ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -
นายจ้างเชียงใหม่เริ่มเจอผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว เผย 2เดือนแรกหลายบริษัททยอยปิดกิจการ ทั้งกลุ่มเสื้อผ้าส่งออก ไม้แกะสลักและกระดาษสา แรงงานจังหวัดจับตาธุรกิจท่องเที่ยว
โรงแรมหมดฤดูท่องเที่ยวอาจวิกฤตหนัก
วันนี้ (27 ก.พ.) นายเฉลิมศักดิ์ อุทกสินธุ์ แรงงานจังหวัดเชียงใหม่
นำเสนอต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ครั้งที่ 2/2556
ว่าจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เชียงใหม่ปรับเพิ่มจากเดิมวันละ
251 บาท เป็น 300 บาท เพิ่มขึ้น 49 บาท และตลอดเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา
สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด
สำนักงานจัดหางานจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด
สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคเหนือ
(เชียงใหม่) ร่วมกันออกเยี่ยมเยียนสถานประกอบการเพื่อรับฟังความคิดเห็น
ปัญหา ข้อเสนอ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข กรณีได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง
ทั้งนี้ พบว่าสถานประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ
อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ผลิตไม้แกะสลัก และผลิตกระดาษสา
เนื่องจากยังพอมียอดสั่งซื้ออยู่ 3-4 เดือน
ซึ่งหากไม่สามารถหายอดสั่งซื้อได้อีก อาจจะต้องเลิกจ้าง
โดยแห่งแรกที่ประสบปัญหาคือ บริษัท ยงสง่า จำกัด (สาขาเชียงใหม่)
ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก เดิมมีลูกจ้างรายวัน 145 คน รายเดือน 15 คน
ปัจจุบันเหลือลูกจ้างรายเดือน 7 คน
เนื่องจากย้ายฐานการผลิตจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ
ลูกจ้างไม่ประสงค์จะย้ายตามจึงลาออก โดยบริษัทจ่ายค่าชดเชยให้
อีกรายเป็นบริษัท บ้านไทยการ์เม้นท์ จำกัด
ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก มีลูกจ้าง 71 คน ปัจจุบันยอดสั่งซื้อลดลง
และขาดสภาพคล่อง จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 59 คน
พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300
บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556
พร้อมทั้งให้นำสินค้าในสต๊อกออกจำหน่ายราคาถูก
โดยอนุญาตให้ไปวางสินค้าที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด อ.สันกำแพง
และติดต่อจังหวัดเพื่อขออนุญาตนำสินค้ามาจำหน่ายในศาลากลาง
โดยจัดทำแบรนด์ของตนเอง พร้อมแนะนำให้เสริมสภาพคล่อง
โดยการกู้เงินจากโครงการของสำนักงานประกันสังคม ร่วมกับธนาคารกรุงไทย
ที่ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ บริษัท คอนเฟ็ดเดอร์เรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก มีลูกจ้าง 138 คน ยอดสั่งซื้อลดลง 60%
คาดว่าจะผลิตสินค้าได้ถึงเดือนกรกฎาคมนี้ หากภายในเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ไม่สามารถหายอดสั่งซื้อได้ อาจต้องลดจำนวนพนักงานหรือหยุดผลิต
ซึ่งบริษัทแจ้งความประสงค์จะให้รัฐบาลช่วยเหลือดังนี้ คือ 1.
ตั้งกองทุนชดเชยค่าจ้างส่วนต่าง ในอัตรา ปี 2556 ขอให้รัฐบาลจ่าย 75%
นายจ้างจ่าย 25% ปี 2557 ขอให้รัฐบาลจ่าย 50% นายจ้างจ่าย 50% ปี 2558
ขอให้รัฐบาลจ่าย 25% นายจ้างจ่าย 75% ปี 2559 ปล่อยค่าจ้างลอยตัว
นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียม บสย. 1.75% ต่อปี เป็นเวลา 3
ปี
เพื่อค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ในการขอสิน
เชื่อ ขอปรับเพิ่มอัตราขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก
ในหมวดเสื้อผ้าและอื่นๆอีกหลายรายการ
ขณะที่บริษัท ฝ้ายสันกำแพง จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดพรหมชนะพานิช
ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ได้ปรับตัวโดยขอความร่วมมือจากคนงานเพิ่มประสิทธิการทำงาน เพิ่มราคาสินค้า
ลดต้นทุนการผลิตทุกด้าน รวมถึงค่าน้ำ ค่ำไฟฟ้า และปรับลดสวัสดิการ
ซึ่งยังมีปัญหาในเรื่องของช่วงห่างอัตราค่าจ้าง
ระหว่างกลุ่มแรงงานมีฝีมือกับแรงงานไร้ฝีมือ
จึงได้ให้คำแนะนำให้ปรับอัตราค่าจ้างเป็นระดับ เป็นช่วงเวลา
และมีแผนการปรับอัตราค่าจ้าง โดยเพิ่มเป็นร้อยละ
ซึ่งทั้งสองบริษัทต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีช่องทางการตลาด
ที่กว้างขึ้น
นอกจากนั้นยังมีบริษัท เชียงใหม่แรม จำกัด ผลิตและส่งออกไม้แกะสลัก
มีลูกจ้าง 23 คน เลิกจ้าง 21 คน เนื่องจากขาดสภาพคล่อง ยอดสั่งซื้อลดลง
และได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
บริษัท สยามพรหมประทาน จำกัด ผลิตกระดาษสา มีลูกจ้าง 130 คน
ปัจจุบันยอดสั่งซื้อลดลง ซึ่งคาดว่าจะผลิตสินค้าได้อีก 3-4 เดือน
หากไม่สามารถหายอดสั่งซื้อได้ อาจต้องลดพนักงานหรือหยุดกิจการ
ซึ่งได้ให้คำแนะนำเรื่องแหล่งเงินกู้ การพัฒนาฝีมือแรงงาน
และการปรับอัตราค่าจ้างตามระดับฝีมือแรงงาน
โดยสรุปแล้ว มีธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือ ผลิตอุปกรณ์รถยนต์
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนธุรกิจที่น่าเป็นห่วงและควรเฝ้าระวัง คือ
ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เนื่องจากใกล้หมดฤดูท่องเที่ยวแล้ว
อาจจะเผชิญวิกฤตปัญหาค่าจ้างวันละ 300 บาทตามมา
เริ่มแล้ว ค่าแรง 300 บาท มาดูกันใครจะไปก่อนกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
ใครจะตายก่อนกัน