วันนี้(14มี.ค.) นายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีม.เทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มนักศึกษาทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นัดชุมนุมในวันที่ 15 มี.ค.เพื่อทวงคืนที่ดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ตนไม่อยากให้ประชาชนทั่วไปเกิดความหวาดกลัว และขอให้ใช้ชีวิตตามปกติ เพราะมั่นใจว่าการชุมนุมครั้งนี้จะไม่มีความรุนแรง ซึ่งเท่าที่ทราบการชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบและตั้งใจมาขอความเป็นธรรม ไม่ได้มาก่อความวุ่นวาย อีกทั้งศิษย์เก่าแต่ละคนก็เป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานมีเกียรติคงไม่ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร และทางคณาจารย์ของอุเทนฯก็ได้กำชับนักศึกษาปัจจุบันที่จะเข้าร่วมการชุมนุมให้เข้าร่วมด้วยความสงบ ห้ามพกอาวุธอย่างเด็ดขาด และตนยังได้รับการประสานว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 400 นายเข้ามาดูแลสถานการณ์ด้วย
“ผมไม่ห่วงว่าเด็กอุเทนฯ จะไปก่อความวุ่นวาย เพราะเด็กอุเทนฯตั้งใจมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ไม่ได้มาก่อสงคราม แต่ที่กังวลคือพวกประสงค์ร้ายหรือมือที่ 3 จะมาก่อกวน ขณะที่มีการส่งข่าวไปในทางไม่ดี อาทิ ห้ามผู้ปกครองพาบุตรหลานผ่านมาแถวที่ชุมนุม ซึ่งผมคิดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้ประชนชนเกิดความหวาดกลัว จึงอยากแจ้งไปถึงประชาชนทุกคนว่า ไม่ต้องกังวล และให้ใช้ชีวิตตามปกติ อุเทนฯไม่ได้มีอะไรน่ากลัว ส่วนที่สถาบันอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน แต่บุคลากรยังทำงานปกติ จึงไม่มีการสั่งปิดสถาบัน ”นายสืบพงษ์กล่าว
รศ.ดร.ปัญญา มินยง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน (สปท.) กล่าวว่า ทางสถาบันมีความห่วงใย ถึงความปลอดภัย และชีวิตของนักศึกษา จึงหารือกับผู้บริหารและเห็นตรงกันให้สั่งปิดสถาบันวันที่ 14-15 มี.ค.เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ส่วนนักศึกษาที่มีเรียนเสาร์-อาทิตย์ ยังเปิดเรียนตามปกติ ขณะเดียวกันได้กำชับนักศึกษาไม่ให้เข้าไปร่วมในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งนักศึกษาก็เข้าใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนั้นตนยังประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยดูแลความปลอดภัยภายในสถาบันดัวย หากมีเหตุการณ์รุนแรงจะควบคุมสถานการณ์ได้
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนได้หารือกับผู้บริหาร และคณบดีคณะต่าง ๆ เห็นร่วมกันให้วันที่ 15 มี.ค.ยังเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ เพราะจุฬาฯมีหน้าที่ให้บริการประชาชน การจะตัดสินใจปิดมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ แต่ก็ให้คณบดีทุกคณะคอยประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีความรุนแรงและเสี่ยงอันตรายก็สามารถหยุดการสอนได้ทันที ส่วนการรักษาความปลอดภัย เท่าที่ทราบจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย เข้ามาดูแลความเรียบร้อย เพราะกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายจากมือที่สาม
