คำถามและคำตอบ แนวการปฏิบัติธรรม
พระสุญโญภิกขุ พระภิกษุชาวอเมริกันจดบันทึกเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อลาสิกขาแล้วท่านได้พิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทาน ต่อมามีผู้แปลเป็นภาษาไทย และหลวงพ่อชาให้พระวีรพลเตชะปัญโญ
แห่งวัดหนองป่าพงสอบผ่านแล้วจึงได้ให้พิมพ์ฉบับภาษาไทย
24. ถาม กิเลสเครื่องเศร้าหมอง เช่นความโลภ หรือความโกรธ เป็นเพียงมายา หรือเป็นของจริง
ตอบ เป็นทั้งสองอย่าง กิเลสที่เราเรียกว่าราคะหรือความโลภ ความโกรธ หรือความหลงนั้น เป็นแต่เพียงชื่อ เป็นสิ่งที่ปรากฎขึ้นมาเช่นเดียวกับที่เราเรียก ชามใหญ่ ชามเล็ก สวย หรืออะไรก็ตาม
นี่ก็ไม่ใช่สภาพที่เป็นจริง แต่เป็นความคิดปรุงแต่งที่เราคิดปรุงขึ้นจากตัณหา ถ้าเราต้องการชามใหญ่ เราก็ว่าอันนี้เล็กไป ตัณหาทำให้เราแบ่งแยก ความจริงก็คือ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น
ลองมามองแง่นี้บ้าง ท่านเป็นผู้ชายหรือเปล่า ท่านตอบว่าเป็น นี่เป็นเพียงรูปปรากฎของสิ่งต่างๆ แท้จริงแล้วท่านเป็นส่วนประกอบของธาตุและขันธ์ ถ้าจิตเป็นอิสระแล้ว จิตจะไม่แบ่งแยก
ไม่มีใหญ่ ไม่มีเล็ก ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีอะไรจะเป็นอนัตตาหรือความไม่ใช่ตัวตน แท้จริงแล้วในบั้นปลายก็ไม่มีทั้งอัตตาและอนัตตา เป็นแต่เพียงชื่อเรียก
โลก เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส คิดนึก โลกย่อมไม่ปรากฏ
ขณะใดที่สติระลึกได้ก็พิจารณาศึกษาอารมณ์ คือ ลักษณะของโลกที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดคิดนึกเรื่องโลก
ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ขณะนั้นเป็นการรู้โลกโดยสมมติเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน
เป็นโลกโดยนัยของสมมติสัจจะไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ
พระสุตตันปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 135
[๖๔] ท. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลสมีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง.
[๖๕] ภ. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลสมีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บาง บุคคลทั้งหลาย อื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง
ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน.
อรรถกถาอรหันตสูตร
เทวดาผู้อยู่ในไพรสณฑ์นี้นั้น ฟังโวหารของพวกภิกษุอยู่ป่าพูดกันว่า เราฉันอาหาร เรานั่ง บาตรของเรา จีวรของเรา เป็นต้น
จึงคิดว่าเราสำคัญว่าภิกษุเหล่านี้ เป็นพระขีณาสพ ก็แต่ถ้อยคำอิงอาศัยความเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ชื่อเห็นปานนี้ของพระขีณาสพทั้งหลาย
มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้ เพื่อจะทราบความเป็นไปนั้น จึงได้กราบทูลถามแล้วอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ภิกษุใด เป็นผู้ไกลจากกิเลสมีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า
เราพูดดังนี้บ้างบุคคลอื่น ๆ พูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน.
บทว่า สมญฺญํแปลว่าคำพูดถือเป็นภาษาของชาวโลก เป็นโวหารของชาวโลก.
บทว่า กุสโล แปลว่าฉลาด คือ ฉลาดในธรรมมีขันธ์เป็นต้น
บทว่าโวหาร มตฺเตน แปลว่า กล่าวตามสมมติที่พูดกันได้แก่ เมื่อละเว้นถ้อยคำอันอิงอาศัยความเห็นเป็น คน เป็นสัตว์ แล้ว
ไม่นำคำที่พูดให้แตกต่างกัน จึงสมควรที่จะกล่าวว่า เรา ของเรา ดังนี้
จริงอยู่ เมื่อเขากล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลายย่อมบริโภค ขันธ์ทั้งหลายย่อมนั่ง บาตรของขันธ์ทั้งหลาย จีวรของขันธ์ทั้งหลาย ดังนี้
ความแตกต่างกันแห่งคำพูดมีอยู่ แต่ใครๆ ก็ทราบไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระขีณาสพจึงไม่พูดเช่นนั้น
ย่อมพูดไปตามโวหารของชาวโลกนั่นแหละ.