Jump to content


Photo
- - - - -

จดหมายเปิดผนึก ถึงนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ


  • Please log in to reply
ยังไม่มีผู้แสดงความเห็นในกระทู้นี้

#1 ดอกปีบ

ดอกปีบ

    ^-^นางสิงห์สีฟ้า^-^

  • Members
  • PipPipPipPip
  • 3,681 posts

ตอบ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556 - 13:17

ตามที่ "นิติราษฎร์" ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาตุลาการ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น

 

(http://www.enlightened-jurists.com/)

 

ข้าพเจ้า ขอโต้แย้งจดหมายดังกล่าวดังนี้ : 

 

เรียน นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ

 

ข้าพเจ้า เป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้น ขอเรียนว่า บทบาทของนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ ผู้หลงผิด ติดขัดอยู่กับประเด็นปัญหาอันคับแคบ ที่ก่อให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงเช่นนั้น ย่อมเห็นได้จากการที่นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ มิได้นำเอา ความเป็น “นิติ” ของศาสตร์อันว่าด้วยความยุติธรรม มาเป็นเครื่องมือใช้ปฎิรูป ปฎิวัติโครงสร้างของสัมคม ประเทศไทย โดยหลักการของกฎหมายที่เป็น “เหตุ” อันจะอ้าง “ผล” ของความสงบเรียบร้อย เป็นระบบระเบียบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่างเต็มบริบูรณ์ จากนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ แม้จริงอยู่ว่า หลักการทางกฎหมายในตำรา นักกฎหมายต้องยึดถือไปจนตราบชีวิตจะหาไม่ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือการปรับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เราไม่สามารถทำให้น้ำในธาราไหลย้อนกลับได้ฉันใด การคงไว้ซึ่งหลักการทางกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังในทางร้าย ก็ไม่สมควรเกิดมีขึ้นได้ฉันนั้น ผู้เขียนสามารถแสดงทรรศนะได้อย่างเต็มปากเต็มใจ ถึงการไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในทุกกรณี แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าผู้เขียนจักต้องเห็นพ้องกับการมีผลย้อนหลังของกฎหมายอันลบล้างผลของการรัฐประหารเช่นกัน

 

สำหรับบทบาทของนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ที่มีลักษณะไม่สนับสนุนการเป็นวิศวกรสังคม นั้น ย่อมเห็นประจักษ์ชัดจากกรณีของการใช้หลักวิชาอาชีพและการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปในทางอันแคบ บิดผันทางตัวบท อันเป็นหลักการพื้นฐานของนักเรียนกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง การหมิ่นประมาท (defames), ดูหมิ่น (insults) หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย, (or threatens) ทุกการกระทำต่างเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ส่วนคำว่า วิพากษณ์วิจารณ์ (criticize) มิได้ปรากฎอยู่ในตัวบทมาตราดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า การวิพากษณ์วิจารณ์โดยหลักวิชา สามารถกระทำได้โดยมีรัฐธรรมนูญมาตรา 50 รองรับ ดังที่พวกท่านได้กระทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

จริงอยู่ว่าในทางปฏิบัตินั้น กฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาเป็นอย่างมาก หากแต่มีปัญหาในการบังคับใช้ มิใช่การมีปัญหาในตัวบท อันจะต้องมีเหตุให้ต้องแก้ไขเพิ่มเติมแต่ประการใด จริงอยู่ว่าความผิดฐานนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในหลายประการและหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราโทษที่สูงเกินสมควรแก่เหตุ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้สามารถเป็นผู้กล่าวโทษบุคคลอื่นต่อเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขในมาตราดังกล่าวต้องเข้าสู่ขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผลก็ออกมาอย่างประจักษ์ชัดว่า สภาผู้แทนราษฏรมิได้เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด หมายความว่า ท่านต้องยอมรับในตัวแทนของท่านเอง ตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

 

