หวังว่าคงขายออกและไม่เน่าให้เป็นภาระของรัฐบาลอื่นที่ต้องหางบมาทำลายทิ้งอีกเหมือน โครงการจำนำลำไย น่ะ
อย่าไปขุดมาเลยครับ แค่นี้ก็ดิ้นกันพร่าดๆแล้ว 
ย้อนรอยนโยบายแทรกแซงราคาลำไย กับการปราบคอร์รัปชั่นของ "ไทยรักไทย"
มติชนรายวัน วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9946
ปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำลำไยในภาคเหนือตั้งแต่ปี 2545 เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากสำหรับการศึกษาด้าน "นโยบายสาธารณะ" ของรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย(ทรท.) เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีปัญหาตั้งแต่การก่อตัวของนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ มีผลประโยชน์แอบแฝงระหว่างกลุ่ม หัวคะแนนพ่อค้า ข้าราชการ และนักการเมืองภาคเหนือหลายคน ซึ่งมีส่วนได้-เสียโดยตรงกับการขาดทุนจากการขาย และชดเชยการรับจำนำลำไย
เฉพาะปี 2545 ความเสียหายน่าจะไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยมีรายงานจากหน่วยงานของทางราชการเป็นการภายในว่า โครงการดังกล่าวมีการทิ้งสัญญาทำให้ลำไยค้างสต๊อคสูงถึง 56,503 ตัน เพราะแทรกแซงด้วยการรับซื้อลำไยมากถึง 80,664 ตัน อีกทั้งซื้อในราคาสูงถึงกิโลกรัม(กก.)ละ 72 บาท ในขณะที่ตลาดขณะนั้นมีราคาเพียง กก.ละ 52 บาทเท่านั้น และการทิ้งสัญญาทำให้ลำไยราคาตกเหลือเพียง กก.ละ 40-45 บาท ขาดทุนชัดเจนทันทีเกือบ 30 บาท/กก. เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
ประกอบกับการรับซื้อยังต้องคำนวณรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากอัตราดอกเบี้ยชดเชย ค่าเช่าคลังสินค้า ค่าบริหารจัดการ และการเสื่อมสภาพของลำไยจากขบวนการทุจริต ซื้อแพงแต่ขายเลหลังถูกๆ การเวียนเทียนและอบลำไยผี ทุจริตในขั้นตอนอื่นๆ อีก ความเสียหายในครั้งนี้น่าจะสูงกว่า 3,000 ล้านบาท
เดิมเมื่อปี 2545 มีการปลูกลำไยกันมาก มีผลผลิตสูงประมาณ 390,700 ตัน เพิ่มจากปี 2544 ที่มีเพียง 190,000 ตัน ราคาที่เคยขาย กก.ละ 25-30 บาท จึงตกลงเหลือประมาณ 15-17 บาท นักการเมืองจากกระทรวงเกษตรฯ และกลุ่มหัวคะแนน ส.ส.ภาคเหนือส่วนใหญ่ จึงรวมตัวกันผลักดันจนคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ให้แทรกแซงรับจำนำลำไยและมาตรการอื่นๆ
จุดเริ่มต้นดำเนินการกันอย่างปกติ มีการใช้เงินกู้ซื้อเตาอบลำไยและค่าใช้จ่ายเบื้องต้น 980 ล้านบาท ให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า(อ.ค.ส.) ออกใบประทวนรับฝากลำไยอบแห้ง และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับจำนำใบประทวนดังกล่าว กำหนดเป้าหมายครั้งแรกไว้เพียง 35,000 ตัน
