ความเห็นแก่ตัวที่เริ่มเด่นชัดเมื่อเราเริ่มดูและศึกษาปฎิกิริยาที่ผ่านๆมาของมาเลย์เซียอย่างจริงจัง
รัฐไทยโง่ หรือ คิดไม่ถึง แต่จากถ้อยความของ พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ช่วยชี้แจงจุดประสงค์ซ่อนรูปของเพื่อนบ้านที่ชื่อ มาเลย์เซียได้ชัดเจน
วันครบรอบวันสถาปนากลุ่มเบอร์ซาตู เมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ติดธงชาติมาเลเซียในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นอกจากจะสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงที่ต้องการตบหน้าเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมองกันว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการเสี้ยมให้ไทยกับมาเลเซียเกิดความขัดแย้งกัน
แต่ก็มีนักวิชาการบางคนออกมาวิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีนายทหารยศพลเอกผู้หนึ่ง ไปให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์วิเคราะห์ถึง "สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวข้องกับประเทศมาเลเซีย"
นายทหารยศพลเอกผู้นี้ ไม่ใช่หน้าใหม่ในปัญหาสถานการณ์ด้ามขวานทอง เพราะเขาชื่อ พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคณะทำงานที่เจรจาแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาจนประสบความสำเร็จ เป็นมือทำงานในด้านมาเลเซียตั้งแต่ยุคของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ที่ผ่านมาทำงานเบื้องหลัง พูดคุยหาข้อมูลในแต่ละยุคสมัยตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป
ในฐานะที่เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 12 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดตแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ติดที่เป็น ตท.12 เลยต้องนั่งทำงานที่กองทัพบกต่อ
ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้จะครบเกษียณอายุราชการ ผลงานสุดท้ายที่กำลังใกล้ประสบความสำเร็จคือ การเป็นตัวจักรสำคัญผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม
"ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือชายแดน ฉบับ พ.ศ.2543"
โดยขอเพิ่มเติมจากเดิม 5 ข้อ พร้อมแก้ไขเขตความร่วมมือจากชายแดนเข้ามาของ 2 ประเทศ รวมถึงองค์ประกอบของคณะทำงาน 2 ฝ่ายที่ตรงกับอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่ผิดฝาผิดตัวอย่างที่ผ่านมา ครั้งนี้ เขาส่ง พลตรีบวรรัตน์ ขจรเนติยุทธ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานไทยกับมาเลเซีย ไปหารือที่ประเทศมาเลเซียในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งผลที่ออกมาเขาเชื่อว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันมาเลเซียให้ความร่วมมือกับไทยมากขึ้น
พลเอกอกนิษฐ์เล่าให้ฟังว่า ไทยกับมาเลเซียมีข้อตกลงปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) ร่วมกันตั้งแต่ปี 2508 แล้วปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงนั้นเรื่อยมา โจรคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นศัตรูร่วมของเรากับมาเลเซีย เราก็เข้าร่วมปราบปราม ความจริง จคม.เป็นศัตรูมาเลเซีย เขาปราบแล้วก็หนีเข้ามาในไทยตามตะเข็บชายแดนไทย มาเลเซียบอกว่าต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เราก็ยอม ในสมัยนั้นมาเลเซียยกกองทัพเข้ามา 9 กองพัน ทหารราบ 3 กองพันปืนใหญ่ มีรถหุ้มเกราะเข้ามาเต็มไปหมด ยิงปืนใหญ่เข้ามาในพื้นที่ฝั่งไทย ทางอากาศก็เป้าหมายในฝั่งไทย เรายอมให้มาเลเซียโจมตีเพื่อปราบโจรคอมมิวนิสต์ฯ จนโจรคอมมิวนิสต์มาลายายอมสลาย พรรคคอมมิวนิสต์ยอมสลายยุติทางการเมือง
