านความกล้าคิดกล้าตัดสินใจ ที่พบร้อยละ 52.5มาอยู่ที่ร้อยละ 52.8
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ กลุ่มดัชนีความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีกำลังตกอยู่ใน “ภาวะวิกฤตที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ” เพราะมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 50 ได้แก่ การแก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้ง จากร้อยละ 49.2ลดลงมาอีกอยู่ที่ร้อยละ 47.7ด้านความรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา ลดลงจากร้อยละ 49.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 48.5 และด้านความยุติธรรม ที่ค้นพบร้อยละ 49.6และร้อยละ 49.9ด้านความซื่อสัตย์สุจริตพบร้อยละ 51.3และร้อยละ 51.0 ในการสำรวจครั้งนี้
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ 42.8 ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยอีก ในขณะที่ร้อยละ 26.5 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 30.7 เลือกพรรคอื่นๆ
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า โมเดลความเป็นผู้นำตามกรอบแนวคิดของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ หรือ ABAC POLL Model of PM Leadership ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในหลายตัวชี้วัดและที่กำลังเด่นชัดที่สุด คือ ความสุภาพอ่อนโยน ตามด้วย ความอดทน อดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ มีความโอบอ้อมอารี แต่ดัชนีภาวะความเป็นผู้นำเหล่านี้จำเป็นต้องมีภาวะความเป็นผู้นำด้านอื่นๆ ประกอบเสริมจึงจะทำให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคงในความเป็นผู้นำของความเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างยั่งยืน นั่นคือ ชาวบ้านต้องจับต้องได้ ลดความเดือดร้อนปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพได้ ทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และต้องช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนในสังคมลงได้
ดร.นพดล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องเร่งทำให้สาธารณชนเห็นว่า ประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาจากความร่วมมือของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จึงจะช่วยลดภาพของ “อคติแห่งมหานคร” ที่เคยมีมาในอดีตที่นโยบายสาธารณะมักจะออกมาจากชนชั้นนำในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เพียงกลุ่มเล็กๆ และผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของคนเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มนายทุน ข้าราชการและนักการเมือง แต่ต่อไปนี้รัฐบาลน่าจะทำให้เห็นว่าเป็น “ผลประโยชน์ของมหาชน”
ที่มา: http://www.dailynews.co.th