ปัญหาผิดปกติได้เกิดขึ้นทันทีในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 3 เมื่อนักการเมืองจากกระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันให้รับจำนำลำไยอบแห้งในราคาสูงถึง กก.ละ 72 บาท สำหรับเกรดเอเอ ในขณะที่ตลาดราคาเพียง กก.ละ 52 บาท
เหมือนเจตนาเปิดช่องโหว่ให้มีการกอบโกย ตักตวงผลประโยชน์ โดยระดมลำไยทุกประเภท แม้แต่ลำไยร่วงที่อบแห้งไม่ได้ ควรคัดทิ้ง ยังเอามาจำนำกับทางราชการ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังขยายเวลารับซื้อ ขยายการปริมาณรับจำนำเพิ่มหลายครั้ง
จากครั้งแรก 35,000 ตัน เพิ่มปริมาณเป็น 60,000 ตัน และผลักดันเป็น 70,000 ตัน จนครั้งสุดท้ายเดือนกันยายน 2545 ไปๆ มาๆ ปริมาณรับจำนำทั้งหมดเพิ่มสูงถึง 80,664 ตัน มูลค่ารวมประมาณ 5,500 ล้านบาท มีวิธีการซ้ำๆ ซากๆ หลายๆ ครั้ง
การทุจริตน่าจะเกิดขึ้นจากหลายฝ่าย มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมทุกรูปแบบ ผิดสังเกตชัดเจน อาทิ ปริมาณลำไยอบแห้งที่ชาวบ้านนำมาจำนำมีมากเกินปกติ มีการนำลำไยที่ควรคัดทิ้งมาอบแห้ง และปริมาณลำไยอบแห้งจำนวนมากใช้วิธีการสวมสิทธิ ใช้ชื่อชาวบ้านแต่ไม่ใช่ของชาวบ้านจริง
บางหน่วยงานของรัฐได้สุ่มสอบถามชาวบ้านถึง 250 ราย กว่าครึ่งยอมรับว่ามีการสวมสิทธิจริง ได้ค่าตอบแทนรายละ 2,000-4,000 บาท มีการร่วมมือกันเป็นขบวนการ ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ อ.ต.ก. อ.ค.ส. ธ.ก.ส. และผู้ประกอบการ อีกทั้งพบว่าคุณภาพ เกรด ราคา ปริมาณ น้ำหนักของลำไยที่รับจำนำ ไม่ตรงกับบัญชีที่แจ้ง
ตามรายงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีหลักฐานชัดเจนพบว่ามีสต๊อคลมในคลังของผู้รับฝาก 2 ราย ในนาม บจ.หยิงหม่า อินเตอร์เทรด และ บจ.นอร์ทเทอร์น เอนเตอร์ไพรส์(จ.ลำพูน) ส่วน บจ.ที.อี.อินเตอร์เนชั่นแนล(จ.เชียงใหม่) รับจำนำลำไยเกรดต่ำ แต่แจ้งเท็จเป็นลำไยเกรดสูง อีกทั้งพบว่าผิดสัญญาอีกหลายเรื่อง เช่น เก็บนอกสถานที่ ไม่ใส่กล่องตามที่ตกลงไว้ มีการจ่ายเงินลัดคิวให้ได้จำนำก่อน เป็นต้น เมื่อนำลำไยเสื่อมคุณภาพมาจำนำ ยิ่งเก็บนานก็ยิ่งเสียหาย
การตรวจสอบทำได้น้อยมาก ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เกือบทุกหน่วยงานที่มีส่วนได้เสียต่างร่วมกันปิดบัง กีดกันการตรวจสอบตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือการตั้งราคารับจำนำไว้สูงมาก เป็นช่องทางให้หาประโยชน์กัน มีทั้งพ่อค้า หัวคะแนน เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
การรับจำนำลำไยสูงถึง 80,963 ตัน หลุดจำนำ 61,397 ตัน และการขายลำไยให้เอกชน 5 ราย รวม 43,801 ตัน โดยมี หจก.เอ็มแอนด์แอนด์ ทรานสปอร์ต รายเดียวรับซื้อสูงถึง 36,425 ตัน