พรรคคอมมิวนิสต์มาลายายุติการต่อสู้ทางอาวุธ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 มีการเจรจาสันติภาพกันระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย กับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา โดยมีรัฐบาลไทยเป็นสักขีพยาน และรัฐบาลไทยได้จัดตั้งหมู่บ้านให้ จคม.อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน หลังจากปี 2532 ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงขึ้นมาเรียกว่า High Level Committee เพื่อเจรจาแก้ไขความตกลงปี 2520 และได้ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ไปเรื่อย จนเริ่มแก้ข้อตกลงจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงขึ้นมา โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสองฝ่ายเป็นประธานร่วมกัน
“ปรากฏว่าการแก้ไขตกลงอันนั้น มีความพยายามที่จะยกปัญหาโจรแขกขึ้นมาเป็นปัญหาร่วม พี่เป็นคนแรกที่หยิบยกประเด็นนี้พูดในที่ประชุมข่าวไทย-มาเลเซีย การประชุมร่วมไทย-มาเลเซียทุกครั้ง ไม่เคยมีใครกล้าเอาเรื่องโจรแขกพูดในที่ประชุม สมัยพลโทกิตติ รัตนฉายา เป็นแม่ทัพภาค 4 พันเอกสมศักดิ์ พันธุ์เอี่ยม เป็นหัวหน้าสำนักงานชายแดนภูมิภาคสงขลา พี่ยกเรื่องนี้พูดที่ประชุมการข่าวร่วม เพื่อให้มีบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร”
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เริ่มมีการพูดคุยเรื่องโจรแขกในที่ประชุมร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้ประเทศมาเลเซียต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกัน และแก้ไขจนมาถึงปี 2543
…ไม่ได้มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้เลย มีแต่พูดเรื่อง 7 เรื่อง คือเรื่องการควบคุมการลักลอบสินค้าหนีภาษี เข้าเมืองผิดกฎหมาย การฝึกร่วมผสมฯ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การช่วยเหลือทางเทคนิคในการปักปันเขตแดน ช่วยเหลือภัยพิบัติ และกรณีอื่นๆ ที่คณะกรรมการเห็นชอบ แต่ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย ขณะที่ปัญหาภาคใต้มันยังมีอยู่ และสถานการณ์ตอนนี้มันทับขึ้นมาแล้ว
“.....บันทึกความไทย-มาเลเซียฉบับเดิม เกิดประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาภาคใต้น้อยมาก เราจึงพยายามผลักดันให้แก้ไข โดยเรื่องนี้มีคณะทำงานทำมาตั้งแต่ปี 2543 ก็ทำต่อไป แต่ขอเพิ่มอีก 5 ข้อได้หรือไม่ แล้วมันต้องเกิดประโยชน์ต่อทั้งไทยและมาเลเซีย ทั้งข้อตกลง
1.เรื่องยาเสพติด 2.การค้าอาวุธสงคราม วัตถุระเบิดและสารเคมี 3.การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาของเราด้วย และปัญหาของเขาด้วย 4.เรื่องขบวนการใช้ความรุนแรงทั้งหลาย เช่น พวกคลั่งศาสนา ไม่รู้จะมีขบวนการอะไรเกิดขึ้นในอนาคต 5.การทำผิดทางธุรกรรมทางการเงิน อาชญากรรมทางการเงิน ที่เป็นปัญหาร่วมทั้งสองฝ่าย
….นอกจากนั้น ข้อตกลงนี้ตั้งแต่ปี 2520-2543 พูดแค่ว่าความร่วมมือชายแดน ที่นับพื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายแดนเข้ามา และลึกเข้าไปในมาเลเซีย 5 กิโลเมตร ทางทะเลก็อาณาเขตทางทะเลสิบไมล์ทะเล แต่ถามว่าปัญหาตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ความร่วมมือมันจำกัดอยู่แค่ 5 กิโลเมตรหรือไม่ ใช่หรือไม่
.....มันมาฝึกร่วมกันที่หาดใหญ่ พัทลุง ตรัง และเข้ามาประจวบฯ เข้ามาได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่ชายแดนมันต้อง 5 กิโลเมตร พัทลุง ตรัง ก็เกินแล้ว มันไม่จำกัดอยู่แค่นี้ ถามว่าพื้นที่ชายแดนควรจะกำหนดขอบเขตใหม่ไหม ให้มันเป็นไปตามความจริง
เราต้องไปคุยกันว่า คุณมองอย่างไรกับพื้นที่ชายแดน เราบอกเขาว่า กลันตัน เประ เกดะห์ ปะลิส บุนตาร์ ปีนัง มาเลเซียบอกว่าปีนังไม่ใช่ชายแดน ไม่ใช่ชายแดนก็ไม่ใช่ แล้วสงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล ปัตตานี ใช่ชายแดนหรือไม่-มันไม่ใช่ พอถึงเประ ทางมาเลเซียเขาบอกว่าให้เข้าได้แค่ 60 กิโลเมตร อ้าว แล้วทำไมสงขลาจะเอาทั้งจังหวัด ไปถึงโน้นสทิงพระเลย ไปโน้นอีก มันก็ไม่เท่าเทียมกันสิ ก็ต้องมาคุย ตกลงกันบนพื้นฐานความเท่าเทียม...”
