นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีแนวคิดการปฏิรูปพรรคนั้นว่า การที่จะต้องปรับปรุงการทำงานของพรรคก็มีการทำมาโดยตลอดมีหลายคนที่ทำงานนี้ อาทิ นายอภิรักษณ์ โกษะโยธิน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ซึ่งตนก็ได้ให้ ส.ส.หลายคนทำข้อเสนอขึ้นมา ซึ่งแต่ละคนก็มีความคิดเห็นที่ตรงและไม่ตรงกันบ้าง กรรมการบริหารพรรคก็ต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพียงแต่หลายคนที่ทำงานนี้ไม่ได้เอาเรื่องภายในมาพูดผ่านสื่อ ส่วนข้อเสนอของนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคกลาง ก็ยังไม่มีการเสนอขึ้นมา ซึ่งตนก็ได้คุยกับเจ้าตัวก็ยังไม่มีรูปธรรม ส่วนเรื่องการคัดเลือกผู้สมัครนั้นก็เป็นแนวคิดที่พูดกันมาหลายเดือนแล้ว และตนก็เป็นคนมอบหมาย และให้โจทย์ไป ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง
เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของนายอลงกรณ์ จะสร้างความสับสนให้กับสังคมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สังคมคงรับรู้ได้ ว่าทุกองค์กร รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องประเมิน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เพียงแต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ก็เตือนให้ระมัดระวังว่าเรื่องภายในหากสื่อสารออกไปข้างนอกแล้วเกิดเข้าใจผิด และถูกหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์โดยฝ่ายอื่นๆ ก็จะเกิดความสับสน ซึ่งนายอลงกรณ์ก็ยืนยันว่าระมัดระวังไม่ให้มีความสับสน ส่วนที่บอกว่าคนในพรรคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดปฏิรูปพรรคนั้น ยังไม่มีเพราะการนำเสนอยังไม่ได้ออกไปในวงกว้าง และนายอลงกรณ์ก็ยังขอเวลาในการนำเสนออยู่ ซึ่งก็ต้องทำต่อไป
“ก็ขอเตือนสมาชิกว่าต้องไม่เสียสมาธิในการปฏิบัติหน้าที่ฐานะฝ่ายค้านที่ยังมีภารกิจที่สำคัญกว่าสำหรับประเทศในขณะนี้ เพราะรัฐบาลกำลังเดินหน้ารุกคืบ เปลี่ยนระบบไปสู่การรวบอำนาจผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทโดยหลีกเลี่ยงระบบงบประมาณ ซึ่งเราก็ยังติดภารกิจตรวจสอบเรื่องเหล่านี้อยู่ เพราะหน้าที่พรรคฝ่ายค้านในสภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นสมาชิกต้องเข้มแข็ง ทั้งนี้งานการเมืองที่จะต้องต่อสู้ในการเลือกตั้งก็สำคัญ แต่สำคัญเท่ากับเรื่องของบ้านเมืองไม่ได้ ซึ่งเราได้รับเลือกตั้งมาเป็นฝ่ายค้าน มีความรับผิดชอบฐานะฝ่ายค้านที่จะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งซึ่งเป็นภารกิจหลักของเรา ส่วนการเตรียมการก็เป็นเรื่องภายในเพราะไม่มีใครอยากแพ้เลือกตั้ง”หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่พรรคมีจุดอ่อน หรือข้อจำกัดบางส่วนก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ต้องไม่ละทิ้งคือหลักการอุดมการณ์ หากต้องละทิ้งอุดมการณ์เพื่อชนะการเลือกตั้งตนว่าคนเกือบทั้งหมดของพรรคจะไม่เอาด้วย แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการ รูปแบบวิธีการก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ซึ่งก็ต้องเห็นใจนายอลงกรณ์ ที่มีความรับผิดชอบสูงเป็นพิเศษเพราะเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง ซึ่งในพรรคก็มีการิเคราะห์โดยตลอดว่าหากจะชนะการเลือกตั้ง ต้องเพิ่ม ส.ส.ในภาคกลางให้มากที่สุด ซึ่งเป็นการทำงานหลักและอาจต้องการเครื่องมือเพิ่มขึ้นอีกก็ต้องมาหารือกัน ส่วนคำพูดที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ยึดโยงกับประชาชนนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์อยู่กับระบบการเลือกตั้งมา 67 ปีแล้ว ซึ่งตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็มียุทธศาสตร์สำคัญคือการทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งพรรคก็ต้องทำงานอยู่กับประโยชน์ประชาชน และต้องเชื่อมโยงกับประชาชน แต่บางคนอาจจะหงุดหงิดกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่อิงกับความเห็นของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด บางครั้งก็เป็นความเห็นที่แตกต่าง แต่ก็เป็นระบบประชาธิปไตย
Edited by ดอกปีบ, 25 เมษายน พ.ศ. 2556 - 17:48.