จูดี้หนีดีเบตยังไงอ่านที่นี่ จากคุณสมชัย ศรีสุทธิยากร องค์กรกลางผู้จัดงาน
@สมชัย ศรีสุทธิยากร
ใครอยากอ่าน เรื่องเฟอร์บี้ ไปดีเบต ศรีปทุม ยาวๆ อ่านที่นี่
ลำดับเหตุการณ์ การติดต่อพรรคเพื่อไทย กรณีดีเบตที่ศรีปทุม
เนื่องจากมีการชี้แจงของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการจัดดีเบตที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะผู้จัดผมใคร่ขอเรียนถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังนี้
1. ประมาณต้นเดือน ก.พ. หลังจากที่ รอง โสภิต (รองอธิการบดี ม.ศรีปทุม) ได้โทรหาผม เพื่อเสนอ ว่า ม.ศรีปทุม ควรจัดดีเบต ผมได้โทรหา นายภูมิธรรม เวชยชัย (พี่อ้วน) เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ของพรรคเพื่อไทย ว่าจะมีความเป็นไปได้เพียงไรที่จะจัดดีเบต ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งภูมิธรรม ได้บอกว่า เป็นไปได้ ขอให้ทำรายละเอียดมา
2. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ทำจดหมายเชิญผู้สมัคร 4 ราย ลงนามโดยพลเอกสายหยุด เกิดผล พร้อมร่าง กติกาเบื้องต้น ส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้สมัครทั้ง 4 ราย ซึ่งคาดว่าหนังสือจะถึงพรรคหรือ ผู้สมัคร ไม่เกินวันที่ 10 กุมภาพันธ์
3. หลังจากส่งหนังสือถึงผู้สมัคร ผมได้ติดต่อ ภูมิธรรม อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้รับการยืนยันว่าทราบเรื่องแล้ว และขอให้ผมติดต่อโดยตรงกับระดับเจ้าหน้าที่ โดยให้ชื่อ คุณแพรว (คนเดียวกับที่ผมติดต่อ ตอนดีเบต นายกรัฐมนตรีเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป ปี 53) ซึ่งคุณแพรว บอกรับเรื่องแล้วและส่งให้คนที่รับผิดชอบดำเนินการต่อ แต่ไม่ให้เบอร์ติดต่อโดยตรง ดังนั้น จุดเชื่อมต่อที่เชื่อมได้ในขณะนั้น คือ คุณแพรว
4. ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ ผมได้พยายามติดต่อคุณแพรว หลายครั้ง มีประมาณ 3 ครั้งที่โทรติด และได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนที่ดูแลคิวใกล้ชิด คือ คุณชิว หรือ คุณณรงค์ แต่ไม่ยอมให้เบอร์โทรติดต่อ แม้ผมจะขอทุกครั้งบอกว่าจะให้เขาติดต่อกลับ แต่ไม่มีการติดต่อกลับ หลังจากนั้น ผมพยายามติดต่อคุณแพรวด้วยการโทรที่ถี่ขึ้น แต่คุณแพรวไม่ยอมรับสาย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว มหาวิทยาลัย ต้องเดินหน้าดำเนินการในการจัดเตรียมสถานที่ การประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งรอไม่ได้ และ จากการรับปากเบื้องต้นจาก ภูมิธรรม ที่มีตำแหน่งสูงถึงเลขาธิการพรรค และผู้อำนวยการเลือกตั้ง ผมจึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา
5. สำหรับผู้สมัครรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มรว. สุขุมพันธุ์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และนายโฆสิต ผมได้ใช้วิธีการทาบทามทางโทรศัพท์ ผ่านทีมงานสนับสนุน และ ส่งจดหมายเชิญ เช่นเดียวกัน ทุกท่านรับปากว่าจะมา โดยไม่มีหนังสือตอบรับเป็นทางการทุกราย ยกเว้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งมีหนังสือตอบรับเป็นทางการมาเมื่อวันที่วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ เพียงรายเดียว