เขาย้ำว่า 5 ข้อปัญหาที่เพิ่มขึ้น ถ้าคุยได้มาเลเซียก็ได้ประโยชน์ ไทยเราก็ได้ประโยชน์ ที่ผ่านมามาเลเซียจะพูดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาภายในของไทย มาเลเซียไม่เกี่ยวข้อง
ผมบอกว่า ใช่ ปัญหาภายในของไทยก็จริง แต่มันเกี่ยวข้องกับประเทศมาเลเซีย ยกตัวอย่างว่าคนไทย 130 คนที่หนีไปอยู่มาเลเซีย ปัญหาเกิดขึ้นในไทย หนีไปอยู่มาเลเซีย เกี่ยวข้องกับมาเลเซียหรือไม่เกี่ยว เมื่อสักประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผู้ก่อเหตุระเบิดถูกจับกุมได้ ฐานจำคุก 2 ปีที่นราธิวาส ก็ปล่อยกลับ เพราะเป็นคนมาเลเซีย ก็กลับไปอยู่ในมาเลเซีย วัตถุระเบิดที่เรายึดได้ วัตถุระเบิดผลิตในมาเลเซีย ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับมาเลเซียหรือไม่ สามคนไทยที่ถูกจับในบ้าน วัตถุระเบิดเต็มไปหมด ศาลสั่งยกฟ้อง เป็น 3 คนที่รัฐบาลไทยต้องการตัว ยกฟ้องหมดแล้ว ไม่มีความผิด มาแค่อาศัยนอน
….ผมเคารพกระบวนการยุติธรรมของมาเลเซีย คำพิพากษาตัดสินของศาลมาเลเซีย แต่ผมยังสงสัยว่าใครเป็นเจ้าของบ้าน ใครเป็นเจ้าของวัตถุระเบิด มันเกิดใน 3 จังหวัดใต้ แต่มันเกี่ยวข้องกับประเทศมาเลเซีย ถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศมาเลเซีย ทางแก้ยาก
….ถ้าพูดถึงการให้ความร่วมมือในอดีตระหว่างไทยกับมาเลเซีย จน จคม.ยุติการต่อสู้ในยุคนั้น เพราะคนรุ่นนั้นมีความสัมพันธ์กัน เวลามีอะไรก็ขอความร่วมมือกันอย่างไม่เป็นทางการ เขาก็จัดการส่ง 4 ผู้นำขบวนการให้เรา ในปี 2540 จับใครให้เราเยอะแยะ ไม่ต้องมีข้อตกลง แต่ผู้ใหญ่ตอนนั้นเขาทำงาน แก้ไขปัญหา จคม.ด้วยกัน เขามีความใกล้ชิดกัน พูดคุยกันได้ ไม่ต้องมีข้อตกลง ตอนนี้เจเนอเรชั่นใหม่แล้ว ไม่รู้แล้วว่าสมัยปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มาลายา เรามีความร่วมมือกันอย่างไร ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ พอขอความร่วมมือไป เขาก็บอกปัญหาภายในของไทย ไม่มีในข้อตกลง
ฝ่ายไทยเอง ทหารไทยเองก็เจเนอเรชั่นใหม่แล้ว ไม่รู้ว่าการปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นอย่างไร พี่เป็นผู้หมวดร้อยตรี เอาเฮลิคอปเตอร์ไปส่งลงพื้นที่เขาน้ำค้าง แผนที่หนึ่งแผ่น เขียวหมดไม่มีหมู่บ้านเลย ภูเขาทั้งนั้น นอนฟังปืนใหญ่ทุกคืน ยิงทุกคืน โจมตีทางอากาศ ปะทะลูกน้องเหยียบกับระเบิด พี่เป็นมาลาเรีย 13 ครั้ง ไม่มีใครมีประสบการณ์อย่างนั้นอีกแล้ว ที่เหลือทำงานจนถึงมีบทบาทปัจจุบันนี้ ไม่มีอีกแล้ว ของเขาก็เหมือนกัน ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกตรงนั้นแล้ว พี่ถึงต้องมาผลักดันงานตรงนี้
-ข้อตกลงที่จะเพิ่มมาอีก 5 ข้อ จะส่งผลให้สถานการณ์ในภาคใต้ดีขึ้น?
คุณดูซิว่า 5 ข้อเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ แต่ถ้าเราไปพูดตรงๆ เขาก็ปฏิเสธ ข้อเสนอมันต้องเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย 5 ข้อ ความสัมพันธ์ตอนนี้ก็ดี แต่คนที่มีประสบการณ์มันไม่มีอีกแล้ว ที่เข้าใจกันลึกซึ้ง เข้าใจความรู้สึกกันมันไม่มี ถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยมาเลเซียดีมั้ย ดีมากๆ แต่อย่าลืมว่าความสัมพันธ์สร้างเพื่ออะไร สร้างเพื่อว่ามีปัญหาแล้วต้องร่วมกันแก้ ปัญหาใหญ่แก้เป็นปัญหาเล็ก ปัญหาเล็กต้องไม่มีปัญหา นี่คือการสร้างความสัมพันธ์เพื่อไปสู่จุดนั้น
แต่ไม่ใช่ว่าเสนอแก้ไขความตกลงแล้ว เอ๊ย! เดี๋ยวเสียความสัมพันธ์ ผมถามว่าเสียความสัมพันธ์ กับเสียผลประโยชน์ของชาติ คุณยอมเสียอะไร
-ได้มีการไปคุยปูทางไว้หมดแล้วทั้ง 5 ข้อ?
