แค่ไหว้ไม่พอ‘สุรพงษ์’ควรกราบตีน‘ฮอร์ นัมฮง’
การต่อสู้คดีพระวิหารในศาลโลกรอบนี้ บทบาทของ “ฮอร์ นัมฮง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา นับว่าโดดเด่นมาก
คือ กล้าหาญที่จะปลอมแปลงเอกสารหลอกศาลโลกและชาวโลก เพื่อขยายอาณาเขตรอบตัวปราสาทพระวิหาร โดยแอบอ้างคำพิพากษาของศาลโลกปี พ.ศ.2505 อย่างน่าเกลียด มั่นใจที่จะตะแบง โป้ปด เพื่อหาประโยชน์เข้าประเทศ และถึงกับกล่าววาจาเป็นทำนอง “ข่มขู่” ด้วย ว่าอาจจะเกิดสงครามความขัดแย้ง หรือความรุนแรงขึ้น
ก็สมควรแล้วนี่ ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ถึงกับต้องหาโอกาสเดินเข้าไปนบไหว้ด้วยความเคารพ
ทางที่ดี สุรพงษ์ควรก้มลงกราบตีนฮอร์ นัมฮง เสียด้วยซ้ำ เพราะสำหรับประเทศกัมพูชาแล้ว ไม่ว่าคนไทยจะก่นด่าฮอร์นัมฮงว่าสารเลวปานใด แต่กับมาตุภูมิของเขา เขาทำทุกอย่างเพื่อให้กัมพูชาได้เปรียบ ได้ประโยชน์ เขาสู้เพื่อประเทศชาติของเขา
ไม่เหมือนนายสุรพงษ์ ที่อิดออดจะไม่เดินทางไปยังศาลโลกตั้งแต่ต้น ด้วยข้ออ้างปัญญาอ่อนว่า ฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ออก โถ! เป็นรัฐมนตรีฝ่าเท้าอะไรกัน จึงไม่รู้ว่าโลกนี้มี “ล่าม” คอยแปลได้ และถ้าคิดว่าทักษะเรื่องภาษาที่อ่อนด้อยคือปัญหาของการทำหน้าที่แล้ว ถามตรงๆ นะ “***มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทำบิดาอะไรครับ?” ไปอยู่กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือไม่ต้องเป็นรัฐมนตรีจะดีกว่าไหม?
ซึ่งในที่สุด สุรพงษ์ก็เดินทางไปพร้อมด้วยรัฐมนตรีพงศ์เทพ เทพกาญจนา จากกระทรวงศึกษาธิการ และสุกำพล สุวรรณทัต แต่ไม่ปรากฏบทบาทที่สำคัญและมีสาระใดๆ เลย ข่าวว่า มีเวลาไปท่องเที่ยวในสถานที่หลายแห่งอย่างรื่นเริงด้วยซ้ำ และที่น่าสนใจคือ ทีมทนายมิได้แพร่งพรายข้อมูลเด็ดในนักการเมืองเหล่านี้ได้รู้เลย เหมือนระวังภัยจารชน กลัวถูกปล้นข้อมูลไปให้คู่ต่อสู้หรืออย่างไรก็มิทราบ นั่นทำให้การโต้แย้งทำลายประเด็นและหลักฐานของฝ่ายกัมพูชา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและน่าตกใจ
สาระสำคัญที่คนไทยควรรู้ จะได้ไม่ฉลาดเท่ารัฐมนตรีต่างประเทศก็คือ
1. ศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความของไทยชาวฝรั่งเศส ย้ำต่อศาลว่า การตีความของศาลจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีข้อพิพาท มีความกำกวมในบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเดิม แต่ศาลไม่สามารถตีความเหตุผลประกอบได้
“คำตัดสินเมื่อปี พ.ศ.2505 มีความชัดเจนมาก ปัญหาขัดแย้งที่แท้จริงก็คือ กัมพูชาสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องแค่ไหน ในสิ่งที่ศาลได้ตัดสินครั้งนั้น กัมพูชาพยายามบอกว่าพันธกรณีต่อเนื่องที่ไทยต้องถอนกำลัง ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน แต่การถอนกำลังนั้น ไม่สามารถมีลักษณะต่อเนื่องได้ กล่าวคือ เมื่อถอนกำลังออกมาแล้ว ซึ่งไทยได้ทำแล้ว ก็ไม่สามารถถอนกำลังออกมาครั้งที่สอง สาม สี่ ได้อีก เพราะไม่ได้มีการนำกำลังเข้าไปอีก แถมในทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา กัมพูชาก็ได้พูดอยู่บ่อยครั้ง ว่าไทยได้ถอนกำลังออกไปเรียบร้อยแล้ว”
