คลังชงขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มใช้หนี้ 2 ล้านล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเชื่อรัฐบาลเลี่ยงยาก เหตุใช้เงินกับประชานิยมมหาศาล
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานหน่วยงานด้านนโยบาย เตรียมเสนอปรับโครงสร้างภาษี รับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการหารายได้ภาครัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศและชำระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากโครงการกู้เงินโครง สร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท
ประเด็นหนี้สาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้นจากโครงการดังกล่าวและรายจ่ายภาครัฐ อื่นๆตามนโยบายรัฐบาล สศค.ไม่ได้กังวลมากนักเพราะเชื่อว่าการลงทุนทั้งหมดของภาครัฐจะทำให้ เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น และผลที่ได้คือรัฐบาลมีรายได้มากขึ้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าสศค.ประเมินว่าผลของการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขน ส่งของประเทศระยะเวลา 7-8 ปี วงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ต่อปี จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สามารถขยายตัวได้เฉลี่ย 4.5% ต่อปี ขณะเดียวกัน จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4 หมื่นล้านบาทต่อปี
"เมื่อรายได้ภาษีขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อเรามองภาพว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นเมื่อเกิดการลงทุน ก็แน่นอนว่า ต้องมีการเติบโตของรายได้ภาษีมาเป็นรายได้ในการใช้จ่ายของประเทศชาติ จากการประมาณการของทางสศค. คาดว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง รายได้ทางภาษีของ เราจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี นี่คือผลที่กระทบแรกๆ และจะเริ่มเห็นก็ต่อเมื่อมีการลงทุน แต่ถ้าลงทุนมากและเร็ว ผลก็จะมากตามไปด้วย เป็นรายได้ที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย ก็จะนำมาชำระดอกเบี้ยและเงินต้นส่วนหนึ่ง"นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลประเมินว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น จะชำระดอกเบี้ยในช่วง 10 ปีแรก จากนั้นจะทยอยชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในปีที่ 11 เป็นต้นไป จนถึงปีที่ 50 จะสามารถชำระเงินต้นโครงการนี้หมด รวมทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น 5.16 ล้านล้านบาท
ชี้ลดภาษีนิติบุคคลกระตุ้นลงทุน
นายสมชัยมั่นใจว่านโยบายการลดภาษีของรัฐบาลที่ผ่านมา จะสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้เกิดการค้าการลงทุนและกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น
กรณีการปรับลดอัตราภาษีเงิน ได้นิติบุคคลลงเหลือ 23% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับเอกชนไทยในการใช้กำไรไปลงทุนต่อได้ รวมทั้งทำให้ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ไม่ใช่จะมีแต่คนไทยที่ลงทุนเท่านั้น แต่จะมีการลงทุนจากต่างประเทศด้วย
"จากการที่ลดภาษีดังกล่าว เราคิดในเชิงพลวัต เมื่อเราแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ต่างชาติก็จะมาลงทุนในไทย ดังนั้น ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลของเราก็จะกว้างขึ้น แม้อัตราภาษีจะลดลง และเราหวังว่า ในระยะกลางและระยะยาว รายได้ของภาษีในส่วนของนิติบุคคลไม่ได้ลดลง แต่จะเพิ่มขึ้น"
นายสมชัยกล่าวว่ากรมสรรพากรรายงานว่ารายได้ภาษีเงิน ได้นิติบุคคลไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น และสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากภาคเอกชนไทยลงทุนเพิ่ม ดังนั้นเมื่อต่างชาติมีเม็ดเงินก็เข้ามาลงทุนในไทย เสียภาษีให้คนไทยและรัฐบาลไทย ซึ่งจะทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้น
ชี้ภาษีมูลค่าเพิ่มต้องปรับแน่