มาเลเซียเขายอมหมดแล้ว ในแต่ละข้อมันมีรายละเอียด ถามว่าเราไปเจรจามาเลเซีย ถ้ามาเลเซีย เขาขอตัดค่อยว่ากันด้วยเหตุด้วยผล
"แต่นี้พวกเราตัดกันเอง ยังไม่เข้ามาเลเซียก็ตัดกันแล้ว นี่ยังไง คือเขาชินกับการเจรจา คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย-มาเลเซีย หรือ RBC รวมถึง HLC พอฝ่ายนี้ขึ้นมาแถลง มีอะไรมั้ย โอ้ว.. กู๊ดๆ จับมือถ่ายรูป จัดฉาก เย็นตีกอล์ฟ กินเลี้ยง ประชุมแบบนั้นคุณเอาภาพนั้นมาไม่ได้ แต่นี้มันคือการเจรจา
ผมจะไม่เสียใจเลยว่าถ้ามาเลเซียขอตัด เพราะเหตุผลเราสู้เขาไม่ได้ แต่พวกเดียวกันเองมาตัด ผบ.ทบ.เขาก็ไม่พอใจอยู่”
-ขบวนการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ที่ระบุว่าต้องดูแลร่วมกัน เป็นกลุ่มไหนบ้างขณะนี้?
อะไรที่เกิดความรุนแรงเราไม่รู้ อาจจะเกิดจากขบวนการยาเสพติดก็ได้ การก่อการร้าย อาจจะคาบเกี่ยว พวกคลั่งศาสนาอย่างนี้ ทางมาเลเซียมีการแชร์ข้อมูล ส่วนบีอาร์เอ็นอยู่ใน ตรังกานู เประ เกดะห์ ทางมาเลเซียไม่ยอมรับ แล้วเขาอยู่ได้อย่างไร เขารู้อยู่เต็มอกว่าคนพวกนี้อยู่ในประเทศเขา ซึ่งเรื่องการข่าวเรามีคณะทำงานด้านการข่าว มีวงรอบการพูดคุยกันสองฝ่าย แต่ถ้าเราเพิ่มในข้อตกลงก็ต้องมาคุย นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรอยู่แล้ว คณะทำงานแทนที่จะทำหนังสือส่งไป-มา คณะทำงานมันก็ต้องตาม ต้องลึกลงในรายละเอียด
-ถ้าผู้นำต่อผู้นำทั้งไทยและมาเลเซียได้พูดคุยกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ?
มันก็ต้องดีขึ้นอยู่แล้ว ต้องทั้งบนกับล่างเป็นแนวทางเดียวกันหมด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็บอกก่อนเดินทางไปรัสเซียแล้วว่า จะไปหารือเรื่องนี้กับนายกฯ มาเลเซีย ในการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปก ครั้ง ที่ 20 ที่รัสเซีย ส่วนการพูดคุยจะแก้ไขปัญหาได้หรือเปล่าก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ ไม่ใช่เจอหน้าครั้งเดียวบอกว่า คุณจริงใจกับผม มันไม่ใช่หรอก บางคนคบกันแป๊บเดียวก็รู้ว่าจริงใจ ไม่จริงใจ บางคนต้องใช้เวลา
-ผู้นำศาสนาผู้นำชุมชนในพื้นที่ระบุว่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายความมั่นคง?
