เจาะเส้นทางชีวิต"วีรชัย พลาศรัย" ทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของ"สยาม"
ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย สำหรับชื่อของ “ดร.วีรชัย พลาศรัย” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ที่นำทีมทนายมือหนึ่ง เข้าชี้แจงต่อศาลโลก ณ กรุงเฮก ในคดีปราสาทพระวิหารตามที่ฝ่ายกัมพูชายื่นคำร้อง
งานนี้ ทูตวีรชัย และทีมงาน ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม ถึงความชาญฉลาดในการวางแผน และแก้ต่างข้อกล่าวหาฝ่ายกัมพูชา
ในวันนี้ “สกู๊ปแนวหน้า” จึงขอนำประวัติชีวิต และเส้นทางการต่อสู้เกี่ยวกับเรื่อง ดินแดนปราสาทพระวิหารของ ทูตวีรชัย มาให้ทุกท่านได้ทราบกัน
ข้าราชการ “ครุฑทองคำ”
ดร.วีรชัย พลาศรัย เกิดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2503 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท มหาวิทยาลัยปารีส (นองแตร์) ปริญญาเอกจากซอร์บอนน์ ฝรั่งเศส เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศในตำแหน่งเลขานุการตรี กองแอฟริกา และกลุ่มอาหรับ ต่อมาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ,อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ปัจจุบันได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้เขายังเคย ได้รับรางวัล “ครุฑทองคำ” ประจำปี 2553-2554 ซึ่งเป็นรางวัล สำหรับข้าราชการพลเรือน ที่มอบให้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณกับข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยความ รู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม
ค้านแผนที่เขตแดนกัมพูชา
สำหรับเส้นทางการต่อสู้เรื่องดินแดนเขาพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชา ในปี 2551 ชื่อของ ดร.วีรชัย เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในฐานะ อธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2551 ดร.วีรชัย ได้เชิญนายโลรองต์ บิลี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และนายอึง เซียน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย มาพบเพื่อแจ้ง ท่าทีของไทยเกี่ยวกับแผนที่โบราณคดีจังหวัดอุดรเมียนเจย และแผนที่โบราณคดีจังหวัดพระวิหาร โดยอาศัยข้อมูลจากกรมภูมิศาสตร์กัมพูชา ซึ่งไทยเห็นว่าแผนที่ทั้งสองฉบับแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเส้นเขตแดนคลาดเคลื่อน
ครั้งนั้น ดร.วีรชัย ได้ขอให้กัมพูชาถอนกำลังทหาร และตำรวจของกัมพูชาออกไป จากดินแดนปราสาทพระวิหาร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไทย กับกัมพูชา อ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่
เด้ง"วีรชัย"เซ่นคดี “ซีทีเอ็กซ์”
วันที่ 6 พ.ค.2551ครม.สมัคร สุนทรเวช มีมติ โยกย้าย ดร.วีรชัย จากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปเป็น เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง การโยกย้ายดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหมู่ข้าราชการกระทรวง การต่างประเทศ เพราะ ดร.วีรชัย เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเชี่ยวชาญงานกฎหมายระหว่างประเทศมากที่สุดคน หนึ่ง และมีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของคำสั่งโยกย้ายครั้งนี้คือ ฝ่ายการเมืองมีการประสานด้วยวาจา เพื่อขอเอกสารคดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ช่วยแปลให้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งนายวีรชัย ไม่ส่งมอบให้ เพราะเห็นว่าต้องมีเอกสารแจ้งขอเป็นลายลักษณ์อักษร จึงสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายการเมือง จนนำมาสู่การโยกย้ายดังกล่าว
ขณะที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกด้วยลาย เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2551 ระบุตอนหนึ่งว่า
"...มีความภูมิใจที่ราชอาณาจักรไทยมีนักการทูตที่เก่งกาจ ท่านอธิบดีวีรชัย ซึ่งทำหน้าที่อย่างดีเลิศในการปกป้องผืนแผ่นดินไทยและผลประโยชน์ของ ชาติ...ขอให้ข้าราชการทุกท่านของกรมสนธิสัญญาฯยึดถือท่านอธิบดีวีรชัยเป็น บุคคลตัวอย่าง ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติอย่างสุดความสามารถ และรักษาเกียรติยศของชาติ ของกระทรวงการต่างประเทศ และของตนอย่างสมศักดิ์ศรี ของข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
ปกป้องประโยชน์ชาติโดนเด้ง!
