อันนี้ไม่รู้ประทับใจเปล่านะ
คำให้การในคดีหมายเลขดำที่ ๓๙๖๘-๓๙๗๗/๒๕๔๗
คำให้การโดยละเอียดมีดังนี้
“ข้าฯ ทำงานอยู่ที่สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ช่วงเดือนพฤษภาคม 2546 ข้าฯ เดินทางไปทำข่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดอุบลราชธานี
ข้าฯรู้จัก นางอนัญญา ตั้งใจตรง ซึ่งปัจจุบันนี้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ไสยมรรคา ซึ่งนางอนัญญาก็เป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เช่นกัน
นางอนัญญา มิได้เดินทางไปทำข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต แต่ไปทำข่าวที่จังหวัดอุบลราชธานี
ที่จังหวัดอุบลราชธานี นางอนัญญา พักห้องเดียวกับข้าฯ ที่โรงแรมลายทอง
ขณะพักอยู่ภายในห้องเดียวกันนั้น ก็จะพูดคุยกันว่า ในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่แต่ละคนพบเหตุการณ์อะไรบ้าง
ข้าฯรู้จัก พลตำรวจโท พงศพัศ พงษ์เจริญ และพลตำรวจตรีสุรสิทธิ์ สังขพงศ์
ที่จังหวัดอุบลราชธานี ข้าฯ พบพลตำรวจโท พงศพัศ ช่วงที่คณะรัฐมนตรีเดินทางไปถึงโรงแรมลายทอง โดยพลตำรวจโท พงศพัศ เรียกข้าฯไปพบบอกว่า ให้ไปหานาย ซึ่งข้าฯ ก็ทราบว่า นายที่ให้ไปหา ก็คือ โจทก์ ไม่ได้แจ้งเหตุผล บอกเพียงว่า นายอยากพบ
ขณะที่ พลตำรวจโท พงศพัศ บอกข้าฯ ข้าฯยืนอยู่บริเวณหน้าห้องผู้สื่อข่าวใกล้ๆ กับห้องรักษาความปลอดภัย ขณะนั้นข้าฯ ใส่สูทแต่งตัวพร้อมออกรายการสด
ข้าฯ ฟังแล้วยังคงยืนเฉยๆ พลตำรวจโทพงศพัศ จึงเข้ามาจับแขนดึงข้าฯไป แต่ข้าฯก็ไม่ยอมไป พลตำรวจโทพงศพัศ ก็มิได้พูดอะไร
จังหวะนั้นมีผู้สื่อข่าวอาวุโส คือ นางยุวดี ธัญญศิริ จำเลยที่ 2 ตะโกนขึ้นว่า “ทำอะไรน้องเขา ไปยุ่งอะไรเค้า” พลตำรวจโทพงศพัศ จึงปล่อยมือจากการจับแขนข้าฯ
หลังจากนั้น ข้าฯก็มิได้พบพลตำรวจโทพงศพัศอีก
สำเนาภาพถ่ายหญิง เอกสารหมาย ล.5 คือ ภาพถ่ายข้าฯ กับมีคำให้สัมภาษณ์ข้าฯ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่จังหวัดอุบลราชธานีดังกล่าว ซึ่งทำให้ข้าฯตกเป็นข่าว แต่การให้สัมภาษณ์ของข้าฯ นั้น ก็ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ทั่วๆ ไปในการออกไปทำข่าวมิได้เจาะจงเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
ภาพถ่ายของชายในเอกสารหมาย ล.10 คือ สำเนาภาพถ่ายของโจทก์
โจทก์เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วย
ข้าฯ ไม่ได้ดูโจทก์ไปออกรายการถึงลูกถึงคน ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา
ไม่เคยเห็นหนังสือพิมพ์ตามเอกสารหมาย ล.10 มาก่อน
ทนายจำเลยที่ 1 ให้พยานอ่านข้อความในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวตอนหนึ่งที่ว่า ผมไม่ขอโทษเธอเลย เพราะคนอื่นเป็นคนสร้าง ถามว่า คำว่าเธอตามความหมายดังกล่าว หมายถึงพยานหรือไม่ พยานเบิกความน่าจะใช่
ขณะพักอยู่โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งข้าฯ อยู่ในห้องพัก เวลาประมาณ 22 นาฬิกา มีคนนำจดหมายไปสอดไว้บริเวณช่องว่างใต้ประตู จ่าหน้าซองเขียนชื่อข้าฯ ว่า เกวลิน ข้าฯเอาจดหมายฉบับดังกล่าวมาดู ปรากฏว่าไม่ปิดผนึก แกะออกดูภายในจดหมายเขียนข้อความว่า
“พรุ่งนี้เวลา 08.30 นาฬิกา ให้ไปขึ้นเครื่องบินตำรวจ ลงชื่อ พลตำรวจตรีสุรสิทธิ์ สังขพงศ์”
ข้าฯงง ซึ่งนางอนัญญา ก็เห็นจดหมายฉบับดังกล่าวด้วย
ข้าฯ สูง 170 ซม.
