ศาลรัฐธรรมนูญเอาจริง เอาผิด “เรืองไกร”
ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน-ร้องเรียน-ให้ข่าวเท็จ
ศาลรัฐธรรมนูญเอาผิด “เรืองไกร” ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน-ผู้พิพากษา เหตุร้องเรียน-ให้ข่าวเท็จกล่าวหา “ชัช” ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “วสันต์” นั่ง ปธ.ศาลไม่ชอบ คณะตุลาการสมรู้ร่วมคิดกระทำผิด ชี้พฤติการณ์จงใจบิดเบือน ทำลายสถาบันตุลาการชาติ ย้อนเกล็ดหากเชื่อที่มาไม่ชอบทำไมมายื่นเรื่องให้วินิจฉัย เท่ากับรู้แก่ใจแต่งตั้งถูกต้อง แจงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในตำแหน่งตุลาการด้วยเมื่อครั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ แม้ลาออกจาก ปธ.ศาลก็ทำหน้าที่ตุลาการต่อได้
วันนี้ (3 พ.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ในวันนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ไปกล่าวโทษนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่านายเรืองไกรการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 136 และมาตรา 198 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล ผู้พิพากษาในการพิจารณา พิพากษาคดี จากการที่นายเรืองไกรได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ และให้ข่าวกล่าวหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีการกระทำที่บิดเบือนพระบรมราชโองการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจตามกฎหมาย และกล่าวหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการแอบอ้างเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีโดยมีกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน
โดยนายเรืองไกรได้ไปยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาเมื่อ 22 เม.ย. ขอให้ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการกระทำที่ผิดบิดเบือนพระบรมราชโองการหรือไม่ โดยอ้างถึงหนังสือของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เสนอเรื่องต่อวุฒิสภา เพื่อดำเนินการให้มีการเสนอให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นฐานกล่าวหาว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยมิชอบ มีการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเตรียมยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏืบัติตามกฎหมาย กรณีนายชัช ชลวร ลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมาดำรงตำแหน่งตุลาการโดยไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่กลับไปทำหน้าที่ประธานที่ประชุมเลือกนายวสันต์ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงการยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 29 เมย. ขอให้ตรวจสอบนายชัชว่าได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นความผิดเข้าข่ายกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีแอบอ้างเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าเป็นองค์คณะพิจารณาวินิจฉัยคดีและมีคำสั่งคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ภายใต้การยินยอมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน ที่มีข่ายความผิดฐานเป็นตัวการ หรือผู้สนับสนุนหรือไม่
เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญยังระบุถึงการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายชัช ภายหลังลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยแต่เดิมนายชัชดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันก็ตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญอีกสถานะหนึ่งตามที่ได้รับเลือกจากผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน เมื่อมีการดำเนินการเสนอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายชัชอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ต้องได้รับการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมกับผู้ได้รับเลือกอีก 8 คน และขณะเดียวกันก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญอีกสถานะหนึ่งด้วย ซึ่งการดำเนินการเสนอให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคราวนั้น เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ทั้งคณะ 9 คน การดำเนินการเพื่อให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะตุลาการทั้ง 9 คน และประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้กระทำพร้อมกันในคราวเดียว โดยระบุให้นายชัชเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นที่พึงเข้าใจของสุจริตชนได้ว่านายชัชได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสองฐานะ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมกันในคราวเดียว เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอเป็นอีกขึ้นตอนหนึ่ง ตามหลักของเหตุผลประกอบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องว่า ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องมีฐานะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นจึงจะได้รับการเลือกและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ในวันที่ 11 มิ.ย. 51 เมื่อนายชัชลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญโดยมิได้ลาออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายชัชจึงยังคงดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การเข้าประชุมองค์คณะตุลาการฯ เพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญและพิจารณาวินิจฉัยคดีจึงเป็นไปโดยชอบ
นอกจากนี้ เอกสารข่าวยังระบุว่า พฤติการณ์ของนายเรืองไกรที่ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนและร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยสุจริต แต่เป็นการใช้ข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จและบิดเบือนมาเป็นฐานในการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดที่ร้ายแรงมาก ซึ่งนายเรืองไกรเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา มีวุฒิการศึกษาจบปริญญาโท ย่อมรู้อยู่ว่าในการเสนอเรื่องเพื่อให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องมีการพิจารณากลั่นกรองตรวจสอบตามระเบียบปฏิบัติราชการอยู่แล้ว และยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา รวมถึงผ่านการกลั่นกรองของสำนักราชเลขาธิการด้วย ซึ่งครบกระบวนการถูกสมบูรณ์ แต่นายเรืองไกรกลับกล่าวอ้างอันเป็นว่าไม่ชอบ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้แสดงให้เห็นถึงการกระทำไม่สุจริต อีกทั้งนายเรืองไกรเคยไปยื่นฟ้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครอง เมื่อศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ก็กลับนำข้อความอันส่อเจตนาให้มีความเข้าใจผิดว่าศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยคดีแล้วว่า การแต่งตั้งนายวสันต์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นโดยไม่ชอบมาเป็นเหตุร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน วุฒิสภาและกรมสอบสวนคดีพิเศษ แสดงให้เห็นเจตนาว่าไม่ได้มีจุดมุ่งประสงค์ตรวจสอบตามสิทธิ แต่มุ่งเผยแพร่ให้ข่าวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ เกียรติคุณ ชื่อเสียงของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญหากนายเรืองไกร เห็นว่าการแต่งตั้งนายวสันต์ เป็นประธานฯ ไม่ชอบ และนายชัชไม่ได้เป็นตุลาการฯ เหตุใดนายเรืองไกรยังใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง เช่น คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 33/2555 คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 35/2555 คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 39/2555 คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 43/2555 ซึ่งการยื่นคำร้องดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่านายเรืองไกร รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงนายชัชยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่และการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลก็เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย นายเรืองไกรจึงได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ
“การร้องเรียนกล่าวหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและการให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวของนายเรืองไกร ถือเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการใส่ความมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนไม่เคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่ เสื่อมศรัทธา และเกิดการเกลียดชังศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อันมุ่งประสงค์ต่อการทำลายล้างสถาบันตุลาการของชาติ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องใช้สิทธิปกป้องเกียรติภูมิของศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานฯไว้โดยกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”
เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญระบุ
Edited by zeed~ko, 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 - 22:02.