ทหารเวลาทำงานมวลชน มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน ทั้งผู้นำศาสนา ชุมชน ซึ่งมีเวทีพื้นที่ให้เขาแสดงความคิดเห็นความต้องการอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ที่พูดกันคือ นโยบายความมั่นคงที่รัฐบาลเพิ่งแถลงต่อสภาฯ ล่าสุดคือเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความเห็นแตกต่าง ในฐานะเขาเป็นคนไทยคนหนึ่งรัฐบาลต้องฟัง ในกรอบรัฐธรรมนูญต้องฟัง แต่ถ้าบอกว่าขอแบ่งแยกดินแดน คนละเรื่องกัน นั่นมันนอกรัฐธรรมนูญแล้ว กรอบนโยบายนี้มุ่งไปสู่คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างที่ก่อความรุนแรง
เหตุที่มาเลเซียไม่ให้ความร่วมมือกับเรา เขาให้เหตุผลมาว่าเพราะพรรคฝ่ายค้านจะโจมตีเขา แม้แต่กับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน รวมถึงชาวมุสลิมด้วยกันจะโจมตีเขา และกลุ่มประเทศมุสลิมจะมองว่าเขาปราบปรามคนมุสลิม ก็จะให้คำตอบสุดท้ายกับเรามาว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศเรา
เขาให้ความร่วมมือกับเราก็เคยให้ อย่างในอดีตเขาก็ส่งตัวอดีต 4 ผู้นำโจรพูโลมาให้เรา แต่เราไปทำผิดสัญญา เขาส่งให้เราทางลับ แต่เรากลับไปเปิดเผย เขาก็กลัวเพราะเราไม่ค่อยรักษาสัญญา ตอนปี 40 ช่วงนั้นพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร เป็น ผบ.ทบ. และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็น ผบ.ตร. คนที่ไปรับตัวเป็นตำรวจอยากเป็นฮีโร่ ก็ประกาศตัวเลย ทั้งที่เขาทำกันมาเงียบเชียบ ทำเสร็จหมดแล้ว เราก็ไม่รักษาสัญญา
-เหตุการณ์ปักธงชาติมาเลเซียในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อศุกร์ที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา มองว่าเกิดจากเหตุใด?
ไม่อยากวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น แต่อยากวิเคราะห์ในสิ่งที่มีคนมาวิเคราะห์ เพราะมีนักวิชาการบางคนไปบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะผมไปให้สัมภาษณ์กับสื่อแล้วไปกระทบกับมาเลเซีย เลยมีฟีดแบ็กกลับมา ผมก็คิดว่าถ้านักวิชาการคิดได้แค่นี้ก็ตื้นเขินเหลือเกิน
ทำไมไม่ใช้เหตุการณ์นั้นที่เป็นวิกฤติให้เกิดโอกาสให้ได้ ก็คือขอให้มาเลเซียแสดงความจริงใจ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้มีคนสร้างภาพความหวาดระแวงระหว่างไทยกับมาเลเซีย
…มาเลเซียก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่มีอะไรตรงนี้ ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในภาคใต้ ไม่สนับสนุนเหตุการณ์และไม่สนับสนุนกลุ่มพวกนี้ ก็ต้องคุยกับมาเลเซียให้ได้ ล่าสุดทาง รมว.มหาดไทยของมาเลเซียก็ออกมาบอกแล้วว่า จะให้ความร่วมมือสืบสวนเรื่องนี้ เราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้
-คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ มีประเทศอื่นๆ ที่เป็นมือที่สาม มือที่สี่ เข้ามาเกี่ยวข้องไหม?
ระดับประเทศคงไม่ แต่ระดับตัวบุคคลไม่แน่ หรือขบวนการใต้ดินอาจจะมี
-ข้อมูลการข่าวเรื่องกลุ่มผู้ก่อเหตุ โดยเฉพาะแกนนำในอดีตกับปัจจุบันเปลี่ยนไปไหม หัวหน้ากลุ่มยังเป็นกลุ่มเดิมหรือไม่?
ก็ทันสมัย แต่ถามว่าลึกหรือไม่ลึก คนละประเด็นกัน ข่าวเราเจาะลึกได้แค่ไหน เราอาจเจาะลึกได้แค่ สะแปอิง บาซอ หรือมะแซ อุเซ็ง แต่ลึกกว่านั้นเราอาจจะเข้าไม่ถึง และถูกต้องหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
“ยอมรับว่าข่าวเราไม่ลึกในเรื่องนี้ เพราะเขาปกปิดตัวเองได้ดี และต้องถามว่าขีดความสามารถหน่วยข่าวเราได้แค่ไหน เขาอาจไม่ได้ปิดลับมาก แต่ขีดความสามารถหน่วยข่าวเราเข้าไม่ถึง คนที่ทำงานด้านการข่าวต้องมีวิญญาณด้านนี้ สมัยผมทำใหม่ๆ ในภาคใต้ไม่มีเลย แต่ตอนนี้เป็นร้อยล้าน ตอนผมทำก็ไม่มีงบพิเศษอะไร ยกตัวอย่างเช่น กรณีโจรคอมมิวนิสต์มาลายา ผมไปกว่างโจวครั้งแรกควักเงินส่วนตัวบินไปเอง ไม่มีใครรับผิดชอบ ควักไปสามหมื่นบาท ปี 30
ครั้งที่สองเห็นว่างานเป็นจริงได้ มาเลเซียก็จ่ายให้เรา สนับสนุนงบประมาณให้ ไทยไม่ได้จ่ายสักบาท สมัยนี้งบเยอะแยะ”
-ยุคนี้คนที่ทำงานด้านนี้ไม่มีวิญญาณการข่าวเลย?
