'ครก.112'ย้ำแก้'ม.112'เป็นสิทธิปชช.
'คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112' เตรียมส่งหนังสือโต้แย้งคำสั่งปธ.รัฐสภา
ชี้การเสนอแก้ไข กม.หมิ่นฯ 'กษัตริย์' ไม่ใช่เปิดให้แสดงความเห็นตามอำเภอใจ
แต่เพื่อรักษาสถาบันฯ
17 ก.พ. 56 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112)
นำโดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวาด รวี จากคณะนักเขียนแสงสำนึก
แถลงข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว กรณีรัฐสภาปัดตก ร่างพรบ.ฉบับแก้ไข ม.112 ณ
ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 55 ครก.112
นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวม 30,383 คน
ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ... (ฉบับที่...) (ร่างแก้ไขมาตรา 112
ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์) และต่อมาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 55 นายสมศักดิ์
เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภามีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา
เพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3
ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเสนอ
ครก.112 จึงทำหนังสือคัดค้านคำสั่งไม่รับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายอาญา ยื่นอุทธรณ์ต่อประธานรัฐสภาอย่างเป็นทางการ ในหนังสือลงวันที่
15 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้ประธานรัฐสภาทบทวนคำสั่งแล้ววินิจฉัยใหม่
โดยแสดงเหตุผลหลายประการ
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวว่าไม่ได้หมายความว่าเมื่อกฎหมายใดเกี่ยวข้องกับ
พระมหากษัตริย์แล้วจะไม่เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ทั้งนี้
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ที่เสนอต่อประธานรัฐสภานั้น เป็นกฎหมายในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าอัตราโทษของความผิดตามบทบัญญัติในมาตรา 112
ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิดจึงขัดหรือแย้งกับหลักความพอสมควรแก่
เหตุหรือหลักสัดส่วนซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 อีกทั้งในแง่การบังคับใช้
ก็ยังพบว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ผู้ต้องหามีโอกาสได้รับการประกันตัวน้อยกว่าคดีอื่นๆ
เป็นกฎหมายที่ถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองไม่ได้นำกฎหมายไปใช้เพื่อปกป้อง
สถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง ครก.112 จึงเห็นว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 น่าจะแก้ปัญหาได้
และมีเนื้อหาที่เข้ากับหมวด 3 แห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ผศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่าที่ประธานรัฐสภาระบุเหตุผลว่าการแก้ไขกฎหมายจะทำให้เกิด
การละเมิดสถาบันกษัตริย์นั้น ที่จริงแล้วร่างข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของครก. 112
ไม่ได้แปลว่าประชาชนจะละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้โดยไม่มีความผิด
การแก้มาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อให้คนละเมิดกษัตริย์อย่างเสรี
ครก.ชี้แจงเหตุผลในหนังสืออุทธรณ์ ระบุว่า
การที่ประธานรัฐสภาให้เหตุผลว่า การแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา 45 ต้องอยู่ภายใต้มาตรา 8 รัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า
องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ
ผู้ใดจะละเมิดมิได้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อ
องค์พระมหากษัตริย์ การกล่าวเช่นนี้มีปัญหาความไม่เชื่อมโยงกันของเหตุผล
เพราะข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาครั้งนี้มิได้มีจุดมุ่งหมาย
เพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นล่วงละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ได้อย่างเสรี
แต่การแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวนั้น ก็เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์
ดำรงอยู่ได้โดยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
ครก. 112 ยังเห็นว่าคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องไว้พิจารณาของประธานรัฐสภาโดยมิได้เรียกผู้เสนอ
กฎหมายเข้าไปชี้แจงเหตุผลอย่างเต็มที่ เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
นายวาด รวี จากคณะนักเขียนแสงสำนึกในฐานะตัวแทนครก. 112 กล่าวว่า ทางครก. 112
ได้อุทธรณ์เพื่อให้ประธานสภาได้วินิจฉัยอีกครั้ง ถ้ายังยืนยันความเห็นเดิม
ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง
ปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งหมายความว่าประธานรัฐสภาต้องเรียกให้ตัวแทนผู้ยื่นหนังสือเข้าพบ
และมีโอกาสโต้แย้งแสดงเหตุผลของตนเองอย่างเต็มที่
ก่อนที่จะปัดตกหนังสือของประชาชน
ทั้งนี้ในหนังสือคัดค้านคำสั่งประธานรัฐสภาดังกล่าว ลงนามโดยผู้แทน
การเข้าชื่อกฎหมาย ทั้ง 6 คน อันได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รองศาสตราจารย์
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, นายรวี สิริอิสระนันท์ (วาด รวี)
ในท้ายหนังสืออุทธรณ์ คณะครก. 112 ยังเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาเร่งนำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขมาตรา 112
ให้สภาพิจารณาต่อไปโดยเร็ว
สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ของครก. 112 หลังจากนี้ จะมีกิจกรรมทางวิชาการ ที่นำคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับมาตรา 112
มาวิเคราะห์ซึ่งจะจัดขึ้นราวปลายเดือนมีนาคม
ที่มา http://www.komchadlu...นสิทธิปชช..html
Edited by Andiond Thunder, 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 - 15:31.