"นิด้าโพล" เผยช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โค้งที่ 2 "พงศพัศ" มาแรงนำ"สุขุมพันธุ์" โดยเฉพาะเขต กทม.เหนือ ตามด้วยฝั่งธนบุรีใต้ และกลาง แต่ยังมีคนกรุงที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครมากถึง 48.04% ขณะที่นักวิชาการ ชี้คะแนน "พงศพัศ" ขยับ เนื่องจากการจัดการภายในพรรคเพื่อไทยชัดเจนมากขึ้น หาเสียงพุ่งเป้าคนรายได้น้อย แนะ ปชป.พีอาร์ให้มากขึ้น...
เมื่อวัน ที่ 30 ม.ค.2556 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คนกรุงฯ กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โค้งที่ 2" สำรวจระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,503 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ
เมื่อถามว่า "หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม."พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 23.82 ระบุว่าจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมา ร้อยละ 19.16 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 5.12 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 1.13 จะเลือก นายสุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 0.20 จะเลือก นายโฆษิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.07 จะเลือกนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง อย่างไรก็ตามพบว่า ร้อยละ 48.04 ที่ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ และมีเพียงร้อยละ 2.26 ที่ระบุว่าไม่ลงคะแนนเสียง
เมื่อ วิเคราะห์จำแนกตามพื้นที่ของกรุงเทพฯ พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนความนิยมนำผู้สมัครคนอื่นๆ ในเขต กทม.กลาง (ร้อยละ 25.93) กทม.เหนือ (ร้อยละ 27.94) และ กทม.ฝั่งธนบุรีใต้ (ร้อยละ 26.26) ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีคะแนนความนิยมนำผู้สมัครคนอื่นๆ ในเขต กทม.ใต้ (ร้อยละ 25.64) กทม.ตะวันออก (ร้อยละ 21.08) และกทม.ฝั่งธนบุรีเหนือ (ร้อยละ 23.94)
สำหรับการแบ่งพื้นที่ในการสำรวจ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มกรุงเทพฯ กลาง 9 เขต ได้แก่ เขตดินแดง เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตพระนคร เขตราชเทวี เขตวังทองหลาง เขตสัมพันธวงศ์ และเขตห้วยขวาง 2. กลุ่มกรุงเทพฯ ใต้ 10 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย เขตบางคอแหลม เขตบางนา เขตบางรัก เขตปทุมวัน เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตวัฒนา เขตสวนหลวง และเขตสาทร 3. กลุ่มกรุงเทพฯ เหนือ 7 เขต ได้แก่ เขตจตุจักร เขตดอนเมือง เขตบางเขน เขตบางซื่อ เขตลาดพร้าว เขตสายไหม และเขตหลักสี่
4. กลุ่มกรุงเทพฯ ตะวันออก 9 เขต ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตคันนายาว เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตประเวศ เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตสะพานสูง และเขตหนองจอก 5. กลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีเหนือ 8 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตธนบุรี เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางพลัด 6. กลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีใต้ 7 เขต ได้แก่ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน เขตบางแค เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตราษฎร์บูรณะ และเขตหนองแขม
ด้าน ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า จำนวนของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครลดลง และคะแนนความนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการจัดการภายในของพรรคเพื่อไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น และสนับสนุน พล.ต.อ.พงศพัศ อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถือว่าคะแนนไม่ตกมากนัก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการประชาสัมพันธ์ยังไม่เพียงพอ และเป็นการบ้านสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ในการช่วยผู้สมัครหาเสียง และทำความเข้าใจกับประชาชนชาวกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นหาเสียงและให้ความสำคัญอย่างมาก ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีคะแนนเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย เนื่องจากเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างสองพรรคใหญ่
ดังนั้นผลการสำรวจครั้งต่อ ไปต้องรอดูว่า ผู้สมัครอิสระจะสามารถดึงคะแนนของผู้สมัครทั้งสองพรรคนี้ได้หรือไม่ ผู้สมัครอิสระจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใด และจะกระทบกับใครระหว่างผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง
http://www.thairath....tent/pol/323491