ปมความขัดแย้งของดร.วีรชัย และฝ่ายการเมือง สอดคล้องกับ คำบรรยายฟ้องของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ที่เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2556 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่นายนพดล ขณะเป็น รมว.ต่างประเทศ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.2551 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย
คำบรรยายฟ้อง ของ ปปช. ระบุตอนหนึ่งว่า “ หลังจากนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว วันที่ 3 – 4 มี.ค.2551 นายสมัครไปพบผู้นำกัมพูชา เรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และนายนพดล รมว.ต่างประเทศ ขณะนั้น ไปหารือกับนายสก อาน รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯกัมพูชา ที่ทางกัมพูชาขอให้ไทย สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
จากนั้น นายนพดล ได้นำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศพิจารณา แต่นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (ขณะนั้น) มีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่นายนพดล ไม่เห็นด้วย จึงเสนอ ครม. ให้นายวีรชัย พลาศรัย พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ทักท้วงว่านายวีรชัย เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ ไม่ควรโยกย้าย แต่นายนพดล ยังยืนยันว่า ไม่สามารถร่วมงานกับอธิบดีฯ ที่มีความคิดเช่นนี้ได้”
คืนเก้าอี้เจ้ากรมสนธิสัญญา ฯ
ช่วงเดือน ก.ค. 2551 ภายหลังเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารไทย-กัมพูชา ดร.วีรชัย ก็มีโอกาสเข้าร่วมคณะเจรจา ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร อยู่หลายครั้ง จนนำไปสู่การลดกำลังทหาร และ จัดประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม(เจบีซี) ต่อไป
ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ ต่อมาวันที่ 5 ส.ค. 2551 ช่วงปลายสมัย ครม.สมัคร สุนทรเวช จึงมีการย้าย ดร.วีรชัย จากเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กลับมาเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เช่นเดิม ครั้งนั้น นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า “ได้ให้กลับไปอยู่สถานะเดิมก่อนการโยกย้าย เพราะจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น”
ย้ายไป “กรุงเฮก” วางแผนสู้คดี
หลังหวนคืนสู่ตำแหน่งเดิม ตลอดช่วงปลายปี 2551 ดร.วีรชัย ได้เดินหน้าเจรจาและเข้าร่วมประชุม เพื่อลดความตึงเครียดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาหลายครั้ง โดยในระหว่างนี้มีเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทย และกัมพูชา
17 มี.ค.2552 ครม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติย้าย ดร.วีรชัย จากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปเป็น เอกอัครราชทูตไทย ประจำเนเธอร์แลนด์ โดยหลายฝ่ายมองว่า ดร. วีรชัย เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รัฐบาลจึงให้ไปเตรียมการ ในการต่อสู้ข้อพิพาทเขาพระวิหาร เนื่องจากประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น เป็นที่ตั้งของศาลโลก
ภายหลังจากย้ายมาดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทย ประจำเนเธอร์แลนด์ ดร.วีรชัย ได้ใช้เวลาร่วมกับทีมงาน วางแผน และต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารอย่างเต็มที่
ไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลโลกจะออกมาเป็นเช่นไร อย่างน้อยคนไทยทั้งประเทศ ก็ได้ประจักษ์ถึงความพยายามอย่างเต็มที่ของ ทีมทนายไทย ดังคำพูดของ ดร.วีรชัย ที่กล่าวว่า...
“ผมไม่เคยพูดว่าเราชนะแน่ ปกติผมจะตอบสามคำ สู้เต็มที่ !!!
ที่มา:http://www.naewna.com/scoop/48833
Edited by juemmy, 19 เมษายน พ.ศ. 2556 - 14:17.