ศ.แปลเลต์ยืนยันว่า ปี 1966 ไม่มีการประท้วงเรื่องพื้นที่ 2-3 เมตร รอบตัวปราสาท ที่ไทยได้กันพื้นที่ให้จากฝ่ายกัมพูชาเลย ขณะเดียวกันกลับมีการร่วมมือกันมาโดยตลอดเกี่ยวกับการทำทางเข้าตัวปราสาท หรือแม้แต่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
ก็รับสั่งว่า ทหารไทยก็ได้ถอยไปอยู่ในพื้นที่ของตัวเองแล้ว จึงขอยืนยันว่าไม่มีข้อขัดแย้ง พิพาทกัน ศาลจึงไม่มีความจำเป็นต้องตีความ”
2. ในเรื่องเส้นเขตแดนก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าศาลไม่จำเป็นต้องตีความในเรื่องนี้ เพราะในปี 1962 เป็นการร้องขอในเรื่องว่าปราสาทพระวิหารเป็นของใคร ซึ่งศาลไม่ได้มีการพูดถึงเส้นเขตแดนเลย ศาลได้ตัดสินเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาท แต่ไม่ได้บอกเลยว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ส่วนนี้เองก็ผูกพันมาในวรรคที่สอง ที่ให้ไทยถอนทหาร และในวรรคที่สาม คือการที่ไทยต้องคืนวัตถุต่างๆ ที่ได้เคลื่อนย้ายไปจากตัวปราสาทให้แก่กัมพูชา หลังจากนั้นไทยก็ได้ถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“หากศาลจะพิจารณาในเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่แปลก เพราะศาลเคยปฏิเสธอย่างชัดแจ้งไปแล้ว ที่จะยืนยันคำอ้างของกัมพูชาที่อ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1”
3. น.ส.อลินา มิรอง ผู้ช่วย ศ.แปลเลต์ แถลงต่อศาลว่า กัมพูชายึดแผนที่ฉบับที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่สอดรับกับภูมิประเทศจริง ทั้งถูกปลอมแปลงเพิ่มเติมด้วย โดยเธอย้ำว่า กัมพูชาพยายามจะเปลี่ยนคำร้องใหม่ให้ศาลโลกตีความเขตแดนด้วย
“ในปี 1962 กัมพูชาไม่สนใจพื้นที่ภูมะเขือ พื้นที่ทางตะวันตกเลย และให้ผู้เชี่ยวชาญดูพื้นที่ปราสาทและสันปันน้ำเท่านั้น ขอย้ำว่าแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายึดถือ ความจริงมีหลายฉบับ แต่กัมพูชาอ้างว่าฉบับที่สำคัญคือปี 1959 เป็นฉบับที่ถูกต้อง โดยกัมพูชานำป้ายมาให้ดู แต่เป็นแค่ป้ายบ่งชี้ถึงเอกสารที่อยู่ในศาลเท่านั้น
กัมพูชามีการบิดเบือนแผนที่ โดยนำแผนที่ภาคผนวก 1 มาขยาย เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน ทั้งนี้หากดูจากความพยายามของกัมพูชาที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทำแผนที่โดยพยายามหาเส้นสันปันน้ำ แต่ไม่สนใจพื้นที่ด้านตะวันออกหรือตะวันตกของตัวปราสาทพระวิหาร ดังนั้น กรณีพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นข้อพิพาทใหม่ ไม่ใช่ข้อพิพาทจากคำพิพากษาในปี 2505
ยืนยันว่า แผนที่แผ่นใหญ่ที่ไทยนำมาแสดงต่อศาลนั้น มีการใช้พิจารณาในคดีที่ศาลตัดสินปี 2505 ส่วนที่บอกว่า เส้น
สันปันน้ำไม่สำคัญนั้น ก็เป็นเฉพาะบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดนส่วนอื่น เพราะแม้แต่แผนที่ภาคผนวก 1 กัมพูชายังพยายามที่จะหาเส้นสันปันน้ำ แต่เมื่อถ่ายทอดเส้นจากแผนที่ภาคผนวก 1 ลงสภาพภูมิประเทศจริงๆ กลับไม่ตรงกับภูมิประเทศเลย เพราะกัมพูชาใช้แผนที่ที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามีความแม่นยำน้อยที่สุด และคลาดเคลื่อนจากภูมิประเทศที่แท้จริง