นิติราษฎร์ ในฐานะเป็นนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ วิศวกรสังคม จักต้องมีความตระหนักยิ่ง ต่อการยอมรับในเสียงข้างมากอย่างดุษฏี หากแม้นมิเห็นด้วยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นตัวแทนของท่านแล้ว รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดวิธีการแสดงออกไว้อย่างเป็นรูปธรรมคือ “การตั้งพรรคการเมือง” การใช้วิธีการแบบข้างต้นต่างหาก ที่จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด โดยมิต้องอิงแอบเข้ามาในคราบของครูบาอาจารย์ แนบชิดกับหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบ่อบำบัดความกระหายใคร่รู้ของราษฎรอยู่เป็นอาจิณ การกล่าวอ้างว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีข้อที่เห็นได้ว่าน่าจะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ถูกต้อง เช่น คดีนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ที่ศาลพิพากษาลงโทษนายอำพล ด้วยเหตุผลประการหนึ่งว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความ ฯลฯ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น” ซึ่งขัดกับหลักเรื่องภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ในอันที่จะต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้ชัดแจ้ง และขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น” และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” นั้น

 

นิติราษฎร์ "ตัดตอน" แต่เพียงเหตุผลในคำพิพากษาออกมาบางส่วน อันเป็นการบั่นทอน และมีเหตุให้ประชาชนสงสัยในความยุติธรรมของศาลอาญาอย่างชั่วร้าย กล่าวคือ เหตุผลในคำพิพากษาที่นิติราษฎร์ยกมาแต่เพียงบางส่วนนั้น มิใช่เป็นข้อชี้ขาดใหญ่ในคดี ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้นจริงหรือไม่ หากแต่นิติราษฎร์ ยกเหตุผลที่ศาลอาญาได้แสดงไว้ในคำพิพากษาทั้งหมดด้วยแล้ว จะพบว่า คำรับของบุตรสาวนายอำพลก็ดี เซลล์ไซต์แสดงพื้นที่การใช้โทรศัพท์ก็ดี พยานผู้เชี่ยวชาญที่โจทก์นำสืบจนสิ้นความก็ดี ความไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ จากพยานเอกสารที่จำเลย print out มาจากคอมพิวเตอร์ก็ดี โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญรับรองความถูกต้อง หรือแม้กระทั่งข้อพิรุธจากคำให้การของจำเลยที่บอกว่าได้นำโทรศัพท์ไปซ่อม อันทำให้ศาลและวิญญูชนเชื่อว่าต้องสามารถจดจำร้านซ่อมโทรศัพท์ เนื่องจากต้องไปอย่างน้อย 2 ครั้ง คือไปส่งโทรศัพท์ซ่อม และไปรับโทรศัพท์กลับ ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเท็จจริง ในการทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อถือโดยปราศจากข้อสงสัยทั้งสิ้น หากลำพังนิติราษฎรจะยกข้อความในคำพิพากษา มาอ้างว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความ ฯลฯ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น” แล้วนั้น เห็นทีว่า คดีอาญาในสังคมนี้ จะไม่สามารถจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้เป็นพันเป็นหมื่นคดี เนื่องจากต้องมีประจักษ์พยานมาสืบให้ศาลเห็น จึงจะสามารถลงโทษจำเลยได้ ซึ่งหลักกฎหมายที่นิติราษฎร์พยายามยกขึ้นอ้างนั้น เป็นการบ่อนทำลายกฎหมาย สังคม และนิติรัฐ เสียเอง โดยมิพักต้องสืบไปถึงเจตนาของนิติราษฎร์เองว่า ตั้งใจ จงใจ เจตนา หรือไม่ประการใด

 

นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญโดยกล่าววิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญว่ามีลักษณะที่ยึดถืออุดมการณ์กษัตริย์นิยมเหนืออุดมการณ์นิติรัฐประชาธิปไตย แต่มิได้หยิบยกเอาเนื้อหาสาระในบางประเด็นของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2554 ที่วินิจฉัยว่า การพิจารณาคดีโดยลับของคดี 112 ‘ดา ตอร์ปิโด’ ไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจำเลยมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างครบถ้วน “การที่ศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 มิได้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของจำเลย เนื่องจากจำเลยมีทนายความเข้ามาแก้ต่างให้และสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของตนและหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ อนึ่ง การพิจารณาเป็นการลับ ก็มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมและมิได้จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กำหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความของโจทก์ จำเลย และทนายความของจำเลย ผู้ควบคุมตัวจำเลย พยาน ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิ พื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้” มาประกอบเพื่อให้ประชาชนพิจารณาด้วยอีกด้านหนึ่งแต่อย่างใด

 

ตัวอย่างที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ ย่อมทำให้สาธารณชนทั่วไปเห็นได้ว่า นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ ในประเทศนี้มีปัญหา และทัศนะคติอย่างไรต่อประชาธิปไตย ปัญหาทั้งปวงข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในระดับอุดมการณ์ของวิศวกรสังคม เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยระบบการมอง คิด วิเคราะห์ ลงมือปฎิบัติเพียงด้านเดียวโดยปราศจากการชั่งน้ำหนักในสิ่งที่มอง คิด วิเคราะห์ ลงมือปฎิบัติ ในด้านอื่นประกอบด้วย การแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาวย่อมจะต้องกระทำโดยการปฏิรูปนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย หลักวิชา และสามัญสำนึก และทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐเป็นอุดมการณ์ที่จารึกอยู่ในจิตใจของนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ทุกคน ประการสำคัญคือต้องทำให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ทุกคนตระหนักว่าอำนาจทางสติปัญญาที่ตนใช้อยู่นั้น แม้จะกระทำในนามของวิชาการก็ตาม หากแต่ตามศาสตร์อันว่าด้วย “นิติ” แล้ว อำนาจดังกล่าวแหลมคม และทิ่มแทงสังคมให้เป็นแผลร้าวลึก ได้อย่างชั่วร้ายและแยบคายยิ่งนัก

 

ในชั้นต้นนี้ ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเพียงบุคคลคนเดียวที่ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้น ขอเรียกร้องไปยัง นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ ดังนี้

 

1. ขอให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ เป็นอย่างน้อย ตระหนักว่า ท่านเป็นนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ ในระบอบประชาธิปไตย ในการใช้และการตีความกฎหมายทั้งปวงนั้น นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ ทุกคนจะต้องใช้และตีความกฎหมายโดยยึดถือเอาอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรและพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง อีกทั้งจะต้องถือว่าหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมเป็นคุณค่าสูงสุดในระบบกฎหมาย

 

โดยที่ไม่หลงลืมว่าปัญหาของสังคมและประเทศชาติในขณะนี้ มีเร่งด่วนรอบด้านมากกว่าที่พวกท่านคิดมากมายนัก ไม่หลงลืมว่า การขับเคลื่อนนโยบาย และบริหารประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่พวกท่านต้องร่วมกันตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไม่หลงลืมว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันแห่งการยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ “ไม่ใช่สถาบันที่มีหน้าที่บริหารประเทศ” ที่จะก่อผลดีผลร้ายให้แก่ประเทศชาติได้ดังเช่นรัฐบาล นอกจากนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องไม่ตกอยู่ท่ามกลางการขัดแย้งจากการตีความกฎหมายจากนักกฎหมายเช่นพวกท่าน ไม่หลงลืมว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาล ณ ขณะนี้ ก่อให้เกิดความร้ายแรง เชือดเฉือนประชาชนตาดำ ๆ ที่มิได้มีรถยนต์คันหรู ไม่มีตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ไม่มีคำว่า ดร. นำหน้าชื่อ ไม่มีปริญญาเอกจากเยอรมัน ไม่มีปริญญาเอกจากฝรั่งเศส และที่สำคัญ ไม่มีเงินค่าข้าวให้ลูกไปเรียนหนังสือ หรือไม่มีแม้แต่เงินที่จะซื้อข้าวสารกรอกหม้อ

 