“ ทางมหาวิทยาลัยมีความห่วงใยในความปลอดภัยของบุคลากรและนิสิต ซึ่งได้กำชับให้ระมัดระวังตัว และหลีกเลี่ยงเส้นทางผ่านจุดชุมนุม แต่ผมยังมีความเชื่อมั่นในเกียรติภูมิของทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของอุเทนฯว่าจะชุมนุมด้วยความสงบ และเชื่อว่าทางอุเทนฯเองก็คงไม่อยากให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน ส่วนโรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ทั้งฝ่ายประถม และมัธยม ซึ่งมีกำหนดจะประกาศผลสอบในวันที่15 มี.ค.ก็จะเลื่อนออกไป เป็นสัปดาห์หน้า เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับความเดือดร้อน”ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว
รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ ผอ.ศูนย์รักษาความปลอดภัยและจัดการจราจร จุฬาฯ กล่าวว่า ตามที่ตกลงกับกลุ่มนักศึกษาอุเทนฯจะไม่มีการเดินขบวนเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย เพียงแต่อาจส่งตัวแทนเข้ามาแสดงเจตนารมณ์เท่านั้น ส่วนที่มีกระแสในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กที่นัดแนะนิสิตจุฬาฯไม่ให้แต่งเครื่องแบบ หรือใส่สัญญลักษณ์ที่แสดงว่าเป็นนิสิตจุฬาฯ นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่คำเตือนของมหาวิทยาลัย
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนได้แจ้งเตือนนิสิตและบุคลากรของคณะให้ระมัดระวังตัว โดยหลีกเลี่ยงบริเวณชุมนุม และไม่กระทำการอันเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่า การมาชุมนุมน่าจะเป็นการแสดงสปิริตของเด็กอุเทนฯ แต่คงไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรง เพราะความรุนแรงไม่ทำให้ใครได้ประโยชน์ ส่วนทางคณะยังคงเปิดการเรียนการสอน และบุคลากรของคณะยังคงมาทำงานตามปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาฯ ได้มีหนังสือเวียนแจ้งเตือน นิสิต บุคลากรของมหาวิทยาลัย ผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค อีเมล์ และมีการส่งต่อไปยังร้านค้าที่อยู่บริเวณย่านปทุมวัน ใจความว่า “เนื่องจากมีการชุมนุมของนิสิต /นิสิตเก่าของอุเทนถวาย ในวันที่ 15 มี.ค. 2556 คาดว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 4,000 คน เริ่มตั้งแต่ 8.00 น. เป็นต้นไป คาดว่าจะเคลื่อนขบวนจากหน้าอุเทนฯ ผ่านถนนพญาไท ไปเปิดปราศรัยที่จามจุรีสแควร์ จากนั้นเคลื่อนขบวนกลับ และหยุดเปิดปราศรัยที่สี่แยกไฟแดง หน้าสำนักงานอธิการบดี แล้วเดินต่อไปที่มาบุญครอง แล้วกลับไปที่อุเทนฯ จึงขอให้บุคลากรและนิสิตถือปฎิบัติ ดังนี้ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ปกติ โดยขอให้เข้า-ออก ด้านถนนอังรีดูนัง หลีกเลี่ยงการใช้ถนนพญาไท จามจุรีสแควร์ มาบุญครอง และสยามสแควร์ หลีกเลี่ยงการแต่งตัวหรือถือถุงหนังสือหรือสิ่งของใดๆ ที่บ่งบอกความเป็นจุฬาฯ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และหากพบเห็นสิ่งผิดปกติ และต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนใด ๆ ขอให้ติดต่อ รปภ.จุฬาฯ หรือรปภ.คณะ และขอให้สื่อสารไปยังบุคคลากร นิสิตทุกระดับ และบุตรหลานหรือคนที่รู้จักให้ทราบด้วย ทั้งนี้หากต้องมีการประกาศหยุดงานหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ขอให้ติดตามในเว็บไซต์คณะ อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะเภสัชศาสตร์ ได้ประกาศปิดการเรียนการสอน ในวันที่ 15 มี.ค.แล้ว
http://www.dailynews...ducation/190621
-------------------------------------------------------------------------
พรุ่งนี้ 15 มี.ค. ใครอยู่แถวนั้น ระวังการใช้เส้นทางใกล้พื้นที่ชุมนุมด้วยครับ