ประชันวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ กทม. เรื่องชุมชนเมือง
เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ผม. ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ได้รับเชิญจากเนชั่นแชนแนล ไปประชันวิสัยทัศน์พร้อมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นายสุหฤท สยามวาลา และนายโฆสิต สุวินิจจิต เรื่องนโยบายต่อชุมชนเมือง ที่ The Coast สี่แยกบางนา ลองอ่านดูครับ หากพิจารณาอย่างไม่มีอคติจากวิสัยทัศน์ที่ผมแสดง จะเห็นได้ว่าผมสมควรเป็นผู้ว่าฯ กทม.
การพัฒนาอาชีพชาวบ้าน
ปกติการฝึกอาชีพให้ชาวบ้านที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าฝึก 100 คน มาจริง 70 คน ฝึกไประยะหนึ่งอาจเหลือเพียงครึ่งเดียว และตอนจบหลักสูตรอาจเหลือเพียง 10-20 คน ที่ฝึกไปก็ไปประกอบอาชีพจริงเพียงบางคนเท่านั้น และมีน้อยคนที่ประสบความสำเร็จยึดเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน
ผมเสนอว่าสิ่งสำคัญที่เราต้องฝึกให้แก่ประชาชนก็คือการมีวิญญาณของผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจขนาดย่อม ต้องคิดเป็นวางแผนทางการเงินเป็น ไม่ใช่มีแต่ทักษะในการทำธุรกิจค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น และอีกอย่างหนึ่งที่พึงฝึกก็คือการฝึกให้เป็น “พนักงาน/ลูกจ้างคุณภาพ” เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งนอกจากจะมีความสามารถทางวิชาชีพแล้ว ยังมีวินัย บุคลิกและความน่าเชื่อถืออีกด้วย
ความปลอดภัยในชุมชน
ผมเสนอให้มีการประกันภัยบ้านจากไฟไหม้ ปล้น ลักขโมย ซึ่งส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ใน กทม. มีครัวเรือนประมาณ 2 ล้านครัวเรือน เบี้ยประกันน่าจะต่ำมาก และผมยังจะประสานงานกับบริษัทประกันของรัฐเพื่อให้เบี้ยประกันต่ำลงอีก กรณีนี้ผมแนะให้ให้ชาวบ้านช่วยตัวเองในเบื้องต้นโดย กทม. เป็นผู้สนับสนุนไม่ใช่เน้นแต่การให้
ผมยังเสนอโครงการ “เพื่อนบ้านดูแลกัน” ซึ่งยังเป็นการฟื้นฟู-กระชับความสัมพันธ์ในชุมชน นอกจากนี้ยังจัดตั้งหน่วยตำรวจบ้านคอยลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมงในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งการให้ภาคธุรกิจเอกชนร่วมกันลงขันบริจาคเพื่อการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการรักษาความปลอดภัย หากสร้างมั่นใจได้ในความโปร่งใส และลำพังงบประมาณของ กทม. เองก็อาจไม่เพียงพอ
การแก้ปัญหาจราจร
ในเบื้องต้น ผมเสนอให้ทำบัสเลน เฉพาะช่วงเช้าเย็น มีอาสาสมัครคอยดูแล เพราะขณะนี้ในเวลาเร่งด่วนรถบีอาร์ทีก็วิ่งไมได้ เพราะมีรถยนต์อื่นเข้าไปในช่องทางเช่นกัน ผมเคยเสนอให้เลิกบีอาร์ทีและสร้างรถไฟฟ้าแทนเพราะกินพื้นที่ 2 ช่องทางจราจรตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งที่ควรเอามาใช้ประโยชน์อื่นในเวลาที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน
แต่จะแก้ไขอย่างเป็นระบบองค์รวม ต้องใช้รถไฟฟ้าเป็นสำคัญซึ่งผมเคยเสนอไว้แล้ว ตลอดช่วงที่ผ่านมาเฉพาะบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพมหานคร ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 440,000 ล้านบาท หากมีการบริหารจัดการภาษีทรัพย์สินที่ดี รัฐบาลและ กทม. จะมีเงินพอสร้างรถไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกู้ ผมยังเคยเสนอให้สร้างรถไฟฟ้ามวลเบาในพื้นที่ปิดล้อมใกล้สถานีรถไฟฟ้า ปัจจุบัน เช่น จุดถนนอ่อนนุช จุดอุดมสุข และจุดลาซาล เป็นต้น