นอกจากนี้ หากคิดจากการบริโภคของไทยยังมีแนวโน้มของการเติบโต ถึงแม้เราจะคงอัตราภาษีมูลค่า เพิ่มเอาไว้ที่ 7% รายได้จากส่วนนี้ก็จะเพิ่มขึ้น จากการที่คนไทยบริโภคมากขึ้น รวมทั้ง การที่ต่างชาติเข้ามาบริโภคในเมืองไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องปรับโครงสร้างภาษีเลย รายได้ภาษีที่ได้ ส่วนหนึ่งก็นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและอีกส่วนนำไปชำระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
นับจากนี้ต่อไปอีก 7-8 ปี สศค.จะไม่หยุดนิ่งเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการเป็นส่วนๆ เพียงแต่ยังไม่ได้บูรณาการ เมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลก็คงต้องดำเนินการทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งชัดเจนว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าเมืองนอกมีการลดอัตราภาษีลงอีก เราก็จะนำมาพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้อัตราภาษีที่ 20% ยังอยู่ในอัตราที่เหมาะสม
นายสมชัยกล่าวว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นชัดเจนว่าถึงจุดหนึ่งจะต้องมีการเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจและความจำเป็นในเรื่องการใช้แหล่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้หลักของรัฐบาล โดยอัตราภาษีคงไม่อยู่ที่ระดับ 7% ไปจนถึง 7 ปีแน่นอน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดี คนพร้อมที่จะรองรับการเสียภาษีที่มากขึ้น ต้องเพิ่มอัตราภาษีตัวนี้ ทั้งนี้ การเพิ่มอัตราภาษีจำนวน 1% จะทำให้รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
"ช่วงที่เรามีงบประมาณสมดุลได้จริงๆ หรือขาดดุลน้อยๆ ก็เห็นว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นภาษีมูลค่า เพิ่มได้ เพราะถือว่าประชาชนรับได้และเราก็จะขึ้นในอัตราต่ำๆ เช่น 1% เพื่อนำเงินไปพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น และนำไปชำระหนี้" เขากล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลประเมินว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุล ในปี 2560 โดยจะทยอยลดการกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณลง ซึ่งในปี 2556 รัฐบาลกู้เงินชดเชย 3 แสนล้านบาท ในปี 2557 ลดเหลือ 2.5 แสนล้านบาท ในปี 2558 ลดเหลือ 1.5 แสนล้านบาทและในปี 2559 ลดเหลือ 7.5 หมื่นล้านบาท
ลดภาษีบุคคลหนุนคนรายได้เพิ่ม
ส่วนโครงสร้างภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดานั้น มีแนวโน้มลดลงและจะต้องมีเรื่องของการหักค่าลดหย่อน หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบนี้ด้วย ปัจจุบันยังไม่ได้มีการทำ แต่ในระยะยาวเห็นว่า ต้องมีการปรับ เพราะเห็นว่ายังไม่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหากทำตรงนี้ก็จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
"ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะมีคนบอกว่าคนเกษียณอายุได้ภาษีลดลงใช่หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าใช่ แต่ก็จะมีเงินไปใช้จ่ายที่อื่นเพิ่มขึ้น และเมื่อมีการใช้จ่ายบริโภค รัฐก็จะได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกัน บริษัทห้างร้านมีรายได้มากขึ้น เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมากขึ้น แม้อัตราภาษีเท่าเดิม"นายสมชัยกล่าว
เตรียมเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่ม
นายสมชัยกล่าวว่ากรณีที่รัฐบาลต้องการรายได้เพิ่มขึ้น ภาษีสรรพสามิตถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลยังมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพ สามิตน้ำมันดีเซล หากปรับเพิ่มขึ้นก็จะทำให้รายได้เพิ่มเข้ามาประมาณแสนล้านบาทต่อปี แต่นับจากนี้ เราคงต้องเพิ่มอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูสภาพทางเศรษฐกิจ และระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนจนเกินไป รวมถึง ภาษีสรรพสามิตอีกหลายตัวที่จะนำมาใช้ได้ ดังนั้น ภาษีสรรพสามิตก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการหารายได้เข้ารัฐ
ด้านภาษีศุลกากรก็ชัดเจนว่า มีแนวโน้มปรับลดอัตราภาษีเหลือ 0%ก็จะทำให้รายได้ภาษีศุลกากรลดลงจริง แต่จะไปเพิ่มส่วนอื่นๆ ให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่มีการค้าและการลงทุนมากขึ้น รายได้ภาษีจากการนำเข้าส่งออกก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