มีการดำเนินการกันหละหลวมมาก วางหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ครบ เกิดปัญหาทิ้งสัญญา เรียกร้องไม่ได้ เพราะปล่อยให้เอกชนยื่นได้ ทั้งๆ ที่มีทุนจดทะเบียนน้อยมาก ทุกอย่างดูเหมือนหละหลวมไปหมด ความเสียหายโดยรวมจึงน่าจะสูงกว่า 3,000 ล้านบาทแน่นอน
ส่วนปี 2546 แม้มีบทเรียนเสียหายหลายครั้งชัดเจน แทนที่รัฐบาลจะมองในแง่ความคุ้มทุน หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ แต่ยังดึงดันกัน มีการผลักดันจากรัฐมนตรีที่มีฐานเสียงในภาคเหนือหลายคน ผลักดันให้มีการรับจำนำลำไยในราคาสูงเหมือนปี 2545 มีการรับจำนำเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 20,000 ตัน ทำให้ประสบปัญหาเกษตรกรทิ้งจำนำ เพราะราคาตลาดต่ำกว่าราคารับจำนำ
ข้อสังเกตคือ ขณะที่รัฐบาลเอาจริงเอาจัง พยายามตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเต็มที่ แต่ทั้งๆ ที่ปัจจุบันกลไกของรัฐทุกหน่วยงาน ทุกฝ่าย โดยเฉพาะทหาร และตำรวจ มีอำนาจพร้อมเบ็ดเสร็จ หากไม่ตั้งใจเลือกปฏิบัติ(Double Standard) น่าจะตรวจสอบได้ไม่ยากว่ามีหัวคะแนน ส.ส. นักการเมืองภาคเหนือ ใครบ้างที่ส่อทุจริตเกี่ยวข้องหรือเป็นตัวการ
หากวิเคราะห์ตาม "ทฤษฎีนโยบายสาธารณะ" ก็น่าจะเรียกได้ว่าโครงการแทรกแซงราคารับจำนำลำไยเป็น "Rent" ซึ่งอธิบายได้ว่าเป็นการ่วมมือของ "ขบวนการพ่อค้าหัวคะแนน นักการเมือง และข้าราชการ" ที่มีผลประโยชน์แอบแฝงร่วมกัน
เรื่องนี้แม้แต่บุคคลระดับนายอนันต์ ดาโลดม ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯของวุฒิสภา ซึ่งผ่านงานในกระทรวงเกษตรฯ เคยเป็นถึงระดับอธิบดี ได้ท้วงติงถึงช่องโหว่หลายประการอย่างชัดเจน แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่าทำไม ครม.ทั้งคณะในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงมีมติเมื่อ 22 มิถุนายน 2547 ให้ใช้งบฯอีก 4,000 ล้านบาท ในการรับซื้อลำไยมาอบแห้งอีก 260,000 ตัน
ทั้งมีทางออกไว้ชัดเจน ให้ใช้วิธีจ่ายเงินช่วยเหลือทดแทนโดยตรงกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย เหมือนที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป สมมุติหากคำนวณได้ว่าราคาลำไยที่ทำให้เกษตรกรคุ้มทุน กก.ละ 15 บาท แต่ตลาดราคาตกเหลือเพียง 12 บาท รัฐก็จ่ายชดเชยโดยตรงให้รายย่อยที่ปลูกไม่เกิน 10 ไร่ กก.ละ 3 บาท สมมุติผลผลิตทั้งปี 500 ล้าน กก. ใช้เงินอย่างมากก็ไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ประหยัดไปถึง 2,500 ล้านบาท และไม่ต้องเสี่ยงกับการขาดทุนหรือรั่วไหลเหมือนที่ผ่านๆ มา
ที่สำคัญ ลำพังหัวคะแนน ส.ส. รัฐมนตรีภาคเหนือที่เกี่ยวข้องบางคน อาจปล่อยให้เกิดเรื่องเสียหายที่ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้เกิดขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีสถานะเพียงแค่เป็นหัวหน้ากลุ่มนักการเมืองภาคเหนือเท่านั้น หากยังมีสถานะเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศอยู่ด้วย