พลตำรวจตรีสุรสิทธิ์ ไม่เคยบอกข้าฯว่า โจทก์จะให้ประโยชน์ตอบแทนอะไรข้าฯ
ตอบทนายจำเลยที่ 2 และ ที่ 13 ถาม
ข้าฯจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จบการศึกษาแล้ว ข้าฯ ทำหน้าที่รายงานข่าวในห้องส่ง แต่จะมีบ้างบางครั้งที่ออกไปรายงานข่าวนอกสถานที่
การออกไปรายงานข่าวนอกสถานที่ เป็นไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา กรณีนี้ ข้าฯ ไม่มีหน้าที่ไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว
การเดินทางไปทำข่าวที่จังหวัดภูเก็ต ข้าฯเดินทางไปกับเครื่องบินของคณะนายกรัฐมนตรี โดยมีนักข่าวคนอื่นร่วมเดินทางไปด้วย
มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โรงแรมภูเก็ตอาคราเดียร์
ข้าฯ เดินทางไปถึงโรงแรมดังกล่าวตอนสาย เมื่อไปถึงก็ต้องปฏิบัติหน้าที่จุดที่จะรายงานข่าวอยู่ด้านนอกโรงแรม
ไม่มีใครแจ้งให้ทราบว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าฯ จะต้องติดบัตรประจำตัว สำหรับข้าฯ มีเฉพาะบัตรแสดงตัวเป็นพนักงานของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เท่านั้น
ข้าฯมีเวลาว่างก่อนทำหน้าที่รายงานข่าวประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้น จึงใช้เวลาดังกล่าวในการไปซื้อของแห้งประเภทน้ำพริกกลับบ้าน ซึ่งบริเวณชั้นล่างของโรงแรมมีร้านอาหารอยู่
ข้าฯ สั่งรายการอาหารที่ต้องการแล้ว ระหว่างรอการจัดอาหาร ข้าฯ ไปนั่งรอที่โต๊ะภายในร้านอาหาร ระหว่างนั้นพลตำรวจโทพงศพัศ มาเรียกข้าฯ โดยพูดขึ้นว่า “น้องๆ ขอเชิญไปพบ ผบ.ตร.หน่อย” ข้าฯ ถามว่า “มีอะไรคะ” พลตำรวจโทพงศพัศ บอกว่า “ท่านอยากถามอะไรหน่อย”
ข้าฯเดินตาม พลตำรวจโทพงศพัศ ไปที่ห้องๆ หนึ่ง ซึ่งจัดไว้เป็นสัดส่วน มีนายตำรวจอยู่จำนวนหลายคนรวมทั้งโจทก์
เมื่อเข้าไปในห้องแล้ว มีตำรวจเชิญให้ข้าฯ ไปนั่ง แต่จำไม่ได้ว่าคนที่เชิญเป็นใคร
ขณะนั้นโจทก์นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะคนเดียว ข้าฯถูกเรียกให้ไปนั่งอยู่ด้านข้าง ฝั่งซ้ายมือของโจทก์ เมื่อข้าฯนั่งแล้ว โจทก์ถามขึ้นว่า “มาจากไหน” ข้าฯตอบว่ามาจากช่อง 9 โจทก์ถามว่า ทำไมไม่เคยเห็นหน้าข้าฯ ตอบว่า ตามปกติข้าฯ ไม่ใช่นักข่าวการเมือง แต่วันนี้ข้าฯมารายงานสด โจทก์ถามข้าฯ ต่อว่าชื่ออะไร ข้าฯ ตอบว่า ชื่อ เกวลิน กังวานธนวัติ จากนั้นโจทก์ถามข้าฯ ว่า จบการศึกษาจากที่ไหน ถามส่วนสูงว่าสูงเท่าไร ถามว่าทำไมตัดผมสั้น ถามต่อว่ามาทำข่าวอย่างไร ตอบว่ามากับคณะท่านนายกรัฐมนตรี โจทก์ถามว่า ตอนกลับจะกลับอย่างไร ข้าฯ ตอบว่า กลับกับคณะนายกรัฐมนตรี โจทก์ถามว่า “ไม่สนขึ้นเครื่องบินตำรวจหรือ” จังหวะนั้น มีตำรวจคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมาว่า “แต่มีที่ว่างที่เดียวนะ” จากนั้นตำรวจที่อยู่ในห้องก็หัวเราะกัน ข้าฯ ตอบไปว่า “ไม่เป็นไรค่ะ กลับกับทีมข่าว” ช่วงนั้นข้าฯ รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ และไม่อยากที่จะคุยต่อไปแล้ว จึงบอกกับโจทก์ว่า “เดี๋ยวขอตัวขึ้นไปทำงาน” โจทก์ก็แสดงท่าทางยินยอมให้ไป ข้าฯ จึงเดินออกจากห้องไปโดยไม่ได้กลับไปเอาอาหารที่สั่งไว้ ตั้งใจว่าทิ้งระยะเวลาไว้สักครู่ให้คณะของตำรวจไปเสียก่อนจึงค่อยกลับไปเอา
ข้าฯ ออกจากห้องที่ไปพบโจทก์แล้ว ก็ไปอยู่ที่จุดซึ่งต้องรายงานข่าว ประมาณครึ่งชั่วโมง จึงชวน นางสาวปิยะกมล สันทัดการ เพื่อนนักข่าวลงไปเอาของที่สั่งไว้ นางสาวปิยะกมล ถามข้าฯว่า ทำไมจึงต้องชวนลงไปด้วย ไปคนเดียวไม่ได้หรือ ข้าฯบอกว่าไม่กล้าลงไปคนเดียว จากนั้นข้าฯ จึงเล่าเหตุการณ์ตามที่เบิกความมาข้างต้นให้นางสาวปิยะกมลฟัง นางสาวปิยะกมล จึงลงไปเป็นเพื่อนข้าฯ ผ่านห้องที่ข้าฯไปพบโจทก์ก่อนหน้านั้น เห็นโจทก์ยังอยู่ในห้องดังกล่าว
ข้าฯไปรับอาหารที่สั่งไว้ ขณะจะจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ พลตำรวจโทพงศพัศ ไปหาข้าฯ ขอเบอร์โทรศัพท์ ข้าฯ จึงให้เบอร์โทรศัพท์ที่ทำงานซึ่งเป็นเบอร์กลางไป ตอนกลับข้าฯ เดินผ่านห้องที่โจทก์นั่งอยู่ โจทก์เรียกข้าฯจากในห้องว่า “อ้าวจะไปไหน” ข้าฯบอกว่าจะกลับแล้ว ระหว่างนั้นโจทก์พูดกับข้าฯ เป็นลักษณะประวิงเวลาที่จะชวนคุยต่อ แต่ข้าฯ จำรายละเอียดไม่ได้ ข้าฯ พูดตัดบทแล้วรีบกลับไป
ขณะที่จำเลยที่ 2 ตะโกนถามในทำนองที่ว่า พลตำรวจโทพงศพัศ มาทำอะไรข้าฯ พลตำรวจโทพงศพัศ ตอบว่า “เปล่า ไม่มีอะไร” จากนั้นก็ปล่อยมือจากการจับแขนข้าฯ
เกี่ยวกับจดหมายที่มาสอดไว้ด้านล่างประตู ข้าฯ อ่านดูแล้ววางไว้บนโต๊ะในห้องพัก
คืนนั้นข้าฯหลับไปแล้วก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น นางอนัญญาเป็นคนรับโทรศัพท์ ข้าฯ คิดว่าเป็นโทรศัพท์ถึงข้า เพราะได้ยินเสียงนางอนัญญา พูดถามไปว่า “เกวลินไหน” หลังจากนั้นนางอนัญญาพูดปฏิเสธว่าไม่มี แล้ววางหูโทรศัพท์
การไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ต ข้าฯ แต่งกายเหมือนออกรายการข่าวทุกครั้ง คือ ใส่สูท มิได้แต่งชุดอย่างอื่นคล้ายชุดไทย