(เขาส่ายหน้าหลายครั้งและกล่าวว่า) มันต้องมีเซนส์ด้วย คนทำงานข่าวต้องมีสิ่งนี้ ต้องปรับปรุงแก้ไข คณะทำงานด้านการข่าวต้องเข้มข้นกว่านี้ ระบบงานข่าวลับต้องปรุงปรุงใหม่ ยิ่งการหารือ 2 ฝ่ายไทยกับมาเลเซียในเรื่องการแก้ไขข้อตกลงลุล่วงด้วยดี ไม่ใช่ประชุมกันแล้วมาถามว่าข่าวฝ่ายไทยว่าไง ข่าวทางมาเลเซียว่าไง อ้าวจบ มีอะไรกันอีกไหม อ้าวไม่มีงั้นจบ ถ่ายรูป มันต้องคุยกันว่าเคสนี้ทำงานร่วมกันยังไง มันต้องปรับปรุงการทำงาน
…ที่ผ่านมาการคุยกัน 2 ฝ่ายก็มีปัญหา เช่น เวลาประชุมคณะทำงานด้านการข่าวและจิตวิทยา ทางฝ่ายไทยก็เป็นระดับรองแม่ทัพ คนไหนว่างก็ไปประชุม บางคนไม่ได้มีความรู้ด้านการข่าวเลยก็ไป ทางมาเลเซียเห็นว่าเราส่งไปแค่รองแม่ทัพ ก็เอาทหารระดับใกล้เคียงกันมาเป็น counterpart คู่ แล้วทางทหารมาเลเซียเขาไม่เกี่ยวข้อง มันต้องเป็นตำรวจมาเลเซียก็ต้องคุยกับสันติบาลของเรา แต่สันติบาลไม่ได้เป็น counterpart กับเรา ความสัมพันธ์มันเลยไขว้กัน
ผมเคยบอกตอนพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็น รมว.กลาโหม ว่า counterpart ของทหารก็คือทหาร แต่ทหารมาเลยเซียเขามีหน้าที่ในการป้องกันประเทศอย่างเดียว เรื่องงานความมั่นคงภายในเขาไม่ได้เกี่ยวข้อง พอคุยกัน ทหารมาเลเซียก็บอกนี่ไม่ใช่งานผม ทำอะไรไม่ได้ แต่ทหารไทยเรารับผิดชอบหมด ป้องกันประเทศและงานความมั่นคงภายใน มันก็เลยไขว้กันแบบนี้ ก็จบ ทำอะไรไม่ได้เลย
…เราเสนอให้แก้ไขโครงสร้างคณะกรรมการพวกด้านการข่าวด้วยในการจะไปคุยกับมาเลเซียที่จะมีขึ้นเพื่อให้สามารถทำงานกันได้ ทางมาเลเซียจะอย่างไรก็แล้วแต่คุณต้องจัดมา ต้องเป็น counterpart โดยงาน ไม่ใช่โดยตำแหน่ง
…ใช้โครงสร้างเก่าทำงานไม่ได้ ก็เสนอเปลี่ยนโครงสร้างไปด้วย ไม่ใช่แค่เพิ่ม 5 ข้อ ให้รื้อโครงสร้างคณะกรรมการการข่าวและจิตวิทยาด้วย
๐ สถานการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคนพูดบอกดูว่าเหมือนจะคล้ายกับเหตุการณ์ในประเทศตะวันออกกลาง แม้สถิติลดลงแต่ความแรงมันมากขึ้น?
ผมมีเพื่อนเป็นอดีตหัวหน้าข่าวนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาที่โอกินาวา เกษียณจากราชการแล้วกองทัพบกสหรัฐก็จ้างให้ทำงานต่อ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการข่าวของกองทัพบกสหรัฐ ก็ไปอยู่ที่เกาหลี เขาสนิทกับผมก็มาที่กรุงเทพฯ มานั่งคุยกัน เขาบอกว่าเขาติดตามเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เขารู้หมด วันไหน เกิดเหตุที่ไหน เขามอนิเตอร์ตลอด เขาบอกผมว่ายูรู้ไหม ยุทธวิธีที่ผู้ก่อเหตุใช้ในภาคใต้มันเป็นยุทธวิธีที่เคยเกิดขึ้นและใช้ในอิรัก เหมือนกันทุกอย่าง การปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งที่อิรักสหรัฐสูญเสียเยอะ เราก็สูญเสียเยอะ
…ตอนนั้นสหรัฐไม่คุ้นเคยกับสงครามในรูปแบบนี้ ทหารไทย กองกำลังของไทยก็ไม่เคยเจอกับการรบแบบนี้ การฝึก การเรียนรู้ มีการถ่ายทอดการฝึกกันมาหรือเปล่า ก็ต้องถามว่าทำไมมันถึงเหมือนกัน การข่าวตอบได้ไหม ผมก็ไม่รู้ มันรบกัน เราก็ต้องสูญเสีย
-ปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์ภาคใต้ดีขึ้น?