เรื่องนี้เกิดในสมัยนักการเมืองภาคเหนือควบคุมนโยบายเรื่อยมา ตั้งแต่ก่อนหน้านายสมศักดิ์ เทพสุทิน มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายๆ คนจึงพิสมัยกระทรวงเกษตรฯเป็นยิ่งนัก หลักฐานค่อนข้างชัดเจนขนาดนี้ ย่อมกระทบต่อเกียรติภูมิของ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะคนเหนือเป็นอย่างยิ่ง
หากนายกรัฐมนตรีมีความกล้าที่จะทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏโดยไม่เลือกปฏิบัติ เจตนาทำเพื่อส่วนรวมตามนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชั่นจริง อย่างน้อย พ.ต.ท.ทักษิณก็จะได้ชื่อว่าเป็น "มือปราบคอร์รัปชั่น" คนหนึ่ง ที่นอกจากจะเก่ง ฉลาด และกล้าแล้ว ยังจริงใจและกล้าตัดวงจรของพวกอโคจรด้วย ทั้งๆ ที่เคยอยู่ใกล้หรือใต้ร่มเงาชายคาเดียวกัน
เลิกแทรกแซงลำไยเถอะ
คอลัมน์ จอดป้ายประชาชื่น วุฒิ สรา wutsara2000@yahoo.com มติชนรายวัน วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9960
น่าเห็นใจคุณหญิงหน่อย "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" รมว.เกษตรฯ ที่จะต้องรับภาระทำความสะอาดเรื่องเหม็นเก่าๆ ที่ยังคาราคาซังในกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะเรื่องลำไยที่ยังแก้ไม่ตก
เป็นลำไยจากผลพวงการแทรกแซงราคาของรัฐตั้งแต่ปี 2545 จนถึง 2547 ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับมือกับลำไยฤดูใหม่ในปี 2548 ที่เริ่มทยอยออกมาแล้ว
ปัญหาลำไยอบแห้งในปี 2545 จำนวน 2.3 หมื่นตัน ที่คณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ยอมสูญเงินร่วมพันล้านบาท ให้ทำลายทิ้ง
แม้ คชก.จะให้เหตุผลการทำลายว่าเป็นลำไยเสื่อมคุณภาพ และเพื่อป้องกันการนำมาหมุนเวียนในโครงการปี 2546 ปี 2547 และปี 2548 แต่ก็ยังมีเสียงครหาตามมาว่า เป็นการเผาทำลายหลักฐานหรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม แม้ คชก.จะมีมติให้ทำลายลำไยอบแห้งปี 2545 นานแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการทำลาย...เพราะเหตุใด
เพราะลำไยอบแห้งปี 2545 มีแต่ลม เหลืออยู่จริงไม่กี่ตัน จึงต้องหาอะไรมาเผาแทนหรือไม่
หรือเพราะลำไยปี 2545 ไม่ได้เสื่อมคุณภาพจริง เนื่องจากเมื่อปี 2547 มีการเปิดประมูลขายลำไยล็อตนี้ และมีการตรวจเช็คสต๊อค จึงมีการนำเอาลำไยคุณภาพดีในปี 2546 และปี 2547 มาสวมแทนเพื่อตบตารัฐบาล แต่สุดท้ายก็ล้มประมูลไป ดังนั้น ลำไยปี 2545 จึงกลายเป็นลำไยคุณภาพดี
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ จึงต้องประวิงเวลาการทำลายลำไยปี 2545
ขณะที่ลำไยอบแห้งปี 2546 และ 2547 ที่ควรเป็นลำไยคุณภาพดี กลายเป็นเสื่อมคุณภาพแทน