หลังจากไปทำข่าวที่อุบลราชธานีแล้ว ต่อมาข้าฯติดตามข่าวจึงทราบว่า นักข่าวสายทำเนียบรัฐบาลมีหนังสือมาถามสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จนกระทั่งมีการออกคำแถลงการณ์เตือนนักข่าวที่จะออกไปทำข่าวให้ระมัดระวัง แต่ข้าฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหนังสือดังกล่าว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหนังสือพิมพ์ลงข่าว มีคนมาสอบถามเหตุการณ์จากข้าฯ หลายคน แต่ข้าฯ ก็มิได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง เพราะคิดว่าข้าฯเป็นผู้หญิงพูดอะไรไป ก็มีแต่เสียหาย การทำตัวให้เงียบที่สุดจะเป็นประโยชน์เสียกว่า
ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ถาม
หนังสือที่สายทำเนียบรัฐบาลมีถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 ข้าฯเห็นว่า การทำหนังสือเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ในส่วนของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้แสดงบทบาทของตนเอง โดยการไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการสตรีเยาวชน และผู้สูงอายุ ของรัฐสภา
ตอบทนายจำเลยที่ 7 ที่ 8 และทนายจำเลยที่ 9 ที่ 10 ถาม (ไม่ถาม)
ตอบทนายจำเลยที่ 11 และที่ 12 ถาม
ขณะเดินทางไปถึงโรงแรมภูเก็ตอาคราเดียร์ ข้าฯ เข้าไปห้องพักก่อน ขณะผ่านเข้าไปนั้นไม่มีการตรวจบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเลย ทั้งนี้ เมื่อ ข้าฯเดินทางไปถึงคณะรัฐมนตรีก็เริ่มมีการประชุมแล้ว
ภายในโรงแรมจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่ตามจุดต่างๆ แต่ผู้คนที่ไปใช้บริการก็ยังคงไปใช้บริการตามปกติ ไม่เห็นมีการเข้มงวดตรวจบัตรแต่อย่างใด
ขณะโจทก์พูดคุยกับข้าฯนั้น โจทก์มองหน้าข้าฯ แต่ข้าฯ ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของโจทก์
ตอบทนายจำเลยที่ 12 และที่ 13 ถาม (ไม่ถาม)
ตอบทนายจำเลยที่ 14 และที่ 15 ถาม (ไม่ถาม)
ตอบทนายโจทก์ถามค้าน
ไม่เคยรู้จักโจทก์เป็นการส่วนตัวมาก่อน ไม่เคยพูดคุยกัน เพิ่งจะพบโจทก์และพูดคุยกันครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต
ขณะเรียกข้าฯไปสอบถามนั้น โจทก์มิได้สอบถามข้าฯ ถึงเรื่องที่ข้าไม่ติดบัตรแสดงตัวเลย วันนั้น ข้าฯ ไม่ได้ติดบัตรประจำตัวนักข่าว
ตามปกติการเดินทางไปทำข่าวของนักข่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จะต้องติดบัตรประจำตัว แต่ในส่วนของข้าฯ ซึ่งทำหน้าที่รายงานสดนั้น ไม่มีการติดบัตรใดๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจและขาราชการฝ่ายอื่น ซึ่งร่วมไปประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจะต้องติดบัตรประจำตัวหรือไม่ ข้าฯไม่ทราบ
พอจะทราบว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแต่ละที่ต้องใช้กำลังตำรวจและทหารไปรักษาความปลอดภัยนับพันคน
จะมีการกำหนดเขตรักษาความปลอดภัยกันอย่างไรนั้น ข้าฯ ไม่ทราบ
