http://www.manager.c...D=9560000019773
แบงก์ชาติขาดทุนเป็นภาพมายา แบงก์รัฐเจ๊งแล้ว 2 แบงก์ นี่สิของจริง
ถ้านายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีนิสัยใจคอ มีพฤติกรรมแบบเดียวกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นายประสารคงจะเขียนจดหมายถึงนายกิตติรัตน์ และนายวีรพงษ์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านเศรฐกิจ ของนายกรัฐมนตรี ให้ดูแล สะสางหนี้เน่า ของธนาคารของรัฐ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังให้ดี เพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องพังพินาศ และคาดโทษว่า นายกิตติรัตน์ และนายวีรพงษ์ต่องรับผิดชอบ
แต่นายประสารเป็นข้าราชการที่ทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ด้วยความสามารถ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ในความรับผิดชอบ ไม่ใช่ “ขี้ข้าทักษิณ” ที่กล้าทำทุกอย่าง เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เราจึงไม่ได้เห็น จดหมายจากผู้ว่าแบงก์ชาติ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในขณะที่ นายวีรพงษ์ และนายกิตติรัตน์ สร้างภาพ หลอกชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ว่า การขาดทุนของแบงก์ชาติ สี่แสนถึงห้าแสนล้านบาทนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยพังพินาศ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ธนาคารของรัฐอย่างน้อยสองแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายกิตติรัตน์ คือ เอสเอ็มอีแบงก์ และ ไอแบงก์ หรือ ธนาคารอิสลาม มีหนี้เน่ารายละ สี่ถึงห้าหมื่นล้านบาท และมีฐานะล้มละลายแล้ว
ในทางปฏิบัติ เอสเอ็มอีแบงก์ กับไอแบงก์ เจ๊งแล้ว หากมิใช่ธนาคารของกระทรวงการคลังที่มีผู้ฝากเงินเป็นรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ อย่างเช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย หรือกองทุนประกันสังคมฯลฯ ที่รัฐบาลสั่งได้ แต่เป็นผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นประชาชนทั่วไป ป่านนี้ เราคงได้เห็นปรากฎการณ์ “ Bank Run” คือ ผู้ฝากเงินแตกตื่นแห่กันไปถอนเงิน จนธนาคารล้ม เหมือนที่เคยเกิดกับบริษัทเงินทุน และธนาคารเอกชนเมื่อยี่สิบปีก่อน
ในขณะที่การขาดทุนของแบงก์ชาติ ซึ่งนายกิตติรัตน์ และนายวีรพงษ์ พยายามวาดภาพให้น่ากลัว ได้รับการอธิบายจากผู้รู้จริง โดยเฉพาะนายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และลูกหม้อเก่าแบงก์ชาติว่า เป็นการขาดทุนทางบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกนี้ เพราะ เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และไม่ใช่หนี้สาธารณะไม่เป็นภาระของประชาชน
แต่ปัญหาหนี้เน่าของเอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์นั้น ได้รับการยอมรับจากกระทรวงการคลังเอง ถึงขั้นนายกิตติรัตน์เอง เป็นผู้ให้ข่าวเองว่า ต้องมีการควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสิน ก่อนที่จะมีคนไปเตือนว่า คำพูดเช่นนี้ของคนที่เป็นรัฐมนตรีคลัง จะส่งผลกระทบอย่างไร จึงกลับคำพูดเสียใหม่ว่า ข้อเสอนควบรวมเป็นข้อเสนอของธนาคารโลก กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนที่จะควบรวมในตอนนี้
ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกระทรวงการคลังเอง สถานะของเอสเอ็มอีแบงก์ มีหนี้เสียประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 40% ของหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ 9.7 หมื่นล้านบาท มีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบ 0.95% ขณะที่ไอแบงก์ มีหนี้เสีย 2.47 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 22.5% ของหนี้ทั้งหมด เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 4.6% ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดว่าต้องมีไม่ต่ำกว่า 8.5%
เอสเอ็มอีแบงก์ ต้องการเงินเพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท ส่วนไอแบงก์ ต้องการ 1.4 หมื่นล้านบาท รวม สองแบงก์ รัฐบาลต้องใส่เงินเข้าไป 2 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้หนี้เสีย และทำให้เงินกองทุนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานบีเอสไอ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังส่งทีมงานจาก สศค.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าไปดูแลและติดตามการบริหารแผนฟื้นฟู เอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์ และให้ทีมงานดังกล่าวรายงานตรงต่อนายกิตติรัตน์ กับนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง
ในขณะที่นายอารีพงศ์กล่าวว่า จะให้เวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนจะพิจารณาว่าจะเพิ่มทุนให้ หรือหากทำไม่ได้ก็จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
คำว่า กระทรวงการคลังส่งทีมงานเข้าไปดูแล และติดตามการบริหารแผนฟื้นฟู นั้น หากเป็นคนธรรมดาทั่วไปฟังดูก็เฉยๆ แต่สำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย นัยของคำๆนี้ ในภาษาอังกฤษคือ “receivership” หากใช้กับธุรกิจทั่วไปของเอกชนคือ การพิทักษ์ทรัพย์ เพราะกิจการอยู่ในสถานะล้มละลาย
นี่คือ ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีแบงก์ กับไอแบงก์ เวลา 6 เดือนที่กระทรวงการคลังให้กับธนาคารทั้งสองแห่งในการแก้ปัญหา เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เพื่อหาเหตุผลในการเพิ่มทุน หากต้องเพิ่มทุน เงินที่เพิ่มทุนนี้แหละ คือ ภาษีของประชาชนชนที่ ต้องเข้าไปอุ้มธนาคารของรัฐภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง
(ต่อ ต้นตอปัญหาหนี้เน่า คือคนของไอ้แม้วเลอร์ทั้งสิ้น)