http://www.prachacha...7&subcatid=0703
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...วงเงิน 2 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 1.เปลี่ยนรูปแบบขนส่งสินค้าจากถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า 2.อำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสู่ศูนย์กลางภูมิภาคและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 3.พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว
ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้เสร็จภายใน 50 ปี ดังนี้ ปีที่ 11-20 ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หรือ 1% ของวงเงิน ปีที่ 21-30 ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือ 2% ปีที่ 31-40 ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หรือ 3% และปีที่ 41-50 ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท หรือ 4%
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า หากช่วงใดมีความสามารถชำระคืนได้มากกว่ากำหนดไว้ก็ทำได้ และยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องไปปรับแก้ในส่วนพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นมติ ครม.แล้ว
รายงานข่าวเปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำบัญชีท้ายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แบ่งวงเงินออกเป็น 3 ส่วน 1.เปลี่ยนรูปแบบขนส่งสินค้าจากถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า 354,560.73 ล้านบาท 2.อำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสู่ศูนย์กลางภูมิภาคและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 1,042,376.74 ล้านบาท 3.พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว 593,801.52 ล้านบาท และจัดสรรวงเงินไว้เป็นแผนงานการ
ส่งเสริมเพื่อเตรียมความพร้อม การประเมินผล แผนการบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน และรองรับการดำเนินการกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 9,261.01 ล้านบาท
นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.เสนอต่อสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 20 มี.ค.
เพื่อบรรจุวาระการประชุม และในวันที่ 27 มี.ค.จะขอเลื่อนระเบียบวาระให้ขึ้นมาเป็นลำดับแรก เพื่อพิจารณาทันทีในวันที่ 3 เม.ย. รัฐบาลยังหวังว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะผ่านการพิจารณาวาระแรกสมัยประชุมนี้ จากนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเสนอให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาคู่ขนานกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2557 โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ก่อนเดือน ก.ย.นี้
ชิงดำที่ปรึกษา 92 โครงการ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของกระทรวงคมนาคม 92 โครงการ จะเปิดประมูลคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาออกแบบรายละเอียด บริหารโครงการ และควบคุมการก่อสร้างทุกโครงการ มีอัตราค่าจ้างมาตรฐานถัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.75% ของวงเงินลงทุนแต่ละโครงการ
"กระบวนการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาผมจะบริหารจัดการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้ได้งานมีคุณภาพคุ้มค่ากับเม็ดเงินงบประมาณ อย่างน้อยที่สุดในสัญญาจ้างจะต้องมีการประเมินผลงานของบริษัทที่ปรึกษาด้วย หากงานล่าช้าที่ปรึกษาก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันกับผู้รับเหมาก่อสร้าง"
นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า โครงการหลัก ๆ ที่อยู่ในบัญชีลงทุนภายใต้งบฯ 2 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง 4 สาย รถไฟฟ้า 10 สาย ขยาย 4 ช่องจราจร ปรับปรุงทางหลวงเชื่อมระหว่างภาค มอเตอร์เวย์ 3 สาย นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เหลือเป็นโครงการย่อย ๆ อีกเป็น 100 โครงการ เพราะจะเป็นการลงลึกรายละเอียดเพื่อประมูลก่อสร้างต่อไป
เค้กก้อนโต 60,000 ล้าน
แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจบริษัทที่ปรึกษา กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างประเทศกำลังเตรียมความพร้อมและใจจดใจจ่อรองานประมูลในส่วนการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการต่าง ๆ ในแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาทตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2563
ทั้งนี้ จากการประเมินวงเงินเฉพาะค่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เบื้องต้นคาดว่าภายใน 7 ปีนี้จะมีมูลค่างานในภาพรวมสูงถึง 60,000 ล้านบาท โดยคิดคำนวณจากฐานค่าจ้างมาตรฐานแต่ละงานตามมูลค่าการลงทุนรายโครงการ เช่น งานศึกษาและออกแบบรายละเอียด ค่าจัดจ้างที่ปรึกษาจะอยู่ที่ประมาณ 1.75% งานควบคุมไซต์ก่อสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ 2% และงานบริหารโครงการอยู่ที่ประมาณ 1% เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สัดส่วนเงินลงทุนได้ข้อสรุปเบื้องต้น ระบบรางใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย เนื่องจากจะต้องปรับเพิ่มวงเงินรถไฟความเร็วสูง 4 สายทางใหม่ จากเดิม 753,105 ล้านบาท เป็นเกือบ 800,000 ล้านบาท สำหรับขยายเส้นทางจากนครราชสีมา-หนองคาย มีวงเงินเพิ่มประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและเป็นค่าเวนคืน แผนเดิมก่อสร้างเฟสแรก
จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเท่านั้น รวมถึงเพิ่มเงินลงทุนสายกรุงเทพฯ-หัวหินประมาณ 500 ล้านบาท เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาส่วนต่อขยายจากหัวหิน-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น
"การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง นโยบายจะทำครอบคลุมทั่วประเทศแน่ แต่ทยอยทำภายใน 7 ปีนี้ โดยช่วง 5 ปีแรกทำเฉพาะ 4 สาย ต้นทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ หัวหิน โคราช และระยอง ส่วนที่เหลือจะเป็นเฟส 2 เช่น โคราช-หนองคาย กับหัวหิน-ปาดังเบซาร์"
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า งบฯลงทุนด้านทางน้ำวงเงินลงทุนเท่าเดิมประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นโครงการของกรมเจ้าท่า (จท.) อาทิ สร้างท่าเรือ จ.ชุมพร 1,713 ล้านบาท ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 วงเงิน 3,613 ล้านบาท เขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำป่าสัก 11,387 ล้านบาท ท่าเรือปากบาราระยะที่ 1 วงเงิน 11,786 ล้านบาท เป็นต้น
เอ็ม เอ เอฯ พร้อมสุดขีด
นายวิเชียร วิไลงาม ประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ในวงการประเมินกันว่าจะมีงานออกมาจำนวนมาก มูลค่างานหลายหมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีผู้เชี่ยวชาญอยู่หลายสาขา โดยเฉพาะระบบรางมีความสนใจจะเข้าร่วมประมูลงานหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
ล่าสุดโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร บริษัทได้ลงนามเป็นคู่สัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา มีวงเงินค่าจ้าง 826 ล้านบาท