6. ในระหว่างการดำเนินการ ผู้จัดได้ทาบทาม เคเบิ้ลทีวี 4 ราย เพื่อทำการถ่ายทอดสด คือ วอยซ์ทีวี (ติดต่อผ่านคุณ ปิยะดา ซึ่งเป็นเลขาของคุณทรงศักดิ์ เปรมสุข ผู้อำนวยการสถานี) สปริงนิวส์ (ติดต่อ
คุณสุทธิชัย บุนนาก ประธานกรรมการบริษัท) บลูสกายแชนแนล (ติดต่อผ่านคุณเถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานี) และ มีเดียนิวส์ (ติดต่อผ่านคุณสมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ช่อง 7 สี) ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเพียงรายเดียว คือ สปริงนิวส์ ส่วยวอยซ์ทีวี ตอบปฏิเสธ โดยส่งอีเมลล์ มาว่า เราเป็นสถานีเล็กๆไม่มีความพร้อมในการถ่ายทอด บลูสกายแชนแนล แจ้งว่าต้นทุนสูง ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่อาจเชื่อมสัญญาณทางอินเตอร์เน็ต ในบางช่วงเวลา ส่วนมีเดียนิวส์ แจ้งว่า การนำรถโมบาย (mobile)ออกไปถ่ายทอดเป็นเรื่องใหญ่ คงไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น จึงไม่เป็นจริงตามที่พรรคเพื่อไทย บอกว่าผู้จัดมีแนวคิดจะถ่ายทอดผ่านบลูสกายแชนแนลเท่านั้น
7. วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลา ประมาณ 17.30 น. ผมได้รับการติดต่อจากคุณณรงค์ โดยโทรเข้ามาที่มือถือของผมเอง (เนื่องจากผมไม่มีเบอร์คุณณรงค์) แจ้งว่า พรรคมีมติไม่ร่วมการดีเบต โดยบอกว่าผู้สมัครติดภารกิจในวันดังกล่าว ซึ่งผมบอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็เสียหาย เพราะมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการไปมากแล้ว และใช้งบประมาณเกือบแสนบาทในการดำเนินการ ขอให้ทบทวน เพราะการดีเบตน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน คุณณรงค์ยืนยันว่าพรรคมีมติไปแล้ว คงไม่ทบทวน ผมแจ้งว่า อาจตั้งตุ๊กตาเฟอร์บี้แทน คุณณรงค์ กล่าวว่า อยากทำอะไรก็ทำ เป็นเรื่องของอาจารย์
8. วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ ผมติดต่อกับคุณณรงค์ เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการทบทวน คุณณรงค์แจ้งว่า มีมติแล้วว่าไม่ไป โดย บอกว่า จะไป ต่อเมื่อ
1)เป็นการดีเบตกับ ม.ร.ว สุขุมพันธุ์ เท่านั้น เพราะหากไปฟังคนอื่นจะเสียเวลามาก
2) จะไปเฉพาะรายการที่มีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีเท่านั้น ซึ่งทั้งสองประเด็นดังกล่าว ก็ไม่เป็นจริง เนื่องจากในประเด็นแรก วันพฤหัสที่ 21 ก.พ. ช่วงเช้า พล.ต.อ. พงศ์พัศ ก็ได้ไปที่ คุรุสภา ซึ่งมีผู้สมัครไปพูดถึง 13 คน และ วันพฤหัสที่ 21 ก.พ. ทางเนชั่น ก็จัดดีเบต 2 คน กับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ แต่ พล.ต.อ. ก็ไม่ไปเช่นกัน ส่วนการถ่ายทอดดีเบตทางฟรีทีวี ไม่มีใครสามารถทำได้
เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงมาก
9. ผมพยายามเสนอทางเลือกให้ พล.ต.อ.พงศ์พัศ มาเพียงบางช่วง เช่น อาจจะมาเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งคุณณรงค์ก็รับปากว่า น่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ โดยจะต้องดูจากตารางเวลาในวันนั้นก่อน โดยแผนการหาเสียงในแต่ละวันจะไม่นิ่ง ปรับเปลี่ยนทุกวัน โดย ของวันพฤหัสที่จะดีเบต จะมีการเคาะกันนาทีสุดท้ายในคืนวันพุธ เวลา ประมาณ 20.00 น. โดยรับปากว่า หากเป็นไปได้ จะพยายามแทรกให้มาในบางช่วงเวลา เพราะกำหนดการที่มีในวันพฤหัส มีดังนี้ ช่วงเช้า ไปคุรุสภา หลังจากนั้นไปที่ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ตอนเที่ยงไป หาเสียงที่ตลาดชลประทาน ถนนสามเสน
หลังมีโปรแกรมอีกที ประมาณ 5 โมงเย็น ไปหาเสียงร่วมกับนายกรัฐมนตรี ที่ตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งไม่มีกำหนดการสำคัญในช่วงบ่ายซึ่งน่าจะสามารถปลีกเวลามาได้
10. วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ ประมาณ 9.00 น. ผมโทร คุณภูมิธรรม อีกครั้ง แจ้งปัญหาที่ พล.ต.อ. พงศพัศ มาไม่ได้ และ ทำให้งานเสียหาย คุณภูมิธรรม อธิบายว่า ผมต้องประสานกับคุณณรงค์แต่แรก
ไม่ควรประสานกับคุณแพรว (ทั้งๆที่ เป็นคนให้เบอร์ คุณแพรว แก่ผมเองเพื่อเดินเรื่องต่อ) และ แจ้งว่า จะพยายามคุยเพื่อให้ปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้เท่าที่ทำได้
11. วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลา ประมาณ 13.00 น. ผมโทรหาคุณณรงค์แจ้งให้ทราบว่า ผู้สมัครทุกคนมาครบหมด และ มีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม สปริงนิวส์ คุณณรงค์ ก็เล่ากำหนดการให้ฟังว่า วันพฤหัสคิวยังเหมือนเดิม คือ เช้า คุรุสภา สวนดุสิต เที่ยงที่ตลาดชลประทานบ่ายไม่มีกำหนดการสำคัญ และเย็น 17.00 น. ร่วมหาเสียงกับนายกรัฐมนตรีที่ตลาดยิ่งเจริญ ดังนั้นคืนนี้ (วันพุธ) เวลา ประมาณ 20.00 น. จะรายงาน พล.ต.อ. พงศพัศ ให้ทราบถึงการดีเบตที่ศรีปทุม เพื่อให้ท่านตัดสินใจ และ อาจปลีกเวลามาได้ ประมาณ ครึ่ง ถึง หนึ่ง ชม.
12. เวลา 18.56 น. มี SMS จาก คุณณรงค์ มาถึงผม ข้อความว่า “ตกลงพรุ่งนี้ท่านเข้าไม่ได้ครับ ขอโทษด้วยครับ” โดยไม่เหตุผลใดๆ และผมไม่ได้โทรศัพท์กลับ
13. วันพฤหัสที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 7.41 น. ผมส่ง SMS กลับไปยังคุณณรงค์ ข้อความว่า “วันนี้ มีอธิการบดีและผู้บริหารทั้งมหาวิทยาลัยมาร่วมฟัง และถ่ายทอดสดทางสปริงนิวส์ น่าจะใช้เวลาในการดีเบตแค่ 2 ชั่วโมง 13.00-15.00 ทางมหาวิทยาลัย หวังว่าจะได้รับเกียรติจากอนาคตผู้ว่า แวะมาสักครึ่ง ชม. ครับ จะตั้งเก้าอี้รอ รบกวนแจ้งท่านด้วย”
14. การดีเบต มีขึ้น ระหว่างเวลา 13.15 ถึง 15.30 น. โดยประมาณ โดยไม่มี พล.ต.อ. พงศพัศ เข้าร่วม และมีการตั้งตุ๊กตาเฟอร์บี้ ตามที่เตรียมการ
15. เวลาประมาณ 16.00-17.00 น. มีโทรศัพท์ จาก พล.ต.อ. พงศพัศ โทรเข้ามีถือผม พูดจาแบบสุภาพ เป็นมิตรบอกว่า วันนี้ไม่ทราบเลยว่ามีดีเบตที่ศรีปทุม หากทราบต้องมาแน่ๆ ทำไมพรรคเพื่อไทยไม่บอกอะไรผมเลย โดยโทรเข้า ต่อเนื่องในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงถึง 3 ครั้ง และย้ำในประเด็นเดิมว่า ว่าไม่ทราบ ต้องขออภัย หากทราบจะต้องมาแน่ๆ เพราะสนิทกับผม อย่าว่าแต่สามชั่วโมงเลย 6 ชั่วโมงก็ว่าง และในตอนบ่ายวันนี้ก็ว่างไม่มีกำหนดการอะไร ผมแจ้งกลับว่า ถ้าเช่นนั้นก็เป็นปัญหาที่พรรคเพื่อไทย หรือ ระบบการจัดการภายในพรรค ที่ท่านจะต้องไปจัดการกันเอง
