เกณฑ์ ร.ด. เข้าเป็นพลทหาร (ข้อคิดข้อแนะแนว)
ข้าพเจ้าได้รับฟังข่าวสารเกี่ยวกับข้อคิดและแนวทาง
ถึงความจำเป็นในอนาคต ที่จะมีการเกณฑ์ ผู้ที่เรียน ร.ด. เข้าประจำการเป็น
ทหารกองประจำการ หรือพลทหาร ด้วยเหตุที่มีแนวโน้มว่าในอนาคต
ยอดประชาชนที่จะเข้ารับการตรวจเลือกเป็นพลทหารกองประจำการอาจจะมีจำนวนน้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดความขาดแคลนกำลังพลไม่เพียงพอต่อการป้องกันประเทศ
เพราะนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่จะเรียน ร.ด. เพื่อให้พ้นหรือได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร
ในเรื่องนี้นับว่าเป็นความคิดและแนวทางที่ดี ซึ่งในอดีตเมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา
นักเรียนนักศึกษาที่เรียน ร.ด.บางคนที่เรียนไม่จบ หรือบางคนไม่ได้ยื่นขอผ่อนผัน
หรือยื่นยกเว้น หากได้รับการตรวจเลือกเข้าเป็นพลทหารกองประจำการ
แล้วยื่นหลักฐานการเรียน ร.ด.ภายหลัง ก็จะมีอายุการประจำการ ๖ เดือนบ้าง
หนึ่งปีบ้าง หนึ่งปีครึ่งบ้าง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นๆจะเรียน ร.ด.ในชั้นปีใด
หรือจบชั้นปีใด
นักเรียนนักศึกษาที่เรียน
ร.ด. ส่วนใหญ่ มักจะจำเป็นที่ต้องเรียน เพื่อให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
เพราะนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นได้รับข่าวสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับทหารที่ไม่ค่อยถูกต้อง
อีกทั้งยังเกี่ยวข้อง ทางด้าน เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้นักเรียนนักศึกษา
มีความคิดว่า การเข้ามาเป็นพลทหารกองประจำการนั้น ทำให้เสียเวลา เสียโอกาสในการทำงานเพื่อสร้างอนาคต
อย่างนี้เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปมิใช่เป็นการยกเมฆ หรือกล่าวอ้างเอาเอง
เพราะเมื่อครั้งข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ เมื่อมีเวลาว่าง ไม่ว่าจะเป็น
เวลาผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเวลาผู้บังคับบัญชา หรือเมื่อมีโอกาสได้ออกไปทำงานร่วมกับพลทหาร
ข้าพเจ้าก็จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์
ถามไถ่สาระทุกข์หรือสุขกับเหล่าพลทหารในทุกกองร้อยที่ได้อยู่ร่วมกัน
จึงทำให้ได้รู้ว่า เขาเหล่านั้น หลายร้อยคน ต้องลาออกจากงานเพื่อมารับใช้ชาติ ทำให้เสียเวลา
และเสียโอกาส ถึงแม้ว่า
การเข้ามารับใช้ประเทศชาติด้วยการเป็นพลทหารกองประจำการ จะได้ประโยชน์หลายๆอย่าง
ทั้งในด้านการได้เรียนรู้ด้านวิชาการทหารฯลฯ ได้เรียนรู้หลักการประชาธิปไตย
หรือสิทธิเสรีภาพ ภายใต้กฎหมาย ภายใต้แบบธรรมเนียมฯ(จารีต วัฒนธรรม ประเพณี)
ได้เรียนรู้ความเท่าเทียมทางด้านการได้รับการดูแลทั้งด้าน รายได้ อาหาร
เครื่องนุ่งห่ม การรักษาพยาบาล และที่อยู่อาศัย ตามสมควรของลักษณะงาน จะเรียกได้ว่า
ในกรมกองทหาร ได้สอนให้ประชาชนรู้จักหลักวิชาการด้านต่างๆ รวมไปถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สิทธิเสรีภาพ ภายใต้กฎหมาย ภายใต้แบบธรรมเนียมฯ อันเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนหรือพลทหารกองประจำการ
ได้กลับออกมาเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติบ้านเมือง ในกาลต่อไป
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสมองสติปัญญาและความสนใจของแต่ละบุคคล
ดังนั้น
การที่จะให้มีการเกณฑ์ทหารจาก นักเรียนนักศึกษาที่ได้เรียน
ร.ด.และจบการศึกษาจากสถานศึกษาแล้ว ควรจะได้วิเคราะห์หรือพิจารณาถึง
ความต้องการทางด้านเศรษฐกิจสังคมของเขาเหล่านั้นด้วย นั่นก็หมายความว่า
ถ้าหากจะมีการเกณฑ์ พวกที่เรียน ร.ด. จริง ก็ควร
เลือกการเกณฑ์หรือตรวจเลือกเฉพาะผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือจากผู้ที่สมัครใจจะเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
คงจะเป็นประโยชน์ต่อเขาเหล่านั้น มากกว่าที่จะเรียกเกณฑ์แบบทั่วไป
เพราะบางคนอาจมีงานทำเป็นหลักแหล่งอยู่แล้ว
หากไปเรียกผู้ที่มีงานทำอยู่แล้วเข้ามาตรวจเลือกหรือเกณฑ์ทหาร
ก็จะทำให้เขาเหล่านั้น เสียเวลา เสียโอกาส ต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่ ฯลฯ
แต่ถ้าหากทางราชการตรวจเลือกหรือเรียกเกณฑ์ทหารสำหรับผู้ที่เรียน ร.ด.
เอาเฉพาะผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือผู้ที่สมัครใจจะเข้ารับการตรวจเลือก
ก็จะทำให้เกิดการสร้างงานสำหรับประชาชนได้อีกทางหนึ่ง แม้อาจจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลา
หนึ่งปี หรือมากกว่า หนึ่งปี ตามแต่กำลังงบประมาณจะทำได้
ย่อมยังผลประโยชน์
แก่ประเทศชาติ
และย่อมยังผลประโยชน์ต่อตัวผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกหรือเกณฑ์ทหาร อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เรียนจบ
และเรียน ร.ด.แต่ไม่มีงานทำ หรืออยู่ระหว่างการรองาน เข้าไปรับการฝึกรับการอบรมเรียนรู้
ถึงหลักวิชาการด้านต่างๆ ได้เรียนรู้ หลักการประชาธิปไตย ภายใต้กฎหมาย
ภายใต้แบบธรรมเนียมฯ ได้เรียนรู้ สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎหมาย
ภายใต้แบบธรรมเนียมฯ เพื่อกลับออกมาเป็นพลเมืองที่ดี
เป็นประชาชนที่มีคุณภาพของประเทศชาติบ้านเมืองสืบไป
จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ (ผู้เขียน)
๖ ก.พ. ๒๕๕๖