ทราบว่าโจทก์เป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร หากเกิดเหตุร้ายโจทก์จะต้องรับผิดชอบ
โจทก์ใช้เวลาพูดกับข้าฯ ในห้องครั้งแรกประมาณ 10 นาที
การพูดคุยของโจทก์กับข้าฯ นายตำรวจซึ่งนั่งอยู่ในห้องดังกล่าวก็ได้ยิน
ระหว่างพูดคุยกับโจทก์ โจทก์มิได้เสนอบ้าน รถยนต์ หรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใดๆ แก่ข้าฯ ทั้งไม่มีนายตำรวจคนใดพูดเรื่องดังกล่าว
โจทก์มิได้จับเนื้อต้องตัวข้าฯ
ข่าวที่หนังสือพิมพ์นำไปลงจะได้มาจากไหนที่ไหนอย่างไร ข้าฯไม่ทราบ
ข้าฯ ไม่เคยพูดคุยกับเพื่อนนักข่าว เกี่ยวกับเรื่องที่มีข่าวว่ามีนายตำรวจเสนอบ้าน รถยนต์ เงินทองล่อใจเหยื่อ
เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นข่าวนั้น ข้าฯ ไม่เคยพูดคุยกับนายสรยุทธเลย
ที่จังหวัดอุบลราชธานี โจทก์จะพักที่ใด ข้าฯ ไม่ทราบ แต่ทราบว่านายกรัฐมนตรีพักที่โรงแรมลายทอง
ข้าฯไม่เคยได้ยินว่าโจทก์มีพฤติการณ์เสนอเงินเดือน บ้าน ล่อใจนักข่าวคนอื่น แต่เคยได้ยินว่าโจทก์เสนอบ้าน ทรัพย์สินเงินทองให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่นักข่าว ทั้งนี้ ได้ยินจากการพูดคุยของคนในสังคม แต่ข้าฯ ไม่ทราบรายละเอียด ไม่ทราบวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ทราบว่าเป็นการเสนอให้แก่ผู้หญิง
ทนายโจทก์ถามพยานว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ตามข่าว มีพนักงานสอบสวนติดต่อขอสอบคำให้การพยาน แต่พยานไม่ให้ความร่วมมือใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่เคยมีตำรวจคนใดมาติดต่อพยานเพื่อสอบคำให้การ ส่วนจะไปติดต่อผู้บังคับบัญชาข้าฯ ข้าฯไม่ทราบ
โจทก์จะให้ความเป็นกันเองกับนักข่าวหรือไม่ ข้าฯไม่ทราบ
ขณะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดอุบลราชธานี พลตำรวจโทพงศพัศนั้น มียศพลตำรวจตรี
ขณะพลตำรวจโท มาบอกข้าฯ ว่าให้ไปหานาย ข้าฯ มิได้สอบถามว่านายที่ว่านั้น คือใคร ทั้งมิได้ถามว่า ไปเพื่อนอะไร เหตุที่ได้ถาม เพราะข้าฯตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ไป
ตามปกติ พลตำรวจโทพงศพัศ จะให้ความเป็นกันเองกับนักข่าวหรือไม่ข้าฯ ไม่ทราบ
คำให้สัมภาษณ์ ตามเอกสารหมาย ล.5 ของข้าฯนั้น เป็นการพูดถึงประสบการณ์ในการทำข่าวของข้าฯ ส่วนนักข่าวคนอื่นจะประสบเหตุเช่นนั้นหรือไม่ ข้าฯไม่ทราบ
ข้าฯ เห็นว่า ตำรวจยศพลตำรวจตรีขึ้นไปนั้น ถือเป็นข้าราชการระดับสูง
เท่าที่ดูคำให้สัมภาษณ์ของโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.10 ไม่ทำให้ข้าฯ เสียหาย
ใครจะเป็นคนเขียนจดหมาย และนำจดหมายไปวางที่ห้องข้าฯ ข้าฯ ไม่ทราบ