16. ประมาณ 17.00 น. มีโทรศัพท์ จาก คุณภูมิธรรม เข้ามาต่อว่าผมด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย โดยผมได้พยายามชี้แจงถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และ ให้แง่คิดว่า การดีเบต เป็นสิ่งที่ผู้สมัครต้องให้ความสำคัญ และ กลไกในพรรคอาจเป็นปัญหาในการจัดการ
17. การที่พรรคเพื่อไทยกล่าวอ้างว่าพล.ต.อ. พงศพัศ ติดภารกิจ ไม่สามารถมาดีเบตได้ เนื่องจากมีคิวไปพบ คณะครู กทม. เกือบ 1,000 คน ที่ห้องประชุมคุรุสภา ตั้งแต่เวลา 9.00-14.00 น.
การจัดรายการดังกล่าว มี ผู้สมัครไปร่วมรายการ 13 คน และ ให้พูดทีละคน ใครไปก่อนได้พูดก่อน และสามารถกลับได้ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องอยู่จน ถึง 14.00 น. ในทางตรงข้าม ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ก็ได้ไปร่วมดีเบต ที่ คุรุสภา เช่นกัน แต่ก็สามารถมาร่วมดีเบต ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ จึงแปลความหมายได้ว่า การอยู่ที่ หอประชุมคุรุสภา เป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อเลี่ยงการดีเบต
18. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางในการประสานงานให้มีการดีเบต ครั้งสำคัญต่างๆของประเทศ แต่ทุกครั้งที่ประสานกับ พรรคเพื่อไทย (หรือ ไทยรักไทย) มักจะได้รับการตอบสนองแบบเห็นแก่ประโยชน์ความได้เปรียบเสียเปรียบของตนเป็นหลัก เมื่อได้ประโยชน์ ก็จะมา เมื่อเห็นว่าเสียประโยชน์ก็จะหลีกเลี่ยง ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อประชาชนเป็นหลัก เช่น การดีเบต เลือกตั้งทั่วไป ปี 2554 ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ( พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เข้าร่วมดีเบตในฐานะหัวหน้า พรรคไทยไทยรักไทย กับ นายชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี)
การดีเบต เลือกตั้งทั่วไป ปี 48 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี หลีกเลี่ยงการดีเบต โดยไม่ตอบรับ ไม่ตอบปฏิเสธ บอกว่า ถ้ามาก็จะมาเอง) การดีเบต เลือกตั้งทั่วไปปี 53 ที่ห้องประชุมบัวหลวง ม.ศรีปทุม (นส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธไม่ยอมร่วมเวทีดีเบตทุกเวที และ ส่ง นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ์ มาแทน) และการดีเบตผู้ว่า กทม. ที่ผ่านมา (มีการกีดกันข้อมูลไม่ให้ผู้สมัครทราบกำหนดการ และตัดสินใจแทนผู้สมัคร) ซึ่งกรณีทั้งหมดถือเป็นเรื่องการขาดสปิริตทางการเมือง ที่จะนำเสนอตนเองต่อสาธารณะ มุ่งหวังเพียงเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง จนขาดความเป็นสุภาพบุรุษ และเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งหากพรรคการเมือง หรือฝ่ายการเมืองต่างๆในประเทศคิดอย่างนี้ ประเทศคงห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตย
สมชัย ศรีสุทธิยากร 22 ก.พ. 2556