Quote
มาตรา 244 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(2) ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม
มาตรา 279 วรรคสาม และมาตรา 280
มาตรา 279 มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น
มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 270
การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใด เข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย
มาตรา 280 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมตามมาตรา 279 วรรคหนึ่ง และส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม รวมทั้งมีหน้าที่รายงานการกระทำที่มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมตามมาตรา 279 วรรคสาม
ในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมมีลักษณะร้ายแรงหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการดำเนินการของผู้รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะก็ได้
มาตรา 270 ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
Unquote
ตามกฎหมายข้างต้น ถึงเวลาหรือยังที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณามาตรฐานทางจริยธรรมของนายกรัฐมนตรี
ที่ไม่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 279 (วรรค 4) การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใด เข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย และ
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551
ข้อ 6 ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย รักษาประโยชน์ส่วนรวม ยึดหลักธรรมาภิบาล
ข้อ 9 ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยทำผิดกฎหมายคดีหวยบนดินเมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง ซึ่งการกระทำตามคำพิพากษาศาลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามคำพิพากษาศาลคดีดำที่ อม. 1/2551 ถึงแม้การที่นายวราเทพ มิได้ถูกจำคุกเพียงแต่รอการลงโทษจำคุกไว้ การเป็นรัฐมนตรีจึงไม่ผิดคุณสมบัติตามกฎหมาย เพราะยังมิได้ถูกจำคุกจริง แต่การทำความผิดโดยส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งความผิดนี้น่าจะผิดมาตรฐานจริยธรรมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ข้อ 6 และ 9 ที่ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และยังมีข้ออื่น ๆ อีก แล้วจะเอาคนเคยทำผิดกฎหมายทั้ง ๆ ที่มีประธานกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภาเตือนเรื่องให้ดูเรื่องกฎหมาย ก่อนที่จะออกหวยบนดิน ความจริงยังบกพร่องต่อหน้าที่อีก ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงไม่ศึกษาก่อนที่จะให้เป็นนโยบายและได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศทั้งทางด้านการเงินและด้านสังคม
Quote
คดีหวยบนดิน ที่ศาลได้พิจารณาดังนี้ จำเลยที่ 10 = นายวราเทพ รัตนากร (หน้า 47)
สำหรับกรณีของจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลยที่ 10 ในฐานะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยตรง ย่อมจะต้องทำการศึกษาและมีความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและบทบาทภารกิจของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นอย่างดี พอสมควรว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อหาเงินเข้ารัฐเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้มีการจัดสรรรายรับรายจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายวางไว้ด้วยความรอบคอบโปร่งใส รวมทั้งควรจะต้องทราบด้วยว่าการดำเนินการตามโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ไม่อาจกระทำได้ เพราะอยู่นอกกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และหากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยในบทบาทภารกิจของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประการใด ก็สามารถสอบถามประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาได้โดยตรง หรือขอความเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบให้คำปรึกษาในปัญหาข้อกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐอื่นได้ ทั้งก่อนที่จะมีการเสนอโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ต่อคณะรัฐมนตรี นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ประธานกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ตามเอกสารหมาย จ. 227 แผ่นที่ 6578 ถึง 6606 ส่งรายงาน ผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนไปให้ ซึ่งในรายงานแสดงความเห็นว่าการเล่นและจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย3 ตัว และ 2 ตัว มีลักษณะเป็นสลากกินรวบ
(หวยใต้ดิน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถจัดให้มีการเล่นและจำหน่ายสลากกินรวบได้ เนื่องจากเป็นการดำเนินการนอกวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมกับเสนอแนะว่าจะต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 โดยเพิ่มวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินการเสียก่อน แต่ปรากฏว่าหลังจากได้มีการแจ้งเรื่องดังกล่าวแล้วก็ไม่มีการหยิบยกโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว มาพิจารณาทบทวนให้รอบคอบอีกครั้งแต่อย่างใด กลับปรากฏว่ามีการรีบเร่งเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีด้วยการเสนอเป็นวาระพิเศษหรือวาระจร โดยมิได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรอง
เพื่อให้พิจารณาหรือให้มีการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบเสียก่อน ทั้งการที่มีการเสนอขอเปิดบัญชีเบิกเงินเกินบัญชีรองรับในวงเงินสูงถึงสองหมื่นล้านบาท และให้ทำประกันภัยความเสี่ยงในการจ่ายรางวัลดังกล่าว ซึ่งแม้จะดูเสมือนเป็นการสร้างความรอบคอบในการดำเนินโครงการ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าโครงการอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่ระบบการเงินการคลังของประเทศ เพราะความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการขาดทุนจากการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ถูกรางวัลได้ นอกจากนี้ การเสนอให้นำเงินรายได้ไปใช้จ่ายในการอื่นแทนการนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์และอยู่ นอกวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะการใช้จ่ายเงินอาจไม่รัดกุมหรือ__เป็นระบบเพียงพออันอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตขึ้นได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อได้รับการทักท้วงจากประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการให้มีการแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง กลับเร่งดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการตามที่เสนอ อันแสดงว่าจำเลยที่ 10 ไม่ประสงค์จะให้มีการแก้ไขกฎหมายขยายกรอบวัตถุประสงค์ตามข้อเสนอแนะ เพราะจะทำให้เงินรายได้จากการจำหน่ายสลากต้องถูกนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน อันจะทำให้การใช้จ่ายที่ได้มาต้องยุ่งยากมากขึ้นเนื่องจากต้องทำคำขอตามวิธีการงบประมาณปกติ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาพิเศษว่า ต้องการให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จากการไม่นำส่งเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว
และ 2 ตัว เป็นรายได้แผ่นดิน ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 10 จึงถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและแผ่นดินอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
Unquote
ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะเอามาตรฐานจริยธรรม นำการกระทำของบุคคลที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์บ้านเมือง
ซึ่งหน้าที่นี้ได้กำหนดชัดเจนไว้กับ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" หรือประชาชนจะเห็น "ระเบียบว่าด้วยประมวลจริยธรรม" เป็นเพียง เอกสารทำไว้บนหิ้ง บนชั้นหนังสือ
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 :
http://www.opdc.go.t...itution2550.pdf
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 :
http://www.cabinet.t.../Ethics_soc.pdf
คำพิพากษาหวยบนดิน :
http://61.19.241.65/...553/A/002/1.PDF
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
Edited by sudthorn, 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 - 16:23.