กรณีนายพรศักดิ์ เจียรณัย ผวจ.ชัยภูมิ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับลงสำรวจพื้นที่กำลังก่อสร้างเขื่อนโปร่งขุนเพชร ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและแก้ไขปัญหาอุทกภัย งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล หลังมีกลุ่มชาวบ้านใน อ.หนองบัวระเหว เข้าร้องเรียนว่ามีกลุ่มนายทุนเข้ามาก่อสร้างหมู่บ้านผี มีบ้านและรีสอร์ทกว่า 300 หลัง เพื่อหวังได้รับเงินชดเชยค่าบ้านหลังละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลอ้างตัวเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าเวนคืนที่ดิน ที่ชาวบ้านจะได้รับไร่ละ 5 หมื่นบาทอีกด้วย แต่ระหว่างที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับพบว่ามีหมู่บ้านผีผุดขึ้นอีกแห่ง ในพื้นที่หมู่บ้านกุดเวียน ต.โปร่งนก อ.เทพสถิต โดยมีการจัดสรรที่ดินเป็นบล็อก ๆ สร้างบ้านอีกกว่า 30 หลัง เพื่อหวังได้รับเงินชดเชย ตามที่ “เดลินิวส์” ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับเบาะแสจากชาวบ้านว่าพบหมู่บ้านผีเป็นแห่งที่ 3 ในเขตพื้นที่เตรียมก่อสร้างเขื่อนยางนาดี ความจุ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณกว่า 2,700 ล้านบาท ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของรัฐบาล กินพื้นที่ 3 ตำบลใน อ.หนองบัวระเหว และ อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ เป็นบริเวณกว้างกว่า 150 ไร่ โดยชาวบ้านให้ข้อมูลว่ากลุ่มนายทุนกลุ่มเก่า ซึ่งเป็นอดีตนักการเมืองระดับชาตินอกพื้นที่ ที่ได้ระดมกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่สร้างเขื่อนโปร่งขุนเพชรปลูกบ้านและรีสอร์ทกว่า 300 หลัง หวังได้รับเงินชดเชยตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ได้ตระเวนทำสัญญาเช่าที่ดินของชาวบ้านแล้วจัดสรรเป็นบล็อก ๆ สร้างบ้านและรีสอร์ทกว่า 200 หลัง เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้มีราคาแพง จึงใช้วิธีเช่าที่ดินปลูกบ้านเพื่อหวังเงินชดเชย จากนั้นจะให้ส่วนแบ่งกับเจ้าของที่ดินรายละ 10 เปอร์เซ็นต์
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงสำรวจพื้นที่ตามที่ได้รับแจ้งพบว่ามีการก่อสร้างหมู่บ้านดังกล่าวจริง บ้านแต่ละหลังมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก กว้างประมาณ 4x5 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐบล็อก มุงหลังคาสังกะสี มีคนงานจำนวนหนึ่งกำลังเร่งมือก่อสร้าง โดยผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากคนงานรายหนึ่งว่า นายจ้างได้สั่งให้เร่งก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน พวกตนจึงต้องทำงานกันทั้งวันทั้งคืน นอกจากนี้ยังพบบ้านอีกกว่า 10 หลังที่ไม่ได้อยู่ในเขตที่นายทุนเข้ามาเช่าที่ดินถูกปลูกในบริเวณใกล้เคียงกัน ทราบว่าบ้านบางหลังเป็นของข้าราชการบางกลุ่ม และชาวบ้านบางรายที่เป็นเจ้าของที่ดิน ได้ว่าจ้างคนงานให้มาปลูกบ้านเพื่อหวังเงินชดเชยด้วยเช่นกัน
นายกาญจนพจน์ นาคคำ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ อ.หนองบัวระเหว กล่าวว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว เนื่องจากได้ติดตามข่าวจาก “เดลินิวส์” มาโดยตลอดก็พบว่ามีการสร้างหมู่บ้านผีเพื่อหวังเงินชดเชยกันอย่างต่อเนื่อง เกรงว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ ใน จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจะได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหาย เช่น อาจทำให้การสร้างเขื่อนเสร็จช้าลง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเรื่องภัยแล้งซ้ำซาก อีกทั้งเกรงว่าอาจเกิดปัญหาซ้ำรอยในจังหวัดอื่นๆ ที่จะมีการดำเนินการสร้างเขื่อนได้
ขณะที่ ชาวบ้านรายหนึ่งใน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว เปิดเผยว่า ครอบครัวมีที่ดินเปล่าอยู่ในเขตก่อสร้างเขื่อนโปร่งขุนเพชร เมื่อทราบว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนได้รับการเห็นชอบ จึงรีบก่อสร้างบ้านหลังใหม่เพื่อให้ทันการสำรวจขอเงินชดเชยหลังละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้บรรดาญาติพี่น้องหรือชาวบ้านรายอื่นๆ ที่มีที่ดินมรดกในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนก็พากันมาสร้างบ้านเพื่อหวังได้รับเงินชดเชยเช่นเดียวกัน โดยทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ไปกู้ยืมเงินนอกระบบมาสร้างบ้าน ทำให้หลายคนเป็นหนี้จำนวนมาก
อนึ่ง ในเดือน ก.ค.55 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เสนอให้มีการสร้างเขื่อนใน จ.ชัยภูมิ 3 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนโปร่งขุนเพชร งบประมาณ 1,200 ล้านบาท เขื่อนยางนาดี งบประมาณ 2,700 ล้านบาท (ล่าสุดปรับเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท) และเขื่อนชีบน งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท (เตรียมปรับเพิ่มเป็น 5,500 ล้านบาท) โดยให้เร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและพิจารณาทบทวนค่าเวนคืนที่ดินให้เหมาะสมกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
ขณะที่ นายบุญชอบ สุทธิมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงกรณีการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีนายทุนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สร้างหมู่บ้านผี เพื่อรอรับเงินชดเชยจากการก่อสร้างเขื่อนว่า เรื่องนี้คงต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนในพื้นที่ของกรมป่าไม้หรือไม่ เพราะเท่าที่ติดตามข่าวยังไม่ทราบพื้นที่ที่แน่ชัดว่ามีการเข้าไปก่อตั้งหมู่บ้านในจุดใด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทราบว่ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยขออนุญาตกรมป่าไม้ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ บางส่วนในการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว และถึงแม้จะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้แต่พื้นที่ป่าก็ยังเป็นของกรมป่าไม้อยู่ ส่วนการที่ใครจะเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ป่าแล้วนำไปอ้างสิทธิ์รับเงินชดเชยนั้น โดยหลักการก็ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว...
http://www.dailynews...th/crime/205956
ทีเรื่องอย่างงี้ล่ะ... เก่งกันนัก... ไทยๆ เฮ้ออออออออออออออ...
Edited by wat, 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 - 11:05.