http://www.oknation....3/02/10/entry-1
อ่าน ‘จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์’ แล้วย้อนดู V for Vendetta ใหม่อีกรอบ
เวิ้งวิภาษ หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
V for Vendetta เป็นนิยายภาพของ Alan Moore ตีพิมพ์ในพ.ศ. 2525 และถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังในปี 2548 กำกับโดย James McTeigue เขียนบทโดยพี่น้อง Wachowski
คำว่า Vendetta เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่าการล้างแค้น ผมดูหนังเรื่องนี้ไปเมื่อราว 7 ปีที่แล้ว ขณะเข้าฉายในไทย ยังจำได้ว่า V for Vendetta เป็นหนังที่ดีมาก ปลุกเร้าให้ผู้ชมเกิดความหวัง และเชื่อมั่นในความถูกต้อง ความยุติธรรม
แต่หนังสือ จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์ ของสรวิศ ชัยนาม หยิบหนังเรื่องนี้มาวิเคราะห์ในมุมมองของนักวิชาการฝ่ายซ้ายได้อย่างทรงพลัง และทำให้ผมมองเห็นหนังเรื่องนี้ในอีกหลายๆ แง่มุมอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน
จากการปฏิวัติภึงโลกาภิวัตน์ เป็นหนังสือที่สรวิศ ชัยนาม ผู้เขียนบอกว่าตั้งใจจะ
“อธิบายความคิดของชิเชค (Slavoj Žižek) เรื่องการวิพากษ์เชิงอุดมการณ์ การเมืองเรื่องการปฏิวัติ และจิตวิเคราะห์ของลากอง (Jacques Lacan) โดยนำไปผูกโยงกับภาพยนตร์ภายใต้บริบทการเมืองโลกร่วมสมัย”
เรื่องย่อๆ ของ V for Vendetta สมมติเหตุการณ์เกิดขึ้นที่อังกฤษในโลกอนาคต ขณะการก่อการร้ายดำเนินไปทั่วโลก เกาะอังกฤษ - หลังจากเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงสูญเสียประชากรไปจำนวนมาก - จำต้องอยู่ในภาวะเคอร์ฟิว และถูกปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่กลายสภาพเป็นเผด็จการ
รัฐเผด็จการปกครองเกาะอังกฤษอย่างเบ็ดเสร็จ และยังมีกระบอกเสียงเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข่าวเฉพาะในด้านดีของรัฐบาล โดยข่าวทุกข่าวต้องได้รับการตรวจสอบจากทางรัฐอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ยังมีการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลด้วยการดักฟังโทรศัพท์ สอดแนม และกล้องวงจรปิดจำนวนมากตามท้องถนน
รัฐเผด็จการนี้มีลักษณะอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมือในการปกครอง เหยียดผิว ต่อต้านมุสลิม และออกกฎหมายให้การเป็นเพศที่สามถือเป็นความผิด
หนังค่อยๆ เผยมาว่า แท้จริงแล้วโรคระบาดที่อังกฤษเผชิญมาก่อนหน้านั้น ก็คืออาวุธชีวภาพที่ทางพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลคิดขึ้นนั่นเอง แต่นำมาใช้กับประชาชนของตนเอง และมีรายได้จำนวนมหาศาลจากการผลิตยารักษาโรคระบาดนี้
ตัวละครเอกคือชายสวมหน้ากากที่เรียกตัวเองว่า ‘V’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกทดลองยา แต่เขาหนีรอดออกมาจากค่ายกักกัน และปรากฏตัวขึ้นในเรื่องพร้อมด้วยเป้าหมายในการโค่นล้มรัฐเผด็จการ
แน่นอนว่า V for Vendetta จัดอยู่ในนิยายภาพและหนังประเภท superhero แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ V ไม่ได้ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดหรือผู้ก่อการร้าย แต่ V กำลังสู้กับรัฐเผด็จการที่กดขี่ข่มเหง และริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะเชื่องเชื่อ ดังบทวิเคราะห์ว่า “ต่างถูกปิดปากจนเงียบสงบโดยพวกตำรวจลับ บ้างก็เสพติดโทรทัศน์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น...
พวกเขาตระหนักรู้ว่าระบบเสื่อมโทรมเน่าเฟะเพียงใด พวกเขาจึงมิได้ซึมซับค่านิยมและความเชื่อที่รัฐบาลยัดเยียดให้แม้แต่น้อย กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังเคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจอยู่ต่อไป ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ แต่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ก็ทำตัวประหนึ่งว่าพวกเขาไม่รู้ไม่เห็นกับความ อัปลักษณ์น่าเกลียดของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่”
อาการกลัวอยู่ตลอดเวลาและคิดไปเองว่าตนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เป็นสภาวะที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘reflexive impotence’
ฉากที่น่าประทับใจฉากหนึ่งคือฉากที่ V บุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์ และปราศรัยออกอากาศ ประกาศแถลงการณ์แสดงจุดยืน อ้างถึง Guy Fawkes วีรบุรุษผู้พยายามระเบิดรัฐสภาของอังกฤษเมื่อสี่ร้อยปีที่แล้ว (หน้ากากที่ V ใส่คือหน้าของ Guy Fawkes โดยสมมติ)
“ความหวังของเขาคือการเตือนโลกว่า ความถูกต้อง ความยุติธรรม และเสรีภาพ เป็นมากกว่าคำพูด หากแต่มันคือปรัชญาชีวิต ถ้าคุณไม่รู้ไม่เห็นกับอาชญากรรมของรัฐบาลนี้ ผมขอแนะนำให้คุณปล่อยวันที่ 5 พฤศจิกายนผ่านเลยไป แต่ถ้าคุณเห็นในสิ่งที่ผมเห็น รู้สึกในสิ่งที่ผมรู้สึก และแสวงหาในสิ่งที่ผมแสวงหา ผมขอให้คุณยืนเคียงข้างผม...”
สรวิศวิเคราะห์คำปราศรัยนี้ว่า
“เป้าหมายของวีกลับเป็นการมุ่งสร้างสาธารณชนใหม่บนพื้นฐาน จุดร่วมกันใหม่ๆ ซึ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการดิ้นรนต่อสู้เท่านั้น สำหรับวีแล้ว จุดร่วมพื้นฐานของผู้กระทำการปฏิวัติทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้ผ่านการหวนกลับ ไปเชื่อร่วมกันในเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่หายไป (lose causes) อันได้แก่ ‘ความถูกต้อง ความยุติธรรม และเสรีภาพ’”
เป้าหมายของ V ไม่ใช่การแสวงหาข้อตกลงหรือประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามลง โดยอาศัยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เป็นอุดมการณ์ที่ไม่มีวันดับสูญ
ความถูกต้อง ความยุติธรรม และเสรีภาพ มิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นความคิดความเชื่อที่ยิ่งยงคงกระพัน และสามารถทำให้ผู้คนจำนวนมากสละชีวิตเพื่อปกป้องมันไว้
ในตอนหนึ่ง สุรวิศสรุปความหมายแฝงในคำปราศรัยของ V ไว้อย่างน่าประทับใจว่า
“วีกำลังพยายามจะบอกกับประชาชนว่า นี่คือความขัดแย้งระหว่างหลักการจัดตั้งและการบริหารสังคม 2 แนวทางที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยมาบรรจบกันได้ มีแต่การต้องเลือกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
คุณต้องเลือกที่จะยืนเคียงข้างความยุติธรรมและเสรีภาพ มิฉะนั้นคุณก็อยู่ฝั่งตรงข้ามกับมัน”