http://www.matichon....5&subcatid=0504
ทีดีอาร์ไอชำแหละ พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน ชี้ไร้แนวสร้างรถไฟที่ชัดเจน แถม 18 โครงการไม่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีก 11 โครงการยังคลุมเครือ ค้านรถไฟฟ้าสปีดเทรนไม่ตอบโจทย์ เพราะต้องมีผู้โดยสาร 9 ล้านคนถึงจะคุ้มทุน "เศรษฐพุฒิ"จี้รัฐเลิกประชานิยมสุดกู่ ไม่งั้นไทยซ้ำรอยกรีซแน่
เมื่อ วันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เสนอบทวิเคราะห์ "ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เดินหน้าอย่างไรให้ถูกทาง คุ้มค่า และเป็นประชาธิปไตย? โดยนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ และกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า โครงการในการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พัฒนาด้านการขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะบัญชีท้าย พ.ร.บ.กำหนดเพียงจุดเริ่มต้นและปลายทางของเส้นทางรถไฟ แต่ไม่ได้กำหนดแนวเส้นทางว่าผ่านพื้นที่ใดจังหวัดใดบ้าง นอกจากนี้ โครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ที่ยังไม่ตอบโจทย์ในด้านการลดต้นทุนการขนส่งหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจการ เงินเท่าที่ควร เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงจะเน้นการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักเบาและการขนส่งคน เป็นหลัก เมื่อเทียบกับรถไฟทางคู่ที่ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และสร้างความสามารถในการ แข่งขันระยะยาวได้ดีกว่า
"ประเมินเบื้องต้นว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำ ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5.5% ต่อปี ในช่วงปี 2557-2563 โดยมีอัตราเงินเฟ้อ 2.75% ต่อปี ซึ่งหากลงทุนคุ้มค่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง 8.25% ต่อปี แต่หากลงทุนไม่คุ้มค่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 7.5% ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะ จะเพิ่มสูงถึง 75% ต่อจีดีพีในปี 2563 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ? นายสมชัยกล่าว
นาย สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงหลายประการในโครงการนี้ เนื่องจากมีโครงการจำนวนมากที่ยังไม่ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ด้านความคุ้ม ค่าทางการเงินอย่างละเอียด ถึง 11 โครงการ รวมวงเงินสูงกว่า 9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งหากจะคุ้มค่าการลงทุนจะต้องมีผู้โดยสารในปีอย่างน้อย 9 ล้านคน อีกทั้งยังมีโครงการที่ยังไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีก 18 โครงการ วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยว่า สถาบันได้จัดทำบทวิเคราะห์ 5 วิธีที่ทำให้ไทยไม่เป็นกรีซในอนาคต ประกอบด้วย 1.รัฐบาลควรเลิกนโยบายประชานิยมในแบบที่ไม่จำกัดวงเงินงบประมาณ 2.หากจะลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รัฐควรจะลดขนาดการกู้ยืมลง 3.โครงการที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ ควรมีระบบตรวจสอบและประเมินผล 4.ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเงินต้นให้มากขึ้น และหาทางเพิ่มรายได้ในอนาคต 5.ต้องสร้างกลไกความรับผิดรับชอบที่ชัดเจน จะต้องมีผู้รับผิดรับชอบที่ชัดเจน และมีกลไกในการนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษเมื่อเกิดความเสียหาย
นาย เศรษฐพุฒิกล่าวว่า หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 ที่ 5 ล้านล้านบาทนั้น ยังไม่ได้รวมหนี้อีกหลายรายการที่อาจสร้างภาระต่องบประมาณ เช่น หนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน รวมถึงหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่สำรองจ่ายในโครงการจำนำข้าว หากรัฐบาลไม่สามารถขายข้าวได้ในราคาที่รับจำนำมา สุดท้ายรัฐบาลก็อาจจะต้องชดเชยความเสียหายให้แก่ ธ.ก.ส. ซึ่งจะกลายเป็นภาระงบประมาณในอนาคต
นายภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสม และมองว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อระดับหนี้สาธารณะ หากรัฐบาลสามารถควบคุมวินัยการคลังไม่ให้หนี้เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และสามารถบริหารผลตอบแทนการลงทุนได้สูงกว่าต้นทุนเงินกู้ที่กู้ในประเทศ
(ที่มา:มติชนรายวัน 24 เมษายน 2556)