2. ขอให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ เป็นอย่างน้อย ทบทวนแนวทางการใช้และการตีความกฎหมาย ให้เท่าเทียมกัน โดยมองปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม “ทั้งระบบ” แทนที่จะ “คับแคบลุ่มหลง” อยู่กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น สมควรต้องทบทวนบทบาทตนเองถึงการแสดงออกทางสติปัญาที่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยการโป้ปด หลอกลวง แบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำถึงและตระหนักถึงการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

 

3. ขอให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ ที่ยกตนว่า เป็นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเคารพต่อหลักนิติรัฐ ดำเนินการผลักดันให้เกิด “การปฏิรูปโครงสร้างของทั้งประเทศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปตนเอง ระบบและแนวทางการเผยแพร่สติปัญญา ตลอดจนความพร้อมรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะวิศวกรสังคม ใช้สติปัญญาของตนเอง และหมู่คณะอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนะของบรรดาที่ลุ่มหลงในประชานิยมของรัฐบาลให้ตื่นจากการโป้ปด หลอกลวง อย่างไม่จริงใจ เพื่อให้ให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐของชาติไทย เป็นอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในจิตใจของนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ ตลอดจนประชาชนทุกคน

 

ข้าพเจ้า เป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้น ขอเรียนว่า เมื่อพิจารณาจากบทบาทของนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ ที่แสดงออกผ่านเวทีสาธารณะทางวิชาการ ในคดี 112 เพียงอย่างเดียว โดยละเลยปัญหาด้านอื่นที่เร่งด่วนของประเทศ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่านักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ในภาพรวม มิได้ดำรงอยู่ในฐานะ “ประทีปแห่งปัญญา” ที่ทุกฝ่ายของสังคมยอมรับและนับถือในความคิดเห็นในหลักวิชาอีกต่อไป หนทางเดียวที่จะทำให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ กลับมาเป็นหลักแก่สังคม คือการต้องปฏิรูปตนเอง การละเลยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการดังที่ได้เรียนมาข้างต้น ย่อมจะส่งผลให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ อันมีนิติราษฎร์เป็นแกนนำ ถูกมองจากสาธารณชนว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ ประชาธิปไตย และยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกปรับเปลี่ยนโดยพลังจากประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย

 

ขอเพียงเปิดตาให้กว้างออกทั้งสองข้าง พวกท่านจะพบว่า พวกท่านได้รับความรู้สึกที่ขมขื่นบนหอคอยงาช้าง จากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สักเพียงใด ประชาชนตาดำ ๆ ที่ได้รับความตกทุกข์ได้ยากจากนักการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้รับความข่มขื่นจากการมองดูกระท่อมที่กำลังผุพัง มากกว่าท่าน เป็นร้อยเท่าพันทวี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์จะได้ครุ่นคิดตรึกตรองถึงประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดในสารที่ส่งมาด้วยความปรารถนาดีฉบับนี้ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปพฤติกรรม ทัศนะคติ ของนักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ และตนเอง เพื่อให้นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์เป็นหลักให้แก่สังคมไทยต่อไป

 

ผู้เขียน : คลังกฎหมาย

 

ในฐานะประชาชนผู้มี 1 เสียงในประเทศ

 

18 มีนาคม 2556

*********************************************************************************************

ขอแชร์ข้อความข้อคิดดีๆ จากผู้เขียนที่ชื่อคลังกฏหมาย ให้พี่น้องสมาชิก สรท.ค่ะ


Edited by ดอกปีบ, 19 มีนาคม พ.ศ. 2556 - 13:19.

ดอกไม้งามมีหนามแหลม ใช่บานแย้มให้คนชม บานไว้เพื่อสะสม ความอุดมแห่งผืนดิน...





ผู้ใช้ 1 ท่านกำลังอ่านกระทู้นี้

สมาชิก 0 ท่าน, ผู้เยี่ยมชมทั่วไป 1 ท่าน และไม่เปิดเผยตัวตน 0 ท่าน