http://www.manager.c...D=9560000065787
น่าน - พบโรงเรียนขนาดเล็กเมืองน่าน มีนักเรียน 54 คน ครู 4 คน ผล O-Net กลับครองอันดับ 1 ตั้งแต่ปี 49-55 คะแนนสูงกว่าทั้งระดับจังหวัด ระดับสังกัด และระดับประเทศ ครู ผู้นำชุมชนยันเป็นไปได้ ครูต้องทุ่มเท ชุมชนหนุนช่วย
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังมีนโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ และผลักดันให้จัดงบประมาณไปซื้อรถตู้เพื่อนำมาให้บริการรับ-ส่งนักเรียนแทน ภายใต้แนวคิดที่ว่า โรงเรียนขนาดเล็กประสบปัญหาการจัดการเรียนการสอนที่ด้อยคุณภาพ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมไทยอย่างหนักนั้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมาก็มีโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดน่าน สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องมีการยุบ หรือควบรวมใดๆ เช่น ร.ร.บ้านห้วยท่าง ม.5 ต.ไชยวัฒนา อ.ปัว จ.น่าน สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษาน่าน เขต 2 ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กระดับ อนุบาล 1-ประถม 6 มีนักเรียนรวม 54 คน และครู 4 คน ห้องเรียน 8 ห้อง ซึ่งมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-net ในระดับ ป.6 ใน 8 สาระวิชา มีผลสัมฤทธิ์สูงทุกวิชาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549-2555
ขณะที่ผลการประเมินพบว่าสูงเป็นอันดับ 1 มีคะแนนสูงกว่าระดับจังหวัด ระดับสังกัด และระดับประเทศ แม้ว่าจะประสบกับปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียน และเด็กนักเรียนมีน้อย แต่ก็สามารถบริหารจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับครูที่มีคุณภาพ และชุมชนให้การสนับสนุน
นางอรนันท์ สิทธิชัย ครูประจำโรงเรียน เล่าว่า มีครูจำนวน 4 คน ซึ่งนับรวมนายเฑียร ธีรศิรปัญญา ผอ.ร.ร.ที่ลงมาช่วยสอนนักเรียนด้วย ครูแต่ละคนเป็นครูที่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการเรียนการสอน และติดตามผลการเรียนของเด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆวัน โดยใช้เทคนิค Back up again คือ การบันทึกการสอน และวิเคราะห์การเรียนของเด็กนักเรียน
ในทุกๆ วัน ครูจะต้องทำการประเมิน และวิเคราะห์การเรียนของเด็ก ซึ่งหากพบว่ามีเด็กนักเรียนที่เรียนไม่ทัน หรือเรียนช้าก็จะต้องลงไปเรียนซ่อมเสริมทันที นอกจากนี้ เด็กนักเรียนเป็นเด็กเล็ก ลืมง่าย ก็ต้องใช้วิธี ซ้ำ ย้ำ ทวน ทำบ่อยๆ ให้เด็กได้ฝึกฝนเกิดทักษะติดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครูต้องใช้ความอดทน และทุ่มเทอย่างมาก
นายเฑียร ธีรศิรปัญญา ผอ.ร.ร..บ้านห้วยท่าง กล่าวว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาไม่ต่างกัน ทั้งเรื่องครูไม่ครบชั้น นักเรียนน้อย งบประมาณไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องพยายามแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด โดยทางโรงเรียนจะใช้วิธีการคละชั้นเรียนในบางรายวิชา ที่สามารถเรียนรวมกันได้ เช่น เด็ก ป.1 กับ เด็ก ป.2 นำมาเรียนรวมกันในวิชาสังคม วิชาพระพุทธศาสนา และได้นำการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนไกลกังวล ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเสริมในโรงเรียนด้วย
การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ สำคัญที่ตัวบุคลากรทางการศึกษา และชุมชน โดยต้องใช้โรงเรียนเป็นฐาน และชุมชนเข็มแข็ง มีการสนับสนุนทางการศึกษาที่สอดคล้องกัน
สำหรับเรื่องนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แม้ไม่มีผลกระทบ แต่โรงเรียนก็ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่พอ ปัจจุบันได้งบ 1,900 บาท/คน รวม 60,000 บาท/เทอม หรือ 1 แสนบาทต่อปีการศึกษา ซึ่งไม่พอในการบริหารจัดการทั้งโรงเรียน หลายปีที่ผ่านมา ครูทุกคนจึงได้ช่วยกันออกเงินส่วนตัวเพื่อจ้างอัตราสอนเพิ่ม
ขณะที่ทางชุมชนก็พยายามหาทุนมาช่วยพัฒนาโรงเรียน ซึ่งหากได้รับงบประมาณสนับสนุนที่มากขึ้น หรือเป็นรางวัลพิเศษให้แก่โรงเรียนที่สามารถสร้างเด็กมีคุณภาพทางการศึกษาได้ ก็ควรให้การสนับสนุนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจได้เป็นอย่างดี
ด้านนายสมจิต ปาละ ผู้ใหญ่บ้านห้วยท่าง และในฐานะประธานคณะกรรมการสถานศึกษา กล่าวว่า ชุมชนบ้านห้วยท่าง ไม่สนับสนุนให้บุตรหลานออกไปเรียนที่อื่น ดังนั้น จำเป็นต้องช่วยกัน ร่วมมือกับทางโรงเรียนในการทำให้โรงเรียนของชุมชนมีคุณภาพ
ด้านการศึกษาต้องให้ทางผู้อำนวยการโรงเรียน และครูทุกคนช่วยพัฒนา ในส่วนเรื่องการพัฒนาโรงเรียนชุมชนก็ต้องช่วยกัน อย่างเช่นถนนภายในโรงเรียน อุปกรณ์และอาคารต่างๆ ก็ต้องช่วยกันซ่อมบำรุง ออกเป็นแรง ระดมเงิน และทรัพยากรมาช่วยกันพัฒนาโรงเรียน แม้ว่าชาวบ้านไม่มีเงิน แต่ก็ช่วยเป็นแรงงาน เพื่อลูกหลานบ้านห้วยท่าง ได้มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ
“ที่จริงแล้วหากโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ดี ก็ควรที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากรที่มีคุณภาพ”
***********************************************************************************************
ลีไปซะแล้ว แต่เชื่อว่าคงแวะมาอ่านนะ