ต้องทำหลายวิธีและทำพร้อมกัน การข่าวดีอย่างเดียวก็ไม่จบ อย่าไปคิดเรื่องการใช้งบประมาณว่าใช้ไปมากแค่ไหน เพราะเอกราชของดินแดนตีราคาเป็นเงินไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพอแล้วไม่เอาแล้ว ใช้เงินไปมากแล้วไม่คุ้มค่า เราถึงมีคำพูดที่ว่าดินแดนแม้ 1 ตารางนิ้วก็ไม่ยอมเสีย ที่คนไปพูดว่าใช้งบปีละเป็นหมื่นล้านแก้ปัญหา ทำไมปัญหาไม่จบ ทหารเลี้ยงไข้หรือเปล่า ถามว่าเป็นหมื่นล้าน ไปดูงบทหารมันเท่าไหร่ กระทรวงอื่นเท่าไหร่
…ภาพที่สังคมเข้าใจว่าทหารรับผิดชอบหน่วยเดียว ความจริงทหารมีหน้าที่รับผิดชอบปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ปัญหาอื่นมีอีกเยอะแยะที่มีหลายกระทรวงรับผิดชอบ
…งบที่ทหารได้รับเมื่อเทียบกับก้อนใหญ่แล้วนิดเดียว เราก็ได้ เบี้ยเลี้ยงกำลังพล ค่าน้ำมันรถ ค่ากระสุน งบปฏิบัติการเล็กๆ น้อยๆ แต่งบก้อนใหญ่มันเยอะเป็นของกระทรวงอื่นเขา เราไปทำอะไรไม่ได้ เราไม่ได้รับผิดชอบทั้งหมด ยังมี ศอ.บต. มีตำรวจ มีการตั้ง ศปก.จชต. ก็มีทุกกระทรวงเกี่ยวข้อง ไม่ใช่ทหารหน่วยเดียว ตอนนี้งบ ศอ.บต.มากกว่างบกองทัพภาคที่ 4 อีก
-ถ้าใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเมือง เช่น ออกกฎหมายให้ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาสเป็นเขตปกครองพิเศษไปเลย เพราะหลายคนก็เสนอ แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็พูดไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งปี 54?
ก็ต้องถามว่าหากให้เป็นเขตปกครองพิเศษ จะเป็นคำตอบสุดท้ายยืนยันได้ไหมว่าสถานการณ์จะสงบ ใครรับประกันได้ไหม คนที่ทำเขาต้องการแบบนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ คนที่เสนอเท่าที่ติดตามมีทั้งหมด 9 โมเดล ทั้งนักวิชาการ-สื่อ-เอ็นจีโอ-นักการเมืองท้องถิ่น ถามว่าคนระดับรากหญ้าเขาคิดแบบนี้หรือเปล่า คนที่ทำเหตุการณ์ตอนนี้คิดแบบนี้หรือเปล่า เราคิดทั้งนั้นแล้วก็มาพูด เป็นหลักประกันได้หรือเปล่าจะสงบ
หากทำจริงคนได้ประโยชน์คือใครก็คนคิด ถ้าทำแล้วประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ไหม ประชาชนจะอยู่ดีกินดีขึ้นไหม สถานการณ์จะสงบขึ้นไหม แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน ถ้ามันถึงเวลา มีความพร้อม
-แล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายได้ไหม คิดว่าเป้าหมายระดับใหญ่ของผู้ก่อเหตุในสถานการณ์ตอนนี้คืออะไร?