กัมพูชาจึงทำแผนที่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งด้วยการขยายแผนที่ แต่ก็ไม่สามารถแสดงภูมิประเทศที่แท้จริงได้ และไม่ได้พูดถึงการถ่ายทอดเส้นลงมาบนโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงการไม่คำนึงถึงสันปันน้ำด้วย ก็เท่ากับไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา 1904 ที่ใช้เรื่องสันปันน้ำในการปักปันเขตแดน
ขณะเดียวกันไม่สามารถบอกได้ว่ากัมพูชาทำอย่างไรในการกำหนดเส้นในแผนที่ของตัวเอง โดยผู้เชี่ยวชาญพยายามกำหนดจุดร่วมระหว่างแผนที่ปัจจุบันกับแผนที่ภาคผนวก 1 มีสองปัญหา คือ มีจุดร่วมน้อยมาก ส่วนใหญ่คลาดเคลื่อนหมด และเมื่อใช้พิกัดมาเป็นตัวถ่ายทอด ก็ได้ผลออกมาว่าจุดร่วมบางครั้งไกลกันมาก และบิดเบือนไปจากความเป็นจริง แสดงถึงความคลาดเคลื่อนของแผนที่ภาคผนวก 1
“ถ้าพยายามนำจุดร่วมจากปราสาทพระวิหารมาถ่ายทอด ก็ต้องถามว่าเป็นสิ่งที่กัมพูชาต้องการหรือไม่ เพราะที่ราบบางส่วนจะอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย กัมพูชา จะยินยอมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากใช้แผนที่ภาคผนวก 1 มาถ่ายทอดจะพบว่าเบี่ยงเบนไปจากเส้นสันปันน้ำค่อนข้างมาก ไอบีอาร์ยู แนะนำว่า วิธีธรรมชาติเท่านั้นที่จะเป็นเส้นเขตแดนที่มั่นคง ดังนั้น การใช้สันปันน้ำไม่ใช่เรื่องสมมุติ แต่เป็นเส้นที่มีอยู่จริง และควรใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน”
4. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า ประเทศไทยมีความคงเส้นคงวา ยืนยันว่าปัญหาเขตแดนอยู่นอกเหนือขอบเขตคำพิพากษาปี 2505 และศาลไม่ได้ตัดสิน ให้เป็นเรื่องคู่ความต้องตกลงกันเอง
“โดยเรื่องเขตแดน มีปัญหาแค่อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ไทยมีความคงเส้นคงวา ยืนยันเรื่องเส้นสันปันน้ำมาโดยตลอด รวมทั้งยังยืนยันว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในฝั่งไทยตามแนวเส้นสันปันน้ำ เราไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลในปี 2505 แต่ก็ปฏิบัติตาม
เรายังยืนยันเรื่องขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่พิพาทเดิม โดยแสดงหลักฐานในเรื่องเส้นขอบเขตปราสาทพระวิหารตามมติ ครม.ปี 2505 ที่ยื่นต่อศาลตั้งแต่แรก และมีหลักฐานว่าสอดคล้องกับสิ่งที่กัมพูชายอมรับว่าเป็นพื้นที่พิพาทครั้งแรกที่ทั้งไทยและกัมพูชาเข้าใจตรงกัน แต่นิสัยกัมพูชาชอบแย่งหลักฐานของไทยไปใช้ อีกทั้งจุดยืนก็ไม่คงเส้นคงวามาตลอด ในหลายช่วงเวลาด้วยกัน”
นายวีรชัยย้ำว่า ความไม่คงเส้นคงวาต่างๆ ของกัมพูชาได้แก่
ตอนที่ 1 : การพิจารณาครั้งแรก ขอให้พิพากษาเรื่องบูรณภาพเหนือปราสาท แต่ต่อมาขอให้พิพากษาเขตแดนและสถานภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ศาลปฏิเสธที่จะตัดสินเรื่องนี้ จึงไม่มีเรื่องนี้อยู่ในคำพิพากษาปี 2505
ตอนที่ 2 : กัมพูชาในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต เพราะในปี 1969 ยื่นแผนที่ภาคผนวก 1 ให้ศาล แต่วันนี้เป็นอีกฉบับหนึ่ง โดยไม่สามารถบอกได้ว่า เส้นไหนที่อยากให้ศาลดู และพึ่งเส้นเทียมในการพิสูจน์เส้นแบ่งเขตแดน เพราะแผนที่ภาคผนวก 1 มีปัญหาเรื่องการถ่ายทอด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย
ตอนที่ 3 : กัมพูชาเคยยอมรับเส้นมติคณะรัฐมนตรีไทย ที่ล้อมรั้วลวดหนาม แต่กลับไม่ยอมรับในภายหลัง ทั้งที่ผู้นำสูงสุดของกัมพูชาก็ยอมรับว่า แม้จะล้ำไปฝั่งกัมพูชา แต่ก็ไม่กี่เมตร ไม่เป็นประเด็น แต่กัมพูชาวันนี้ไม่ยอมรับ และอ้างพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ตารางกิโลเมตร