ที่จังหวัดอุบลราชธานี ทราบว่า โจทก์เปลี่ยนเวลาเดินทางจากกำหนดเดิมตอนเที่ยงเป็นเดินทางกลับตอนเช้า
ตามปกติจะมียักข่าวนั่งเครื่องบินตำรวจหรือไม่ ข้าฯไม่ทราบ
ข้าฯ ไม่เคยไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของทหาร
คำถามของโจทก์ไม่ได้ทำให้ข้าฯ เสียหาย
เคยทราบว่าโจทก์เป็นกรรมการในการประกวดนางสาวไทย
สำเนาหนังสือพิมพ์ เอกสารหมาย จ.18 ฉบับที่ 4 ข้อความที่ว่า “แม้วรู้แล้ว พล.ต.อ.หลี” ข้าฯ เข้าใจว่า พล.ต.อ.ที่ระบุนั้นก็คือโจทก์
ข้อความถัดจากนั้น ก็เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรีว่าพฤติการณ์ของโจทก์เป็นเพียงการจีบข้าฯ ส่วนความจริงจะจีบข้าฯ หรือไม่นั้น ข้าฯ ไม่ทราบวัตถุประสงค์ของโจทก์
ข่าวที่ลงถึงพลตำรวจเอก แม้จะไม่ระบุชื่อ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ข้าฯรู้ว่าคือโจทก์
หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแล้ว ข้าฯ ไม่เคยพบกับโจทก์อีก
ขณะที่ข้าฯ พูดขอตัวจะกลับไปที่ห้องพัก โจทก์มิได้แสดงอาการโกรธเคืองข้าฯ
นักข่าวทั่วไปรู้จักพลตำรวจโทพงศพัศ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ชายที่โทรศัพท์หาข้าฯ โดยนางอนัญญารับจะเป็นใคร และมีวัตถุประสงค์อะไร ข้าฯไม่ทราบ
ที่โรงแรมภูเก็ตอาคราเดียร์ ข้าฯ ไม่เห็นมีใครแต่งชุดไทยรวมทั้งพนักงานโรงแรม
ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติง (ไม่ถาม)
ตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 13 ถามติง
การเดินทางไปทำข่าวนอกสถานที่ รวมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ไม่มีหน่วยราชการจัดทำบัตรเพื่อติดแสดงตัวเป็นพิเศษ
จากการติดตามข่าวเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เห็นว่า ข้อมูลที่โจทก์แสดงต่อนักข่าวหรือสื่อมวลชนไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าฯ แต่ข้าฯ ไม่เคยท้วงติง เพราะเห็นว่ามีแต่จะเสียหาย ทั้งต่อภาพลักษณ์ของตนเอง และต่อองค์กร
ข่าวที่ลงเรื่องเสนอบ้าน รถยนต์ หรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนั้น ไม่ได้เกิดกับข้าฯ ส่วนนักข่าวจะนำมาจากแหล่งข่าวใด ข้าฯ ไม่ทราบ
เหตุที่ข้าฯ ทราบว่า นายตำรวจที่เป็นข่าวคือโจทก์ เพราะโจทก์ออกมาตอบโต้
ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ถามติง (ไม่ถาม)
ตอบทนายจำเลยที่ 10 และที่ 11 ถามติง (ไม่ถาม)/อ่านแล้ว
(นายอรุณรัตน์ ศรีพิเชียร) บันทึก/อ่าน (นายอนันต์ อุดมปัญญาวิทย์)[1]
จาก http://th.wikisource.org
ก็คงเป็นอะไรที่น่าประทับใจเช่นกันครับ