"นี่เป็นภาพของการปรับโครงสร้างภาษีทั้ง หมด และที่บอกว่าจะหาเงินที่ไหนมาชำระ ถามว่า เศรษฐกิจไทยจะนิ่งอย่างนี้ไปตลอดหรือ ก็ไม่จริง เพราะการลงทุน 2 ล้านล้านบาทนั้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอยู่แล้ว และจะดึงการลงทุนเข้ามา ขณะเดียวกัน ภาษีใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น" นายสมชัยกล่าว
หอการค้าชี้เลี่ยงขึ้นภาษียาก
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลจะขึ้นภาษีมูลค่า เพิ่มเป็น 8 % คงมีความจำเป็นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายประชานิคมหลายโครงการที่ต้องใช้ งบประมาณ โดยเฉพาะการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ที่เลิกได้ยาก และรัฐบาลพยายามกำหนดเกรดข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการแต่ชาวนาอาจจะไม่ยอม เนื่องจากตอนประกาศโครงการไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ ซึ่งต่อไปรัฐบาลอาจต้องมาดูว่าโครงการต่างๆ ที่ใช้งบประมาณมากมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการต่อหรือไม่
"ถ้าเมื่อรัฐบาลพิจารณาแล้วมีความต้องการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ มากแต่มีงบไม่เพียงพอก็ต้องเลือกระหว่างความจำเป็นทางการคลังและผลกระทบทางการเมือง"
เตือนสินค้าแพง-กระทบผู้บริโภค
นายพรศิลป์ กล่าวว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มกระทบประชาชนมากกว่าผู้ประกอบการ โดยการขึ้นภาษีมูลค่า เพิ่มจะส่งผลกระทบต่อวิตวิทยาทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นทันที ซึ่งการบริโภคในระยะสั้นอาจจะชะลอตัวแต่ในระยะยาวประชาชนจะชินและยอมรับราคา แพงได้ และรัฐบาลอาจต้องมาดูว่าถ้าราคาสินค้าแพงขึ้นจะช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่าง ไร เพราะรัฐบาลรับปากแล้วว่าจะไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากวันละ 300 บาท ไปจนถึงปี 2558 โดยการคงแรงขั้นต่ำไว้ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปีก็ต้องเข้าไปดู ว่าจะช่วยผู้บริโภคได้อย่างไร
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยผู้ผลิตต้นน้ำจะผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับผู้ผลิตกลางน้ำและปลายน้ำ และถ้าผู้ผลิตปลายน้ำขอคืนภาษีได้ไม่หมดก็ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น ซึ่งทำให้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลกระทบต่อผู้บริโภคปลายทางมากที่สุด และราคาสินค้าปลายทางอาจสูงกว่า 1 % เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มถูกเก็บจากผู้ผลิตตลอดซัพพลายเชน 5-6 ทอด เพราะผู้ผลิตทุกทอดจะผลักภาระทั้งหมด
"ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากอาจขึ้นภาษีแบบขั้นบันได เช่น ขึ้นครั้งละ 0.5 % รวมทั้งอาจแยกอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าแต่ละชนิดเหมือนจีน และถ้าสินค้าใดจำเป็นก็เก็บในอัตราต่ำกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย"
นายธนิต กล่าวว่า รัฐบาลคงไม่มีทางเลือกในการเก็บรายได้เพิ่มจึงต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะปีนี้ต้องลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 23 % เหลือ 20 % ทำให้รายได้หายไปจำนวนหนึ่ง รวมทั้งรัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะเก็บภาษีเงิน ได้นิติบุคคลลดลงเพราะมีแนวโน้มที่ภาคธุรกิจจะมีกำไรลดลงหรือขาดทุน เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และผู้ผลิตเพื่อการส่งออกได้รับความเสี่ยงจากเงินบาทแข็งค่าเศรษฐกิจของ ประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ซึ่งจะเห็นจากการส่งออกเดือน ก.พ.นี้ ที่ติดลบและมีแนวโน้มที่จะติดลบต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่ารายได้ของผู้ส่งออก มีแนวโน้มลดลง
http://www.bangkokbi...เลี่ยงยาก!.html
.........................................
ต่อไป แปรรูปรัฐวิสหกิจ ปตท. เป็นของเอกชน ร้อยเปอร์เซ็นต์ และ การไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิต ด้วย
Edited by zeelacul, 1 April 2013 - 10:56.