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ถึงทำให้โครงการแลกลำไยอบแห้งปี 2546-2547 จำนวน 6.4 หมื่นตัน กับการแลกรถหุ้มเกราะ 120 คัน จากประเทศจีน มูลค่ากว่า 2,093 ล้านบาท ต้องหยุดชะงัก
เนื่องจากบริษัท ฟูเจี้ยน หรงเจียง ซึ่งเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าครั้งนี้ ยังไม่ยอมวางเงินค้ำประกัน 10% ของมูลค่าสินค้าแลกเปลี่ยน หรือ 209 ล้านบาท และขอเข้าตรวจสอบสภาพลำไยว่ามีคุณภาพดีจริง
แค่เรื่องลำไยเก่าที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ก็ปวดหัวแทนคุณหญิงหน่อยแล้ว แต่ลำไยฤดูใหม่ปี 2548 ที่กำลังจะทยอยออกมานี้จะทำให้คุณหญิงหน่อยต้องปวดหัวมากขึ้นไปอีก
ทั้งปริมาณผลผลิตที่จะมากกว่า 6 แสนตัน เนื่องจากในภาคเหนือมีฝนตกชุก ซึ่งจะทำให้ลำไยสุกเร็ว และผลผลิตจะทะลักออกมาพร้อมๆ กัน ตลาดไม่สามารถรองรับได้ทัน
ที่บอกว่าจะเน้นระบายเป็นลำไยสด โดยเฉพาะขายภายในประเทศก็อาจกระจายไม่ทั่วถึง และคนจะกินไม่ทัน
ส่วนตลาดต่างประเทศ ที่ประกาศว่าสามารถหาตลาดจีนรองรับได้แล้วกว่า 1 แสนตัน และจีนอาจใจดีซื้อเพิ่มอีก 2 แสนตันนั้น ก็ยังไม่มีสัญญาผูกมัดชัดเจน เป็นแค่บันทึกความเข้าใจที่ยังเลื่อนลอย
อย่าลืมว่าจีนก็มีการปลูกลำไย โดยเฉพาะที่กวางโจว และกวางสี และปีนี้จะมีผลผลิตมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า หรือกว่า 1-2 ล้านตัน ซึ่งจะเริ่มออกสู่ตลาด ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้ และคงทำให้ลำไยไทยเข้าไปทำตลาดยากขึ้น
นอกจากนี้ ลำไยเก่ายังค้างสต๊อคอยู่เต็มโกดัง เมื่อลำไยฤดูใหม่ออกมาก็ไม่มีที่เก็บ รวมทั้งตระกร้าพลาสติคที่บรรจุลำไยก็มีไม่พอ
ยิ่งกว่านั้นก็คือ กระทรวงเกษตรฯยังไม่ได้เสนอโครงการแทรกแซงลำไยฤดูใหม่ที่เป็นรูปธรรมให้ คชก.พิจารณา ทั้งๆ ที่ลำไยเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว
ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นเพราะความผิดพลาดในอดีตเมื่อสิบปีก่อน ที่นักการเมืองบางคนอยากหาเสียง อยากหากิน จึงผลักดันโครงการแทรกแซงราคาลำไย ทำให้ระบบการค้าบิดเบี้ยว ชาวสวนก็นิสัยเสียไม่ยอมรับราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ตามภาวะตลาด ขณะที่พ่อค้าก็ไม่กล้าทำการค้าปกติ เพราะกลัวรัฐจะเข้ามาแทรกแซง เลยรอหากินกับรัฐแทน ทำให้วงการค้าลำไยกลายเป็นวงจรอุบาทว์มาจนถึงขณะนี้
อยากฝากและอยากหวังว่าในปีหน้า หากจะช่วยเหลือชาวสวนลำไยก็ควรดูแลตั้งแต่ต้น หากเห็นว่าผลผลิตจะล้นตลาดก็ให้ทำลายผลลำไยที่ยังมีขนาดเล็กๆ อย่ารอให้เป็นผลใหญ่ออกมา ซึ่งจะทำให้จัดการยาก
แต่ทางที่ดีที่สุดคือ รัฐควรถอยห่างออกมา และปล่อยให้วงการลำไยกลับไปอยู่กลไกตลาดตามปกติ ให้เกษตรกรยอมรับความจริงกับราคาผลผลิตตามกลไกตลาด
อย่าหวังหาเสียงกับชาวสวนลำไย แล้วเอาเงินงบประมาณไปทิ้งเป็นพันๆ ล้านเหมือนที่ผ่านๆ มาเลย