ผมเคยเสนอถึง “นโยบายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันแรก” โดยส่งเสริมให้ใช้แทนรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งประหยัดราคาค่ารถและค่าน้ำมันไปอีกมหาศาล รวมทั้งได้ประกาศนโยบายรถจักรยานสองล้อให้เช่าเพื่อการไปทำงานมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยเสนอให้มี 40,000 คันใน 1,000 จุดทั่วเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร
การจัดการน้ำท่วม
เฉพาะในส่วนของ กทม. ผมนำเสนอให้สร้างเขื่อนรอบแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันน้ำท่วมและยังปิดโอกาสการแอบระบายน้ำเสียลงแม่น้ำอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นเขื่อนนี้จะเป็นถนน 4 ช่องทางจราจร (ข้างละ 2 ช่อง) ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ถนนที่ขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครอีกด้วย
นอกจากนี้ในกรณีการป้องกันน้ำทะเลหนุนยังต้องสร้างประตูเปิดปิดน้ำขนาดยักษ์ เช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อการป้องกันรวมทั้งแนวเขื่อน/ถนนรอบอ่าวไทย และภายในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ป้องกันใกล้เคียงเองยังต้องมีระบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา
การจัดการหนี้นอกระบบ
ต่อปัญหานี้ผมเสนอว่าการปล่อยกู้ลักษณะนี้ผิดกฎหมาย จะยอมให้เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ทางราชกานต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเจรจาตกลงกับเจ้าหนี้ให้ได้เพื่อลดหนี้ให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายและคุ้มครองลูกหนี้ที่กลายเป็น “ทาสเงินกู้” ไปแล้ว
ผมไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าจะหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยถูก หรือช่วยปลดหนี้เช่นผู้อื่น เพราะนั่นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาแบบปลายเหตุโดยไม่แตะต้องธุรกิจผิดกฎหมายที่ย่ำยีประชาชนอยู่ทุกวัน แถมยังกลายเป็นการช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้ด้วยการช่วยหาเงินมาใช้หนี้ให้พวกเขาอีกด้วย
ข้อวิจารณ์ผู้สมัครอื่น
บางท่านมักจะเสนอว่าจะทำโน่นนี่หรือได้ทำโน่นนี่มาแล้ว แต่ทั้งนี้เกือบทั้งหมดเป็นงานประจำหรือไม่ก็อยู่ในแผนของ กทม. อยู่แล้วไม่พึงยกมาเป็นผลงานเฉพาะของตนเองแต่อย่างใด รวมทั้งเรื่องอุโมงค์ยักษ์ ซึ่งอ้างว่าทำงานได้ผล แต่กลับเป็นที่กังขาของประชาชนเป็นอย่างมากถึงประสิทธิภาพและก็ยังไม่แล้วเสร็จระหว่างที่เกิดน้ำท่วมอีกด้วย นอกจากนี้บางท่านวางแผนจะให้รถไฟฟ้าวิ่งตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง ทั่วโลกไม่มีมหานครขนาดใหญ่ใดๆ เปิดบริการตลอดเช่นนี้เพราะไม่มีผู้โดยสารที่เพียงพอต่อการบริการ นอกจากนี้บางท่านยังเสนอให้สร้างทางเท้า Skywalk และเลนจักรยานยกระดับตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าซึ่งคงเป็นไปไม่ได้เพราะเสียเงินมหาศาลและไม่คุ้มค่า
วิญญูชนโปรดพิจารณาดูนะครับ วิสัยทัศน์ของผมกับตัวเก็งทั้งหลายเป็นอย่างไร ผมมั่นใจได้ว่าหากท่านได้มีโอกาสเห็นจะมั่นใจได้ว่าผมสามารถทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้จริง และที่สำคัญ ผมคิดได้เองและไม่ได้พูดตามสคริป
ที่มา: http://sopon4.blogsp...2013/02/24.html
Edited by pornchokchai, 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 - 04:45.