ก็เป็นแบบนี้ รบกันไปแบบนี้ สู้กันไป ส่วนองค์กรต่างประเทศคงไม่มาเกี่ยวข้อง อย่างการประชุมองค์การการประชุมอิสลาม OIC ก็บอกเป็นปัญหาของเรา เขาไม่เกี่ยวข้อง ก็ถอนวาระออกไปเมื่อปีที่แล้ว ประชุมสัปดาห์หน้าก็ฟังดูว่าเขาจะว่าอย่างไร แล้วพูโลบอกว่าจะสู้ในองค์กรที่สูงกว่าโอไอซี ก็ลองดู ยิ่งยูเอ็นยิ่งเข้ามาไม่ได้เลย
“…พวกที่ทำก็หวังจะยกปัญหาไปสู่ระดับสากล แล้วองค์กรระดับโลกจะเข้ามาแทรกแซง แต่ยืนยันว่าเข้ามาไม่ได้ เพราะมันไม่เข้าเงื่อนไขที่จะเข้ามาได้ ทั่วโลกก็รู้ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ภาคใต้ เพราะไม่ได้ฆ่าแค่ไทยพุทธอย่างเดียว มุสลิมก็เสียชีวิต ผู้บริสุทธิ์ก็ฆ่า ประเทศกลุ่มมุสลิมก็ประณามการกระทำอันนี้ การแก้ปัญหาเราต้องทำหลายวิธี ทำไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่แค่การได้รับความร่วมมือจากมาเลเซีย
…เวลานี้ผมมองปัญหาการทำงานของฝ่ายเราออกเป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาการจัดการภายในของฝ่ายเดียวกันเอง เช่น แต่งตัวไม่เสร็จ ขีดความสามารถไม่ถึง เรื่องระบบงานข่าวต่างๆ กับปัญหาแนวทางของฝ่ายเราในการแก้ปัญหา เช่น ยุทธศาสตร์กำหนดออกมาหลายแนวทาง ปีเว้นปีมีไม่รู้กี่เรื่อง”
คัมภีร์มรณะ-แผนบันได 7 ขั้น
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส สถานการณ์ในพื้นที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ การก่อเหตุมีความต่อเนื่องเป็นวัฏจักรความรุนแรงที่ยาวนานหลายปี มีการพูดถึงรูปแบบการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบในหลายแง่มุม แต่การปลูกฝังแนวความคิดหัวรุนแรงของเยาวชนที่พร้อมปฏิบัติการพลีชีพเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น กลายเป็นปริศนาว่าต้นตอมาจากไหน
“ที่มัสยิดกรือเซะยึดคัมภีร์ได้ฉบับหนึ่ง เราเรียกคัมภีร์นี้ว่า คัมภีร์มรณะ ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยึดถือ มีการพูดถึงการทำญิฮาด สำนักจุฬาราชมนตรีได้ทำหนังสือออกมาชี้แจงว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ผมคิดว่าปัจจุบันที่ทำงานในภาคใต้ไม่เคยเห็นหนังสือปกสีชมพู ที่ออกมาชี้แจงการทำญิฮาดตอบโต้คัมภีร์มรณะ คนเขียนชื่อ อิสมาล จาฝ้า อยู่ที่ตาเนาะแมเลาะ รัฐกลันตัน
...ผมบอกว่าทำไมไม่เอา อิสมาล จาฝ้า มาพูดว่าที่เขียนไปบิดเบือนจากคัมภีร์อัลกุรอานด้วย นอกจากจุฬาราชมนตรีออกหนังสือ และก็ขอความร่วมมือจากทางมาเลเซียได้ไหม ตอนนี้เขาเคยถูกตำรวจมาเลเซียจับกุมเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่ง เมื่อเดือน มิ.ย. ปี 47 หลังเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และปล่อยมาแล้ว ลูกศิษย์ของอิสมาล จาฝ้า ที่ตายในมัสยิดกรือเซะเชื่อคัมภีร์ฉบับนี้
...ส่วนเรื่องแผนบันได 7 ขั้น ผมก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง ผมคิดว่าเป็นเอกสารโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มโจรว่าจะเอาคนเข้ามาร่วมกระบวนการ คนที่เข้ามาก็ต้องถามว่ามีแผนอย่างไร ถ้าไม่มีแผน เพ้อเจ้อไป ใครจะเข้ามา ก็ต้องเขียนแผนเป็นบันได 7 ขั้น ถ้านำมาวิเคราะห์แผนบันได 7 ขั้น จะเห็นว่ามีความขัดแย้งในตัวของมันเอง ถ้ามันทำ 7 ขั้นได้จริง สุดท้ายแบ่งแยกดินแดนได้ รัฐบาลประเทศไหนจะยอมรับประเทศใหม่ตรงนี้ และมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จะยอมรับหรือไม่ การจะแบ่งแยกเพื่อมีประเทศใหม่ ก็ต้องมีการประกาศตัวแล้วว่ามีการตั้งรัฐบาลเงา เพื่อให้ประเทศอื่นให้การยอมรับ แต่นี่ไม่มีอะไร ถามว่าเมื่อจบ 7 ขั้นตอนแล้วตั้งประเทศได้หรือเปล่า ดังนั้น ผมจึงบอกว่าเรากำลังหลงทาง ไปยึดมั่นอยู่กับบันได 7 ขั้น”.