ตอนที่ 4 : กัมพูชาในปี 2011 ขอให้ศาลตีความวรรคสอง ของข้อบทปฏิบัติการ แต่วันนี้ ขอให้ตีความทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ความไม่คงเส้นคงวาของกัมพูชาจะเป็นความขัดแย้งในการสร้างเสถียรภาพที่เป็นข้อยุติ ซึ่งคำพิพากษาปี 2505 นั้น ศาลต้องการให้มีเสถียรภาพและได้ข้อยุติ คือให้เกิดมิตรภาพที่ยั่งยืน จึงตัดสินเพียงอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารแต่ไม่ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน ส่วนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา แต่ศาลไม่ได้บอกว่า ให้แผนที่ดังกล่าวแทนที่สนธิสัญญาหรือเป็นแหล่งข้อมูลเดียวในการบอกเส้นเขตแดน
การที่กัมพูชาเอาแผนที่มาแทนสนธิสัญญา 1904 เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ โดยไม่ยึดสันปันน้ำ ทั้งที่แผนที่ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนมาก จึงเป็นความต้องการตามอำเภอใจของกัมพูชาทั้งที่บอกไม่ได้ว่าหากนำมาถ่ายทอดในโลกความเป็นจริงจะทำอย่างไร แต่ถ้าทำก็จะเกิดปัญหามากขึ้น
การกลับลำของกัมพูชา ทั้งที่ศาลพยายามป้องกันความไม่แน่นอน เป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพและข้อยุติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 ในส่วนของประเทศไทย เราไม่ขออะไรมากไปกว่าสิ่งที่ศาลได้ตัดสินในปี 2505 เพราะทุกอย่างปฏิบัติและได้ข้อยุติไปตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว แต่กัมพูชากลับมีการปลอมแปลงแผนที่ บิดเบือนข้อเท็จจริง ร้องขอในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย เพื่อให้ศาลรับคำร้องของตัวเอง
คำแถลงไทยจึงขอต่อศาลว่า ขอให้ศาลชี้ว่าคดีนี้ไม่มีมูลที่จะตีความใหม่ศาลไม่มีอำนาจ คำร้องกัมพูชารับฟังไม่ขึ้น กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดนต้องทำภายใต้ข้อตกลงเอ็มโอยู 2543 ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ข้อยุติ หรือทุกอย่างอาจเลวร้ายลงถ้าปล่อยให้กัมพูชาอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ที่มีความคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ไทยและกัมพูชามีอดีตในการถูกล่าอาณานิคมเหมือนกันและมีอนาคตร่วมกันว่าจะเป็นพี่น้องในชุมชนอาเซียนภายใต้หลักนิติธรรม ดังนั้นคำพิพากษาปี 2505 ต้องไม่ถูกบิดเบือน เพราะมีแต่หลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน
“ขอให้ศาลตัดสินว่าคำขอของกัมพูชาในการตีความคำพิพากษาปี 2505 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลและศาลไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา หรือคำร้องไม่มีมูลไม่มีเหตุผลที่จะต้องตีความคำพิพากษา 2505 เพราะไม่ได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนที่ผูกพันไทยและกัมพูชา”
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผมไหมครับว่า คนที่สุรพงษ์ทั้งควรไหว้และกราบตีนนั้น คือนายวีรชัย พลาศรัย คนนี้!!!
จากคอลัมภ์ เส้นใต้บรรทัด
โดย จิตกร บุษบา http://www.naewna.co.../columnist/6326
Edited by ดอกปีบ, 21 April 2013 - 10:20.